ตะวัน-แบม กับการเปลี่ยนประเทศระยะยาว | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

เกือบครึ่งเดือนแล้วที่การอดน้ำอดข้าวของ “ตะวัน” กับ “แบม” ส่งสัญญาณว่าการเมืองไทยถึงจุดที่ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม

เพราะไม่เพียงเราจะเป็นประเทศที่วัยรุ่นยอมตายเพื่อประท้วงกฎหมาย 112 คนไม่น้อยยังกังวลจนเรื่องนี้ยกระดับเป็นปัญหาของสถาบันการเมือง

กฎหมาย 112 ควรมีต่อหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างคิดจนสังคมไทยยังไม่สามารถมีความเห็นร่วมกัน

แต่การใช้กฎหมายนี้เอาผิดประชาชนอย่างกว้างขวางเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

เช่นเดียวกับการใช้ข้อหานี้ปิดปากคนเห็นต่าง หรือเป็นข้ออ้างรัฐประหารเพื่อยึดประเทศโดยทหารไม่กี่คน

หากนับตั้งแต่ปี 2549 ที่คุณทักษิณ ชินวัตร ถูกโจมตีด้วยข้อหา “ล้มเจ้า”, “ปฏิญญาฟินแลนด์” หรือ “ละเมิดพระราชอำนาจ” จนนำไปสู่รัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยในเดือนมกราคม 2566 ที่ตำรวจมีหมายเรียกเด็กอายุ 13 ว่ามีความผิดข้อหา “หมิ่นสถาบัน” ก็จมอยู่กับปัญหานี้มาแล้วเกือบ 20 ปี

กองเชียร์ 112 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองเชียร์รัฐบาลมักอ้างว่า 112 ไม่มีปัญหาอะไร

แต่ถ้ายอมรับข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาคดี 112 จำนวนมากถูกขังตั้งแต่ยังไม่เคยขึ้นศาล

หลายคนติดคุกทั้งที่คำตัดสินยังไม่สิ้นสุด และหลายคดีจบด้วยคำตัดสินว่าไม่ผิด 112 ก็เป็นกฎหมายที่มีปัญหาอย่างแน่นอน

 

หลังการฆ่าหมู่คนเสื้อแดงปี 2553 ด้วยข้อหา “เผาบ้านเผาเมือง” ซึ่งศาลตัดสินว่าผู้ต้องหาหลายคนไม่ผิดตามที่รัฐยัดคดี การปลุกกระแส “แดงล้มเจ้า” ก็เกิดขึ้นจนมีการยัดคดี 112 อย่างกว้างขวางขั้นเกิดกรณี “อากง” ตายคาคุกวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 จนเป็นชนวนของความต้องการแก้ 112 ในเวลาต่อมา

ปี 2556 ความต้องการแก้กฎหมายนี้มาถึงจุดที่ประชาชนหลายกลุ่มจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 และใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญล่ารายชื่อเพื่อยื่นร่างกฎหมายให้สภาพิจารณา

แต่ในที่สุดประธานรัฐสภายุคนั้นคือคุณสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ก็ไม่ยอมให้สภาพิจารณาเรื่องนี้โดยเหตุผลข้างๆ คูๆ ถ้าประธานรัฐสภาปี 2556 ยอมให้ร่างกฎหมายของประชาชนเข้าสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด การหารือในสภาก็จะเป็นบันไดขั้นแรกสู่การแก้ปัญหานี้

แต่เมื่อประธานรัฐสภาปีนั้นไม่ให้สภาพิจารณาเรื่องนี้ ประเทศไทยก็ใช้กฎหมายนี้อย่างสุดขั้วหลังปี 2557 จนถึงจุดที่เอาผิดเด็กอายุ 13 ในปัจจุบัน

การเสี่ยงตายอดน้ำอดข้าวของ “ตะวัน” และ “แบม” ทำให้ปัญหา 112 เป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์ขึ้นมาอีก เพราะตะวันติดคุกครั้งแรกจากการทำโพลเรื่องขบวนเสด็จ เป็นการติดคุกที่ศาลยังไม่ได้มีคำตัดสินว่าผิด และติดครั้งที่สองเพราะศาลไต่สวนถอนประกันโดยตำรวจหรืออัยการไม่รู้เห็นเลย

“ตะวัน” ทำถูกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างมีความเห็นต่างกัน เพราะ “ตะวัน” ทำเรื่องล่อแหลมที่ไม่เคยมีใครทำ

