หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “ชั่วคราว”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ชั่วคราว”

สิ่งหนึ่งที่ไม่ “รื่นรมย์” นัก กับการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของผม คือเมื่อเข้าไปเฝ้ารอแล้ว “เป้าหมาย” ที่ตั้งใจอยากพบ ไม่มาให้เห็น

ที่ทำได้อย่างดีที่สุดคือ เริ่มต้นใหม่

“วันนี้ไม่เจอ พรุ่งนี้ก็เจอ” อดิเทพ คู่หูในป่าทุ่งใหญ่ บอกผมอย่างนี้ทุกวันเมื่อเห็นผมกลับมาถึงแคมป์ในตอนพลบค่ำด้วยสีหน้าอิดโรย

รอยตีนสมเสร็จ ซึ่งเหยียบย่ำไว้บนพื้น บอกให้รู้ว่ามีพวกมันอยู่ในบริเวณ

แต่รอยตีนบอกให้รู้ไม่ได้ว่า เมื่อไหร่พวกมันจะผ่านมาอีกครั้ง

เรายังไม่รู้ว่าพวกมันมีเส้นทางการเดินหรือใช้ชีวิตเช่นไร

แหล่งอาหาร น่าจะเป็นตัวกำหนดสำหรับสัตว์ที่คล้ายจะไม่มีอาณาเขตที่แน่นอน

สองปีก่อน ผมพบว่า รอบการเดินของสมเสร็จอยู่ที่ 22 วัน หลังจากพบกันครั้งแรก มันกลับมาอีกครั้งหลังผ่านไป 22 วัน

ผมใช้ข้อมูลคร่าวๆ นี้มาใช้เพื่อรอ

รออย่างมีความหวังว่า พวกมันจะมีวิถีคล้ายๆ กันในแหล่งอาศัย ซึ่งมีสภาพไม่ต่างกันนัก

โป่งนี้อยู่ไม่ไกลจากน้ำสายใหญ่ ล้อมรอบด้วยป่าไผ่ ซึ่งในช่วงปลายฤดูหนาว อันถือได้ว่าคือฤดูแล้งของป่า

ในป่ามีแค่สองฤดู

คือฤดูแล้ง และฤดูฝน

ช่วงเดือนมกกราคม ป่าแห้งแล้ง โดยเฉพาะในป่าไผ่ ไม่มีหน่อไม้ที่เป็นอาหาร ไม่ใช่ช่วงเวลาที่สัตว์ป่าจะแวะเวียนมาแถวนี้

โป่งจึงไม่คึกคักเลย มีรอยตีนใหม่ๆ ของกระทิง ไม่ใช่รอยฝูง แต่เป็นกระทิงซึ่งเดินทางเพียงลำพัง

รอยเก่าๆ ของสมเสร็จนั่นทำให้ผมใจชื้น มันผ่านไปนานแล้ว หวังว่าคงจะกลับมาในไม่ช้า

สมาชิกประจำเป็นนกหกเล็กปากแดง นกเขาเปล้า และนกยางกรอกตัวหนึ่ง ที่เข้า-ออกโป่งตรงตามเวลา

นกยางกรอกเมื่อมันยืนนิ่ง ก็ยากจะสังเกตเห็น

มันใช้วิธียืนนิ่งๆ และจิกแมลงปอที่โฉบเข้ามาใกล้อย่างว่องไว ได้วันละหลายตัว

โป่งมีขนาดใหญ่พอสมควร ลักษณะเป็นโป่งน้ำ มีน้ำผุดขึ้นจากใต้ดิน น้ำค่อนข้างอุ่น มีกลิ่นกำมะถัน และแร่ธาตุต่างๆ อันเป็นเรื่องปกติของโป่งที่มีลักษณะเช่นนี้

บริเวณกลางๆ โป่งเป็นแอ่งน้ำ มีสายน้ำไหลออกไปทางทิศใต้ ลงไปสมทบกับลำห้วยสายเล็กซึ่งระดับน้ำมีไม่มาก

รอบๆ แอ่งน้ำ มีก้อนหินสีเทาๆ ระเกะระกะ บนก้อนหินมีขี้นกสีขาวๆ เป็นจุดๆ

ด้านทิศเหนือ มีด่านขนาดใหญ่ ด่านถูกขนาบด้วยช่องเขา สัตว์ป่าดูเหมือนจะถูกเส้นทางบีบให้ต้องเดินลงมาจากทางด้านนั้น

ผมตรวจสอบกระแสลมที่พัดมาจากทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ตั้งซุ้มบังไพร ในตำแหน่งที่อยู่ใต้ลม คือสิ่งสำคัญ

แม้ว่าซุ้มบังไพรที่ใช้เราจะออกมาแบบมาให้เป็นชนิดมิดชิด มีช่องเดียวให้เลนส์โผล่ได้

เจตนาเพื่อกันไม่ให้กลิ่นกายของเราออกมาภายนอก

แต่เราก็พบว่า มันช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ความมิดชิด ไม่สามารถหลบซ่อนให้พ้นจากประสาทอันฉับไวของเหล่าสัตว์ป่า

แม้อาจไม่ได้กลิ่น แต่พวกมันสัมผัสได้ว่าเราอยู่ใกล้ๆ

พวกมันออกมากินน้ำก็จริง แต่ด้วยความระมัดระวัง และเหลือบสายตามาทางเราตลอดเวลาอย่างระแวง

