จากความตายสีดำถึงท้องฟ้าสีทอง | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์
Image : https://www.dkfindout.com/us/history/black-death/symptoms-and-treatment/

ไม่ใช่เฉพาะประวัติศาสตร์ไทยเท่านั้นที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ประวัติศาสตร์ของทุกประเทศทั่วโลกก็เหมือนกัน คือถูกเล่าใหม่จากมุมมองที่ไม่เหมือนเก่า พร้อมด้วยหลักฐานที่ไม่เคยถูกใช้มาก่อนหรือไม่เคยมีความหมายอย่างนี้มาก่อน และด้วยเหตุดังนั้นประวัติศาสตร์โลกจึงถูกเล่าใหม่ไปพร้อมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากโลกที่มีศูนย์กลางของ “ประวัติศาสตร์” (ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา) เพียงจุดเดียว คือยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ มากลายเป็นโลกที่มีศูนย์กลางเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ด้วยเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ และในขณะเดียวกัน ศูนย์กลางเพียงจุดเดียวก็ไม่อาจทำให้โลกเปลี่ยนไปอย่างสำคัญได้ แต่เพราะความสัมพันธ์หลายชั้นหลายเชิงของศูนย์กลางกับศูนย์อื่นๆ ที่กระจายไปอย่างกว้างขวางต่างหาก ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่ที่เราควรจดจำเรียนรู้

หนังสือชื่อ The Silk Roads ก็เป็นหนึ่งในหนังสือประวัติศาสตร์โลกแบบใหม่ที่น่าสนใจ ผู้เขียน Peter Frankopan คงตั้งใจใช้ชื่อเส้นทางสายไหมซึ่งรู้จักกันในฐานะเส้นทางการค้าทางไกลเป็นแนวเทียบ แต่แทนที่จะจำกัดเฉพาะเส้นทางความสัมพันธ์ไว้ที่การค้าเพียงอย่างเดียว เขากลับชี้ให้เห็น “เส้นทาง” ความสัมพันธ์อื่นๆ ทั้งที่เกิดขึ้นในระยะยาวหรือโดยไม่มีใครตั้งใจในระยะสั้น ที่นำไปสู่อุบัติการณ์ใหญ่ๆ อันเป็นเหตุให้โลกเปลี่ยนไปอย่างไม่มีทางกลับมาเหมือนเก่าได้อีก (ที่จริงคำว่า roads ในที่นี้น่าจะแปลว่า “ช่องทาง” มากกว่าเส้นทาง เพราะความสัมพันธ์หลายอย่างเกิดขึ้นโดยไม่มี physical contact หรือการติดต่อทางกายกันเลยก็ได้ เช่น สื่อออนไลน์ หรือโควิด-19 เป็นต้น)

ผมอยากนำมาเล่าไว้เพียงเรื่องเดียว คือการระบาดใหญ่ของกาฬโรค (ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านก็เสนอว่า การระบาดนั้นได้มาถึงดินแดนที่เป็นประเทศไทยด้วย ตำนานเรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีห่า และช่วงเวลาที่ตรงกันเป๊ะคือประจักษ์พยานของเรื่องนี้)

 

ในประมาณกลางศตวรรษที่ 14 ของศักราชสากล (ช่วงที่สร้างกรุงศรีอยุธยา ตามพระราชพงศาวดาร) เกิดโรคระบาดใหญ่คือกาฬโรคไปทั่วทวีปยูเรเชียและแอฟริกาเหนือ นั่นเท่ากับหมดทั้งโลกที่คนส่วนใหญ่รู้จักในเวลานั้น โลกใบนั้น เป็นโลกที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการระบาดของกาฬโรค เพราะมีการติดต่อค้าขายกันอย่างกว้างขวาง ทั้งทางบกและทางทะเล (ยังไม่พูดถึงการรุกรานข้ามโลกของ “คนเถื่อน” เช่น พวกฮันและมองโกล) อีกทั้งยังมีการเดินทางไกลไปยังศูนย์กลางทางศาสนาของผู้ศรัทธาทั่วโลก เช่น เมกกะ, เยรูซาเลม และลังกา เป็นต้น ที่สำคัญอีกด้านหนึ่งก็คือ โลกใบนั้นเป็นโลกที่มี “นคร” หรือชุมชนขนาดใหญ่ระดับเมือง กระจายอยู่ทั่วไปหมด

