แมลงวันในไร่ส้ม / เตรียมตั้ง “พรรคทหาร” “วีระ สมความคิด” จุดพลุ “โมเดลอมตะ” การเมืองไทยๆ

แมลงวันในไร่ส้ม

เตรียมตั้ง “พรรคทหาร”

“วีระ สมความคิด” จุดพลุ

“โมเดลอมตะ” การเมืองไทยๆ

จุดพลุลูกย่อมๆ ขึ้นมาในแวดวงข่าวสารการเมือง เมื่อ นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า

การรัฐประหารของ คสช. ในที่สุดก็เสียของ รัฐบาล คสช. จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อต้องการรักษาอำนาจต่อไป

แผนการเพื่อเตรียมตัวลงสู่สนามการเลือกตั้งเมื่อ “ระบบปกติ” ไม่สามารถสกัดพรรคเพื่อไทยได้ ก็ต้องหาทางอื่น มีกระแสเล็ดลอดออกมาว่าตอนนี้ฝั่ง คสช. กำลังวางยุทธศาสตร์อย่างเต็มที่เพื่อไปถึงเป้าหมาย

พร้อมกับระบุว่า คสช. มี 2 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ

1. แผนชิงมวลชน ที่เห็นกันล่าสุด เช่น “บัตรผู้มีรายได้น้อย” ที่แจกจ่ายเงินให้กับประชาชนผ่านบัตร และก่อนหน้านี้รัฐบาลก็มีหลายโครงการเพื่อเอาใจประชาชน ที่เรียกชื่อใหม่ว่า “โครงการประชารัฐ”

2. แผนชิง ส.ส. มีการตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคพลังชาติไทย” ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวล่อดึงอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย

นายวีระยังชี้ด้วยว่า การตั้งพรรคดังกล่าว มีลักษณะใกล้เคียงกับการตั้งพรรค “สามัคคีธรรม” ที่เคยเกิดขึ้นหลังยุค รสช. เมื่อมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2535 ขอเตือนให้ระวังประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเมื่อประชาชนหมดความอดทนจะเกิดการลุกฮือเพื่อออกมาขับไล่ คงจำเหตุการณ์พฤษภาทมิฬกันได้

พร้อมกันนั้น ในโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ต่างๆ ได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับพรรคพลังชาติไทย ที่ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หนึ่งในคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปประเทศของ คสช. เป็นผู้เคลื่อนไหวเตรียมจดทะเบียน

แกนนำ คสช. ที่ถือว่ากว้างขวางในวงการเมืองอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า “ไม่รู้ ไม่เกี่ยว ไม่รู้เรื่อง เป็นเรื่องของ พล.ต.ทรงกลด และส่วนตัวก็ไม่รู้จักกัน”

เมื่อถามว่าจะยืนยันได้หรือไม่ว่า คสช. จะไม่ตั้งพรรคการเมืองแน่นอน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ทำไมต้องไปยืนยัน เพราะ คสช. ไม่ยุ่งกับการเมืองอยู่แล้ว ยกเว้นแต่มีความจำเป็นต้องตั้งพรรคการเมือง หากไม่จำเป็นก็ไม่ตั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้ง”

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าที่ผ่านมามักพุ่งมาที่ พล.อ.ประวิตร ว่าจะเป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งพรรคการเมือง เพราะสามารถดีลบุคคลสำคัญได้นั้น รองนายกฯ ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี จะให้ไปดีลกับใคร และไม่ได้เจอใครเลย ส่วนที่บอกว่า ตนจะตั้งพรรคแล้วเชิญ ส.ส. มาร่วมนั้น ก็คิดกันไปเอง

เมื่อถามว่า ในอนาคตมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะตั้งพรรคการเมือง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่รู้ เมื่อถามย้ำว่า เหตุจำเป็นที่ระบุถึงคืออะไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี ตนพูดไปอย่างนั้นเอง

คำกล่าวแบ่งรับแบ่งสู้ของ พล.อ.ประวิตร กลายเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์

ส่วนท่าทีจากพรรคการเมืองใหญ่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ถ้า คสช. ตั้งพรรคการเมืองจริง ก็แสดงว่าแนวความคิดในการจัดตั้งพรรคการเมืองอยู่ในใจของ คสช. มาเป็นระยะเวลานานหรือไม่

คนไทยเลยรู้ถึงสาเหตุที่ต้องมี ส.ว.สรรหา 250 คน ต้องมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือการส่งคนมาเขียนรัฐธรรมนูญ กติกาการเลือกตั้งเพื่อจะมาเล่นการเมืองเองจริงหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม การตั้งพรรคการเมืองของ คสช.เพื่อส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ย่อมดีกว่าการยึดอำนาจแล้วเข้ามาบริหารประเทศโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ยึดโยงกับประชาชน

การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นการเคารพประชาชน เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ถ้าตั้งพรรคจริงก็จะได้เรียนรู้ถึงเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย จะได้รู้ว่าการเสนอตัวเพื่อให้ประชาชนเลือกนั้นยากหรือง่ายกว่าการยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ

พรรคเพื่อไทยรู้สึกเฉยๆ กับการตั้งพรรคหรือไม่ตั้งพรรคของ คสช. ไม่ว่าจะตั้งเองหรือนอมินีของ คสช. เพราะการตั้งพรรคเป็นสิทธิของคนไทย

“ถามว่าการคงอำนาจตามมาตรา 44 จนถึงวันเลือกตั้ง เป็นธรรมต่อพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ การลงพื้นที่เพื่อแจกบัตรสวัสดิคนจน การออกมาตรการช้อปช่วยชาติ เป็นยุทธศาสตร์ในการหาเสียงล่วงหน้าหรือไม่ เป็นธรรมต่อพรรคการเมืองอื่นหรือไม่” รักษาการรองโฆษกพรรคกล่าว

ส่วน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในพื้นที่มีคนอ้างว่าเป็นพรรคทหาร รวมถึงอ้างชื่อ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติด้วย ซึ่งก็ตรงกัน

เพราะในพื้นที่ปักษ์ใต้ อดีต ส.ส. หลายคนก็บอกกับตนว่าพรรคทหารเดินหาเสียง มีการเปิดตัวอย่างเปิดเผยกันแล้ว

ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักการเมืองท้องถิ่นเป็นหลัก และข้าราชการเกษียณอายุราชการ ซึ่งก็ตรงกับข้อเท็จจริงที่ตนเคยให้ข่าวไปก่อนหน้านี้ เราจึงไม่แปลกใจ เพราะเรารู้มานานอยู่แล้ว

“ข่าวที่ออกมาวันนี้ไม่แปลกใจ เพราะเขามีสิทธิที่จะทำได้ และปรากฏการณ์แบบนี้เราเคยเห็นมาแล้วในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตนายกรัฐมนตรีเคยตั้งพรรคการเมือง หลังยึดอำนาจมาแล้ว จะแปลกอะไรถ้าในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาจากการยึดอำนาจจะไม่ตั้งพรรค หรืออาจจะมีคนตั้งพรรคให้ ผมไม่ได้รังเกียจถ้าจะลงสมัคร ส.ส. ในพื้นที่การแข่งกันทำความดี ทำเพื่อชาติ บ้านเมือง ไม่ต้องแอบ ขอให้ประกาศตัวเลยว่าจะลงแข่ง อย่าอาย ผมไม่มีปัญหาอะไรถ้าจะลงสมัคร ส.ส.”

นายนิพิฏฐ์กล่าว

ข่าวดังกล่าว ถือเป็น “ความคืบหน้า” ของกระแสข่าว “อยู่ยาว” ของ คสช. โดยจะแปลงโฉมจากรัฐบาลอำนาจพิเศษ มาใช้พรรคการเมืองเป็นฐานรองรับอำนาจ เหมือนระบบปกติ

โดยมีรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเครื่องมือสนับสนุน

และถือว่าสอดรับกับคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศว่า จะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

กลายเป็นโจทย์ใหม่ ที่ไม่นอกเหนือความคาดหมายของพรรคการเมืองต่างๆ

ในอดีต เคยมีการตั้งพรรคของคณะทหารที่ทำการรัฐประหาร อาทิ พรรคเสรีมนังคศิลา โดยคณะรัฐประหาร 2490 ซึ่งตั้งพรรคลงเลือกตั้งในปี 2500 แล้วเกิดปัญหาเลือกตั้งสกปรก จนนำไปสู่การรัฐประหารโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พรรคสหประชาไทย โดยคณะทหารที่สืบทอดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ และลงเลือกตั้งปี 2512 ก่อนทำรัฐประหารตนเอง กลับสู่อำนาจพิเศษในปี 2514 ก่อนเกิดการลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

และพรรคสามัคคีธรรมที่มีคณะทหารสนับสนุน ลงเลือกตั้งปี 2535 ก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปีเดียวกัน

พรรคของ คสช. จะเกิดขึ้น และจะเดินหนทางใด เป็นข่าวร้อนที่หลายฝ่ายรอติดตาม