สุจิตต์ วงษ์เทศ/งานศพ มีสนุก ยุคแรกอุษาคเนย์ แต่งตัวสีสันฉูดฉาด

สุจิตต์ วงษ์เทศ www.sujitwongthes.com

งานศพ มีสนุก

ยุคแรกอุษาคเนย์

แต่งตัวสีสันฉูดฉาด

 

งานศพยุคดั้งเดิมในอุษาคเนย์ เชื่อว่าคนตายเพราะขวัญหาย

ต้องแต่งตัวสีสันฉูดฉาด แล้วมีมหรสพอึกทึกครึกโครม เพื่อเรียกขวัญคืนร่างคนตายสู่ปกติ

ยุคนั้นไม่รู้จักวิญญาณ เพราะยังไม่ติดต่อรับศาสนาจากอินเดีย

แม้หลังติดต่อและรับการเผาศพแบบอินเดียแล้ว คนทั่วไปก็ยังแต่งตัวไปงานศพด้วยสีสันฉูดฉาดตามความเชื่อเดิม

แต่งชุดดำงานศพ เป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่สังคมไทยเริ่มรับจากฝรั่งยุโรปสมัย ร.5 กว่าจะแพร่หลายแต่งชุดดำทั้งประเทศ เพิ่งหลัง พ.ศ.2500 แต่ชุมชนห่างไกลบางแห่งก็ไม่แต่งชุดดำจนทุกวันนี้

งานศพมอญ

งานศพมอญในไทยไม่แต่งชุดดำ ยังทำตามประเพณีดั้งเดิมของอุษาคเนย์ พบคำอธิบาย จะคัดมาดังนี้

“งานศพมอญโดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์และผู้สูงอายุ—-จะไม่ถือว่างานศพเป็นงานที่เศร้าโศก ถือว่าเป็นงานสนุกสนาน ร่วมยินดีกับผู้ตายที่ได้ไปสู่สุขคติ ทั้งพระและฆราวาส การแต่งกายไปงานศพจึงสวมเสื้อผ้าสีสันทั่วไป”

“ต่อมาภายหลังมีการรับวัฒนธรรมจากภายนอกเข้าไปผสมกลมกลืน จึงเปลี่ยนการแต่งกายจากสีสันเป็นขาวดำ”

[คัดจากหนังสือ “200 ปี ปทุมธานี” จังหวัดปทุมธานี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558 หน้า 84]

นอกนั้นยังพบภาพงานศพในบทความเรื่อง “ประเพณีหลังความตายในรัฐมอญ” โดย องค์ บรรจุน [พิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 38 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2560) หน้า 40-47] เล่าว่าไปพบงานศพเมื่อ พ.ศ.2559 ที่บ้านเกาะซ่าก แขวงเมืองจย้าจก์แหมะโร่ะฮ์ รัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ มีข้อความสำคัญจะคัดมาดังนี้

“การตั้งศพที่บ้านไม่ต้องนิมนต์พระมาสวด มีเพียงคนเฒ่าคนแก่อ่านนิทานหรือชาดกให้คนที่อยู่เป็นเพื่อนศพฟัง”

“ผู้หญิงมีสไปพาดบ่า แต่ไม่มีใครสวมเสื้อผ้าขาวดำแม้แต่คนเดียว”

 

  [ภาพและคำอธิบายต่อไปนี้ ด้วยความกรุณาจาก องค์ บรรจุน]

[ภาพและคำอธิบายต่อไปนี้ ด้วยความกรุณาจาก องค์ บรรจุน]
บริเวณบ้านผู้ตายมีแขกเดินทางเข้าออกตลอดเวลา บ้างช่วยกันปรุงอาหาร บ้างจับกลุ่มทานอาหาร บ้างช่วยกันประกอบและตกแต่งโลงศพรอรับร่างผู้ตายนอกชายคาบ้าน
รถแห่ร่างผู้ตาย
ตามด้วยผู้ที่มาร่วมงานทั่วไป
พระสงฆ์เดินทางมาถึงและเริ่มสวดพระอภิธรรม เป็นการสวดถวายสังฆทาน และกรวดน้ำอุทิศกุศลเพียงครั้งเดียวก่อนการทำฌาปนกิจร่างผู้ตาย
เมื่อไฟเริ่มลุกไหม้ ลูกชายถือกระบุงวิญญาณนำเดินรอบกองฟอน ญาติผู้หญิงถือขันน้ำส้มป่อยประพรมร่างผู้ตายเพื่อดับไฟกิเลสตัณหา