ชัตเตอร์ คือเสียงแปลกปลอม การกดอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ความระแวงเพิ่มขึ้น และสิ่งที่สัตว์จะทำคือ หยุดการกิน เงยหน้า ค่อยๆ เดินกลับเข้าป่า

ในช่วงเช้า ผมจะไม่เดินไปเข้าซุ้มบังไพร

การเปิดโอกาสให้สัตว์ป่าได้กินอาหารของมันเป็นเรื่องสำคัญกว่า

ในป่า คนคือสิ่งแปลกปลอม

เมื่อเข้ามาอยู่ในบ้านของพวกมัน

ความเกรงใจต่อเจ้าของบ้าน คือสิ่งจำเป็น

ผ่านไปกว่าสองสัปดาห์ เป้าหมายยังไม่มา

แต่ดูเหมือนเราจะกลมกลืนกับสภาพรอบๆ มากขึ้น กระทิง 3-4 ตัวออกมาทุกบ่าย

รวมทั้งกวางตัวผู้อีกสองตัว

กวางทั้งสองตัวโตเต็มวัยแล้ว มีขนาดตัวพอๆ กัน

ความแตกต่างอยู่ที่ ตัวหนึ่งผลัดเขาทิ้งไปแล้ว และมีเขาสีน้ำตาลคล้ำๆ เริ่มงอกใหม่

ส่วนอีกตัวมีเขาใหญ่โต

พวกมันมักออกมาทีหลังกระทิง ช่วงก่อน 6 โมงเย็น

ตัวที่ผลัดเขาแล้ว พอมาถึงก็ก้มหน้าก้มตากินน้ำอย่างกระหาย ไม่สนใจอะไร

ตัวเขาใหญ่ นานๆ จะก้มลงกิน

เวลาที่เหลือคือยืนเชิดหน้า

คล้ายจะอวดเขาสวยงามอย่างภาคภูมิใจ

มีความเป็นจริงในป่าอีกอย่างหนึ่ง

คือ สัตว์ตัวผู้นั้นเป็นฝ่ายถูกเลือกโดยตัวเมีย

ตัวผู้ ซึ่งแสดงความแข็งแรง สวยงาม ได้ “เข้าตา” ตัวเมียจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นพ่อของลูก

ดังนั้น เมื่อถึงเวลา ซึ่งหากจะเรียกให้ฟังดูโรแมนติก

มันคือฤดูกาลแห่งความรัก

สัตว์ตัวผู้ต้องปรับปรุงตัวให้ดูเท่ สมาร์ต และดีพอ นอกจากนั้น ยังต้องใช้ทักษะอื่นๆ เช่น ร่ายรำ ส่งเสียงไพเราะ รวมทั้งฝีมือสร้างรัง หรือเลือกทำเลเหมาะๆ ให้ตัวเมียพอใจ

เขาใหญ่โต คือเครื่องประดับอย่างหนึ่ง

กวางใช้เขาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งให้ตัวเมียตัดสินใจง่ายขึ้น

และเขาใหญ่โตก็ทำให้ตัวผู้ตัวอื่นๆ ยอมหลีกทาง

หรือหากจำเป็นต้องประลองกำลัง

ตัวที่มีเขาใหญ่มักเป็นฝ่ายมีชัย

โดยปกติ สัตว์ป่าจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้

เพราะเมื่อต่อสู้ การบาดเจ็บหรือเกิดบาดแผลย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น

บาดแผลเล็กๆ ลุกลามได้ง่าย และนั่นย่อมเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าสัตว์ผู้ล่า พวกมันจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้

ตัวที่ยังด้อยกว่าทั้งอาวุโสและพละกำลัง จะ ถอยเมื่อได้รับการเตือน

และตัวอาวุโสที่อ่อนล้า ก็รู้เช่นกันว่าเมื่อใดที่ต้องยอม

แต่ดูเหมือนว่าจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เมื่อมีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผมเคยอยู่ในเหตุการณ์ที่กวางหนุ่มตัวหนึ่งกระโจนเข้าหากวางอาวุโสที่มีเขาใหญ่ อย่างไม่กังวลกับการบาดเจ็บ มันเอาเขาสั้นๆ เข้างัดกับเขาใหญ่ ผลคือกระเด็นออกมา

มันกระโจนเข้าไปใหม่ ทำเช่นนี้ตลอดวัน

ถึงค่ำจึงยอมถอยไป และยืนดูตัวผู้เขาใหญ่คลอเคลียตัวเมียอยู่ไม่ไกล

ผมใช้เวลารอเป้าหมายในเวลากว่าเดือน

ในระหว่างรอ คล้ายจะไม่ใช่เวลาที่สูญเปล่าแต่อย่างใด

กระนั้นก็เถอะ

เขาก็เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งของกวางตัวผู้ ผ่านพ้นช่วงเวลาสำคัญ พวกมันก็จะผลัดเขาทิ้งไป

ว่าตามจริง เขาใหญ่โตนี้เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตปกติ เกะกะ รุงรัง หากจำเป็นต้องวิ่งหนีสัตว์ผู้ล่า

เขากวางจะร่วงหล่นและงอกขึ้นมาใหม่

วนเวียนไปเช่นนี้

เขาใหญ่โต สวยงาม ดูน่าเกรงขาม

เป็นเพียงเรื่อง “ชั่วคราว”

กวางรู้เรื่องเช่นนี้ดี