อาลัย “เจ้าดวงเดือน ณ เจียงใหม่” เจ้านายฝ่ายเหนือ บุคคล “ค่าแห่งแผ่นดิน”

 

เจั้าดวฯงเดิอฯร ณ ชยฯงให่มฯ อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า เจ้าดวงเดือน ณ เจียงใหม่

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เกิดในวันเพ็ญวิสาขบูชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2472 จึงได้รับการขนานนามว่า “ดวงเดือน” เป็นธิดาคนที่สามในเจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) ผู้เป็นโอรสในเจ้าราชภาติกาวงศ์ (เจ้าบัวรวงศ์) กับเจ้าฟองนวล

มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมอุทรหม่อมมารดา หม่อมจันทร์เทพ ณ เชียงใหม่ ตามลำดับ คือ เจ้าอาทิตย์ เจ้านิภาพันธุ์ และเจ้าประเวศ ณ เชียงใหม่

ในเยาว์วัย เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับความเมตตาและอภิบาลเป็นอย่างดีจาก เจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นพระราชธิดาในเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร กับ เจ้าจามรีวงศ์ และทรงรับเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นพระธิดาบุญธรรม

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับการฝึกอบรมด้านการเรือนอย่างเคร่งครัดจากคุ้มหลวง ได้ศึกษาการทำอาหาร การทำยาสมุนไพร และเรียนการฟ้อนรำ ขับกล่อมเพลงแบบราชสำนักสยามล้านนาเพื่อต้อนรับราชอาคันตุกะ

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย (ป.1-3) โรงเรียนวัฒโนทัยนอก ปัจจุบันคือ โรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์ (ป.4-ม.3) โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ (ม.4-5) และโรงเรียนดาราวิทยาลัย (ม.6)

 

ขณะอายุประมาณ 18-19 ปี เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ สมรสกับพิรุณ อินทราวุธ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ มีบุตร-ธิดา 4 คน คือ ภาคินี ณ เชียงใหม่, ภาคินัย ณ เชียงใหม่, เดือนเพ็ญ ภวัครานนท์ และ พ.วงเดือน ยนตรรักษ์

ในปี พ.ศ.2513 เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ สอบเข้าเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลคดีเด็กและเยาวชน และเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงเชียงใหม่ ทั้งเป็นนักจัดรายการวิทยุ ได้รับรางวัล Voice of America

ต่อมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ส่งเสริมกิจการการทอผ้าในกลุ่มสตรีภาคเหนือโดยริเริ่มกิจการฝ้ายดวงเดือนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ และยังได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่คนแรกในประเทศไทย

ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ที่มีความรักในท้องถิ่นวัฒนธรรมไทยล้านนาอย่างแรงกล้า

มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ที่อนุรักษ์และส่งเสริมการแต่งกายของสตรีในภาคเหนือด้วยผ้าไทยและจัดให้มีการนำเอาประเพณีการกินข้าวบนขันโตกแบบไทยล้านนากลับมาเผยแพร่จนได้รับความนิยมอีกครั้งในสมัยปัจจุบัน เป็นผู้อุทิศตนเพื่อการสังคมสงเคราะห์ การสาธารณกุศล และการศาสนกุศลอย่างต่อเนื่องตลอดมา

ในปี พ.ศ.2558 ได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ และได้รับเชิดชูเกียรติให้เป็น คนดีศรีแผ่นดิน เพื่อเป็นเกียรติประวัติแห่งคุณความดีในฐานะที่เป็นพลเมืองที่ดีและเป็นผู้สูงอายุที่ทรงคุณค่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง

และในปี พ.ศ.2564 ได้รับประกาศเกียรติคุณ เป็นบุคคล “ค่าแห่งแผ่นดิน” ในด้านการส่งเสริมศาสนา และวัฒนธรรม

เจั้าดวฯงเดิอฯร ณ ชยฯงให่มฯ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

ตลอดชีวิตของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้อุทิศตนเป็นแบบอย่างในการเป็นพลเมืองดี บำเพ็ญประโยชน์ต่อชาติและสังคมส่วนรวม มีความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด สมกับเป็นสตรีสูงศักดิ์ งามพร้อมด้วยกิริยามารยาทแบบกุลสตรีไทย และดำรงเกียรติแห่งวงศ์ตระกูลได้อย่างสมบูรณ์ จนได้รับการบันทึกชื่อให้เป็นบุคคลสำคัญในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยล้านนาเพื่อเป็นเกียรติประวัติและอนุสรณ์แห่งคุณความดี

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา สิริอายุได้ 93 ปี 7 เดือน เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2566

ในวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2566 จะมีพิธี “ส่งสการตานคาบ” เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ตามแบบเบ้าล้านนา

โดยในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ จะเคลื่อนขบวนปราสาทศพออกจากวัดพระสิงห์ ไปฌาปนกิจที่ลานวัดสวนดอก •