เมืองไม่ใช่ที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นของผู้คนเพียงอย่างเดียว แต่เมืองยังเป็นแหล่งที่ผู้คนทั้งใกล้และไกลจำเป็นต้องเข้าออกในวันต่อวัน หรือสัปดาห์ต่อสัปดาห์กันจำนวนมาก กลายเป็นพาหะของโรคกลับไปยังชนบท เพราะฉะนั้น ความตายจึงไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเมือง งานวิจัยรุ่นหลังๆ ชี้ให้เห็นกลับกันกับความเข้าใจที่มีมาก่อนว่า สถิติคนตายในชนบทสูงกว่าในเมืองด้วยซ้ำ (เพราะสัดส่วนของเห็บ-หมัดหนูต่อจำนวนประชากรสูงกว่า)

ความตายระบาดไปทั่วทั้งโลก จนกระทั่งไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะมาถึงตนในวันใด พระฟรานซิสกันรูปหนึ่งในไอร์แลนด์เขียนบันทึกเกี่ยวกับการระบาดของกาฬโรค แล้วจบลงที่หน้าว่าง… “เผื่อใครบางคนอาจเขียนต่องานของข้าพเจ้า ถ้ายังมีใครรอดชีวิตได้ในอนาคต” กวีเอกเพทราคกล่าวว่า “ความหวังของเราสำหรับอนาคตก็คือ ร่างของเราจะได้ฝังอยู่ข้างเพื่อนของเรา” และสิ่งที่ปลอบประโลมใจได้ในยามนี้ก็คือ “เราจะได้ตามคนที่ล่วงหน้าไปก่อน ข้าพเจ้าไม่รู้หรอกว่าต้องรออีกสักเท่าไร แต่รู้ว่าต้องไม่นานแน่”

คำนวณกันอย่างต่ำสุดแล้ว คนในยุโรปตายไปหนึ่งในสาม (จากที่ประมาณว่ามีประชากรรวม 75 ล้าน) แต่ก็มีหลักฐานอื่นที่ส่อว่าน่าจะมากกว่านั้นมาก เช่น บันทึกของคนร่วมเหตุการณ์ในอิตาลีคนหนึ่ง ประมาณว่ามีคนตายไปมากขนาดที่คนเหลือรอดมีแทบไม่ถึงหนึ่งในสิบของประชากร คนตายมากกว่าที่รอดจนไม่มีแรงงานพอจะฝังคนตายได้

 

อีกชื่อหนึ่งของกาฬโรคที่ระบาดในศตวรรษที่ 14 ในภาษาอังกฤษก็คือ The Black Death ความตายมืดหรือความตายสีดำ และหนังสือประวัติศาสตร์โลกในสมัยก่อน ก็จะเน้นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงที่คนทั้งโลกต้องจ่ายแก่วินาศภัยยับเยินในครั้งนั้น แม้ไม่มีใครปฏิเสธความสูญเสียดังกล่าวได้ แต่ Frankopan นำเอาผลดีที่เกิดขึ้นแก่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปมาชี้ให้เห็นไว้ด้วย

ตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปนับตั้งแต่โบราณกาล สืบมาจนศตวรรษที่ 14 คือบ้านนอกของโลก ห่างไกลจากศูนย์กลางของความมั่งคั่งทั้งหลายที่โลกรู้จัก (ไม่เฉพาะทางเศรษฐกิจ แต่รวมถึงวัฒนธรรมและอำนาจทางการเมืองด้วย) ไม่ว่าจะเป็นเมืองฉางอัน-ลั่วหยาง, ราชคฤห์, เมืองศูนย์การค้าบนเส้นทางสายไหมในเอเชียกลาง, ไปจนถึงแบกแดด, คอนสแตนติโนเปิล และเมืองท่าชายฝั่งทะเลของแหลมอิตาลี ใครพูดถึงอังกฤษ, “ประเทศต่ำ (กว่าน้ำทะเล)” ซึ่งหมายถึงรัฐเล็กรัฐน้อยในเนเธอร์แลนด์และบางส่วนของเบลเยียมในปัจจุบัน หรือสแกนดิเนเวีย คนก็จะนึกถึง “คนเถื่อน” ประเภทต่างๆ เช่น ไวกิงส์, แองโกล-แซกซอน, สก๊อต, เวลส์ ซึ่งยังเอาสีทาตัวอยู่

แต่ความตายมืดนี่แหละที่เปลี่ยนให้บ้านนอกของยุโรป กลายเป็นดินแดนแห่งความเจริญรุ่งเรืองด้วยการค้าระดับโลก จนก่อให้เกิดอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรม ที่ครอบงำคนทั้งโลกสืบต่อมาอีกหลายศตวรรษ บ้านนอกกลายเป็นศูนย์กลางของโลกอย่างที่แบกแดดและไคโรเคยเป็น และอย่างที่อีกหลายเมืองในเอเชียเคยเป็น

ความตายมืดนำอะไรมาให้แก่ยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ?

