โลกของกองถ่าย กับโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ภาพยนตร์เรื่อง “ทิดน้อย” เพิ่งเปิดตัวและออกฉายไปในวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา

ช่วงนี้เลยมีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนทำการตลาดอย่างหลากหลายและถี่มากกว่าช่วงอื่น

แต่ในขณะที่กำลังโหมประชาสัมพันธ์อยู่ก็เกิดดราม่าขึ้นมา

เมื่อทางเพจของเครือโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งได้นำค่าตัวของนักแสดงนำ มาเป็นจุดขายในการเรียกความสนใจจากผู้ชม

โดยกล่าวว่า “ค่าตัวอั้มสร้างหนังได้ 1 เรื่อง ค่าตัวอนันดาซื้อคอนโดฯ แถวทองหล่อได้ 1 หลังพร้อมรถด้วย”

หลังจากนั้นชาวเน็ตก็แห่กันมาออกความเห็นอย่างเนืองแน่นแบบที่รู้จักกันดีว่าโดน “ทัวร์ลง”

ต่อมาเมื่อ “สหภาพแรงงานสร้างสรรค์” หรือ Creative Workers Union Thailand (CUT) ได้นำรูปภาพและถ้อยคำจากโพสต์นี้มารณรงค์ให้เห็นถึงปัญหาค่าแรงขั้นต่ำในอุตสาหกรรมบันเทิง ก็ทำให้ประเด็นนี้เป็นที่พูดถึงมากขึ้นและขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง

จนท้ายที่สุดทางเพจต้นเรื่องต้องประกาศขออภัยต่อความผิดพลาดดังกล่าวว่า “ขออภัยเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ ภาพยนตร์เรื่อง ทิดน้อย ผ่านสื่อ Social Media ทั้งนี้ ทีมงานจะนำไปปรับปรุง ระมัดระวัง มิให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก” และทำการลบโพสต์ต้นเหตุทิ้งไป

ปรากฏการณ์นี้เป็นภาพสะท้อนที่เด่นชัดของยุคสมัยปัจจุบันที่ผู้คน “ไม่อิน” กับความหรูหราหมาเห่าของอภิสิทธิ์ชนกลุ่มเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว แม้ในกรณีนี้จะไม่ได้เป็นความผิดของนักแสดงทั้งคู่เลย

แต่การที่พวกเขามั่งคั่งร่ำรวยในยามที่มีคนยากจนข้นแค้นเป็นจำนวนมากและพยายามหาทางลืมตาอ้าปากอย่างยากยิ่ง

ได้ส่งผลด้านกลับให้เกิดความคับข้องใจคล้ายๆ กับในภาพยนตร์เรื่อง Parasite เมื่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เป็นอารมณ์ร่วมของผู้คนทั้งโลก

การหยิบยกความอลังการงานสร้างแบบ “ทุ่มทุน” ลงไปที่ดารานักแสดงซึ่งเห็นว่าเป็นแม่เหล็ก จึงดูเป็นการอวดที่แปลกแยกกับยุคสมัยและใช้ไม่ได้ผลเหมือนในอดีต

กรณีปัญหานี้มีหลายประเด็นให้พูดถึง ซึ่งในที่นี้จะเลือกหยิบยกมาเพียงประเด็นใหญ่ๆ บางประเด็น

เริ่มจากเรื่องแรกก็คือ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านค่าตอบแทน”

เป็นที่ทราบกันดีว่าคนทำงานเบื้องหน้าได้มากกว่าเบื้องหลัง และในบรรดาคนทำงานเบื้องหน้ากับเบื้องหลังด้วยกันเองก็มีช่องว่างระหว่างรายได้ที่ห่างกันระหว่างแถวหน้ากับแถวหลังเช่นกัน

ทว่า ไม่มีข้อมูลประกาศออกมาอย่างแน่ชัดว่ารายได้ของแต่ละคนมีความแตกต่างกันมากเพียงใด

ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะระบบการจ่ายค่าแรงแบบ “ปิดลับ” ของกองถ่ายนั่นเอง

เฉพาะในส่วนของแรงงานเบื้องหน้าหรือเหล่านักแสดงทั้งหลาย ค่าตัวนักแสดงนั้นแม้โดยปกติจะมากกว่าทีมงานเบื้องหลังแต่ก็ไม่เสมอไป

เช่น นักแสดงตัวประกอบแบบไม่มีบทซึ่งเรียกกันง่ายๆ ว่า “เอกซ์ตร้า” พวกนี้จะมีค่าแรงและคุณภาพชีวิตที่ไม่ต่างกับทีมงานเบื้องหลังมากนัก

