เครื่องมือกับบทเรียน | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

“มีเครื่องมือและวิธีการมากมาย ในอันที่จะทำให้เข้าถึงบทเรียน สิ่งที่ยากที่สุด คือการนำบทเรียนนั้นมาใช้อย่างเข้าใจ”

ผมนึกถึงประโยคนี้เมื่อกลับจากการทำงานครั้งหนึ่ง ไม่แค่เพราะเป็นช่วงเวลาซึ่งอยู่ในป่านานกว่า 20 วัน รอ “เป้าหมาย” รอโดยแทบไม่ได้กดชัตเตอร์ ไม่ใช่เพราะไม่มีสัตว์เข้ามาให้ถ่าย กระทิง, กวาง, หมูป่า รวมทั้งนกมากมาย แวะเวียนมาตลอด

ไม่กดชัตเตอร์ จำเป็นต้องสงวนพลังงานแบตเตอรี่ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด

อีกทั้งเสบียงซึ่งต้องบริหารจัดการให้ดี แม้ว่าจะติดต่อไปที่หน่วยพิทักษ์ป่าโดยผ่านสถานีแม่ข่ายได้ หากจำเป็นแต่ก็จะต้องปีนขึ้นสันเขาเพื่อไปจุดที่รับสัญญาณรับ-ส่งวิทยุได้ การใช้เสบียงให้พอตามกำหนดที่จะมีคนนำเข้ามาส่งสัปดาห์ละครั้งนั้น ควรกระทำ

ช่วงเวลาที่รอ ในการทำงานครั้งนั้นเป็นบทเรียนที่ดี

ภาพสมเสร็จ อันเป็นเป้าหมาย คล้ายเป็นเพียงผลพลอยได้

 

ฝนตก ท้องฟ้ามืดครึ้ม คือสภาพที่พบในสี่วันแรก จากนั้น อากาศเวลาต้นปีก็หนาวยะเยือก

สิงขร เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่า ขับเรือหางยาวมาส่ง เรือทวนสายน้ำขึ้นมาราว 20 นาที

เราเดินต่อขึ้นสันเขาชัน ก่อนลงหุบสู่ที่ราบ และตั้งแคมป์ริมลำห้วยสายเล็กๆ ที่มีน้ำรินๆ หลังฝนจากไปสองวัน น้ำในลำห้วยนั้นก็แห้ง เหลือแค่ในแอ่งเล็กๆ พอใช้ ล้างหน้า, หุงข้าว

สิงขรอยู่กับเราสองวัน ก่อนกลับ เขาทำพิธีตามความเชื่อ ให้งานสำเร็จ เขาตัดไม้ไผ่ทำห้างเล็ก เอายาเส้น ขนม และน้ำวางใต้ต้นไม้ รอจนเทียนดับ

หนึ่งปีก่อนหน้า ผมเคยมาสำรวจที่โป่งซึ่งจะมาทำงานนี้ ในโป่งมีร่องรอยสมเสร็จ แต่กับสัตว์ที่ไม่มีอาณาเขตแน่นอน มีแหล่งอาหารเป็นสิ่งกำหนดจุดหมาย ผมไม่แน่ใจหรอกว่า จะพบตัวมันไหม

ความเชื่อนี้ ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น

 

โป่งอยู่ห่างจากแคมป์ราว 40 นาที ทุกวันตอน 09.30 นาฬิกา ฝูงนกหกเล็กปากแดงจะลงกินน้ำ ตอนเที่ยง เก้งสองตัวเข้ามา ช่วงบ่ายถึงพลบค่ำ เป็นเวลาของกระทิง และกวางตัวผู้ เขาใหญ่ พวกมันทำแบบนี้คล้ายเป็นกิจวัตร

ทุ่มครึ่งผมกลับถึงแคมป์ “น้ำในแอ่งแห้งแล้วนะครับ เราต้องเดินตามห้วยขึ้นไปอีก 30 เมตร มีแอ่งเล็กๆ พอใช้ได้อีกสัก 3-4 วัน” ยิ่งบุญ เพื่อนร่วมทางบอก

เรากินข้าวกับกุนเชียงมาหลายมื้อ กินไปเงียบๆ หมดเรื่องพูดคุย น้ำต้องใช้อย่างจำกัด เสบียงอีกหลายวันจะมีคนมาส่ง ออกไปซุ้มบังไพรตั้งแต่เช้ามืด กลับมาตอนค่ำ