การที่จะมีคนบางกลุ่มรู้สึกว่าทำแบบนี้ไม่เหมาะจึงมีแน่ๆ

แต่คำถามทางกฎหมายคือทำแบบนี้ผิดหรือไม่ และยิ่งกว่านั้นคือทำไมจึงจับขังคุกโดยที่ตอนนี้ศาลก็ยังไม่ได้ตัดสินว่าผิดเลย

 

หนึ่งในข้อเรียกร้องของ “ตะวัน” และ “แบม” คือยกเลิกกฎหมาย 112 และ 116 ซึ่งศาลใช้เป็นข้ออ้างขังคนจำนวนมากโดยไม่พิจารณาคดี

คนหลายกลุ่มจึงยื่นหนังสือให้พรรคการเมืองแก้ปัญหานี้

โดยคำตอบของพรรคก้าวไกลคือพร้อมแก้กฎหมาย 112 เพื่อจบปัญหาก่อนลามเป็นกระแสเลิกกฎหมาย

แน่นอนว่า “แก้” ไม่เท่ากับ “เลิก” แต่การที่พรรคก้าวไกลยอมรับว่าจะแก้คือการเปิดประตูบานแรกให้สถาบันการเมืองพิจารณาแก้ปัญหาที่ “ตะวัน” และ “แบม” กำลังจะตาย

ขณะที่สถาบันการเมืองอย่างรัฐบาลและรัฐสภาไม่ตอบสนองเรื่องนี้

ไม่ต้องพูดถึงองค์กรตุลาการที่เป็นเหตุของความขัดแย้งนี้

การยื่นข้อเรียกร้องจากประชาชนสู่พรรคการเมืองเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แต่เมื่อใดที่ประชาชนต้องเดินสายให้พรรคการเมืองยกเลิกกฎหมาย 112 เมื่อนั้นสังคมย่อมไม่อยู่ในภาวะปกติ

เพราะแสดงว่าปัญหารุนแรงถึงขั้นมีความคาดหวังให้พรรคการเมืองยุติเรื่องนี้ลง

ในคำแถลงของพรรคเพื่อไทยหลังกลุ่มทะลุวังยื่นหนังสือให้ช่วยชีวิตตะวัน-แบม พรรคเพื่อไทยจะไม่ยื่นแก้กฎหมาย ม.112 ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้แน่ๆ

คำอธิบายของพรรคคือ 112 เป็นกฎหมายที่แก้แล้วมีคนเห็นต่างกันอย่างสุดขั้วขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อกันจนไม่มีทางจบแบบสันติได้เลย

จริงอยู่ว่าการแก้กฎหมายหรือไม่ เป็นเอกสิทธิ์ของพรรคการเมือง แต่การไม่แก้กฎหมายด้วยเหตุผลแบบเพื่อไทยเป็นสัญญาณอันตรายต่อพรรคก้าวไกล

เพราะหากการแก้ 112 เสี่ยงภัยจนเพื่อไทยไม่แก้

ก้าวไกลที่ยืนยันแก้ 112 ย่อมเป็นพรรคเดียวที่จะเผชิญอันตรายจากการแก้กฎหมายนี้โดยปริยาย

 

ประเทศไทยในการเลือกตั้ง 2562 มีพรรคใหญ่คือเพื่อไทย, พลังประชารัฐ, ก้าวไกล, ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย แต่ในเมื่อเพื่อไทยมีท่าทีเรื่องไม่แก้ 112 ตรงกับพลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย โอกาสที่สภาจะเป็นช่องทางแก้กฎหมายอาญา ม.112 จึงปิดฉากลงแล้วอย่างสิ้นเชิง

แม้หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยจะเคยประกาศสนับสนุนแก้กฎหมายอาญา ม.112 แต่ต่อให้พรรคเสรีรวมไทยจะผลักดันแก้กฎหมายนี้กับพรรคก้าวไกล จำนวน ส.ส.ในสภาที่สนับสนุนเรื่องนี้ก็ยังน้อยจนไม่มีวี่แววว่าจะแก้ไขได้ หากไม่มีการขานรับของพรรคใหญ่อื่นๆ ในฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

