อิคิดนา กับกลยุทธ์ ‘เล่นน้ำลาย คลายร้อน’

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

หลังจากติดตามถ้ำมองมากว่าเดือน นักวิจัยออสซี่เผยความลับ “อิคิดนา (echidna) เล่นน้ำลายเพื่อคลายร้อน!” (อี๋)

อิคิดนา หรือ ตัวกินมดหนาม เป็นหนึ่งในสัตว์โลกน่ารักที่หน้าตาดูประหลาดพิสดารผิดเพื่อน ดูเผินๆ เหมือนหมอนปักเข็มเดินได้ จะว่าไปก็แอบละม้ายคล้ายเม่น หรือว่าตัวเฮดจ์ฮอก (hedgehog) ผสมตุ่น

แต่อิคิดนามีเอกลักษณ์ยิ่งกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเพี้ยน ไม่สามารถเอาไปเทียบกับใครได้เลยทีเดียว อิคิดนากินขาด

ลองจินตนาการ “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ออกลูกเป็นไข่ ขนเป็นหนามเหมือนเม่น มีกระเป๋าหน้าท้องเหมือนจิงโจ้ องคชาตแยกเป็นสี่แฉก และที่เด็ดสุด “ไม่มีหัวนม” (เหวออออ!)

เวลาป้อนนม ลูกอิคิดนาตัวจิ๋วที่เรียกว่า “พักเกิล (puggle)” จะดูดนมจากหน้าท้องแม่โดยตรงจากอวัยวะที่เรียกว่าแผ่นนม (milk patch) โดยใช้ปากที่เป็นจะยอยกลวงๆ เล็กๆ ทรงกระบอกดูดจ๊วบๆ แบบไม่คิดมาก นมจากแผ่น แบนตลอดแนว

ถ้าใครอยากเห็นลองเสิร์จดูคลิปในยูทูบ มีสัตวแพทย์สาวคนหนึ่งกำลังอนุบาลพักเกิล เธอหยอดนมลงบนฝ่ามือ พักเกิลก็ดูดๆ แบบไม่คิดมาก นึกว่ากินนมแม่ ดูแล้ว สวยใสไร้ทรวดทรง แบบนี้ก็ดี เลี้ยงง่าย เวลาป้อนนม

อิคิดนาถือเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ขึ้นทำเนียบใกล้สูญพันธุ์

ยิ่งพอเจอภาวะโลกร้อนเข้าไป ความเสี่ยงก็มากขึ้นทบเท่าทวีคูณ เพราะเคยมีงานวิจัยบอกว่าถ้าโลกร้อนขึ้น อิคิดนาไม่น่าจะปรับตัวได้

ในบรรยากาศที่ร้อนอบอ้าวราวอยู่บนเตาหมูกระทะ วิธีหลบร้อนของผมคือหาห้องแอร์ เปิดให้ฉ่ำ จัดให้เย็นหนำใจ

แต่ในธรรมชาติ แม้จะหาห้องแอร์อยู่ไม่ได้ แต่อิคิดนาก็มีวิธีหลบร้อนคล้ายๆ กัน พวกมันจะหลบเข้าไปอยู่อาศัยในโพรงไม้เย็นๆ แล้วก็นอนอยู่ในนั้นรอจนถึงกลางคืน ตอนที่อุณหภูมิไม่ร้อนจนเกินไป จึงค่อยออกมาหาอาหาร ซึ่งก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจ

ปกติ อุณหภูมิร่างกายของอิคิดนาจะอยู่ที่ราวๆ 32 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งทำให้พวกมันเป็นสัตว์ที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำที่สุดในบรรดาพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด

และนั่นอาจจะเป็นต้นเหตุให้อิคิดนามีอายุได้ยาวนานกว่าสัตว์อื่นๆ ที่ขนาดตัวไล่เลี่ยกับมัน

สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ตัวนี้สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายตัวเองได้เป็นอย่างดี

และถ้าเจอภัยอันตราย พวกมันจะสามารถลดอุณหภูมิตัวเองได้มากถึง 5 องศาเซลเซียส เพื่อเข้าสู่โหมดจำศีล ได้แทบจะในทันที ช่วยลดการเผาผลาญพลังงานลงได้อย่างมหาศาล

ทำให้พวกมันไม่ต้องกินอะไรเลยเป็นระยะเวลายาวนาน อีกทั้งยังหลบเลี่ยงอันตรายต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จนสภาวะแวดล้อมกลับสู่สภาวะปกติ ค่อยออกมาใหม่

การเข้าสู่โหมดจำศีลได้ทันทีทันใดของมันทำให้พวกมันมีศักยภาพในการอยู่รอดสูงมากในธรรมชาติ อิคิดนาบางตัวสามารถหาโพรงเย็นๆ ชื้นๆ อยู่ได้ แม้แต่ไฟป่า บางทีก็ยังเผาไม่โดน

ซึ่งน่าแปลกใจมาก

 

แต่สาเหตุที่พวกผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอิคิดนาไม่น่าจะทนร้อนได้ ก็เพราะว่าเท่าที่เรารู้กันในตอนนี้ ร่างกายที่พิลึกพิลั่นของอิคิดนานั้นแทบจะไม่มีกลไกอะไรในการะบายความร้อนที่สัตว์อื่นๆ นั้นมีเลย