 

ในประการแรก เมื่อประชากรลดลงอย่างรวดเร็วขนาดนั้น ยุโรปย่อมขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก และเพราะขาดแคลนแรงงานนี่เอง ที่ทำให้แรงงานทุกประเภทได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้นอย่างมาก เจ้าที่ดินในชนบทต้องง้อเกษตรกรผู้เช่า เพราะเขาสามารถย้ายไปเช่าเจ้าที่ดินรายอื่นได้สะดวก นอกจากเสียค่าเช่าต่ำลงแล้ว ผลผลิตทางการเกษตรกลับมีราคาสูงขึ้น เป็นธรรมดาที่ผลิตได้น้อยลงเพราะเกษตรกรล้มตายไปเสียมาก ราคาในตลาดย่อมสูงขึ้น ช่างหรือแรงงานฝีมือ ยิ่งได้ราคาดีจากรองเท้า, กระเป๋า, และเสื้อผ้า, ช่างตัดผม ฯลฯ ที่ผลิตขายได้ในเมือง การจ้างแรงงานของพ่อค้าหรือเจ้าของโรงงานขนมปัง, แป้ง ฯลฯ ต้องให้ราคาที่เป็นธรรม เพราะแรงงานพร้อมเคลื่อนย้ายไปหางานที่อื่นอย่างง่ายดาย

ในระยะยาว ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นบังคับและชักชวนให้ต้องประดิษฐ์เครื่องจักรมาช่วยการผลิตเพื่อลดต้นทุนลง แต่การประดิษฐ์เหล่านี้ยังต้องทำกันในระยะที่ยังไม่ได้พัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น จึงเป็นเครื่องจักรที่ทำขึ้นจากความรู้ของช่างที่มีอยู่ในขณะนั้น จากช่วงศตวรรษที่ 14 ไปจนถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในยุโรปได้เกิดเครื่องทุ่นแรงขึ้นมาแล้วหลายอย่าง เช่น กังหันน้ำสำหรับใช้กับโรงงานโม่แป้ง, การพัฒนารถลากชนิดต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฯลฯ

ทั้งหมดเหล่านี้คือฐานให้เกิดการพัฒนาเครื่องจักรอีกนานาชนิดในการปฏิวัติอุตสาหกรรมอีก 300 ปีต่อมา ไม่ใช่ฐานของความรู้ในการประดิษฐ์นะครับ แต่เป็นฐานทางสังคมให้คนหาคำตอบไปในทางประดิษฐ์เครื่องมืออะไรมาแทนหรือมาทำงานเหนือกว่าแรงงานคนและสัตว์ แทนที่จะพึ่งแต่หลวงปู่ครูบา และการสวดมนต์ข้ามปีเพียงอย่างเดียว

ปรัชญาเชิงโลกีย์และชีวทรรศน์เชิงโลกีย์ (ไม่ได้หมายถึงกามารมณ์อย่างเดียวนะครับ แต่หมายถึงอะไรที่ตรงข้ามกับโลกุตระทั้งหมด) เกิดขึ้นได้ก็เพราะความตายสีดำนี่แหละครับ

 

ประการต่อมาที่สำคัญไม่น้อยแก่การพัฒนาอย่างรวดเร็วของยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือก็คือ เมื่อคนมีรายได้มากขึ้น จากสถานการณ์ที่บังคับให้ต้องกระจายรายได้อย่างทั่วถึงเช่นนี้ การบริโภคก็เพิ่มขึ้น แม้แต่สิ่งที่เราเรียกว่า “แฟชั่นเสื้อผ้าหน้าผม” ของผู้หญิงก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นที่ได้โอกาสหารายได้ให้แก่ตนเองเป็นครั้งแรก และเป็นอิสระทางการเงินจากครอบครัวของตน

