ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กุมภาพันธ์ 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เอกภาพ |
ผู้เขียน | พิชัย แก้ววิชิต |
เผยแพร่ |
พระเจ้าตากสิน
ทุกครั้งของการถ่ายภาพ ผมจะเชื่อในจินตนาการ
หากแต่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผมจะงดใช้จินตนาการเป็นการชั่วคราว
และชอบที่จะมองเรื่องราวของประวัติศาสตร์ผ่านข้อมูลหลักฐาน จากคำบอกเล่าและงานเขียนของผู้ชำนาญการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ใจถึงพึ่งได้ และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน จากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ผ่านการอ้างอิงจากหลักฐานทางโบราณคดีที่สมเหตุสมผลและมีความน่าเชื่อถือเป็นสำคัญ
เรื่องราวของพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นที่รู้จักกันในอีกพระนามคือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ผมรับรู้เรื่องราวของพระเจ้าตากสินในช่วงที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นประถม ความจำได้อยู่บ้างเกี่ยวกับเรื่องราวพระราชประวัติของพระเจ้าตากสินในตอนนั้น มาจากใบงานคำถามของวิชาประวัติศาสตร์ที่มีคำถามประมาณว่า
พระเจ้าตากสิน มีพระนามเดิมว่าอะไร?
ก่อนมากอบกู้เอกราช พระเจ้าตากสินมหาราชทรงเดินทางไปตั้งฐานกำลังที่เมืองใด?
ทรงกอบกู้เอกราชภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่เท่าใด?
กรุงธนบุรีมีอายุรวมทั้งหมดกี่ปี?
ผมเชื่อว่าหลายคนยังคงตอบคำถามได้ทุกข้อและสบายมาก และก็แอบสงสัยอยู่ลึกๆ จะมีใครบ้างหนอที่ยังไม่รู้คำตอบ
แต่ไม่เป็นไร การท่องจำประวัติศาสตร์มันทำให้ลืมกันได้ ผมเองก็หลงลืมอยู่บ่อยๆ
เรื่องราวของพระเจ้าตากสิน ถูกบันทึกกล่าวถึงไว้มากมายและกว้างขวางในแวดวงวรรณกรรม
ในหนังสือพระราชประวัติบางเล่มถูกเขียนโดยกลั่นเกลาออกมาจากมโนสำนึกอันล้ำลึก
และมีอีกมากที่เขียนกลั่นกรองออกมาจากหลักฐานบันทึกทางโบราณคดี พงศาวดาร โบราณสถานที่ข้องอยู่ด้วยกับเหตุการณ์ในยุคสมัย
สุดท้ายคนอ่านอย่างเราคงต้องเลือกแล้วว่าจะหาอ่านประวัติศาสตร์ในรูปแบบใด
ความรู้ทางประวัติศาสตร์นอกจากจะมีอยู่ในหนังสือเรียนภาคบังคับแล้ว การได้เที่ยวเสียบ้างในสถานที่ทางประวัติศาสตร์ก็มีคุณภาพอยู่ไม่น้อย
และผมเองก็เพิ่งได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์กับเค้าบ้างเมื่อไม่นานมานี้

ครั้งแรกของผมกับการนั่งเรือหางยาวบนเส้นทางสายลำคลอง กับเรือที่ไม่ไร้หางเสือนำพาผมและเพื่อนร่วมเดินทางอีกหลายชีวิต ลัดเลาะลำคลอง จอดเทียบท่าเพื่อให้ได้เดินย้อนรอยไปบนฝากฝั่งของอดีต
โปรแกรมทริปที่พาไปทัวร์ เริ่มต้นการเดินทางด้วยการเดินเที่ยวชมพระราชวังเดิม จุดเริ่มสร้างของกรุงธนบุรี และยังมีโบราณสถานที่สำคัญในส่วนของท้องพระโรงกรุงธนบุรี ไม่ห่างไกลกันนักเมื่อเดินไปทางแม่น้ำเจ้าพระยายังมีป้อมวิไชยประสิทธิ์ จากนั้นจึงพากันเดินขยับไปในส่วนของวัดอรุณราชวราราม ที่ซึ่งเคยเป็นวัดที่อยู่ภายในพระราชวังของกรุงธนบุรี
จากนั้นจึงลงเรือที่ท่าเรือวัดอรุณ มุ่งหน้าไปยังจุดหมายปลายทางกันต่อไป
เมื่อกองทัพต้องเดินด้วยท้อง และสมควรแล้วกับเวลาของอาหารกลางวัน ไม่นานนักเรือจอดเทียบท่าที่ไม่ไกลจากร้านเต็กเฮง (หมี่กรอบจิ้นลี) ที่เปิดขายในตลาดพลูมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
และพวกเราทุกคนดับความหิวของมื้อกลางวันด้วยกันที่นี่
บ่ายโมงครึ่งโดยประมาณก็พากันมาถึงวัดอินทารามวรวิหาร วัดสำคัญที่สันนิษฐานว่าเป็นที่บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเข้าสักการะศาลพระเจ้าตากสิน ที่ๆ ผมได้ถ่ายภาพมาจากที่นี่ด้วยเช่นกัน
เมื่อออกจากวัด พวกเราพากันมุ่งหน้าไปยังหมายหมุดถัดไปคือ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร กับงานศิลปกรรมฝาผนังที่เรื่องรัตนพิมพ์วงศ์ (ตำนานพระแก้วมรกต) และไหว้หลวงพ่อแสนในพระอุโบสถเพื่อความเป็นสิริมงคล
สุดท้ายปลายทัวร์จบลงตรงที่ท่าเตียน และกล่าวคำร่ำลาซึ่งกันกับกลุ่มเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ได้ลงเรือลำเดียวกัน
ขอบพระคุณมากๆ ครับกับคุณปรามินทร์ เครือทอง นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ ที่ได้นำพาเดินชมพร้อมเล่าเรื่องราวตั้งแต่พระราชวังเดิม วัดอินทารามวรวิหาร วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ที่ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและความเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุของการก่อร่างสร้างกรุงธนบุรี และพระราชประวัติของพระเจ้าตากตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวาระของการสวรรคต จนถึงจุดสิ้นสุดลงของกรุงธนบุรี
ขอบคุณมากครับกับ Matichon Information Center (MiC) ที่ได้ชักชวนผมให้มาร่วมทริป MiC Holiday Trip #5 ล่องเรือไปกับคลองสายประวัติศาสตร์ด้วยในครั้งนี้
ไว้ถ้ามีโอกาสได้ไปที่เที่ยวอีก จะเป็นที่ไหน อย่างไร ผมจะมาเล่าให้ได้อ่านกันอีกนะครับ
ขอบคุณมากมายครับ •
เอกภาพ | พิชัย แก้ววิชิต
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022