ชุลมุนค่าไฟ จน-รวยกระอักถ้วนหน้า วัดใจ รบ.เคาะงวดใหม่…ชี้ชะตาเลือกตั้ง?

บรรยากาศการเมืองเวลานี้เริ่มฝุ่นตลบ ก๊กก๊วนแต่ละพรรคขยับตัวหาเสียงกันพึ่บพั่บ รับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคม หลายฝ่ายจึงคาดรัฐบาลของบิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะประกาศยุบสภาหลังครบเทอม 4 ปีช่วงปลายกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้

เมื่อการเมืองเริ่มสุกงอม เข้าสู่ยุคผลัดเปลี่ยนรัฐบาล การครองความนิยมจากประชาชนจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ค่าไฟจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถ “เพิ่ม หรือลด” คะแนนเสียงได้เลย

แต่ดูเหมือนมาตรการช่วยค่าไฟคนจนของรัฐบาล จะเจอการขัดแข้งขัดขากันเองระหว่างหน่วยงานกำกับ อย่างคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ไม่คุยกันอย่างตรงไปตรงมา ถึงข้อกฎหมายที่ไม่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ไม่ผ่านโรงแยกมาช่วยกลุ่มเปราะบางได้ เพราะเข้าข่ายช่วยทุกคน

ทำให้กระทรวงพลังงานเตรียมหางบประมาณสนับสนุนไม่ทัน โดยเฉพาะแหล่งหลักอย่างงบฯ กลาง 2566 ที่มีจำกัด

การช่วยค่าไฟคนจนจึงครึ่งๆ กลางๆ อาจลดคะแนนเสียงจากกลุ่มประชาชนฐานรากกลุ่มหลักของประเทศซะแล้ว

 

หลัง กบง.มีมติเมื่อวันที่ 18 มกราคม ช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้ามกราคม-เมษายน 2566 สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่เรียกเก็บ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย จากผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยกลุ่มเปราะบาง ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 19.66 ล้านราย คิดเป็น 90% ของครัวเรือนทั้งหมด

แบ่งเป็น จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตั้งแต่ 1-150 หน่วย จำนวน 14.7 ล้านราย ได้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์ต่อหน่วย จ่ายค่าไฟสุทธิหน่วยละ 3.79 บาท และจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตั้งแต่ 151-300 หน่วย จำนวน 4.9 ล้านราย ได้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 67.04 สตางค์ต่อหน่วย จ่ายไฟสุทธิหน่วยละ 4.04 บาทต่อหน่วย รวมวงเงินช่วยเหลือประมาณ 7,500 ล้านบาท มาจากงบฯ กลาง 2566 วงเงิน 3,200 ล้านบาท และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 4,300 ล้านบาท

โดยมติ กบง.ได้แยกผู้ใช้ไฟเป็น 2 กลุ่ม คือ 1-150 หน่วย กับ 151-300 หน่วย ได้ส่วนลดค่าไฟไม่เท่ากัน กลุ่ม 151-300 หน่วย จ่ายแพงกว่า นอกจากนี้ ยังเลิกช่วยกลุ่ม 301-500 หน่วย เท่ากับว่ากลุ่มนี้ต้องจ่ายเต็มจำนวนกับค่าไฟอัตราปัจจุบัน 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีจำนวน 2.1 ล้านครัวเรือนเลยทีเดียว

เทียบกับมาตรการช่วยเหลือเดิมของรัฐบาลในงวดที่ผ่านมา (กันยายน-ธันวาคม 2565) พบว่าเปลี่ยนไปแบบไม่บอกไม่กล่าวล่วงหน้าซะงั้น

เพราะเดิมรัฐช่วยกลุ่ม 1-300 หน่วยให้จ่ายในอัตรา 3.79 บาทต่อหน่วย และให้ส่วนลด 15-75% กับกลุ่มผู้ใช้ไฟ 301-500 หน่วย วงเงินงบประมาณ 9,700 ล้านบาท และรัฐบาลเองอีกนั่นแหละที่ประกาศกับประชาชนว่าจะช่วยเหลือเหมือนเดิม แต่ถึงเวลาจริงกับขึ้นแบบเนียนๆ ถ้าไม่ดูไส้ในจะไม่มีทางรู้เลย

เพราะถ้าแจ้งประชาชนตรงไปตรงมา แม้จะโดนวิจารณ์ลบ แต่ทำให้ประชาชนอยู่กับความจริง เตรียมประหยัดไฟเพื่อเซฟเงินในกระเป๋าจะดีกว่า

 

แนวทางการช่วยเหลือค่าไฟที่ลดลง เป็นข้อเสนอจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เสนอทางเลือกให้รัฐบาล คือ กบง.พิจารณา 4 แนวทาง ประกอบด้วย

1. ลดค่าไฟเช่นเดียวกับงวดตุลาคม-ธันวาคม 2565 ใช้วงเงิน 9,700 ล้านบาท ช่วย 21.8 ล้านครัวเรือน

