ผู้นำกับคอร์รัปชั่น เหตุเกิดที่เวียดนาม

เทศมองไทย

 

ผู้นำกับคอร์รัปชั่น

เหตุเกิดที่เวียดนาม

 

เมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ เผยแพร่บทความชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นนัยสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียดนามเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นกันมากนัก แม้แต่ในเวียดนามเอง

นั่นคือการลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของเหงียน ซวน ฟุก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในองคาพยพของรัฐบาลเวียดนามในช่วงการระบาดหนักของโควิด-19

คอร์รัปชั่น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเวียดนาม แต่การลาออกของประธานาธิบดี ผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหารกลางคันเป็นเรื่องใหม่และแปลกอย่างแน่นอน

อีโคโนมิสต์ย้อนต้นเหตุของเรื่องราวครั้งนี้ไว้ว่า เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์เมื่อครั้งเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่อปี 2020 จนเวียดนามต้องปิดประเทศ ชาวเวียดนามตกค้างอยู่ในหลายประเทศเป็นจำนวนมาก

ถึงที่สุดแล้วทางการต้องจัดเที่ยวบินพิเศษเกือบ 800 เที่ยวเพื่อขนคนเหล่านั้น “กลับบ้าน”

ปัญหาก็คือ เจ้าหน้าที่สถานทูต “หัวใส” บางรายเกิดสบช่องหารายได้เข้าพกเข้าห่อขึ้นมา เรียกรับเงินเป็นค่า “ธรรมเนียม” การส่งกลับ รายละอย่างน้อย 5,000 ดอลลาร์ บางรายถูกขูดรีดสูงถึง 150,000 ดอลลาร์ด้วยซ้ำไป

เรื่องนี้เป็นที่มาของการสอบสวนที่เริ่มขึ้นเมื่อราวต้นปี 2022 และมีการจับกุมคุมขังเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งรวมถึงอดีตรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 ราย ที่ในเวลานี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

แล้วก็เป็นที่มาของการลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของเหงียน ซวน ฟุก เมื่อ 18 มกราคมที่ผ่านมา

 

อีโคโนมิสต์ชี้ว่า การลาออกดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึง “ระดับความเข้มข้น” ของการต่อต้านการคอร์รัปชั่น อันเป็นนโยบายที่เหงียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามประกาศเอาไว้ เมื่อครั้งขึ้นดำรงตำแหน่งสมัยแรก ในปี 2554 ที่ต้องการ “ทำความสะอาดพรรค” ให้ปลอดจากคอร์รัปชั่น ซึ่งระบาดอย่างหนักในเวียดนามหลังจากปรับเปลี่ยนมาใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบอิงการตลาดในทศวรรษ 1990 เรื่อยมา

รายงานของดิ อีโคโนมิสต์ระบุว่า มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตที่เกี่ยวข้องกับการเรียกรับเงินสินบนในครั้งนี้ในหลายประเทศ ตั้งแต่แองโกลาในแอฟริกาเรื่อยมาจนถึงญี่ปุ่นในเอเชีย

ต่อมาในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ก็มีการจับกุมรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศรายหนึ่งที่เชื่อว่าพัวพันกับกรณีนี้ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กระทรวงกิจการความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งรับผิดชอบในการสืบสวนสอบสวนกรณีคอร์รัปชั่นทั้งหลาย ก็ออกมากล่าวหาเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเอง 3 รายว่าคอร์รัปชั่น

พอถึง 5 มกราคม การกวาดล้างก็ลามไปถึงบุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรี 2 ราย ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

หนึ่งในจำนวนนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอยู่ด้วย และเป็นคนที่ถูกคาดหมายกันมากว่า จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การกวาดล้างคอร์รัปชั่นในเวียดนามที่ว่านี้ จริงจังแค่ไหน? มีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูปอย่างแท้จริง หรือเพื่อสั่งสมอำนาจให้กับผู้ที่มีอำนาจในการปราบปราม?

ถึงตอนนี้ยังยากที่จะหาคำตอบ แม้ว่าโดยรวมแล้วนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้จะส่งผลให้อันดับคอร์รัปชั่นของเวียดนามที่จัดโดยองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ขยับขึ้นจากอันดับที่ 111 มาอยู่ที่อันดับ 87 ในปีนี้

แต่เหงียน คัก เกง นักวิชาการจากศูนย์เศรษฐศาสตร์และยุทธศาสตร์ศึกษาแห่งเวียดนาม ก็ตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ถูกไล่ออกในข้อหาคอร์รัปชั่น ล้วนแล้วแต่ไต่เต้าขึ้นมาในองค์กรฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลของเวียดนาม ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค

ผลก็คือ ยิ่งนับวัน พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามยิ่งทรงอำนาจมากขึ้นทุกที เหงียน ฟู้ จ่อง เองมีอำนาจสูงสุดในประเทศ ในทำนองเดียวกับสี จิ้นผิง ครองอำนาจในจีน

นอกจากนั้น การกวาดล้างคอร์รัปชั่นยังก่อให้เกิด “ผลข้างเคียง” ที่ไม่พึงปรารถนาอีกประการ นั่นคือเกิด “เกียร์ว่าง” ขึ้นมากมายในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานของรัฐ ไม่มีใครอยากลงนามในคำสั่ง ไม่มีใครอยากให้ความเห็นชอบ ปล่อยให้คาราคาซังไปเรื่อยๆ เพราะกลัวว่าจะตกเข้าไปในข่ายคอร์รัปชั่น

ตัวอย่างเช่น การเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนงบประมาณเพื่อการสร้างถนนของรัฐ ลดลงจากระดับ 70 เปอร์เซ็นต์ในช่วงระหว่างปี 2011-2014 เหลือเพียงราว 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019 และ 58 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022

ทางด่วนเชื่อมเหนือ-ใต้ของเวียดนามก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ระบบรถไฟใต้ดินในโฮจิมินห์ ซิตี้ ก็ยังเริ่มต้นไม่ได้แม้จะมีการริเริ่มกันมาแล้วนานร่วมสิบปีแล้วก็ตาม

ซึ่งแม้ในระยะสั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากมายนัก แต่ ดิ อีโคโนมิตส์ เชื่อว่าจะส่งผลต่อเวียดนามในระยะยาวอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะเป้าหมายการถีบตัวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้ได้ภายในปี 2030 นี้