ปริศนาดนตรีและการเต้นรำ ในวิวัฒนาการมนุษย์ | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร
เครดิตภาพ : midjourney

“[Music] must be ranked amongst the most mysterious with which he is endowed”

Charles Darwin (1871)

 

ดนตรีและการเต้น (music and dance) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมมนุษย์ทุกอารยธรรมที่เรารู้จัก จากเผ่าดึกดำบรรพ์ที่ตีกลองร้องรำในถ้ำ ถึงงานลีลาศของชนชั้นสูงในวัง วัยรุ่นทรงแบดในงานคอนเสิร์ตโรงเรียน และอุตสาหกรรมเพลงมูลค่านับพันล้าน

อะไรทำให้มนุษย์ทุกหมู่เหล่าต่างหลงในเสียงที่ถูกเรียงเรียบเป็นจังหวะสอดรับกับการขยับเขยื้อนร่างกาย?

ลักษณะทางกายวิภาค สรีรวิทยาและพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตเป็นผลมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

พันธุกรรมถูกส่งถ่ายจากรุ่นสู่รุ่นผ่านการสืบพันธุ์

พันธุกรรมที่นำมาซึ่งลักษณะที่ “ดี” (ส่งเสริมโอกาสอยู่รอดและสืบพันธุ์) จะถูกคัดไว้ (natural selection) ทำให้ลักษณะนั้นๆ ปรากฏมากขึ้นชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

นักชีววิทยาใช้คำอธิบายเชิงวิวัฒนาการแบบนี้ตอบคำถามว่าทำไมยีราฟคอยาว ทำไมเหยี่ยวตาแหลมคม ทำไมหมีขั้วโลกสีขาว ทำไมผีเสื้ออพยพหนีอากาศหนาว ฯลฯ

ลักษณะพวกนี้เพิ่มโอกาสอยู่รอดและสืบพันธุ์ (เช่น ช่วยให้หาอาหารหรือหลบผู้ล่าได้ดีขึ้น)

ดังนั้น พันธุกรรมที่ทำให้เกิดลักษณะพวกนี้จึงถูกคัดไว้และส่งต่อไปเรื่อยๆ

นักชีววิทยานับแต่ยุค Charles Darwin ตั้งคำถามว่าอะไรทำให้พฤติกรรมที่โคตรจะซับซ้อนอย่างการแสดง/เสพดนตรีและการเต้นรำจึงถูกคัดเลือกไว้?

มองเผินๆ แล้วพฤติกรรมพวกนี้นอกจากจะสิ้นเปลืองเวลาและพลังงานยังอาจจะล่อเป้าให้ศัตรูผู้ล่าเข้ามาเล่นงานเราได้ง่ายขึ้นอีก

 

คําอธิบายแนวแรกบอกว่าความสามารถทางดนตรีและการเต้นรำของมนุษย์ไม่ได้มีประโยชน์อะไรโดยตรง แต่เป็นเพียง “ผลข้างเคียง (byproduct)” จากการวิวัฒนาการขึ้นของลักษณะอื่นที่จำเป็นต่อการอยู่รอด

เช่น ความสามารถทางภาษา, การวิเคราะห์เสียง, การสื่ออารมณ์ ฯลฯ

นักชีววิทยาที่เชื่อแนวคิดนี้อย่าง Steven Pinker เปรียบเทียบว่าดนตรีเป็นเสมือน “ชีสเค้กของประสาทหู (auditory cheesecake)” ขนมหวานอย่างลูกกวาดและชีสเค้กไม่ได้มีคุณค่าอะไรต่อการอยู่รอดและสืบพันธุ์ของมนุษย์ แต่มนุษย์เราถูกวิวัฒนาการคัดเลือกมาให้ชอบอาหารหวานมัน (อย่างผลไม้สุกและเนื้อสัตว์) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานชั้นดีที่หายากตามธรรมชาติยุคโบราณ (ซึ่งของกินส่วนมากมีแต่ต้นไม้ใบหญ้า)

ผลข้างเคียงของการพัฒนาระบบรับกลิ่น รส การประมวลผลทางสมองและตอบสนองทางพฤติกรรมต่อความหวานมัน ทำให้เราพลอยชอบลูกกวาดและชีสเค้กไปด้วย

แนวคิดแรกนี้ไม่ค่อยได้รับการยอมรับแล้วในปัจจุบัน

ข้อโต้แย้งหนึ่งคือทั้งดนตรีและการเต้นรำเป็นกิจกรรมที่เก่าแก่และซับซ้อนมากของมนุษย์ เรามีหลักฐานการร้องเล่นเต้นรำมากมายของบรรพบุรุษยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ต่างจากลูกกวาด/ชีสเค้กที่เพิ่งมีมาไม่นาน)