2. ช่วยกลุ่ม 150 หน่วยแรกเท่าเดิม และปรับปรุงกลุ่ม 151-500 หน่วย วงเงิน 8,000 ล้านบาท ช่วย 21.8 ล้านครัวเรือน

3. ช่วยเฉพาะ 300 หน่วยแรก วงเงิน 7,500 ล้านบาท ช่วย 19.6 ล้านครัวเรือน

และ 4. ช่วยครึ่งหนึ่งของกรณีศึกษา วงเงิน 4,800 ล้านบาท ช่วย 21.8 ล้านครัวเรือน

ก่อนที่ กบง.จะเคาะทางเลือก 3 เป็นอันสิ้นสุดทางช่วย พร้อมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา

เรื่องนี้ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ภาครัฐจึงต้องเน้นความช่วยเหลือให้กับกลุ่มเปราะบางเป็นหลักก่อน ในเอฟทีรอบถัดๆ ไป คาดว่าต้นทุนเชื้อเพลิงมีทิศทางที่จะปรับลดลง ทำให้เอฟทีมีแนวโน้มบรรเทาลง

 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) “คมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ระบุแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ว่า จะสรุปอัตราค่าเอฟทีได้ประมาณเดือนมีนาคมนี้ เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน และเริ่มใช้เดือนพฤษภาคม เนื่องจากต้องพิจารณาต้นทุนเชื้อเพลิงและปัจจัยผลกระทบให้รอบด้านเพื่อให้การพยากรณ์ใกล้เคียงมากที่สุด

โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ

1. ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยว่าจะผลิตได้เท่าไร โดยก๊าซส่วนนี้จำเป็นที่สุดเพราะราคาเพียง 6-7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

2. ปริมาณแอลเอ็นจีสปอต หรือก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร ที่ปัจจุบันราคากว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งราคานี้ถือว่าลดลงพอสมควร แต่ต้องติดตามความผันผวนหลังจากนี้อีกครั้ง

และ 3. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่เดิมประเมินจากระดับ 37-38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าเหลือระดับ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินบาทระดับนี้ส่งผลดีต่อแนวโน้มค่าหลังจากนี้แน่นอน

“แม้แนวโน้มราคาแอลเอ็นจีสปอต และค่าเงิน จะส่งผลดีต่อค่าไฟงวดหน้า แต่ กกพ.ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าแนวโน้มจะลดลงหรือไม่ เพราะปัจจัยที่สำคัญกว่าคือ ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ยังไม่กลับมาปกติ แม้แนวโน้มจะเพิ่มขึ้นแต่ก็มีความไม่แน่นอนสูงเช่นกัน ขณะเดียวกันปริมาณการใช้ไฟของไทยในขณะนี้แนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ความต้องการเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากจะพิจารณาแนวโน้มค่าได้ใกล้เคียงที่สุดจึงอยู่ที่เดือนมีนาคมนี้” เลขาฯ คมกฤชกล่าว

 

ที่น่าตกใจคือ เลขาฯ คมกฤชเตือนความจำว่า เอฟทีงวดปัจจุบัน (มกราคม-เมษายน 2566) เมื่อบวกกับค่าไฟฐาน ราคาจริงจะอยู่ที่ 5.24 บาทต่อหน่วย แต่รัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาค่าไฟครัวเรือนไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟกลุ่มอื่น อาทิ เอกชน ขยับไปอยู่ที่ 5.69 บาทต่อหน่วยก่อนจะลดลงเหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย

ดังนั้น หากต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง โดยเฉพาะ 3 ปัจจัยข้างต้น และรัฐบาลไม่มีนโยบายแยก 2 ราคาและกำหนดค่าไฟราคาเดียว คาดว่างวดหน้า คือ พฤษภาคม-สิงหาคม 2566 จะถูกกว่า 5.2 บาทต่อหน่วย แต่หากต้นทุนไม่เปลี่ยนแปลงก็สามารถตรึงไว้ที่ 5.2 บาทต่อหน่วยได้ และหากต้นทุนเพิ่ม ค่าไฟจะสูงกว่า 5.2 บาทต่อหน่วย

“นอกจากนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะมีนโยบายอย่างไร ที่ผ่านมาการทำ 2 ราคาใช้วิธีนำก๊าซในอ่าวไทยมาให้ประชาชนใช้ก่อน และเอกชนจ่ายแพงกว่า แต่งวดใหม่นี้ต้องดูจะใช้แนวทางไหน จะให้เอกชนจ่ายแพงอีกหรือไม่ ดังนั้น เวลานี้ค่าไฟอยากให้ยึดจากราคา 5.2 บาทต่อหน่วยเป็นหลัก” เลขาฯ คมกฤชทิ้งท้าย

ตอนนี้จึงเกิด 3 ชอยส์ให้รัฐบาลเลือกระหว่าง ลด ตรึง หรือขึ้นราคา วัดใจรัฐบาลว่าจะโยนภาระเอกชนช่วยอุ้มคนจนอีกมั้ย

เพราะไม่ว่าจะคนจนหรือคนรวย ก็คือฐานเสียงหรือท่อน้ำเลี้ยง…สำคัญทั้งนั้น!!