สิ่งเหล่านี้ มาพร้อมกับงานที่ผมทำ

“มีใครรู้ไหมครับว่า เราอยู่กันในสภาพนี้” ยิ่งบุญถามแบบขำๆ ชายหนุ่มซึ่งใช้เวลาเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ในป่า การศึกษาเรื่องหมีควาย และการสำรวจประชากรตัวลิ่น ทำให้ที่ทำงานเขาอยู่ในป่า

“ไม่รู้น่ะดีแล้วครับ” ผมตอบ

“คนข้างหลังถ้ารู้ จะเป็นห่วงและลำบากกว่าเราเยอะ เพราะห่วงแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้”

 

ช่วงบ่าย กวางตัวเมียสองตัว ตัวผู้เขาใหญ่หนึ่งตัว ตัวผู้อีกตัวผลัดเขาแล้ว เดินเข้ามา นกขุนแผน และอีกา กระโดดขึ้นจิกแมลงและเห็บที่อยู่กับตัวกวาง

เขากวางดูใหญ่เทอะทะ แต่ก็ทำให้มันดูสง่า อีกไม่นาน เขาใหญ่นี้จะหลุด มันจะสบายขึ้นไม่ต้องแบกเขาหนักๆ เดินเกะกะในด่านรกๆ

เขาเป็นแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะใช้อวดตัวเมียให้เห็นว่าเหมาะสมกับการถูกเลือก เมื่อหมดเวลาใช้ มันจะสลัดทิ้ง

หลายวันในซุ้มบังไพร มดเริ่มยึดครอง มดทำให้การอยู่ในซุ้มบังไพรไม่รื่นรมย์

สภาพแสงดีมาก ในเวลา 17.30 นาฬิกา นกเขาเปล้าลงกินน้ำ พร้อมกระทิง มีนกเอี้ยงถ้ำ กระโดดไปมาใกล้ๆ

ผมนั่งดูพวกมันด้วยสายตาที่ไม่ได้ผ่านช่องมองภาพ

สมเสร็จ – สมเสร็จไม่มีอาณาเขตแน่นอน มันเดินทางไปทั่วโดยมีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด สมเสร็จจึงเป็นสัตว์ที่แพร่กระจายพันธุ์พืชได้อย่างกว้างไกล

กลางคืน ฟ้าแลบทางทิศใต้ เมฆหนาทึบ ไม่มีดาวระยิบ

กลางวันแดดจัดลมแรง มดแดงเริ่มบุกเปลนอน

สถานการณ์เสบียงไม่ดีนัก กุนเชียงเป็นอาหารหลัก ข้าวสารเหลือพอ

อุณหภูมิลดลงเหลือเพียง 10 กว่าองศา เช้ามืด บริเวณแคมป์ เสียงนกจ้อกแจ้ก ลูกตาเสือเล็กออกลูกสุก นกแก๊ก นกกก บินเสียงปีกแหวกอากาศมาตั้งแต่เช้า

ยิ่งบุญ จัดการแคมป์และเสบียงอย่างดี ดูเขาเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตในป่า

หลังกินข้าว จากบนเปลผม มองเขาผ่านกองไฟ การเดินทางหรืออยู่ในที่กันดารนานๆ ให้ความหมายกับผมสองประการ อย่างแรก ได้รู้จักเพื่อนร่วมทางดียิ่งขึ้น

แต่ในบางการเดินทาง ผมรู้อีกประการหนึ่ง นั่นคือ แท้จริงแล้ว ผมไม่รู้จักเพื่อนร่วมทางผู้นั้นเลย

 

ในที่สุด เป้าหมายที่รอก็มา

สมเสร็จตัวหนึ่งอนุญาตให้เราพบ

มันมาถึงโป่งตอน 18.20 นาฬิกา และอยู่ในโป่ง 20 นาที

ก่อนเดินลับหายไปในความสลัว

 

กล้องนำพาผมเข้ามาในโรงเรียน ที่มีบทเรียนมากมาย กล้องและเลนส์เป็น “เครื่องมือ” อันทำให้ผมเข้าถึง “บทเรียน”

นานมาแล้วที่ผมเข้าถึงบทเรียนต่างๆ

ถึงช่วงเวลาที่ยากที่สุด คือ การนำบทเรียนนั้นมาใช้

คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ จึงจะใช้บทเรียนต่างๆ นั้นอย่างเข้าใจ •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