ชูวิทย์เอฟเฟ็กต์! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

วันนี้ พวกเราในสังคมไทยคงต้องขอขอบคุณ “คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ที่ทำหน้าที่เป็น “หมาเฝ้าบ้าน” แทนพวกเราอย่างดี และทั้งยังทำหน้าที่ “ขอโทษ” แทนคนในสังคมไทยจากการกระทำของตำรวจบางนาย ที่ควรจะเป็น “หมาเฝ้าบ้าน” กลับทำตัวเป็น “สุนัขโจร” ที่แสวงหาผลประโยชน์บนความเปราะบางของสังคมไทยปัจจุบัน

ในเบื้องต้น “คุณชูวิทย์” เดินหน้าเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลเรื่องกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติจีน คู่ขนานกับเปิดประเด็นการข่มขู่เพื่อเรียกทรัพย์กรณีนักท่องเที่ยวไต้หวัน ซึ่งในทั้งสองกรณีจุดสุดท้ายของปัญหาเฉพาะหน้าไปจบลงที่ตำรวจไทย ในสภาวะอย่างนี้ องค์กรตำรวจไทยจึงตกเป็น “จำเลยสังคม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในด้านหนึ่งบุคลากรบางคนขององค์กรตำรวจไทยกลายเป็น “แนวร่วมใกล้ชิด” ขององค์กรอาชญากรรมจีน และในอีกกรณี บุคลากรขององค์กรนี้ กระทำการไม่ต่างกับ “องค์กรอาชญากรรมท้องถิ่น” ที่ข่มขู่เรียกทรัพย์ หรืออาจไม่ต่างจากองค์กรก่อการร้ายในบางประเทศที่ตั้งด่านเพื่อเก็บ “ค่าผ่านทาง” เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเปิดโปงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีนัยสำคัญกับการพิจารณาปัญหาความมั่นคงไทยในอนาคต และทำให้ข้อถกเถียงปัญหา “ภัยคุกคามใหม่” ของไทยในประเด็นเช่นนี้มีรูปธรรมชัดเจนขึ้น

กรณีของแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติจีน สะท้อนประเด็นอย่างมีนัยสำคัญของ “ปัญหาภัยคุกคามข้ามชาติ” รูปแบบใหม่ (transnational threat) ซึ่งแต่เดิมในยุคสงครามเย็นนั้น นักความมั่นคงไม่เคยถือว่าอาชญากรรมเป็นปัญหาความมั่นคง เพราะถือเป็นเรื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายภายใน จึงไม่ถูกนำมา “ทำให้เป็นปัญหาความมั่นคง” (securitization) แต่หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น และตามมาด้วยการมาของกระแสโลกาภิวัตน์ ปัญหาอาชญากรรมจึงไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในบริบทของรัฐ และมีลักษณะของการเป็นปัญหาข้ามชาติอย่างชัดเจน จนนักความมั่นคงต้องยกระดับของการมองปัญหา และถือว่า “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” (Transnational Organized Crime หรือ TOC) เป็นโจทย์สำคัญของปัญหาความมั่นคงในศตวรรษที่ 21 และสำหรับโจทย์ความมั่นคงชุดนี้ ฝ่ายรัฐมีองค์กรตำรวจเป็นกำลังหลัก

การปรากฏตัวของแก๊งอาชญากรรมจีนในไทย จึงเป็นภาพสะท้อนของ “โลกาภิวัตน์ด้านมืด” กล่าวคือ แก๊งอาชญากรจีนมาพร้อมกับกระแส “โลกาภิวัตน์จีน” ที่มีนัยถึงการเปิดประเทศ และการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งก็ตามมาด้วยการขยายตัวขององค์กรอาชญากรรมด้วย แต่ด้วยความเข้มงวดของอำนาจรัฐจีน อาชญากรเหล่านี้จึงต้องหา “ฐานการผลิต” ใหม่ ไม่ต่างกับการหาฐานการผลิตใหม่ของอุตสาหกรรมในวิชาเศรษฐศาสตร์

ดังนั้น โดยเปรียบเทียบแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า ภัยคุกคามในยุคคอมมิวนิสต์คือ “จีนแดง” แต่ภัยคุกคามในยุคโลกาภิวัตน์คือ “จีนเทา” หรืออาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า ในอดีตเรากลัวจีนส่งออก “การปฎิวัติ” แต่วันนี้เรากลัวการส่งออก “อาชญากรรมข้ามชาติ” ซึ่งว่าที่จริง “จิตวิญญาณการปฎิวัติ” ของชาวสังคมนิยมจีนจบไปนานแล้ว รัฐบาลจีนปัจจุบันจึงดูไม่ใส่ใจและไม่สนใจกับปัญหาเหล่านี้เท่าใดนัก ปัญหาดังกล่าวจึงถูกปล่อยให้เป็นภาระหนักของรัฐบาลท้องถิ่นที่ต้องเผชิญกับการรุกข้ามชาติครั้งใหญ่ของอาชญากรจีน

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดคือ จีนแดงได้เปลี่ยนเส้นทางส่งออกการปฎิวัติไปสู่การขยายอาชญากรรมไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังจะเห็นได้ว่าไทย ลาว เมียนมา และกัมพูชา กลายเป็น “ฐานที่มั่นใหญ่” ของแก๊งจีนเทา ตลอดรวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ระบาดอยู่ในไทยและในภูมิภาค ซึ่งก็เป็นผลผลิตของแก๊งจีน

ฉะนั้น การเปิดโปงของ “คุณชูวิทย์” จึงช่วยให้สังคมไทยได้เห็นภาพของภัยคุกคามใหม่ที่ชัดเจน เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นที่รับรู้ในที่สาธารณะแต่อย่างใด และไม่เคยถูกเปิดเผยอย่างเป็นรูปธรรมถึงการเชื่อมโยงระหว่างอาชญากรรมข้ามชาติกับกลุ่มอำนาจรัฐท้องถิ่น ซึ่งปฎิเสธไม่ได้เลยว่าในภัยคุกคามชุดนี้ มีบุคลากรจากฝั่งอำนาจรัฐไทยเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง ความเชื่อมโยงในเรื่องนี้จึงสะท้อนชัดว่า องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติจะดำรงอยู่ในท้องถิ่นไม่ได้เลย หากปราศจากการสนับสนุนของบุคลากรในโครงสร้างอำนาจรัฐท้องถิ่น

แน่นอนว่า การต่อสู้กับภัยคุกคามชุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับรัฐไทย เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกับบางส่วนของอำนาจรัฐไทยเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด และเจ้าหน้าที่รัฐในฝ่ายต่างๆ เหล่านี้ยังช่วยเหลือในการปกป้องการก่ออาชญากรรมในบ้านของตน เพราะผลประโยชน์ที่ได้รับมีจำนวนมหาศาล อีกทั้ง ปัญหานี้ยังปรากฏชัดถึงการมีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนที่เป็นผู้รักษากฎหมายอีกด้วย

อาชญากรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องทั้งกับบ่อนการพนัน ยาเสพติด และการค้าประเวณี ตลอดรวมถึงอาจโยงไปสู่การค้ามนุษย์ด้วย และปัญหานี้ยังนำไปสู่การฟอกเงิน การคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ การรักษากฎหมายในบริบทเช่นนี้จึงเป็นความท้าทายต่อฝ่ายรัฐเป็นอย่างยิ่ง และยังสะท้อนอีกว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาความมั่นคงในอีกแบบ เพราะไม่ใช่ภัยคุกคามจากการรุกของกองทัพข้าศึก แต่เป็นการมาของอาชญากรข้ามชาติ

ในอีกด้าน กรณีของการเรียกเงินจากนักท่องเที่ยวก็เป็นภาพสะท้อนเดิมๆ ของการหาผลประโยชน์โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่บนท้องถนนในเวลากลางคืน แม้เรื่องนี้จะเป็นการ “ตบทรัพย์” แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า บุคลากรในองค์กรดังกล่าวอาจถูก “ซื้อตัว” จากองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้ไม่ยากจากการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ ดังกรณีของสงครามต่อต้านยาเสพติดในประเทศโคลัมเบีย ที่ “คาเทล” ซึ่งเป็นองค์กรค้ายาเสพติดขนาดใหญ่สามารถ “ซื้อ” เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนได้ การกระทำครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณถึงความเปราะบางขององค์กรบังคับใช้กฎหมายของไทยในภาวะที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามใหม่จากปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติจากจีน

ดังนั้น “ชูวิทย์เอฟเฟ็กต์” นอกจากบอกถึงการมาของภัยคุกคามใหม่จากปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติจากจีน แล้ว ผลจากเอฟเฟ็กต์นี้คือ สัญญาณว่าถึงเวลาที่ต้องปฎิรูปเพื่อ “ยกเครื่อง” ตำรวจไทยจริงๆ ก่อนสายเกินแก้!