ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กุมภาพันธ์ 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ลึกแต่ไม่ลับ |
ผู้เขียน | จรัญ พงษ์จีน |
เผยแพร่ |
ลึกแต่ไม่ลับ | จรัญ พงษ์จีน
ยุบสภาหรืออยู่ครบเทอม
“ราชกิจจานุเบกษา” เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วย “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย “พรรคการเมือง” (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ประกาศ ณ วันที่ 28 มกราคม 2566
เท่ากับว่าวันที่ 29 มกราคม กระดิ่งทางการเมืองกับโหมดเลือกตั้ง ก็ยกระดับขึ้นสู่ยอดเสาโดยอัตโนมัติ โดยสถานการณ์ให้เวลา “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ “กกต.” ใช้เวลาเตรียมการในการจัดการเลือกตั้ง 45 วัน เมื่อครบกำหนดนั้นแล้ว
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จะเลือกใช้อำนาจถ่อสังขารลากยาว ไปจน “สภาผู้แทนราษฎร” อยู่ครบเทอม ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 หรือชิงลงมือยุบสภา ก่อนกำหนดเมื่อใดก็ได้
2 ช่องทางสำหรับทางเลือก หากตีกรรเชียงครบ 4 ปีเต็ม “ศึกเลือกตั้ง” ล็อตใหม่จะระเบิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 หรือกรณี “พล.อ.ประยุทธ์” เลือกยุบสภา ก็ต้องหลังวันที่ 15 มีนาคม
ความเป็นไปได้ เชื่อล้านเปอร์เซ็นต์ว่า “บิ๊กตู่” เลือกที่จะเช็กบิล ชิงยุบสภาก่อนครบเทอม ทั้งนี้ จับสัญญาณได้จาก “มนุษย์เลือกตั้ง” ที่ตกปากรับคำว่าจะไหลมาร่วมชะตากรรมเดียวกันที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” กับ “พล.อ.ประยุทธ์” บิ๊กเนมจำนวนหลายราย ยังแต่งตัวไม่แล้วเสร็จ
คือเงื่อนไขยังไม่เข้าง่าม สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ลงจะสมัคร คือ “รทสช.” ติดต่อกันครบ 90 วัน เพราะหากเลือกที่จะถูไถไปครบวาระ การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องสมบูรณ์ก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์
“พล.อ.ประยุทธ์” จึงน่าเลือกใช้บริการสูตร “ยุบสภา” เพราะสามารถสับคัตเอาต์ ช่วยลูกพรรคที่จะแห่นาคมาสังกัด “รสทช.” ให้เข้าหมวดคุณสมบัติติดต่อกัน 90 วันได้บานตะเกียง เนื่องเพราะกรณีที่ว่า ใช้เวลาเข้าเกณฑ์เพียง 30 วันเท่านั้น
รวดเร็วฉับไวปานกามนิตหนุ่ม หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ” กลิ่นยังหมาดๆ “กกต.” ก็ไม่รอช้า เร่งคีย์ ตีจังหวะกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตของแต่ละจังหวัดพึงมี จำนวนเขตเลือกตั้ง โดยพิจารณาจากจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565
จากจำนวนประชากร 66,190,475 คน จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 165,226 คนต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนฯ 1 คน โดย ส.ส.แบ่งเขตทั้งหมด 400 เขต ทั้งนี้ หลัง กกต.ประกาศจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดแล้ว ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จะมีการนำข้อมูลจำนวนประชากรแต่ละจังหวัดไปพิจารณาและปรับปรุงเขตเลือกตั้ง
“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ที่จะเลือกตั้งใหม่ ในปี 2566 เป็นชุดที่ 26 แตกต่างจากชุดที่แล้วเล็กน้อย จำนวนสมาชิกหรือ ส.ส. 500 คนเท่ากัน แต่ครั้งที่แล้ว ส.ส.เขตเลือกตั้งมีเพียง 350 คน จาก 350 เขตตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยที่จำนวน 150 คนมาจาก “บัญชีรายชื่อ” หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” ที่ใช้สูตรที่นั่งปรับระดับ
แต่เลือกตั้งรอบใหม่ แบ่งสัดส่วนใหม่ เขตเลือกตั้ง 400 เขต จำนวน ส.ส. 400 คน ขณะที่ “บัญชีรายชื่อ” มาจากการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ เหลือ 100 คน