พวกเขาจะได้เงินค่าจ้างเป็นคิวแบบเหมาในราคาหลักร้อย

บางครั้งต้องผ่านการจ่ายเงินให้นายหน้าก้อนหนึ่งก่อนจะเข้ามาทำงานได้ และบางครั้งก็ได้รับเงินล่าช้า

พวกเอกซ์ตร้าได้รับอาหารและเครื่องดื่มที่ทางกองถ่ายจัดให้ และหามุมกินอาหารเอาเอง ไม่มีสวัสดิการใดๆ ในระยะยาว ไม่มีสายสัมพันธ์อะไรกับคนในกองถ่าย

วันไหนไม่ได้มากองถ่ายก็ไม่มีรายได้ในส่วนนี้

หากซูเปอร์สตาร์อย่างอั้ม พัชราภา หรืออนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม เป็นแถวหน้าสุดของนักแสดงซึ่งได้ค่าแรงหลักล้าน พวกเอกซ์ตร้าก็น่าจะเป็นแถวหลังสุดในบุคคลากรฝ่ายนี้ที่มีค่าแรงเพียงหลักร้อย

เมื่อเทียบแล้วก็ห่างกันไม่เห็นฝุ่น

 

สําหรับแรงงานเบื้องหลังก็มีลำดับชั้นของค่าแรงอยู่เหมือนกัน

คนที่ได้มากกว่าก็คือผู้กำกับฯ โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับภาพ คนเขียนบท ฯลฯ

ส่วนคนที่ได้น้อยกว่าจะเป็นพวกช่างไฟ ช่างแสง ช่างเสียง สวัสดิการกองถ่าย ฯลฯ

ทั้งนี้ ค่าแรงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับทักษะ ชื่อเสียง และฝีมือที่แสดงให้เห็นมาแล้วจากผลงานก่อนหน้าเป็นสำคัญ

ดังนั้น ในกลุ่มนี้คนที่ได้น้อยที่สุดก็มักเป็นเด็กใหม่ที่เพิ่งเรียนจบและเข้ามาทำงานกองถ่ายได้ไม่นาน

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว แถวหน้าของกลุ่มนี้บางคนมีค่าตอบแทนหลักล้าน

แถวหลังสุดของกลุ่มนี้บางส่วนก็มีค่าจ้างหลักร้อยอีกเช่นกัน

ทำให้เห็นว่าช่องว่างระหว่างรายได้ของคนเบื้องหลังก็ห่างกันเช่นเดียวกับเบื้องหน้า

 

ค่าตอบแทนที่แตกต่างกันตามบทบาท หน้าที่ ทักษะ ฝีมือ ประสบการณ์ และชื่อเสียง ถือเป็นเรื่องปกติในระบบการทำงานแบบทุนนิยมเสรี

แต่การที่มีช่องว่างระหว่างค่าจ้างของบุคลากรแต่ละกลุ่มสูงขนาดนี้ไม่อาจมองเป็นเรื่องปกติไปได้

รายได้ที่แตกต่างกันยังก่อให้เกิดศักดิ์ศรีที่แตกต่างกันไปด้วย นำมาสู่ชนชั้นวรรณะในกองถ่าย ทั้งๆ ที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ร่วมสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเดียวกัน แต่กลับมีคุณภาพชีวิตที่ต่างกันแบบคนละโลก

ซ้ำร้ายบางกองยังสร้างบรรยากาศที่ก่อให้เกิดฐานันดรขึ้นมาโดยปริยาย ด้วยการแยกโต๊ะรับประทานอาหารและเมนูอาหารของบุคลากรแต่ละกลุ่มออกจากกัน

รวมทั้งจัดห้องพักรับรองซูเปอร์สตาร์แบบหรูหรา ขณะที่คนงานในกองถ่ายนั่งกินนอนกินอยู่บนพื้น

ที่กล่าวมานี้ยังไม่รวมไปถึงชั่วโมงทำงานอันยาวนาน การทำงานเกินคิวแบบไม่มีโอที หรือการควงกะทำงานข้ามวันข้ามคืน

ซึ่งปัญหานี้เกิดรุนแรงที่สุดในหมู่แรงงานแถวหลังสุดของกองถ่าย เพราะพวกเขาต้องทำงานตลอดเวลาแบบไม่มีหยุดพัก

ในขณะที่ดารานักแสดงจะอยู่ในกองถ่ายเฉพาะเวลาที่ตัวเองมีบทเข้าฉากเท่านั้น

และหากอยู่กองถ่ายแต่ยังไม่มีฉากของตัวเอง นักแสดงก็สามารถพักผ่อนอย่างไรก็ได้ ซึ่งโดยมากถ้าหากไม่คุยกัน เล่นมือถือ ก็มักจะนอน ด้วยเหตุนี้แม้คราวใดที่เกิดการถ่ายทำยาวนานทั้งวันทั้งคืน

