“เศรษฐา ทวีสิน” สไตล์บริหารธุรกิจ และวิสัยทัศน์บริหารประเทศ

เศรษฐา ทวีสิน อาจเป็นหน้าใหม่ในสนามการเมือง แต่ในสนามธุรกิจเขาคือคนที่เจนจัดในเกมที่ลงแข่ง นั่นคือธุรกิจที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะระดับบนและระดับ luxury

เขามีประสบการณ์บริหารธุรกิจมาแล้ว 30 ปี แสนสิริเริ่มต้นจากการมีพนักงาน 7 คน ถึงตอนนี้มีพนักงาน 4,000 คน เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์เบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย และที่เก่งในเรื่องการสร้างแบรนด์ได้โดดเด่น-มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีมูลค่าตามราคาตลาด (market cap) ราว 27,870 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มกราคม 2566

สไตล์การบริหารธุรกิจของเศรษฐาคือ เน้นความเร็ว ตัดสินใจเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว ฉับพลันทันเวลา

หลักการในการตัดสินใจเร็ว คือ ต้องมั่นใจว่าเรื่องนั้นถ้าตัดสินใจผิดแล้วไม่สร้างความเสียหายรุนแรง “ไม่ฉิบหาย”

เจ้าตัวยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ในช่วงโควิด-19 แสนสิริตัดสินใจลดราคาขายสินค้าเร็ว การประเมินชั่งน้ำหนักในตอนนั้นคือ ถ้าตัดสินใจผิด ผลเสียก็แค่ได้กำไรน้อย ถ้าตัดสินใจถูกคือบริษัทอยู่รอด แต่ถ้าตัดสินใจผิดไม่กล้าขายลดราคา ตอนนั้นบริษัทอาจจะไม่มีกระแสเงินสดเพียงพอ จะเสียหายเยอะ ดังนั้น เขาตัดสินใจรีบขายลดราคา

“ถ้าตัดสินใจช้าอาจจะเสียหายมากกว่าการตัดสินใจเร็วแล้วพลาด”

ด้วยหลักการแบบนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหลายอย่างที่เศรษฐายอมรับว่า “ตัดสินใจผิดพลาด” แต่ความผิดพลาดนั้น “ไม่ได้ทำให้เจ๊ง”

การบริหารงาน-บริหารคนในองค์กร เศรษฐาจะไม่เน้นเรื่องความเป็นมืออาชีพ แน่นอนว่าคนที่เข้ามาทำงานจะต้องมีความเป็นมืออาชีพเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่แสนสิริจะเน้นหล่อหลอมให้คนในองค์กรมีความคิดแบบเจ้าของธุรกิจ คิดแบบเจ้าสัว เอาใจเขาใส่ใจเราว่าเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นต้องการอะไร วิธีการง่ายๆ ที่เศรษฐาใช้ฝึกคนในเรื่องนี้ คือ

ถ้าลูกน้องเสนอโครงการอะไรมา เศรษฐาจะถามกลับว่า “โปรเจ็กต์นี้กับงบประมาณเท่านี้ ถ้าเป็นเงินคุณ คุณจะจ่ายไหม”

ถึงแม้ว่าในด้านธุรกิจประสบความสำเร็จชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ แต่ถ้ามองไปที่การเมือง เศรษฐาก็บอกว่า ธุรกิจกับการเมืองมีความต่างหลายอย่างที่ไม่สามารถเทียบเคียงได้ว่าบริหารธุรกิจสำเร็จแล้วจะสำเร็จในทางการเมือง

“คุณสั่งพนักงานในบริษัทมันไม่เหมือนกับสั่งข้าราชการ มันมีหลายอย่างที่ไม่ง่าย ไม่ใช่ว่าเราประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจแล้วเราจะเป็นนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จได้ ฉะนั้น คนที่เขาปรามาสเรามา เราก็ต้องฟัง”

และยังบอกไปถึงคนที่เตือนอีกว่า ไม่ต้องเตือนก็ได้ เพราะรู้ตัวอยู่แล้วว่ายังไม่มีประสบการณ์ในสนามนี้

เศรษฐามีความเห็นหลายประเด็นต่อเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แต่ย้ำว่าเป็นความเห็นของนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะซีอีโอแสนสิริ ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง ยังไม่ใช่ในนามแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ในนามพรรค และความเห็นในบางเรื่องอาจจะไม่ตรงกับพรรคก็ได้

เขาบอกว่าเรื่องสำคัญที่พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องรีบทำคือเรื่องปากท้องของประชาชน ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่าพรรคการเมืองทุกพรรคเล็งเห็นความสำคัญเรื่องนี้อยู่แล้ว และนโยบายเศรษฐกิจของทุกพรรคน่าจะเน้นเรื่องเอาเงินใส่กระเป๋าประชาชน หรือทำให้เงินออกจากกระเป๋าน้อยลง

ส่วนเรื่องที่พูดมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ เศรษฐาแสดงความเห็นว่า การจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ง่าย เพราะต้องใช้เงินงบประมาณที่มาจากภาษี ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรี-รัฐบาลจะขึ้นภาษีในส่วนไหน ก็จะมีคนที่ได้รับผลกระทบคัดค้านหรือขอให้ชะลอไปก่อน

“วันนี้ทุกคนก็อยากลดความเหลื่อมล้ำ สมมุติว่าผมเป็นนายกฯ ผมบอกว่าผมจะแก้ความเหลื่อมล้ำด้วยการขึ้นภาษีมรดก นักธุรกิจอยู่ในพรรคก็จะเอ่อ… พี่… คือ… การพูดมันพูดง่ายครับ แต่คำพูดมีต้นทุน แล้วจะลดได้ยังไง… ทุกคนชอบหมดเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ แต่พอเข้ากระเป๋าตัวเอง คุณก็ไม่ให้ทำหรอก… คุณบอกว่าคุณเห็นใจคนต่างจังหวัด แต่พอคุณเศรษฐาจะเก็บภาษีคนกรุงเทพฯ มากขึ้น คุณก็ไม่เอาแล้ว”

“แต่ว่า (ผู้นำ) ก็ต้องตัดสินใจ”

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ-ปากท้องของประชาชน และเรื่องความเหลื่อมล้ำ เศรษฐามีเรื่องที่รู้สึกเป็นห่วงอยู่ คือ

1. เรื่อง geopolitics หรือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเศรษฐามองว่าไทยไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไร แต่เรื่องนี้สำคัญ ไทยสามารถแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจได้ และในขณะเดียวกัน หากเราอยู่เฉย มันอาจส่งผลทางลบต่อเราได้

2. เรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคความเท่าเทียม เรื่องเพศสภาพ เรื่องนโยบายรัฐบาล เรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เรื่องทุนใหญ่กินรวบ เรื่องอิสรภาพในโรงเรียน เรื่องการบูลลี่กัน เรื่องกฎกติกาต่างๆ ซึ่งเขามองว่า คนเราไม่ได้อยู่ได้ด้วยเงินในกระเป๋าเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสบายใจด้วยถึงจะอยู่ในสังคมได้ บางคนมีเงินพอสมควรแล้วแต่ “คับใจ” ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ก็ไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

“เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าประเทศไทยยังให้ความสำคัญไม่พอ”

 

“เรื่อง geopolitics ที่ไม่มีใครพูดถึงเยอะ เพราะประเทศไทยไม่มีที่ยืนในเวทีโลกมา 8 ปี… การค้าขายหรือการที่เราจะไปต่อรองเรื่องกฎกติกาการอยู่ร่วมกันในโลก เราเป็นประเทศที่ค่อนข้างเล็ก เราต้องประเมินน้ำหนักตัวเอง เราจะคอยให้สหรัฐ หรือจีนเข้ามาหาเรา มันคงลำบาก เราต้องทำตัวให้เขารู้ว่าเราก็มีดีเหมือนกัน ผมไปหาก็ได้ในฐานะที่ผมเป็นน้องเล็ก คุณต้องบินไปหาเขา”

