ตะวัน-แบม เยาวชนนักสู้ ยอมเข้าคุก…อดอาหาร ดีกว่าการ…จับปืนยิงกัน? (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ

 

ตะวัน-แบม

เยาวชนนักสู้ ยอมเข้าคุก…อดอาหาร

ดีกว่าการ…จับปืนยิงกัน? (จบ)

 

การต่อสู้ 2 ระดับในสังคมกะลาครอบ

1.ระดับชิงอำนาจรัฐ เป็นการต่อสู้ทางการเมืองผ่านระบอบประชาธิปไตยที่มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน โดยหวังว่าเมื่อชนะการเลือกตั้งจะได้เข้าไปบริหารประเทศ บ้างก็หวังว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

แต่นั่นเป็นแค่บันไดขั้นหนึ่งที่จะก้าวผ่านขึ้นไป ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยชนะก็ดีกว่าแพ้ เพราะยังมีโอกาสที่จะแก้ไขบางเรื่องได้

แต่ชัยชนะตรงนี้จะแสดงเจตจำนงอย่างแจ่มชัดว่าต้องการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็ควรมีคะแนนเสียงมากถึง 2 ใน 3 โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างก็จะมีมากขึ้น พอจะต้านพลังกล้วยได้ มีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญและเสนอแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้ก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อพัฒนาระบบการปกครอง การกระจายอำนาจและพัฒนาเศรษฐกิจ

แต่ถ้าพ่ายแพ้ให้กับกลุ่มที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ หมายความว่าประเทศเราจะจมดิ่งลงสู่หายนะต่อไปอีกหลายปี หนี้สินจะท่วมท้นแทบทุกครัวเรือน

การคอร์รัปชั่นที่เติบโตมากที่สุดในรอบ 8 ปีนี้น่าจะมีต่อไปอีกและเพิ่มมากขึ้นจนเป็นหายนะ

2. ระดับการต่อสู้เชิงอุดมการณ์เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นี่คือเป้าหมายการต่อสู้ของเยาวชนยุคนี้

เยาวชนไม่มีส่วนในการครองอำนาจ แต่อยากเห็นบ้านเมืองมีการบริหารที่ก้าวหน้าโดยตัวแทนที่เลือกโดยประชาชน ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน มีกฎหมายและการใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม มีการตรวจสอบการใช้อำนาจทุกฝ่ายได้ด้วยตัวแทนประชาชน

ที่เยาวชนนักสู้ทั้งหลายทำอยู่คือการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ และหวังเปลี่ยนโครงสร้าง

สิ่งที่ตะวัน…ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม…อรวรรณ ภู่พงษ์ เรียกร้องครั้งนี้เป็นเพียงเรื่องเฉพาะหน้าเกี่ยวกับระบบความยุติธรรม เพียงด้านเดียว

แต่ที่จริงเยาวชนเหล่านี้เห็นปัญหาหลายด้าน

 

เยาวชนเรียกร้อง

ให้มีการปฏิรูปทุกด้าน

อย่างแท้จริง

เยาวชนหนุ่มสาวยุคนี้ได้เรียนรู้เรื่องความขัดแย้งระหว่างแดงเหลือง และการรัฐประหาร 2549 จากนั้นได้เห็นการล้อมปราบและสังหารประชาชนในปี 2553 กลางเมืองหลวง บางคนได้เลือกตั้งครั้งแรกปี 2554 บางคนได้เลือกตั้งในปี 2557 แต่โดนม็อบ กปปส.ขัดขวาง จากนั้นก็มีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช. ต่อมาพวกเขาก็เห็นการบริหารการปกครองที่ล้มเหลว ภายใต้การนำของ คสช.และประยุทธ์นานถึง 8 ปี

เยาวชนรุ่นเล็ก อายุ 10 ขวบในปี 2557 ถึงวันนี้กลายเป็น 18 ปี มีสิทธิ์เลือกตั้ง

และอีก 5-10 ปีข้างหน้า พวกเขาจะกลายเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ตามหลังรุ่นพี่ที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี คนเหล่านี้ฉลาด มีการศึกษา อยู่ในระดับแนวหน้าเป็นส่วนใหญ่ แต่จะต้องทำงานใช้หนี้ไปอีกหลายสิบปี ถ้าหากปรับโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ สังคมไม่ดี ตลอดชีวิตที่เหลือจะเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุด

ถึงวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า 10 ปีผ่านไปยังไม่มีการปฏิรูปอะไรขึ้นมาเลย

ที่บอกว่าปราบโกง กลายเป็นโกงทุกระดับ

เยาวชนจึงจำเป็นต้องเคลื่อนไหวเต็มกำลัง เพื่อเป้าหมายการปฏิรูป ที่จะต้องเริ่มก่อนคือ การแก้รัฐธรรมนูญ แต่ ส.ว.แต่งตั้งคงไม่ยอมร่วมมือ ดังนั้น ส.ว.จะเป็นเป้าโจมตีในโอกาสต่อไป

ในท่ามกลางข่าวความเหลวแหลก เน่าเหม็นของระบบต่างๆ ในสังคม เหมือนแร้งรุมทึ้งเงินภาษี และเงินกู้ การคดโกงถูกเปิดโปงทุกวัน ชี้ให้เห็นว่า ปลามิได้เน่าเพียงตัวเดียว แต่มีปลาเน่าจำนวนมาก จึงเหม็นไปทั้งประเทศ

การต่อต้านอยุติธรรมจึงเป็นหน้าที่เยาวชนคนหนุ่มสาวใจถึงจำนวนมากที่เสี่ยงชีวิตและเสรีภาพ…เพื่อเปลี่ยนโครงสร้าง โดยบอกว่า…ให้มันจบที่รุ่นเรา…

 

รัฐไทยทำเช่นเดียวกับเผด็จการทหารพม่า

…จับผู้ต่อต้านขังคุก

สิ่งที่รัฐไทยทำกับประชาชนก็คล้ายกับรัฐเผด็จการทั่วโลกทำอยู่ คือการจับคนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตย ไปขังเอาไว้ เพื่อสกัดกั้นการต่อต้านไม่ให้ขยายตัว

วิธีที่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยใช้ เพื่อยื้ออำนาจตัวเอง คือใช้โครงสร้างอำนาจรัฐ อำนาจทหาร ระบบราชการ กฎหมายและระบบยุติธรรม องค์กรอิสระ ในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา

กฎหมายเลือกบังคับใช้เฉพาะคนเฉพาะกลุ่ม เมื่อเกิดซ้ำหลายครั้งเข้าประชาชนก็เข้าใจได้ว่า นี่เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายบุคคลหรือกลุ่ม เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือเพื่อเงินทอง การตัดสินคดีหลายคดี ประชาชนบอกล่วงหน้าได้ว่าถ้าเป็นบุคคลนี้จะต้องถูกลงโทษ ถ้าเป็นบุคคลนั้นจะไม่ต้องได้รับโทษ หรือได้รับโทษน้อย ซึ่งแทบไม่เคยมีใครเดาผิดเลย

ผู้มีอำนาจต้องการให้ประชาชนทำตามกฎหมายที่พวกเขาร่างไว้ แต่พวกเขาเองอาจจะไม่ทำตามก็ได้ แถมไม่พอใจก็ฉีกกฎหมายทิ้งได้ และวันนี้ได้ออกกฎหมายมาควบคุมประชาชน ไม่ให้พูด หรือแสดงความคิดเห็นที่ต่างกับรัฐ แถมมาไล่จับนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่มาเรียกร้องไปขังคุก

ถ้าทำตามกฎหมายที่ คสช.ร่างมา ก็ไม่ต้องต่อสู้ แต่เมื่อต่อสู้ก็ถูกจับขัง

การประท้วงต่อกระบวนการยุติธรรมจึงเกิดขึ้น ทุกรูปแบบ ทั้งนอกคุก ในคุก

การอดอาหารและน้ำประท้วงของเยาวชนนักสู้ครั้งนี้เสี่ยงตายมาก ยิ่งกว่าเข้าป่าจับปืนสมัยก่อน

 

จำเป็นต้องสู้ ในเวทีการเลือกตั้ง

บนกติกาที่เอาเปรียบ

ในยุคนี้การต่อสู้ทั้งสองระดับจำเป็นต้องเดินหน้าไปด้วยกัน เพราะสถานการณ์ของไทยไม่เหมือนพม่า ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ใช้ปืนมาต่อต้านอำนาจเผด็จการได้ และยังต้องสู้ในกะลาครอบ

เยาวชนควรมีบทบาทในการเลือกตั้ง นอกจากไปใช้สิทธิ์แล้ว ยังสามารถร่วมรณรงค์ให้เกิดการเลือกตั้งที่ยุติธรรม ตามหลักการประชาธิปไตย

การเลือกตั้งปี 2566 สามารถใช้ปากกาเปลี่ยนการปกครองได้บางส่วน ใช้เวลาน้อยสุด ลงทุนน้อยสุด ประชาชนมีส่วนร่วมมากสุด เจ็บปวด เสียหายน้อยสุด

แต่ผลอาจไม่ได้มากเท่าที่หวัง เพราะอีกฝ่ายก็ใช้กระสุนมาสู้กระแส การรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัว และกล้าสู้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

การปกครองภายใต้อิทธิพลคณะรัฐประหาร 8 ปี แม้ทำให้คนเจ๊ง จน เจ็บ ทั้งประเทศ แต่คนที่มีความคิดอนุรักษนิยม ก็มีไม่น้อย

จึงยังมีคนไปเลือกพรรคที่หนุนการสืบทอดอำนาจ โกง และไร้ผลงาน แต่จะมากแค่ไหน ครั้งนี้ประเมินยาก ถ้าฝ่ายสืบทอดอำนาจได้เสียง ส.ส.เกิน 250 ก็สมควรที่จะจมอยู่ในก้นเหวกันต่อไป

แต่ถ้าอยากเปลี่ยน…ประชาชนต้องเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ ส.ส.รวมกันเกิน 300 คน

การเปลี่ยนแปลงจากนี้ จะมีให้เห็นทุกๆ ปี จะมีการเลือกตั้งอีกหลายครั้ง ผลการเลือกตั้งฝ่ายก้าวหน้าจะมีคะแนนมากขึ้นทุกครั้ง แนวทางและนโยบายที่ก้าวหน้าจะได้รับการต้อนรับมากขึ้น คนออกมาสู้ก็จะเพิ่มขึ้น

การเคลื่อนไหวต่อสู้ก็จะเกิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน กระบวนการยุติธรรมก็ถูกจับตามากขึ้น และอาจมีคนเห็นขัดแย้งมากขึ้น โดยเฉพาะตำรวจและศาล ในอนาคต จะไม่มีเพียงแค่ตะวัน แบม และชูวิทย์