แบ่งพื้นที่ ส.ส.จาก “ภาคเหนือ” 39 คน จากเดิมเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จำนวน 33 คน “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” 132 คน จากเดิม 116 คน “ภาคตะวันออก” จำนวน 29 คน เดิม 26 คน “ภาคกลาง” 122 คน จากเดิม 106 คน “ภาคตะวันตก” 20 คน จากเดิม 19 คน “ภาคใต้” 58 คน จากเดิม 50 คน จังหวัดที่มี ส.ส.มากที่สุด คือ “กรุงเทพมหานคร” 33 คน ตามด้วย “นครราชสีมา” 16 คน
“ศึกเลือกตั้ง” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 หลังจากประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร ภายใต้การทำรัฐประหารของ “พล.อ.ประยุทธ์” มาอย่างยาวนานตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2557 มีประชาชนหลั่งไหลออกมาใช้สิทธิกันจำนวนมาก ร้อยละ 74.69 ทั่วประเทศ ยอดมาลงเลือกตั้ง 38,268,375 คน
“พรรคเพื่อไทย” ได้รับเลือกตั้งจาก ส.ส.เขตมากที่สุด 136 ที่นั่ง แต่บัญชีรายชื่อ 0 คน “พลังประชารัฐ” ได้ ส.ส.เขต 98 ที่นั่ง ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 18 เสียง “อนาคตใหม่” ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง 30 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 50 เสียง “ประชาธิปัตย์” ได้เขตเลือกตั้ง 33 ที่นั่ง บวก 19 บัญชีรายชื่อ “ภูมิใจไทย” 39 เสียง บวก 12 ที่นั่งจากบัญชีรายชื่อ “ชาติไทยพัฒนา” 6+4 “เสรีรวมไทย” 0+10 “ประชาชาติ” 6+1 “เศรษฐกิจใหม่” 0+6
หลังเลือกตั้ง แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะจากเขตเลือกตั้งที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค เข้าป้ายมากถึง 136 ที่นั่ง แต่เมื่อรวมคะแนน “ป๊อปปูลาร์โหวต” หรือ “คะแนนมหาชน” ปรากฏว่า พ่ายแพ้ต่อ “พรรคพลังประชารัฐ”
โดยที่ “พปชร.” ได้คะแนนมากว่า 8,433,137 เสียง ขณะที่ “เพื่อไทย” ได้ 7,920,630 เสียงเท่านั้น
พรรคพลังประชารัฐจึงอาศัยความชอบธรรมตรงเงื่อนไขนี้ ชิงจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคร่วมประกอบไปด้วย “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-รวมพลังประชาชาติไทย-พลังท้องถิ่นไท-เศรษฐกิจใหม่-ชาติพัฒนา” และพรรคเล็ก 11 พรรค มีฐานเสียงอยู่ที่ 270 ที่นั่ง
ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน มี “เพื่อไทย” เป็นแกนนำ ประกอบด้วย “เพื่อไทย-ก้าวไกล-เสรีรวมไทย-ประชาชาติ-เพื่อชาติ-พลังปวงชนไทย-ไทยศรีวิไลย์” มีฐานเสียงอยู่ที่ 212 ที่นั่ง
รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ผลัดใบจากรัฐบาลเผด็จการ มาจากการปฏิวัติ-รัฐประหาร จากประชาธิปไตยระบบรวมศูนย์ครอบครองอำนาจทั้งหมด ยึดครองบริหารประเทศสืบทอดต่อเนื่องมายาวนาน
ก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยทางตรงของประชาชนพลเมือง เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง เป็นผู้ชี้ขาดกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แม้ประสบการณ์จะมากไปด้วยความละอ่อน เด็กเอ๋ยเด็กน้อย โดน “พรรคฝ่ายค้านร่วม” รุมกินโต๊ะ ยำใหญ่ ทั้งญัตติการอาศัยกลไกรัฐธรรมนูญเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งรูปแบบการลงมติ และไม่ลงมติ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ติดต่อกันมาหลายครั้ง ถลกหนัง ทุบด้วยไม้หน้าสาม แต่สามารถเอาตัวรอด ฟันฝ่าอุปสรรคมาได้ตลอด
สาเหตุที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่รอดแบบกระท่อนกระแท่น จวนไปจวนอยู่มาทุกครั้ง
เหตุที่รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ก้าวข้ามขวากหนามนานัปการมาได้ ส่วนหนึ่งเพราะมี “ตัวช่วยสำคัญ” คือ “วุฒิสมาชิก” 250 เสียงที่ตั้งมากับมือ คอยประคับประคองเกมไม่ให้ “ปีกหัก” ได้เสมอมา
หลังเลือกตั้งใหญ่ 2566 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะใช้บริการตัวช่วย “ส.ว.” เท่าที่ลมหายใจยังมีอยู่อีกครั้ง ตั้งเป้าไว้ว่า ให้พรรคต้นสังกัด ชนะเลือกตั้งเกิน 25 ที่นั่ง เข้าเกณฑ์เกินร้อยละ 5
จะให้ 250 ส.ว.ช่วยปิดจ๊อบ ดันเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยให้ได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022