“คุณต้องดูเปรียบเทียบ อินโดนีเซียกับเวียดนาม เขาได้เปรียบเรื่องจำนวนประชากร และเขาขยันกว่า ผู้นำเขาถ่อมตัว บินออกไปขายของ บินออกไปชวนให้คนมาลงทุน ประธานาธิบดีอินโดนีเซียบินไปยูเครน บินไปรัสเซีย บอกว่าจะไปเจรจาสันติภาพ แต่แฝงไปด้วยการค้าทั้งนั้น ไปซื้อปุ๋ยมาจากรัสเซีย ซื้อข้าวสาลีจากยูเครน ไปเอาโรงกลั่นน้ำมันมา ไปเมืองจีนเจรจาให้จีนมาสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่อินโดฯ ส่วนประเทศไทยส่งผู้แทนการค้าไป ขณะที่ประเทศอื่นเขาส่งเบอร์ 1 ไป”

“เรื่อง geopolitics อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เหตุผลที่เอสเอ็มอีไทยไม่มีตลาดไปก็เพราะว่าเราไม่เคยไปเปิดตลาดใหม่ เราจะพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ ต้องทำให้เขามาลงทุน”

“ที่ผ่านมาเราไม่ได้ take advantage (แสวงหาประโยชน์) จากการที่จีนกับสหรัฐมีปัญหากัน โรงงานผลิตสินค้าของสหรัฐ เขาย้ายออกจากจีน แต่เราไม่ไปเจอผู้นำทางเศรษฐกิจของสหรัฐเลย เขาก็ย้ายไปอินโดนีเซีย ไปเวียดนาม อินเดีย นี่คือที่มาที่ไปว่าทำไมประเทศไทยไม่มีที่ยืนในเวทีโลก”

 

เรื่องการดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุน เศรษฐามองว่า แม้จะมีบางด้านที่ไทยสู้คู่แข่งไม่ได้ ไทยเป็นรองในเรื่องความง่ายในการทำธุรกิจ แต่เราก็ยังมีจุดเด่น มีด้านที่คู่แข่งสู้เราไม่ได้ ซึ่งควรจะนำเสนอเป็นจุดขาย นั่นก็คือ ด้านการแพทย์ ระบบสาธารณสุข โรงเรียนนานาชาติ สนามบิน และอินเตอร์เน็ต แต่ปัญหาของไทยย้อนกลับไปตรงที่ผู้นำของเราไม่ออกไปพูดคุยกับนานาชาติ

“ผมว่าการที่ชาวต่างชาติทั้งหลายเขาจะมา อย่างแรกที่เขาดูเลยคือครอบครัวเขาจะไปไหน ลูกเขาอายุเจ็ดแปดขวบจะเรียนที่ไหน มีโรงเรียนอินเตอร์หรือเปล่า ซึ่งเรามีเยอะแยะ ระดับใช้ได้ทั้งนั้น ปัจจัยเหล่านี้เมืองไทยดึงดูดได้แน่นอน มันมีหลายๆ ประเด็นที่ไทยยังเป็นต่ออยู่ สนามบินเราก็ใช้ได้ อินเตอร์เน็ตเราก็ดีระดับโลก มันก็ต้องค่อยๆ สร้างกันไป”

เขาบอกว่า หน้าที่หนึ่งของนายกรัฐมนตรี คือ ต้องเป็นเซลส์แมนของประเทศ

“เรามีของดี อย่าไปโฟกัสส่วนที่ไม่ดี… ผมว่าเราต้องมีโอกาสในการที่จะไปขายตัวเอง ไม่ใช่อยู่แค่ในที่ของตัวเอง จริงๆ แล้วนายกฯ ต้องเป็นเซลส์แมน ต้องไปเปิดตลาดใหม่…”

“ประเทศไทยมีอนาคต ผมว่าไม่ยากเลย ผมยังเสียดายโอกาสที่ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้”