คนที่สะบักสะบอมที่สุดก็คือแรงงานเบื้องหลังเสียมากกว่าเบื้องหน้า

 

ประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตและสภาพการทำงานในกองถ่ายนี้ทางสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ได้มีการสำรวจและรายงานออกมาโดยแยกเป็น 2 ด้านคือ (1) ผลต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงาน (2) ผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจและความสัมพันธ์ทางสังคมภาพรวม ดังข้อมูลต่อไปนี้ https://www.facebook.com/photo?fbid=207826421774098&set=a.171992122024195

“ด้านผลต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงาน ผู้ตอบแบบสำรวจ 69.7% จำเป็นต้องใช้ยา สารกระตุ้น เครื่องดื่มชูกำลังเพื่อทนต่อการอดนอน อีก 65.1% ต้องประสบปัญหาด้านสุขภาพ เจ็บป่วย โรคประจำตัว จากการทำงานหนัก คนงาน 91.3% ยอมรับว่าทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าในระหว่างเวลาทำงาน 85.1% เกิดความผิดพลาดในการทำงาน ตอบสนองต่อการทำงานได้ช้าลง ไม่มีสมาธิ และ 32.4% เกิดอุบัติเหตุในการทำงานเนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ”

“ส่วนด้านผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจ และความสัมพันธ์ทางสังคมภาพรวม ผู้ตอบแบบสำรวจ 73.9% ประสบปัญหาทางด้านจิตใจ เกิดความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า 75.1% ตอบว่าการทำงานหนักส่งผลให้ไม่มีความสุขในการทำงาน 57.7% เกิดปัญหาต่อความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว 61.4% เกิดปัญหาต่อความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน และบุคคลอันเป็นที่รัก 78.4% เกิดสภาวะหมดไฟในการทำงาน”

 

จะเห็นได้ว่าปัญหาค่าแรงและคุณภาพชีวิตของคนทำงานกองถ่ายส่งผลทั้งต่อร่างกายและจิตใจ จนลามไปเป็นปัญหาสังคมนอกกองถ่ายด้วย ทั้งยังเป็นอุปสรรคขวางกั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างหนึ่งซึ่งมีศักยภาพในการทำรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมาก

ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีที่สุดท้ายกลายเป็นพลังทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของเกาหลีใต้ในยุคปัจจุบัน อันนำมาสู่ข้อเสนอจากสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหานี้ คือ

1. มีการเพิ่มค่าแรง สวัสดิการ ให้คนงานในอุตสาหกรรมกองถ่าย

2. กลุ่มทุนต้องเพิ่มงบประมาณและวางแผนในการผลิตงานให้มากขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตคนงาน

3. ภาครัฐต้องออกกฎหมายคุ้มครอง สนับสนุนอำนาจการรวมตัวของคนงาน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่ข้อเสนอนี้จะได้รับการตอบรับในปัจจุบัน เนื่องจากหลายสาเหตุ ประการแรกก็คือกลุ่มทุนเองก็ประสบปัญหาเรื่องผลประกอบการด้วยเช่นกัน เนื่องจากการระบาดของโควิด และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค อันกระทบต่อช่องทางการหารายได้

ซึ่งทำให้โอกาสทำกำไรจากธุรกิจบันเทิงมีน้อยลงกว่าที่เคยเป็นมา

 

ประการต่อมาก็คือต่อให้ภาครัฐออกกฎหมายคุ้มครองและสนับสนุนอำนาจการรวมตัวของคนทำงานกองถ่ายได้สำเร็จ ก็ไม่ได้การันตีว่ากลุ่มทุนจะจ้างคนเหล่านั้นอย่างที่หวังเอาไว้

เพราะโลกของกองถ่ายคือการรวมตัวของบรรดาฟรีแลนซ์จำนวนมาก ซึ่งต่างก็ถูกเลือกจ้างเป็นงานๆ ไป และแต่ละคนก็แย่งงานกันเอง

ที่สำคัญคือส่วนใหญ่จะมีทักษะที่ไม่แตกต่างกันมากนักซึ่งทำให้หาคนทดแทนได้ไม่ยาก

ดังนั้น ใครที่เป็นคน “เยอะ” หรือมีเงื่อนไขมากกว่าคนอื่นก็จะถูก “ตัดออก” และมักไม่ได้รับเลือกให้ทำงานชิ้นต่อมา

ลักษณะของการเลือกคนทำงานใหม่ได้เสมอจึงเป็นเสมือน “กฎที่มองไม่เห็น” ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของแรงงานกองถ่ายอยู่ตลอดเวลา