เหงื่อก็ไม่มี

ปากก็เป็นหลอด จะแลบลิ้นหอบระบายความร้อนเหมือนสุนัขก็ไม่ได้

หรือจะเลียขนเพื่อลดความร้อนแบบที่แมวชอบทำ ก็ติดที่จะโดนขนของมันที่แหลมคมราวกับหนามเม่นตำเอาเสียอีก

นั่นหมายความว่าถ้าอากาศรอบๆ ร้อนขึ้นมาเมื่อไร ถ้าถ่ายเทความร้อนไม่ได้ อิคิดนาก็น่าจะดับดิ้นสิ้นชีพเพราะฮีตสโตรกแล้ว

ไม่ต้องร้อนมาก อุณหภูมิอากาศแค่ 35 องศาเซลเซียส ก็น่าจะชิงขาดใจตาย หนีร้อนไปก่อนแล้ว

แต่ถึงแม้ว่ากลไกการระบายความร้อนจะไม่ชัด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มี

นี่คือโจทย์วิจัยที่น่าสนใจสำหรับ คริสตีน คูเปอร์ (Christine Cooper) จากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน (Curtin University)

 

เธอเชื่อเหลือเกินว่าอิคิดนาน่าจะมีกลไกอื่นที่น่าจะช่วยลดอุณหภูมิร่างกายของอิคิดนาได้ที่เรายังไม่รู้เพราะในความเป็นจริง อุณหภูมิในโพรงไม้ที่อิคิดนามันไปอยู่กันส่วนใหญ่ก็จะสูงปรี๊ดทะลุขีดจำกัดอยู่แล้ว ถ้าไม่มีกลยุทธ์อื่นๆ ในการควบคุมอุณหภูมิ อิคิดนาไม่น่าที่จะมีโอกาสอยู่รอดได้เลยในสภาพแวดล้อมที่ร้อนระอุทุรกันดารของดินแดนดาวน์อันเดอร์

เพื่อไขปริศนาของการควบคุมอุณหภูมิของอิคิดนา คริสตีนตัดสินใจใช้กล้องจับความร้อนรังสีอินฟราเรดทำสารคดีแอบถ่ายตามติดชีวิตอิคิดนา จำนวน 124 ตัว เป็นเวลาทั้งหมด 34 วัน แต่จริงๆ กว่าจะได้ครบทุกตัว คริสตีนและทีมต้องเฝ้าทำวิจัยอัดคลิปน้องประหลาดอยู่เกือบปี

เธอพบว่าหนามของอิคิดนาเป็นฉนวนเก็บกักความร้อนที่ดี และนั่นทำให้อิคิดนาสามารถกักเก็บความร้อนเอาไว้ในตัวได้อย่างดีเลิศ

แต่ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว อิคิดนาก็ยังคงสามารถถ่ายเทความร้อนออกไปได้ผ่านทางพื้นที่ส่วนท้องและขาตรงบริเวณที่ไม่มีหนามปกคลุม

“พื้นที่ไร้ขนในส่วนนี้เองที่จะใช้เพื่อการแลกเปลี่ยนความร้อนออกมาจากร่างกายของมันได้” คริสตีนกล่าว

“และก็เป็นไปได้อีกเช่นกันที่อิคิดนาอาจจะมีแท็กติกอะไรบางอย่าง ในการขยับขน หลีกทาง เปิดเนื้อเปลือยๆ ออกมาเพื่อเอาไปแนบกับอะไรเย็นๆ เพื่อจะได้ลดความร้อนในร่างกายได้อีกด้วย”

 

และเมื่อคริสตีนเริ่มวิเคราะห์คลิปที่อัดมาได้ต่ออย่างละเอียด เธอเริ่มสังเกตเจอพฤติกรรมแปลกๆ ที่อิคิดนาชอบทำในยามที่อากาศร้อนอบอ้าว

นั่นคือ พวกมันเริ่มเล่นน้ำลาย

ที่ปลายจะยอยปากขนาดจิ๋วของพวกมัน อิคิดนาเป่าน้ำลาย (เมือก) ของมันจนเป็นฟองออกมา พอแตกโผละ น้ำลายก็จะเปรอะเลอะไปทั่วทั้งจะงอยและจมูกช่วยให้รู้สึกเย็น และพอน้ำลายระเหย ไอร้อนจากตัวมันก็จะตามออกไปด้วย ช่วยให้เย็นสบายคลายร้อน

และที่สำคัญ จะงอยและจมูกเล็กจ้อยของอิคิดนา คือส่วนที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงอย่างมหาศาล ทำให้การควบคุมอุณหภูมิในบริเวณจะงอยนี้จะช่วยให้พวกมันสามารถปรับอุณหภูมิในเลือดในร่างกายได้อีกด้วย แค่เป่าฟอง เล่นน้ำลายแค่นั้น

กลไกนี้คือหนึ่งในความลับที่ทำให้อิคิดนาสามารถทนร้อนได้มากกว่าที่เราเคยคาดคิดกันไว้

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโลกร้อนจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับโลกใบนี้ เพราะถ้าวิกฤตสภาพภูมิอากาศมาแบบหนักๆ บางที อิคิดนาอาจจะรอด

แต่ก็ยังไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่ามนุษย์จะรอดมั้ย…