ย้ายหมอสุภัทร สะเทือนภูมิใจไทยในการเลือกตั้ง?

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน รวมทั้งผู้อ่านทุกท่าน

น่าจะกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนที่สุดตีคู่ข่าวการช่วงชิงทางการเมืองจะระหว่างพรรครัฐบาลกับฝ่ายค้าน หรือจะฝ่ายรัฐบาลกับรัฐบาลโดยเฉพาะสอง ป. ป.ป้อม กับ ป.ประยุทธ์ ก็น่าจะเป็นประเด็นการโยกย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ไปนั่งโรงพยาบาลสะบ้าย้อย

โดยหลายฝ่ายสรุปตรงกัน (ยกเว้นพลพรรคภูมิใจไทย) มองว่าเป็นการโยกย้ายไม่เป็นธรรม มีนัยยะทางการเมือง?

จนท้ายที่สุดปัญหาบานปลายใหญ่จนอาจกระทบกระแสต้านภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้

ทำไมการย้ายมีการเมือง?

เป็นที่ทราบกันดีและพูดเป็นวลีเด็ดในพื้นที่โลกโซเชียล คือ “หมอสุภัทรคือก้อนกรวดในรองเท้าผู้มีอำนาจ” และการพาดหัวข่าวว่า สั่งย้าย ‘หมอสุภัทร’ ผอ.รพ.จะนะ ไปสะบ้าย้อย คาดสาเหตุวิจารณ์กัญชาเสรี-วัคซีนโควิดเต็มแขน

โดยชาวบ้านจะนะและภาคีเครือข่ายสะท้อนว่า การสั่งย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และประธานชมรมแพทย์ชนบท ตามคำสั่งที่ปรากฏบนสื่อสาธารณะไปแล้วนั้น มีความไม่ปกติ

และมีที่มาที่ไปจากความไม่พอใจของผู้ที่ต้องการสั่งสอนข้าราชการที่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุขอย่างตรงไปตรงมา จนกลายเป็นประเด็นในสื่อสาธารณะมาแล้วหลายครั้ง

อย่างเช่น การออกมาชี้ถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีนและความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื่อเครื่องตรวจเชื้อโควิด หรือ ATK ในช่วงการแพร่ระบาดของสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ผ่านมา

และล่าสุดคือการวิพากษ์นโยบายกัญชาเสรี

ซึ่ง นพ.สุภัทรพยายามชี้ให้เห็นถึงช่องว่างของนโยบายดังกล่าวที่กำลังสร้างผลกระทบกับประชาชนและเยาวชนในสังคมไทยอย่างน่าเป็นห่วง

ผู้มีอำนาจคงไม่คิดว่าข้าราชการเล็กๆ ที่เป็นแค่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่ชนบทอย่าง นพ.สุภัทร จะกล้าออกมาต่อกรกับตนเอง

เพราะคงไม่ใช่วัฒนธรรมของข้าราชการไทยทั่วไปที่กระทำกันเช่นนี้ ซึ่งเราแทบจะหาข้าราชการแบบนี้ได้ยากขึ้นทุกวัน

อีกทั้ง นพ.สุภัทรไม่ได้มีความบกพร่องในการบริหารงานตามบทบาทหน้าที่การเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะแต่อย่างใด

หากแต่ยังใช้บทบาทความเป็นหมอและใช้เวลานอกราชการอุทิศตนต่อความทุกข์ร้อนของประชาชนและเพื่อประโยชน์สาธารณะในเรื่องอื่นๆ จนเป็นที่ประจักษ์

นพ.สุภัทรเป็นข้าราชการของประชาชนที่คนจังหวัดสงขลา คนภาคใต้ หรือคนในประเทศนี้รู้จักท่านเป็นอย่างดี และรู้ด้วยว่าคือคนที่กล้าออกมาแสดงทัศนะต่อสังคมอย่างตรงไปตรงมา เมื่อเห็นความไม่ถูกต้องและความอยุติธรรมในสังคมไทยตลอดมา

ซึ่ง นพ.สุภัทรไม่ได้วิพากษ์เฉพาะแค่เรื่องนโยบายของท่านรัฐมนตรีเท่านั้น

ทั้งนี้ การออกมาเคลื่อนไหวของภาคประชาชน อ.จะนะ จ.สงขลา และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างอำนาจพิเศษให้กับ นพ.สุภัทร จากการถูกโยกย้ายในครั้งนี้ ด้วยทราบดีว่าการเป็นข้าราชการนั้นจะต้องยอมรับการถูกย้าย เพราะเป็นเรื่องปกติ

หากแต่ไม่ใช่การย้ายตามอำเภอใจของใคร ที่ตั้งอยู่บนฐานอคติและขาดความเป็นธรรม

ซึ่งการย้าย นพ.สุภัทรครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะของการใช้อำนาจทางการเมืองต่อการบริหารราชการ ที่กำลังกดทับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นพฤติกรรมที่สังคมไทยไม่ควรให้การยอมรับอีกต่อไป

สอดคล้องกับการเปิดใจของหมอสุภัทรว่า “จริงๆ การจะย้ายผมไม่ยากเลย เพียงแค่ปลัดกระทรวงสั่งย้ายตามอำนาจที่ท่านมี (แต่ต้องมีเหตุมีผลด้วยนะ) เพราะตำแหน่งผมเป็นตำแหน่งวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ไม่มีเกณฑ์ที่ต้องถูกย้ายตามวาระ เหตุความผิดที่ต้องถูกย้ายก็ไม่มี ผมเองก็ไม่ได้สมัครใจย้าย ปลัดกระทรวงจึงไม่กล้าเซ็นเอง เพราะกลัวผิดกฎหมายอาญา ม.157 ก็เลยต้องมีการสั่งการให้ผู้ตรวจราชการเป็นคนเซ็น ใครลงนามจะได้เลื่อนชั้นรวดเร็ว เรื่องราวจึงโกลาหล”

“7 ธันวาคม 2565 สธ.ลงนามคำสั่งโยกย้ายผู้ตรวจราชการทั่วประเทศ ผู้ตรวจสวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ ได้ขึ้นที่เขต 4 (สระบุรี) ส่วนเขต 12 ยังเป็นผู้ตรวจสุเทพ เพชรมาก ท่านเดิม ช่วงนั้นมีข่าวผมจะถูกย้ายอีก ทราบว่าผู้ตรวจสุเทพไม่ยอมลงนาม ด้วยเห็นว่าไม่มีเหตุให้สั่งย้าย”

“ผลก็คือ วันที่ 11 มกราคม 2566 ปลัดกระทรวงมีคำสั่งย้ายผู้ตรวจสุเทพไปอยู่เขตอื่น เอาผู้ตรวจสวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ จากเขต 4 มาเขต 12 ทั้งๆ ที่เพิ่งไปเขต 4 ได้เดือนเดียว”

“คนพร้อมลงนามมีแล้ว แต่ระเบียบการให้อำนาจผู้ตรวจสั่งย้ายผู้อำนวยการเชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชุมชนยังไม่ชัดเจน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงลงนามในหนังสือหลักเกณฑ์ใหม่ลงวันที่ 23 มกราคม 2566 ให้ผู้ตรวจมีอำนาจย้ายวิชาการเชี่ยวชาญได้ หนังสือยังไม่ถึงหน่วยงานเลย วันที่ 25 ถัดไปสองวันก็มีการประชุมคณะกรรมการย่อยพิจารณาย้ายผมและลงนามในคำสั่งย้ายผมไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อยทันที”

“วันที่ 26 มกราคม 2566 คำสั่งย้ายผมหลุดออกมาทางสื่อ โดยที่ผมไม่ได้เห็นก่อน จะย้าย ผอ.รพ.บ้านนอกสักคน ต้องทำพิรุธเป็นขั้นเป็นตอนเพียงนี้เชียวหรือ ซึ่งเป็นผลดีมากกับผมในการฟ้องศาลปกครองและฟ้องผิดกฎหมายอาญา ม.157 วันนี้ 27 มกราคม 2566 คำสั่งย้ายที่เป็นทางการยังมาไม่ถึงผม”

“ส่วนใครเป็นคนบงการสั่งย้ายผม คิดเอาเองนะครับ”

 

ภาคประชาชนจะนะเคลื่อนไหว
เพื่อเป็นบทเรียนหลักธรรมาภิบาลในอนาคต

หลังจากภาคประชาชนจะนะทราบเรื่องนี้จากสื่อเช่นกันก็ได้ประชุมร่วมกันว่า การเคลื่อนไหวการคัดค้านของภาคประชาชนจะนะครั้งนี้มิใช่เพื่อหมอสุภัทร แต่หวังจะเป็นโมเดลเพื่อเป็นบทเรียนหลักธรรมาการบริหารประเทศในอนาคต

ตัวแทนคนจะนะคนหนึ่งสะท้อนว่า

“มิใช่เพื่อปกป้องตัวบุคคล แต่เป็นการแสดงเจตนาของประชาชน ที่ต้องการเห็นระบบราชการที่ยอมรับฟังความเห็นต่างและข้อวิพากษ์วิจารณ์ น้อมรับสิ่งที่ผิดพลาด และยึดมั่นทำงานเพื่อประชาชนการโยกย้ายครั้งนี้ไม่มีทั้งเหตุผลปัจจัยใดและเป็นที่คลางแคลงใจของประชาชนทั้งประเทศ เพราะบทบาทเข้มข้นของ นพ.สุภัทร ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ไม่เกรงกลัวที่จะตรวจสอบนโยบาย เป็นข้าราชการของประชาชนที่ทำหน้าที่แทนประชาชน คือตัวอย่างของข้าราชการและธรรมาภิบาลที่ประเทศนี้ต้องยืนหยัดไว้”

สำหรับการเคลื่อนไหวของคนจะนะจะมีสี่ส่วนคือ

1. เคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์และออกแถลงการณ์หน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาและเขต 12

2. เคลื่อนไหวกับทุกภาคีเครือข่าย

3. หาทางออกทางด้านกฎหมายและรัฐสภา

4. ประท้วงและปราศรัยใหญ่เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในกระทรวงสาธารณสุขและนโยบายกัญชาเสรี

5. รณรงค์ไม่เอาพรรคภูมิใจไทย

เครือข่ายจะนะ สะท้อนว่า จะให้โอกาส รมต.อนุทิน ชาญวีรกูล และพรรคภูมิใจไทยแก้ตัวด้วยการทบทวนการใช้อำนาจในครั้งนี้ มิเช่นนั้นแล้วในการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ รมต.และพลพรรคภูมิใจไทยอาจจะได้รับบทเรียนจากคนสงขลาและคนภาคใต้ โดยจะสร้างการสื่อสารและรณรงค์สาธารณะในทุกรูปแบบ เพื่อให้สังคมได้เห็นถึงจิตใจคับแคบและใช้อำนาจรังแกผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไร้ความเป็นธรรม

อันจะเป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนต่อไป