อัน หยู ชิง ตะวัน-แบม เขย่ากระบวนการยุติธรรม

“ตํารวจดีเหลือกี่เปอร์เซ็นต์?”

คือคำถามเชิงความเห็นที่ออกมาจากปากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่าง อ.ธงทอง จันทรางศุ

หลังมีข่าวยืนยัน กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยหลายนาย ร่วมกันรีดไถนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันและสิงคโปร์ เป็นจำนวนเงิน 27,000 บาท

อันที่จริง นั่นถือเป็นการว่ากล่าวอย่างสุภาพที่สุดแล้ว เพราะหากไถฟีดเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ จะได้เจอข้อความหนักหนาสาหัสกว่านี้หลายเท่า

คำถามที่น่าสนใจคือ มันมาถึงจุดที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตั้งคำถามที่ไม่ควรจะถามอย่าง ตำรวจดีเหลือกี่เปอร์เซ็นต์ ได้อย่างไร?

เบื้องหลังของคำถามนี้มันสะท้อนความตกต่ำของกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใครหรือวิธีคิดแบบไหน ผลักดันให้ประเทศเรามาถึงจุดนี้? นี่แหละที่น่าคิด

ความสงสัยในปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย และข้าราชการผู้บังคับใช้อำนาจตามกฎหมาย ยิ่งเข้มข้นขึ้น จากเหตุการณ์สำคัญหลายๆ เหตุการณ์ที่บังเอิญเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

 

เริ่มจากคดีตู้ห่าว หรือ ชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติด ที่มีการตรวจค้นผับจินหลิงช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565 ต่อมาสืบพบทรัพย์สินมากมายทั้งคฤหาสน์ รถหรู โยงมาถึงกรณี 5 กลุ่มทุนจีนสีเทา สัมพันธ์กับคนมีสี และผู้มีอำนาจของประเทศ ผู้ต้องหาสำคัญบางคนหนีลอยนวลออกนอกประเทศทัน คล้ายมีคนช่วยเหลือ

แม้คดียังไม่สิ้นสุด แต่เรื่องนี้สะท้อนผู้มีอำนาจหลายคนเข้าไปยุ่งเกี่ยว

เรื่องทุนจีนสีเทายังไม่จบ มีการขุดค้นต่อเนื่อง

เมื่อเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ หลายคนผนึกกำลังกับตำรวจ แถมยังมีทหารจากศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ เข้าร่วม อาศัยจังหวะไปขยายผลสอบสวนทุนจีนสีเทา เข้าไปตบทรัพย์เขาอีก จนถูกแฉว่าเงินสดที่พบเป็นของกลาง หายไปเพียบ

นำไปสู่การสอบสวนใหม่ กระทั่งเอาผิดกับเจ้าหน้าที่จำนวน 16 คน จาก 3 หน่วยงาน ซึ่งทั้งหมดคือต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมไทย เจ้าพนักงานร่วมกันเรียกรับเงิน

นี่คืออีกหนึ่งความน่าอับอาย

 

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรกอีก เพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ต่อจากนั้น เกิดกรณีสาวนักท่องเที่ยวชาวจีน โพสต์คลิปที่ถ่ายด้วยตัวเองลงในโซเชียลมีเดียจีน เล่าเรื่องการมาเที่ยวเมืองไทยแบบวีไอพีสุดๆ จ่ายแค่ 7,000 บาท ให้ทิปตำรวจอีก 200 จะได้รับบริการตำรวจนำขบวนจากสนามบินสุวรรณภูมิสู่พัทยา เมืองท่องเที่ยวริมทะเลชื่อดังของไทย

งานนี้โป๊ะแตกสุดๆ เพราะคลิปดังกล่าวมีหลักฐานชัดเจนทั้งหมด ทั้งหน้าตำรวจที่เข้ามารับงาน รถที่ใช้ก่อเหตุ เข้าไปรับตั้งแต่หน้าเกต เปิดช่องทางพิเศษให้ลัดคิว ไปจนถึงพาไปส่งยันหน้าโรงแรม

ข้อดีของบริการที่สาวนักท่องเที่ยวชาวจีนบอกในคลิปก็คือ ถ้าซื้อบริการรถนำขบวนเหล่านี้ ก็จะไม่ต้องกลัวเรื่องการทำผิดกฎหมายใดๆ

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ถ้าไม่นับรถฉุกเฉิน รถนำขบวนตำรวจเป็นอะไรที่ไม่น่าปลื้มอยู่แล้วสำหรับชนชั้นกลางกรุงเทพฯ มีข่าวมากมายหลายครั้งที่คนไทยไม่ยอมหลบรถนำขบวนของคนใหญ่คนโต เช่น ข่าวรถเบนซ์หรูเจ้าของบริษัทเอกชนมีรถตำรวจช่วยนำขบวนในวันจราจรติดขัด

 

ล่าสุดจากกรณีปัญหากระบวนการยุติธรรมคือข่าวดัง “อัน หยู ชิง” ดาราสาวไต้หวันที่มีผู้ติดตามทางโซเชียลมีเดียหลายแสนคน มาเที่ยวเมืองไทยพร้อมกลุ่มเพื่อนออกมาเปิดเผย ถูกตำรวจไทยค้นตัว ก่อนเรียกรับเงิน 27,000 บาท

ร้อนฉ่าในสื่อไทยทันที เพราะเรื่องการตั้งด่านตรวจ-แอบเรียกรับเงินจากการตรวจค้นการกระทำผิดต่างๆ ดูจะกลายเป็นเรื่องที่สังคมไทยเข้าใจไปในทางเดียวกันแทบจะทั้งหมด

ในด้านหนึ่ง ผู้บังคับบัญชาระดับสูงสั่งให้เร่งสอบสวนหาความจริงทันที พร้อมๆ ไปกับเกิดปฏิบัติการตอบโต้ด้วยข้อมูลข่าวสารจากเพจนิยมตำรวจหลายเพจ โจมตีดาราสาวไต้หวันดังกล่าว ทั้งขุดเรื่องการเมามาย พูดไม่รู้เรื่องโวยวาย มีบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย และอื่นๆ

ช่วงแรกๆ ตำรวจให้ข่าวว่าแค่เป็นปัญหาพูดกันไม่รู้เรื่องเพราะใช้คนละภาษา

ยืนยันด้วยเกียรติของตำรวจ ว่าไม่มีการรีดไถ และเลิกจุดตรวจพอดีก็เลยปล่อยดาราสาวไป

 

แต่สังคมยังไม่เชื่อ ทำให้ตำรวจต้องหาหลักฐานมากางต่อ ทั้งการโชว์กล้องวงจรปิดแล้วอ้างว่าไม่เห็นการรีดไถ การอ้างคำให้การของคนขับรถเน้นประเด็นว่า ดาราสาวต่างหากที่มีปัญหา เสียงดังโวยวาย มันเมาหนักมาก พกบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย ขณะที่ตำรวจสุภาพสุดๆ ขอตรวจตามปกติ ทั้งยังโชว์ว่าสอบพยานครบแล้วตลอดหลายวันที่ผ่านมา นับสิบปาก ยืนยันไม่มีการรีดไถ

คดีมาพลิกในวันที่ 5 เมื่อดาราสาวไต้หวันและเพื่อนซึ่งเป็นชาวสิงคโปร์ พยานในเหตุการณ์ยืนยันเสียงแข็ง ว่าจ่ายเงินให้ตำรวจไทยไปจริงๆ เป็นเงิน 27,000 บาท ซึ่งไม่ใช่ยอดเงินที่ตำรวจเรียกรับ แต่ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินสดอยู่แค่นั้น และตำรวจรับเอาไปทั้งหมด!

นำไปสู่การสั่งเด้ง 7 ตำรวจที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ รวมถึงผู้กำกับ สน.ห้วยขวาง และเตรียมดำเนินคดีมาตรา 157 ด้วย

งานนี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงกับต้องออกมาขอโทษด้วยตัวเอง

แต่ก็ยังไม่ทิ้งลาย ในการแถลงข่าวของตำรวจ ยังพยายามยัดเยียดนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ที่จำใจให้เงินตำรวจว่า เป็น “ผู้ให้สินบน” ทั้งๆ ที่เขาคือ “พยาน”

งานนี้เจอเสี่ยชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จัดเซอร์ไพรส์ นำตัวนักท่องเที่ยวสิงคโปร์มาแถลงโต้ ยืนยันต่อหน้าสื่อจ่ายเงินให้ตำรวจจริงๆ เพื่อให้พ้นข้อหา ไม่มีวีซ่า กับพกบุหรี่ไฟฟ้า 3 อัน โดนขู่หากไม่จ่าย ต้องติดคุก 2 วัน

ที่จริงเรื่องนี้ง่ายนิดเดียว นำเจ้าหน้าที่มาให้พยานชี้ หรือเปิดหลักฐานกล้องติดหมวกของตำรวจมาโชว์ชัดๆ บนโต๊ะ ทุกอย่างก็จบ แต่ที่ผ่านมามีแต่ตำรวจแถลงข่าวไฟล์จากกล้องติดหมวก ถูกลบไปแล้ว!