เมื่อคำนึงว่ากฎหมาย ม.112 เป็นเครื่องมือที่รัฐปิดปากประชาชนโดยให้ใครแจ้งความยัดคดีใครก็ได้ว่า “หมิ่นสถาบัน” ซึ่งเป็นข้อหาที่โทษสูงจนศาลมีแนวโน้มขังผู้ถูกกล่าวหาก่อนมีคำตัดสินทั้งหมด สภาที่เสียงส่วนใหญ่อมสากเรื่องแก้ 112 จึงเป็นสภาที่เปิดทางให้รัฐจับประชาชนขังคุกต่อได้ทันที

สำหรับคนที่ห่วงใยชีวิต “ตะวัน” และ “แบม” ซึ่งอดอาหารและไม่รับการรักษาทุกชนิดมากว่า 2 สัปดาห์ โอกาสที่ทั้งคู่จะเสียชีวิตมีมากกว่าโอกาสรอดชีวิตจนเทียบไม่ได้

ทางรอดของตะวันกับแบมมีแค่ผู้มีอำนาจต้องทำอะไรเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องทั้งคู่ก่อนเรื่องจะจบแบบโศกนาฏกรรม

คนบางส่วนดูถูก “ตะวัน” และ “แบม” ว่าอดข้าวอดน้ำโดยไม่ส่งผลอะไรเลย

แต่สองสัปดาห์ที่ผ่านมาคือช่วงเวลาที่ปฏิบัติการนี้นำไปสู่การตั้งคำถามต่อสถาบันหลักแทบทั้งหมด

ตัวอย่างเช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลยื่นหนังสือถามประธานศาลฎีกา และนักวิชาการล่ารายชื่อถึงประธานองคมนตรี

ผู้พิพากษาวิชิต ลีธรรมชโย ให้สัมภาษณ์ในรายการผมว่าผู้พิพากษารับผิดชอบไหวหรือถ้า “ตะวัน” และ “แบม” ตายไปจริงๆ

แต่ที่จริงการเสียชีวิตของ “ตะวัน” และ “แบม” อาจส่งแรงกระเพื่อมถึงศาลและสถาบันที่คนเชื่อว่าเกี่ยวข้องจนสูญเสียความยอมรับและความชอบธรรมในสังคม

 

ประเทศไทยในปี 2563 คือประเทศที่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับสถาบันหลักๆ อย่างดุเดือดอย่างไม่เคยเป็น

แต่ถ้าเข้าใจว่าแรงระเบิดในปี 2563 มาจากความไม่พอใจความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ปัญหาใหม่ที่จะเกิดหลังกรณี “ตะวัน” และ “แบม” จะยิ่งทำให้ความไม่พอใจเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ด้วยกระแสสังคมที่พุ่งจากความห่วงใยชีวิต “ตะวัน” และ “แบม” พรรคฝ่ายค้านได้นำปัญหานี้เข้ามาเป็นญัตติด่วนในสภา มิหนำซ้ำ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอย่างคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ ได้อภิปรายว่าเห็นด้วยกับฝ่ายค้านในญัตตินี้ รวมทั้งระบุว่ารัฐบาลปัจจุบันมีการใช้กฎหมาย 112 อย่างรุนแรงเกินไปจริงๆ

ไม่มีใครไม่รู้ว่าการเสนอให้พรรคการเมืองยกเลิกกฎหมาย 112 ทำให้พรรคเผชิญอำนาจที่น่ากลัว แต่ด้วยข้อเสนอที่เอาชีวิตเข้าแลกของ “ตะวัน” และ “แบม” พรรคก้าวไกลได้แสดงความแน่วแน่ในการแก้กฎหมาย 112 รวมทั้งกล้าเผชิญหน้ากับประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดเลย

ด้วยการต่อสู้ที่กล้าหาญของ “ตะวัน” และ “แบม” ความเข้าใจที่สังคมมีต่อ 112 และความกล้าพูดถึงปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมาได้ถูกยกระดับใน ส.ส., ในพรรคการเมือง และในสภาอย่างไม่มีมาก่อน

หรือพูดตรงๆ ก็คือ “ตะวัน” และ “แบม” ได้ยกเพดานความคิดและการพูดเรื่องนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ

เหมือนที่หลายคนพูดในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงปี 2553 และการชุมนุมม็อบราษฎรปี 2563 สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศได้เกิดขึ้นแล้ว ประเทศไม่มีทางหวนกลับไปเป็นอย่างในอดีต

และ “ตะวัน” กับ “แบม” กำลังผลักดันประเทศไปสู่จุดที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศจริงๆ