สุโขทัย ‘เจ้าเมืองเป็นชาวไทย’ ในหนังสือเรียนกระทรวงศึกษา | สุจิตต์ วงษ์เทศ

“ความเป็นไทย” เป็นปฏิปักษ์ต่อพลังสร้างสรรค์ของสังคมไทย มีต้นตอหรือสารตั้งต้นจากประวัติศาสตร์ชนชาติไทย ซึ่งถูกสถาปนาโดยชนชั้นนำสมัยรัตนโกสินทร์

ประวัติศาสตร์ “คลาดเคลื่อน” เกี่ยวกับรัฐสุโขทัยในหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น เรียกสุโขทัยเป็น “อาณาจักร”, มีชุมชนชาวไทย, มีข้าหลวงเขมรที่ควบคุมดูแลมืองสุโขทัย เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวคิดตกค้างจากข้อมูลสมัยอาณานิคม หรือประวัติศาสตร์ชนชาติไทยไทยฉบับอัลไต-น่านเจ้า และสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย

จะคัดข้อความบางตอนจากหนังสือเรียนมาดังนี้

 

ประวัติศาสตร์ไทยในหนังสือเรียนกระทรวงศึกษา :

“การก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย ในพุทธศตวรรษที่ 16-17 บริเวณภาคเหนือและภาคกลางตอนบนมีชุมชนชาวไทยตั้งถิ่นฐานอยู่รวมเป็นกลุ่มหรือเป็นเมืองกันบ้างแล้ว สุโขทัยขณะนั้นอาจจะมีฐานะเป็นเมืองเล็กๆ มีเจ้าเมืองเป็นชาวไทยปกครอง และอาจอยู่ใต้อิทธพลของเขมร

ในกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ศิลาจารึกวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย กล่าวถึงเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัยมีกษัตริย์ทรงพระนามว่าพ่อขุนศรีนาวนำถุมปกครองอยู่ เข้าใจว่าสองเมืองนี้เป็นเมืองที่มีความสำคัญเป็นเมืองคู่แฝดกัน เพราะศิลาจารึกมักจะระบุชื่อไว้คู่กันอยู่เสมอ

พ่อขุนศรีนาวนำถุมมีโอรสองค์หนึ่งพระนามว่าพ่อขุนผาเมือง ครองเมืองราด ส่วนโอรสอีกองค์หนึ่ง คือ พระยาคำแหงพระราม ครองเมืองสระหลวง สองแคว (พิษณุโลก) ในช่วงสมัยนี้กษัตริย์เขมรได้พระราชทานพระธิดาองค์หนึ่ง มีนามว่านางสุขรมหาเทวี และพระแสงขรรค์ชัยศรีแก่พ่อขุนผาเมือง พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า ‘ศรีอินทรบดินทราทิตย์’ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสุโขทัยกับเขมร

ต่อมาเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจในเมืองสุโขทัย เป็นเหตุให้ขอมสบาดโขลญลำพง (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นข้าหลวงเขมรที่ควบคุมดูแลเมืองสุโขทัย) ยึดอำนาจปกครองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย พ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาว ซึ่งเป็นพระสหายกันได้ร่วมมือกันขับไล่เขมรในเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยได้ พ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว พร้อมทั้งมอบพระแสงขรรค์ชัยศรี และพระนามของพระองค์คือ ‘ศรีอินทรบดินทราทิตย์’ ให้ พ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัย ทรงใช้พระนามว่า ‘ศรีอินทราทิตย์'”

[จบข้อความคัดจากหนังสือเรียน]

ประวัติศาสตร์ในหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษา หัวข้อสุโขทัย ระบุข้อความ อาณาจักรสุโขทัย, ชุมชนชาวไทย, เจ้าเมืองเป็นชาวไทย, ขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งมีปัญหา ดังต่อไปนี้

1. “อาณาจักรสุโขทัย” ในความเป็นจริงตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี สุโขทัยไม่ใหญ่โตมโหฬารขนาดอาณาจักร แต่เป็นรัฐเล็กๆ รัฐหนึ่งเท่านั้น มีดินแดนเหนือสุดที่อุตรดิตถ์-ตาก และใต้สุดที่นครสวรรค์ (ไม่มีอำนาจถึงปัตตานี-แหลมมลายู)