 

น่าสนใจว่า คดีดังเหล่านี้เกิดขึ้นในรอบไม่กี่สัปดาห์มานี้เอง แค่นี้ก็เพียงพอที่จะบอกว่าโครงสร้างระบบยุติธรรมไทยมีปัญหา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

หลักฐานชัดเจนก็คืออันดับดัชนีคอร์รัปชั่นของประเทศไทย ที่ตกต่ำติดระดับโลกทุกปี คะแนนป้วนเปี้ยนอยู่หลัก 30 จาก 100 คะแนน โดยเฉพาะส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมนี่แหละตัวฉุดคะแนน

ทั้งหมดทั้งมวล หากจะพยายามอธิบายต้นตอปัญหาว่าเป็นเรื่องตัวบุคคล แยกส่วนในการวิเคราะห์ คิดว่าคงไม่เพียงพอเสียแล้ว

เพราะมันเกิดกันทั่วไปหมด จะไปแก้ที่ตัวบุคคลคงไม่ทัน

 

และถ้าพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง แน่นอน มันสัมพันธ์กับปัญหาการเมืองอย่างแยกไม่ออก

กรณี ‘ตะวัน-แบม’ สองเยาวชนนักกิจกรรมการเมืองรุ่นใหม่ ที่กำลังอดอาหาร-อดน้ำ ประท้วงกระบวนการยุติธรรมอยู่ในขณะนี้ ก็คือเรื่องเดียวกัน

เพราะเป็นผลมาจากปัญหาความรู้สึกไม่เป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรม

อย่าลืมข้อเท็จจริงในความเป็นมนุษย์ว่า ไม่มีใครอยากตาย ไม่มีใครอยากทำร้ายตัวเอง

ถ้ามีวิถีทางอื่นๆ ในการต่อรองเรียกร้องทางการเมือง-สังคม การเอาชีวิตและความเจ็บปวดเข้าแลก มิติหนึ่ง มันก็สะท้อนอาการไม่ฟังก์ชั่นของโครงสร้างกระบวนการยุติธรรม

ที่จริงเรื่องที่ทั้งสองคนเรียกร้องไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ต้องหาถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ยังไม่ถูกตัดสิน แต่คนจำนวนมากกลับไม่ได้รับประกันตัว จนคนจำนวนมากรู้สึกว่า กระบวนการยุติธรรมไทย ทำราวกับผู้ต้องหาเหล่านี้ถูกตัดสินเป็นผู้กระทำผิด

ต้องย้ำว่า สิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยให้การรับรองอยู่แล้ว

นี่คืออีกหนึ่งปัญหาของกระบวนการยุติธรรม

 

ข่าวเรื่องปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย ทั้งตั้งแต่เจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบ

ไปจนถึงปัญหาดุลพินิจในการใช้อำนาจต่างๆ ล้วนเป็นปลายเหตุของปัญหา หรือเป็นเพียงก้อนภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมาให้เห็นเพียงเล็กน้อย

มันเป็นอาการปะทุของโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่สะสมปัญหามาต่อเนื่องกันมายาวนานแล้วไม่ได้รับการแก้ไขโดยมองไปที่ภาพรวมของปัญหา

ยิ่งโดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินไปหรือถือกำเนิดเกิดขึ้นมาภายใต้โครงสร้างของสังคมแบบอำนาจนิยม รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ มีเป้าหมายทางการเมืองในการใช้อำนาจกดคนอีกฝั่ง ยิ่งมีแนวโน้มของการไม่อาจเรียกกระบวนการยุติธรรมได้เต็มปาก

และแม้จะลุกขึ้นมาปฏิรูป เรียกร้องขอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ยาก เพราะผู้ใช้อำนาจวางกลไกอันสลับซับซ้อน และต้องใช้ต้นทุนอย่างสูงเพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย

ถ้าไม่สร้างมาตรฐานที่ดีเรื่องกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงโครงสร้างอำนาจ ประเทศไทยอยู่กับข่าวแบบนี้ต่อไป เพราะเป็นที่รู้กันว่าการรีดไถ เก็บส่วย มันเกิดขึ้นเต็มไปหมด แต่มันแค่ไม่ถูกสปอตไลต์ส่องไปหา

และจะสร้างมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมได้ การลงโทษคนทำผิดตามกรณีไปไม่พอ ต้องเปลี่ยนระดับโครงสร้าง ซึ่งจะเปลี่ยนระดับนั้นได้ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนแนวนโยบาย เปลี่ยนระดับอุดมการณ์ทั้งหมด

ต้องเปลี่ยน…ก่อนที่ทุกอย่างจะเลวร้ายไปกว่านี้