ในอังกฤษ หลังความตายสีดำ ผู้หญิงแต่งงานช้าลง และมีลูกน้อยลง โคลงกลอนชาวบ้านตั้งข้อสงสัยในคุณค่าของความเป็นครอบครัวตามแบบเก่าด้วยซ้ำ ตรงกันข้ามกับในเมืองท่าขนาดใหญ่ในอิตาลีซึ่งมั่งคั่งร่ำรวยมาก่อน ผู้หญิงที่นั่นยังแต่งงานเร็วเหมือนก่อน และยังมีลูกมากเหมือนเดิม (และถ้าอ่านเดคาเมรอนของบอคคัชชิโอก่อนนอน ก็อาจมีลูกมากกว่าเดิมด้วย)

อิสรภาพทางการเงินนี้ขยายไปสู่อิสรภาพด้านอื่นๆ ด้วย เช่น วัยรุ่นคิดถึงอนาคตของตนเองแตกต่างจากที่พ่อแม่คิด วัยรุ่นอยากแสดงความเป็น “ตนเอง” (individuality) บนพื้นที่ต่างจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ เช่น แทนที่จะเป็นโบสถ์กลับเป็นตลาด สังคมใดที่ได้เห็นการกบฏของวัยรุ่นกระจายไปทุกซอกทุกมุมเช่นนี้ (โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่บนท้องถนนเพียงที่เดียว) ก็บอกได้เลยว่า สังคมนั้นกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างมโหฬาร อะไรเก่าๆ ที่เคยเป็นลักษณะเด่นของสังคมนั้นกำลังอำลาจากไปพร้อมความตายสีดำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

จากกาฬโรคระบาดใหญ่นี้เอง ความเป็นบ้านนอกของยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือกำลังจะหมดไป และความเป็นศูนย์กลางของโลกกำลังเข้ามาแทนที่

เหตุใดบ้านนอกของยุโรปจึงกลับตอบสนองต่อการสูญเสียประชากรจำนวนมหึมาอย่างฮวบฮาบได้ดีกว่าศูนย์กลางของยุโรป ซึ่งก็คือเมืองท่าในแหลมอิตาลีที่เชื่อมต่อกับการค้าโลกที่ตะวันออกกลาง Frankopan ให้คำตอบที่น่าสนใจว่า เพราะความเป็นบ้านนอกนี่แหละ ที่ทำให้ไม่มีสถาบันหรือกลุ่มผลประโยชน์หรือธรรมเนียมประเพณีอะไรที่แข็งตัวจนปรับเปลี่ยนไม่ได้ เช่น ในอังกฤษและแถบประเทศต่ำ สมาคมพ่อค้า (Guilds) ยังไม่แข็งตัวจนกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่กีดกันการแข่งขันอย่างในมิลาน, เวนิส, ฟรอเลนซ์ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อการบริโภคขยายตัวอย่างฉับพลันหลังความตายมืด จึงไม่มีใครสามารถผูกขาดการผลิตได้ ทุกคนต้องเข้าสู่การแข่งขันอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมนึกถึงสิงคโปร์ เป็นเกาะเล็กนิดเดียวที่ไม่มีอะไร “พอเพียง” แก่ตนเองสักอย่างแม้แต่น้ำจืด จะเอาใครเป็นแม่แบบก็ไม่ได้ ทุกอย่างต้องคิดใหม่ทำใหม่ให้เหมาะกับสถานการณ์พิเศษของตนเองทั้งนั้น และทำให้สิงคโปร์กลายเป็นสิงคโปร์ในทุกวันนี้ ไม่ประชาธิปไตย แต่ก็ไม่เผด็จการเต็มที่ ไม่สังคมนิยม แต่ก็ไม่ทุนนิยมเต็มที่เหมือนกัน เพราะรัฐเข้ามาแทรกแซงอยู่บ้าง, ไม่ตะวันออกแต่ก็ไม่ตะวันตก ฯลฯ

นอกจากสิงคโปร์แล้ว ก็อดคิดถึงเมืองไทยไม่ได้

 

การพัฒนาเศรษฐกิจที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 นำประเทศไทยมาถึงจุดที่เราหลุดจากประเทศยากจน แต่ก็มาติดอยู่กับสิ่งที่เรียกกันว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” และขยับต่อไปไม่ได้ นักเศรษฐศาสตร์เสนอทางออกไว้หลายทาง นับตั้งแต่เปลี่ยนมาสู่ระบบการผลิตที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้ (เช่น ดีไซน์แผงวงจรไฟฟ้าเอง แทนที่จะปั๊มลูกเดียว หรือพัฒนาการโรงแรมแบบไทยที่ขายได้ทั่วโลก) ไปจนถึงพัฒนาฝีมือแรงงาน และท้ายสุดคือสตาร์ตอัพ หรือเปลี่ยนตัวฉุดมาเป็นทุนขนาดเล็กและกลาง แต่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น

ด้วยความไม่รู้ทางเศรษฐศาสตร์ของผม จึงเข้าใจว่าคงใช่หมดและดีหมดแหละครับ เพียงแต่สงสัยว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจโดดๆ เช่นนี้ มันอาจเกิดขึ้นหรืออาจทำงานได้นอกปัจจัยทางสังคมละหรือ เคยมีตัวอย่างจากสังคมอะไรบ้างที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจโดดๆ เช่นนี้เคยทำงานเปลี่ยนเศรษฐกิจได้จริง

และนี่เป็นปัญหาที่เราพบได้บ่อยในโลกทุกวันนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการแบ่งความรู้ออกเป็นส่วนๆ ที่ไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน (พอ) จนเอาไปใช้ในชีวิตจริงไม่ค่อยได้ ที่นำเอาเรื่องความตายสีดำที่ทำให้เกิดท้องฟ้าสีทองในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือมาเล่านี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า เพียงแค่การลดประชากรอย่างฮวบฮาบอย่างเดียว ไม่อาจเป็นปัจจัยเดียวที่เปลี่ยนเศรษฐกิจได้ เพราะความตายสีดำในอิตาลีไม่ก่อให้เกิดผลอย่างเดียวกัน มันยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกมาก และหลายปัจจัยเหล่านั้นดูจะเป็นเรื่องห่างไกล ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับเศรษฐกิจเลย เช่น ศาสนา, ชีวทรรศน์, บรรยากาศแห่งเสรีภาพทางสังคมและการเมือง ฯลฯ

อันที่จริงหลายคน (บางคนก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้วย) ก็เคยพูดมาแล้ว เมื่อตอนที่รัฐบาลเผด็จการทหารไทยเสนอเรื่องสตาร์ตอัพว่า ความคิดริเริ่มและ innovation หรือการสร้างช่องทางใหม่ อันเป็นหัวใจสำคัญของสตาร์ตอัพ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ท่ามกลางการกำกับควบคุมอย่างเข้มงวดและรุนแรงของรัฐบาลทหาร

เพียงแต่ไม่ใช่เรื่องสตาร์ทอัพเพียงอย่างเดียว ยังรวมเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด การผลิตที่ใช้ฐานความรู้ให้มากขึ้นเกิดขึ้นได้ด้วยจิตใจที่กล้าเสี่ยงของนายทุน คนเราจำเป็นต้องเสี่ยงก็เพราะไม่สามารถผลักความเสียหายให้คนอื่นได้ แต่ทั้งรัฐและวัฒนธรรมไทยกลายเป็นปราการมิให้บุคคล (ที่รวยและ/หรือสูง) ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ก็ไม่เป็นเหตุให้นายทุนอยากเสี่ยง

เป็นไปได้อย่างไรที่ช่องทางการผลิตที่ใช้ความรู้และการสร้างช่องทางใหม่จะเกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขบังคับเลย เช่น ตราบเท่าที่เรายังกดค่าแรงให้ต่ำไว้เช่นนี้ จะใช้หรือสร้างเครื่องจักรเพื่อทุ่นแรงทำไม โอกาสของการพัฒนาฝีมือแรงงานจะเกิดได้อย่างไร ถ้าพ่อต้องทำงานสองกะ ลูกต้องทำงานเสริมนอกเวลาเรียนเพื่อให้บ้านพอกิน

ประเทศไทยเสียทั้งเงินและกำลังแรงเพื่อสร้างปัจจัยทางเศรษฐกิจลักษณะโดดๆ ที่ไม่สัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคมมามากและนานแล้ว และนี่คือเหตุผลที่เรามายืนอยู่ในวันนี้ มองข้างหน้าไม่เห็นช่องทางอะไรเหลือให้เราเดินต่อไป