2. “ชุมชนชาวไทย” ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีชุมชนชาวไทยในภาคเหนือ หรือภาคกลางตอนบน เมื่อพุทธศตวรรษที่ 16-17 หรือราว พ.ศ.1500-1600

3. “เจ้าเมืองเป็นชาวไทย” ไม่เคยพบหลักฐานว่าเจ้าเมืองสุโขทัยเป็นชาวไทย

4. “ขอมสบาดโขลญลำพง” (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นข้าหลวงเขมรที่ควบคุมดูแลเมืองสุโขทัย) เป็นแนวคิดตกค้างจากข้อมูลสมัยอาณานิคมว่าสุโขทัยเป็นเมืองขึ้นเขมรที่นครธม กษัตริย์เขมรจึงส่งขุนนางข้าหลวงควบคุมดูแลเมืองสุโขทัย ซึ่งไม่เคยพบหลักฐานทั้งในเขมรและในไทย

 

จากบ้าน เป็นเมือง เป็นรัฐ

สุโขทัยตามหลักฐานโบราณคดี มีกำเนิดและเติบโตจากคน “ไม่ไทย” หลายชาติพันธุ์ ซึ่งพูดภาษาต่างๆ (ที่ไม่ใช่ภาษาไทย) ครั้นถึงสมัยหลังๆ จึงพูดภาษาไทย

รัฐสุโขทัยมีความเป็นมาหลายพันปีแล้ว เริ่มตั้งแต่บ้าน (หมู่บ้าน) นานเข้าก็กลายเป็นเมือง กระทั่งเติบโตเป็นรัฐ จากการค้าแร่ธาตุและของป่าที่หาได้บนพื้นที่นั้น กับขนย้ายจากที่อื่น

ทั้งนี้เพราะตั้งอยู่บริเวณชุมทางเส้นทางคมนาคมการค้าภายในภาคพื้นทวีป ตามแนวเหนือ-ใต้ (ตั้งแต่ทางใต้ของจีน ถึงอ่าวไทย) ตัดกับแนวตะวันตก-ตะวันออก (ตั้งแต่อ่าวเมาะตะมะ ถึงลุ่มน้ำโขง และอ่าวตังเกี๋ย)

1. บ้าน 2,000 ปีมาแล้ว [ราวหลัง พ.ศ.500]

ชุมชนหมู่บ้านสมัยเริ่มแรกในหุบเขา มีคน “ไม่ไทย” มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนค้าขายแร่ธาตุและของป่าซึ่งมีอุดมสมบูรณ์

พบหลักฐานจำนวนมากเกี่ยวกับเครื่องมือเหล็ก อายุ 2,000 ปีมาแล้ว ปัจจุบันอยู่บริเวณต้นน้ำแม่ลำพัน เรียก บ้านวังหาด (ต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย) และพบกล่องหินเกี่ยวกับพิธีศพบนพื้นที่บ้านวังประจบ (ต.วังประจบ อ.เมือง จ.ตาก)

2. เมือง 1,500 ปีมาแล้ว [ราวหลัง พ.ศ.1000]

บ้านเมืองน้อยๆ มีหลายแห่งกระจายบนเส้นทางคมนาคม ลุ่มน้ำปิง-ยม-น่าน มีขึ้นจากการค้าทางไกลสมัยการค้าโลกเริ่มแรก (ตรงกับสมัยทวารวดี) เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว (หรือราวหลัง พ.ศ.1000) คนในบ้านเมืองน้อยๆ ล้วน “ไม่ไทย”

พบหลักฐานสำคัญ ได้แก่ หลุมฝังศพตระกูลคนชั้นนำของเมืองสมัยนั้นในวัดชมชื่น (เชลียง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย), พระพุทธรูปหิน 2 องค์ ขนาดใหญ่ (แบบทวารวดี) บนเขาสะพานหิน (วัดสะพานหิน อ.เมือง จ.สุโขทัย)

ชุมชนเมืองบริเวณที่ราบเชิงเขา 1,500 ปีมาแล้ว (หรือราวหลัง พ.ศ.1000) ขยับขยายเติบโตขึ้นจากบ้านเมืองน้อยๆ พบหลักฐาน ได้แก่ ปรางค์เขาปู่จา บนยอดเขาปู่จา (บ้านนาเชิงคีรี ต.นาสระ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย), วัดศรีสวาย กลางเมืองสุโขทัย (อ.เมือง จ.สุโขทัย), ศาลตาผาแดง กลางเมืองสุโขทัย (อ.เมือง จ.สุโขทัย)

3. รัฐ 800 ปีมาแล้ว [ราวหลัง พ.ศ.1700]

รัฐสุโขทัย เติบโตกว้างใหญ่จากชุมชนเมืองหลายแห่งบริเวณที่ราบเชิงเขา (ที่มีมาก่อน ตั้งแต่ราว พ.ศ.1500) ด้วยการสนับสนุนของรัฐละโว้ (ลพบุรี) พูดภาษาเขมร เป็นขอม นับถือพุทธมหายาน [มีหลักฐานคือปราสาท (สามยอด) วัดพระพายหลวง สุโขทัย] กรณี “ขอมสบาดโขลญลำพง” ยึดเมืองสุโขทัย ก็มีเหตุขัดแย้งทางการเมืองกับรัฐละโว้ (ไม่ใช่อาณาจักรเขมร)

ต่อมายอมรับนับถือพุทธเถรวาทจากลังกา ซึ่งยกย่อง “ผู้มีบุญ” เพราะทำบุญมากจากการค้ามั่งคั่ง ทั้งนี้เป็นผลจากการเข้ามาของสำเภาจีน ทำให้การค้าภายในคึกคักกว้างขวางแล้วมั่งคั่ง โดยใช้ภาษาตระกูลไท-ไต เป็นภาษากลางทางการค้า ครั้นนานไปภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต มีอำนาจแล้วสถาปนารัฐพูดภาษาไทย เรียกตนเองว่าไทย

มีศูนย์กลางคู่กัน 2 แห่ง บนลุ่มน้ำยม ได้แก่ เมืองสุโขทัย (ปัจจุบันคือบริเวณเมืองสุโขทัย อ.เมือง จ.สุโขทัย) กับเมืองศรีสัชนาลัย (ปัจจุบันคือเมืองศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย) •

ประวัติศาสตร์ชนชาติไทยเชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์ในการศึกษาไทย อยู่ในหนังสือรายวิชาพื้นฐาน ของกระทรวงศึกษาธิการ

การเมืองไทยสืบทอดอำนาจรวมศูนย์ เข้ากันได้ดียิ่งกับประวัติศาสตร์สืบทอดเชื้อชาติไทยรวมศูนย์ ทั้งนี้เพราะชนชั้นนำผู้พิทักษ์การสืบทอดอำนาจรวมศูนย์ ล้วนได้รับพลังจากการถูกปลูกฝังหล่อหลอมกล่อมเกลาจากประวัติศาสตร์ชนชาติไทยเชื้อชาติไทยรวมศูนย์ ดังนั้น ชนชั้นนำการสืบทอดอำนาจจึงสั่งการโดยตรงถึงผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ต้องให้ความสำคัญการเรียนการสอนประวัติศาสตร์เพื่อกระตุ้นความรักชาติ ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำสืบทอดอำนาจ คือประวัติศาสตร์ชนชาติไทยเชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์

ราว 50 ปีที่แล้ว คนในโลกปฏิเสธเรื่อง RACE เชื้อชาติ ปัจจุบันยกเลิกหมดแล้ว (หรือเกือบหมด) เพราะพิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ แม้ดีเอ็นเอก็พิสูจน์เชื้อชาติไม่ได้ แต่ชนชั้นนำ “ตกยุค” ที่มีอำนาจขณะนี้ ได้ยกความสำคัญของประวัติศาสตร์ “แช่แข็ง” เรื่องชนชาติไทยเชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์ ย่อมเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติและต่ออนาคตถดถอยของสังคมไทย ดังนั้น นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์รวมทั้งนักโบราณคดี ถ้ายังเสวยสุข “อยู่บนหอคอยงาช้าง” แล้วทำ “นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น” ไม่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา นักวิชาการและนักโบราณคดีเหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา