อย่าพาประเทศล้าหลังโดยใช่เหตุ | คำ ผกา

คำ ผกา

ไม่มีใครปฏิเสธว่าหนึ่งในปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนของสังคมทุกวันนี้คือปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด

และโดยไม่ทราบและไม่มีหน่วยงานไหนออกมาพิสูจน์อย่างจริงจังว่า ที่เขาว่าปัจจุบันยาบ้าเม็ดละสองบาท ห้าบาท นั้นเป็นจริงหรือไม่?

เพราะถ้าราคาถูกขนาดนั้น ก็ไม่น่าสร้างแรงจูงใจให้คนมาทำธุรกิจนี้?

และ “ยา” ที่ขาย โดยอ้างว่าเป็นยาบ้านี้ เป็นยาที่ประกอบด้วยสารเคมีที่ออกฤทธิ์อย่างไรบ้าง?

และเพราะเหตุใดจึงขายได้ในราคาถูกแล้วยังทำกำไร? เพราะในยุคที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ใช้นโยบาย “สงครามกับยาเสพติด” นั้นยาบ้าราคาแพงมาก เม็ดละสามร้อย ห้าร้อยบาท ให้กลายเป็นแรงจูงใจให้คนเข้ามาเป็น “ผู้ค้า”

จนครั้งหนึ่งมีไอเดียจะให้องค์กรเภสัชกรรมผลิตยาบ้าเอง เพื่อควบคุมการผลิต การจำหน่าย การเสพ “ในการดูแลของแพทย์” และเชื่อว่าจะทำให้การค้ายาบ้าไม่ทำเงินจนคนจะเลิกค้ายาในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ฉันยอมรับว่าเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดเรามีข้อมูลที่เป็นทางการค่อนข้างน้อย แต่เรารับทราบเรื่องราวที่เป็น “เรื่องเล่า” ค่อนข้างมาก

เช่น ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับ “ยา” จะเป็นพาดหัวข่าวในทำนอง “คลั่งยา ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าแฟน อาละวาด” ซึ่งการเขียนข่าวเช่นนี้มีปัญหา เพราะมันสร้าง “ภาพจำ” เกี่ยวกับการใช้ “ยา”

ไม่ได้บอกว่ามันไม่เป็นความจริง แต่มันเป็นความจริงชิ้นเดียวที่ถูกนำเสนออย่างเมโลดรามาติก

สุดท้าย สังคมไทยไม่เคยได้รู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสารเสพติด หรือภาวะการ “พึ่งพิง” ยาอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้คนในสังคม ที่จะทำให้เราเข้าใจว่า ภาวะพึ่งพิงยานั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย ซับซ้อนเกินกว่าจะตีตราเหมารวมและทำให้เรื่อง “ยา” เป็นทั้งเรื่องที่ใกล้และไกลจากตัวเราไปพร้อมๆ กัน

หรือบางเรื่องที่ฉันได้ยินจากคนที่รู้จัก ก็จะเล่าถึงสภาพ “ชาวบ้าน” หรือเด็กวัยรุ่นที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต เข้าแก๊ง เสพยา ถ้าไม่ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย หรือป่วยทางจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนจะจบชีวิตด้วยการเป็นเดนมนุษย์ (ในสายตาของสังคม)

หลายคนเป็นคนเดินยาให้ตำรวจ เพื่อแลกกับการที่จะไม่ต้องโดนจับ

และชัดเจนว่า นี่คือปัญหาสังคม และการแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงต้องอาศัยการสร้างสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขเชิงบวกมากกว่าพุ่งเป้าไปที่การจับคนตัวเล็กๆ เข้าคุก

 

ฉันเขียนเรื่องนี้เพราะมีข่าวว่าคุณอนุทิน ชาญวีรกูล จะลงนามแก้กฎกระทรวงว่าการมียาบ้า 2 เม็ดขึ้นไปถือเป็นผู้ค้า ไม่ใช่ผู้เสพ

ซึ่งหากเป็นจริงจะเป็นการถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่ของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย

บทความจากสำนักข่าวอิศราเมื่อเดือนธันวาคมปี 2564 บอกให้เรารู้ว่า

“สถิติจำนวนผู้ต้องขังปี 2553-2563 ย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ต้องขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2557 สถิติแตะถึง 300,000 รายต่อปี และในปี 2563 มีผู้ต้องขัง 356,509 คน

ขณะที่เรือนจำภายในประเทศไทยสามารถรับผู้ต้องขังได้ราว 200,000 คนเท่านั้น

แต่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ต้องขังมากกว่าประมาณ 100,000 คน ส่งผลให้เกิดความแออัด กระทบต่อประสิทธิภาพในการจัดสวัสดิการ และการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมของผู้ต้องขัง

ผู้ต้องขังกว่า 80% ของทั้งประเทศ เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพยาเสพติดหรือมีไว้ครอบครองเพื่อเสพ การลงโทษจำคุก อาจไม่จำเป็น ควรหันไปใช้กระบวนการฟื้นฟู หรือบำบัดรักษาแทน เพราะจะช่วยแก้ปัญหาและป้องกันการกลับไปเสพซ้ำได้อย่างตรงจุด ซึ่งหากตัดคดียาเสพติดออกไป เรือนจำไทยจะไม่ล้น เพราะจะเหลือผู้ต้องขังคดีอื่นเพียง 20%

https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/104910-isranews_news-32.html

 

จากข้อมูลนี้เราจะเห็นว่า หากการแก้กฎกระทรวงให้ผู้มียาบ้าเกิน 2 เม็ดกลายเป็นผู้ค้า แล้วต้องถูกดำเนินคดี ติดคุก จะก่อให้ผลเสียหายมหาศาลถึงสองทางคือ

หนึ่ง หน้าที่ของราชทัณฑ์ หรือการบริหารจัดการ “คุก” ในสังคมสมัยใหม่ ไม่ใช่เพื่อเอาคนผิดไปรับโทษจนสาสมเพื่อแก้แค้น

แต่มีหน้าที่เพื่อนำคนกระทำความผิดไปลงโทษด้วยการพรากสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์คือ “อิสรภาพ” ออกไปชั่วคราว (หนัก-เบาตามความผิด)

ย้ำว่าโทษคือการพรากอิสรภาพเท่านั้น ที่เหลือคือการ “ฟื้นฟู” พฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึก ซ่อมแซมความแหว่งวิ่น เติมความสามารถในการเข้าใจหัวอกของผู้อื่น

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คืองานที่สำคัญของราชทัณฑ์คือการซ่อมแซมความเป็น “มนุษย์” ให้ทุกคนได้ออกจากคุกไปพร้อมกับการเป็น “คนที่ดีกว่าเดิม”

คนที่มีความสามารถรู้จัก “รัก” ได้มากกว่าเดิม

สิ่งนี้เกิดขึ้นได้แค่ไหนในประวัติศาสตร์ของคุกไทย?

คุกไม่ควรเป็นสถานที่ที่สร้างอาชญากรที่อำมหิตกว่าเดิม หรือสร้างโจรที่มีทักษะมากกว่าเดิม

แนวทางการปฏิรูปเรือนจำในประเทศพัฒนาแล้วจึงเน้นกระบวนการฟื้นฟูจิตใจ

พฤติกรรมเหล่านี้ ใช้ความรัก ความเมตตา และทำให้คนเหล่านั้นได้สัมผัสว่า โลกที่น่าอยู่นั้นมีอยู่จริง

อุปสรรคของการทำงานเรื่องนี้มีทั้งอุปสรรคเชิงวัฒนธรรม เพราะคนไทยจำนวนมากเหลือเกิน เชื่อว่า คนทำผิดพึงได้รับโทษอย่างทุกข์ทรมาณจึงจะสาแก่ใจ (วิธีคิดแบบมนุษย์ถ้ำ) และมักเชื่อโดยความเขลาว่าถ้าคุกอยู่สบายคนจะแห่ไปทำผิดกฎหมายเพราะอยากติดคุก (ทำไมคิดว่าการถูกกักบริเวณ ปราศจากอิสรภาพเป็นสิ่งที่ทรมานที่สุด)

นอกจากอุปสรรคเชิงโลกทัศน์ วัฒนธรรม ยังมีอุปสรรคเรื่องจำนวนผู้ต้องขังที่มากจนเกินศักยภาพที่ราชทัณฑ์จะดูแลจนเกิดกระบวยการฟื้นฟูซ่อมแซมความเป็นมนุษย์นั้น

ไม่ต้องพูดถึงปัญหาการคอร์รัปชั่น การลุแก่อำนาจของข้าราชการที่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจในระบบราชการไทย ที่ทำให้การทำงานของราชทัณฑ์ไม่ได้บรรลุเป้าหมายของระบบเรือนจำของโลกสมัยใหม่

 

สอง การแก้ปัญหายาเสพติดนั้นต้องแก้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ระยะยาวคือ การกระจายความเจริญ การกระจายความมั่งคั่ง การกระจายสาธารณูปโภคพื้นฐาน การสร้างเมืองที่น่าอยู่ ปลอดภัย มีบริการการศึกษา บริการนักสังคมสงเคราะห์ บริหารด้านสาธารณสุขที่ดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ ทรัพยากรในการดูแลเยาวชน ห้องสมุด สนามกีฬา เพื่อมองทางเลือกในชีวิตให้พวกเขาแทนการหันไปพึ่ง “ยา”

ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้นคือ เลิกมองผู้ใช้ยาว่าเป็น “ขี้ยา” แต่ต้องเริ่มจากเรียกพวกเขา “ผู้พึ่งพิงสาร/ตัวยาบางอย่างในชีวิตจนเกิดผลกระทบเชิงลบ”

เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐและสังคมต้องทำคือ การลดอันตรายจากการใช้ยาหรือสารเสพติดเหล่านี้

การลดอันตรายที่ว่า จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ คนใช้ยา ไม่รู้สึกว่าเขาแปลกแยก เป็นตัวประหลาด เป็นความอับอายของครอบครัว เป็นตัวซวย เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารังเกียจ

จากนั้นจึงค่อยออกแบบกระบวนการดูแล บำบัดที่เรียกว่า Harm reduction คำว่าอันตราย หมายถึงทั้งอันตรายต่อสุขภาพของตนเอง อันตรายต่อผู้อื่น เช่น ภาวะหลอนจนอาจไปทำร้ายคนในครอบครัว ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะที่ต้องเพิ่มโดสยาไปเรื่อยๆ

กระบวนการลดอันตราย หรือ Harm reduction นี้มีตั้งแต่ช่วยให้เขาใช้ยา/หรือสารนั้นอย่างปลอดภัย (เป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยและสังคมไทยเข้าใจยากที่สุด) ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องปริมาณ ความปลอดภัยของอุปกรณ์ เช่นกรณีเอชไอวีหรือโรคตับอักเสบที่อาจแพร่ให้แก่ผู้อื่นได้

หรือการบำบัดแบบค่อยๆ ลดโดสลง และประคองให้มีชีวิตเพื่อทำกิจกรรมที่จำเป็นต้องทำได้ แล้วค่อยๆ หยุดยาได้ในที่สุด

 

ฉันต้องขอแสดงความชื่นชมต่อกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานสาธารณสุขไทยที่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาได้ทำงานด้านนี้แบบปิดทองหลังพระมาโดยตลอด และขยายงานช่วยเหลือได้ในระดับหนึ่ง

อีกทั้งปลายปี 2564 ที่ได้ออกกฎหมาย “ผู้เสพคือผู้ป่วย” และใช้กระบวนการทางสธารณสุขในการแก้ปัญหา

การนิโทษกรรมนักโทษคดีกัญชาที่คุณอนุทินทำเอาไว้ ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะย้อนไปออกกฎกระทรวงให้ผู้ครอบครองยาเกิน 1 เม็ดไปเป็นผู้ค้า เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญยาเสพติดที่ยั่งยืนและเป็นคุณต่อสังคมจริงๆ

ถ้าอยากจัดการกับพ่อค้ายา ให้ไปจัดการที่ตัวใหญ่ๆ ผู้มีอิทธิพล รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่รู้เห็นเป็นใจ ไม่นับที่ทำตัวเป็นแหล่งฟอกเงินให้พ่อค้ายาเมียนมาที่มีสายสัมพันธ์กับเผด็จการพม่า

และผู้มีอำนาจทั้งหลายในประเทศนี้กล้าพูดหรือไม่ว่า ผู้ค้ายารายใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนคนธรรมดา แต่ล้วนเป็นบุคคลที่กฎหมายเอื้อมไม่ถึงทั้งสิ้น

ยังไม่นับว่าการแก้กฎหมายครั้งนี้หากสำเร็จจะเกิดเรื่องการยัดยา รีดไถ เรียกสินบน จับแพะ กลายเป็นเครื่องมือในแสวงหาผลประโยชน์ของข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมโดยใช่เหตุ

อนุทินเอาเวลาไปทำนโยบายและแคมเปญเรื่องกัญชาในฐานะพืชเศรษฐกิจดีกว่า และยินดีที่จะสนับสนุนเรื่องนั้นอย่างเต็มที่

อะไรที่จะพาประเทศชาติล้าหลัง คุณภาพชีวิตประชาชนเสื่อมทรามลงโดยใช่เหตุ อย่าหาทำเลย