นั่นแปลว่ากิจกรรมนี้น่าจะต้องมีฟังก์ชั่นอะไรบางอย่างมากกว่าแค่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเมื่อวิวัฒนาการของลักษณะครั้งก่อนเก่ามาเจอกับวิถีชีวิตยุคใหม่

ความซับซ้อนของการประพันธ์ดนตรีและการเต้นรำที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลักไวยากรณ์ทางภาษาชวนให้เราคิดว่าดนตรีและการเต้นรำน่าถูกวิวัฒนาการคัดเลือกมาเพื่อหน้าที่เฉพาะเช่นเดียวกับวิวัฒนาการของภาษา

ความชอบลูกกวาดและชีสเค้กของมนุษย์เป็นผลข้างเคียงจากวิวัฒนาการความชอบของหวานมันยุคก่อน
เครดิตภาพ : midjourney

อีกข้อโต้แย้งคือเราพบพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกันกับดนตรีและการเต้นรำในสัตว์อีกหลายชนิด

อย่างการส่งเสียงร้องและขยับร่างกายเข้าจังหวะในนก ชะนี ปลาวาฬ บางชนิด ฯลฯ

สัตว์เหล่านี้มีวิวัฒนาการห่างไกลกันและไกลจากมนุษย์มากพอที่เราจะเชื่อว่าพฤติกรรมการร้องและเต้นแบบนี้เกิดจากการวิวัฒนาการเบนเข้าหากัน (convergent evolution) เพื่อจุดประสงค์บางอย่างมากกว่าจะเกิดจากความบังเอิญ

ขณะที่การมีอยู่ของโรคบอดดนตรีแต่กำเนิด (congenital amusia) ซึ่งพบได้ถึงราวๆ 4% ของประชากรมนุษย์บอกเราว่าน่าจะมียีนและโครงสร้างของระบบประสาทที่ทำหน้าที่นี้โดยตรง

งานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมและความสามารถในการแยกแยะ/เคาะจังหวะในประชากรกว่าหกแสนคนยังพบตำแหน่งยีนหกสิบกว่าตำแหน่งที่น่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสามารถนี้

ตำแหน่งเหล่านี้ส่วนมากเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง

ดนตรีและการเต้นรำอาจวิวัฒนาการจากการพฤติกรรมการเลือกคู่
เครดิตภาพ : midjourney

คําอธิบายอีกแนวหนึ่งคือดนตรีและการเต้นรำถูกวิวัฒนาการคัดเลือกมาเพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างมนุษย์

ด้วยสมองที่เฉลียวฉลาดและความสามารถในการใช้เครื่องมือ มนุษย์เราอยู่บนยอดของห่วงโซ่อาหารมานับหมื่นปี อันตรายจากสัตว์ผู้ล่าและสิ่งแวดล้อมแทบไม่เหลือแล้ว แรงคัดเลือกทางวิวัฒนาการที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ก็คือมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการหาคู่ไปจนถึงต่อรองและแข่งขันกันภายในหรือระหว่างกลุ่มสังคม

ในอาณาจักรสัตว์ตั้งแต่แมลงถึงนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เราเห็นตัวอย่างหลากหลายของการเกี้ยวพาราสี (courtship behavior) ผ่านชุดพฤติกรรมซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการเปล่งเสียงและการร่ายรำเป็นจังหวะเฉพาะ

ลักษณะร่วมอย่างหนึ่งของพฤติกรรมพวกนี้คือการเล่นใหญ่ (exaggeration) ทำตัวเว่อร์วังอลังการเข้าไว้ทั้งระดับเสียงและท่วงท่าการเคลื่อนไหวเทียบกับการพูดคุยสื่อสารหรือการขยับเขยื้อนร่างกายตามปกติ

การเล่นใหญ่แบบนี้แม้จะสิ้นเปลืองทรัพยากรและเพิ่มความเสี่ยง (ล่อเป้าให้ผู้ล่าเข้ามาหา)

แต่มันคือการ “โชว์ของ” ว่า “ชั้นเนี่ยแข็งแกร่งขนาดไหนมีทรัพยากรตุนไว้เหลือเฟือแค่ไหน พอจะดูแลเธอและลูกๆ ของเราได้สบายๆ”

เพศตรงข้าม (โดยเฉพาะเพศเมีย) เลือกคู่ผ่านการโชว์ของแบบนี้

คำอธิบายทางวิวัฒนาการว่าด้วยการโชว์ถูกใช้อธิบายลักษณะทางกายภาพที่เว่อร์ผิดธรรมชาติอย่างอื่นด้วย เช่น เขากวางมูสที่ใหญ่โตเทอะทะ หรือหางนกยูงที่สีสดใสยาวรุ่มร่าม ฯลฯ จากมุมของนักวิวัฒนาการ

การร้องและรำเป็นการโชว์ของที่สมบูรณ์แบบที่สุดแล้วเพราะต้องอาศัยความสามารถส่วนตัวของผู้แสดงอย่างแท้จริง ขณะที่ลักษณะทางกายภาพอาจจะปิดบังหรือสร้างภาพกันได้ง่าย

ดนตรีและการเต้นรำเพื่อการสร้างและสำแดงความแข็งแกร่งของกลุ่ม
เครดิตภาพ : midjourney

สําหรับมนุษย์ก็ไม่น่าประหลาดใจที่เพลงรักจะครองตลาดเพลงมาแทบทุกยุคทุกวัฒนธรรมที่เคยบันทึกไว้

ส่วนการเต้นรำก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพของการเต้นกับความน่าดึงดูดทางเพศ

งานวิจัยที่ศึกษาการเต้นของเพศชายและหญิงที่ไม่ผ่านการฝึกฝนเตรียมตัวมาก่อนพบว่า ผู้ชมเพศหญิงให้คะแนนความน่าดึงดูดและความเป็นชายกับนักเต้นเพศชายที่เต้นได้ดี และคะแนนคุณภาพการเต้นแปรผันตามความแข็งแรงของร่างกาย

ส่วนผู้ชมเพศชายมีแนวโน้มจะให้คะแนนคุณภาพการเต้นของนักเต้นเพศหญิงที่อยู่ในช่วงเจริญพันธุ์ของรอบเดือนมากกว่าที่อยู่นอกช่วงเจริญพันธุ์

นอกเหนือจากมิติของการหาคู่แล้ว ดนตรีและการเต้นรำยังน่าจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์และสำแดงความเหนียวแน่นเป็นหนึ่งเดียวของความสัมพันธ์ในกลุ่มสังคม

งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าการเคลื่อนไหวเข้าจังหวะกันระหว่างสมาชิกในกลุ่มสังคมเป็นกระบวนการขั้นต้นในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน การเคลื่อนไหวเข้าจังหวะเป็นหมู่คณะส่งผลต่อการเข้าจังหวะกันของการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและระบบประสาทระหว่างสมาชิก

ปรากฏการณ์เหล่านี้นำมาสู่การความรู้สึกเชิงบวกอย่างการเพิ่มความทนทานต่อระดับเจ็บปวดและความผ่อนคลาย

 

ประเด็นน่าสนใจอีกอย่างคือการแสดงความเป็นหนึ่งเดียวผ่านดนตรีและการเต้นเข้าจังหวะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดผู้คนที่อยู่นอกกลุ่มให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

เราเห็นตัวอย่างแบบนี้ในกิจกรรมร้องเล่นเต้นรำของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก

ในกลุ่มศิลปินหรือทีมกีฬาที่มีเพลงและท่าเต้นสุดฮิต และในเพลงชาตินิยมปลุกใจยามศึกสงคราม ความสามารถในการดึงดูดคนภายนอกให้มามีความรู้สึกร่วมและกลายเป็นสาวกที่เหนียวแน่นของทีมเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่กลุ่มสังคมหนึ่งๆ จะอยู่รอดและเอาชนะคู่แข่งได้

จากมุมมองนี้วิวัฒนาการทางชีววิทยา (biological evolution) ของ “ความสามารถทางดนตรีและการเต้น” ในมนุษย์ผ่านการคัดเลือกและถ่ายทอดทางพันธุกรรม และวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม (cultural evolution) ของ “ตัวเนื้อหาดนตรีและท่าเต้น” ที่เร้าอารมณ์และง่ายต่อการส่งต่อน่าจะเป็นการวิวัฒนาการที่ส่งเสริมกันและกัน (co-evolution)

จนทำให้ดนตรีและการเต้นเป็นกิจกรรมที่หลากหลาย แพร่หลาย

และคงอยู่มายาวนานกับมนุษยชาติจนถึงทุกวันนี้

อ้างอิง

[1] Kalinowski, Kasper, et al. “Evolutionary origins of music. Classical and recent hypotheses.” Anthropological Review 84.2 (2021): 213-231.

[2] Fink, Bernhard, et al. “Evolution and functions of human dance.” Evolution and Human Behavior 42.4 (2021): 351-360.

[3] Niarchou, Maria, et al. “Genome-wide association study of musical beat synchronization demonstrates high polygenicity.” Nature Human Behaviour 6.9 (2022): 1292-1309.