Genentech ตำนานไบโอเทคยุคใหม่ (2)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

Genentech ตำนานไบโอเทคยุคใหม่ (2)

(ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค ตอนที่ 7)

 

“Silicon Valley” ยุค 1960s-1970s กลายเป็นศูนย์กลางแห่งเทคสตาร์ตอัพของโลก

สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ อย่างระบบประมวลผลเซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อินเตอร์เน็ต วิดีโอเกม ฯลฯ ถือกำเนิดขึ้นที่นี่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันจากบริษัทเทคฯ ระดับตำนานอย่าง Intel, Hewlet-Packard, IBM, Atari, Apple ฯลฯ [1]

มหาวิทยาลัยดังอย่าง Stanford และ University of California เป็นแม่เหล็กดึงดูดเหล่าวิศวกร นักวิจัย และนักศึกษาชั้นหัวกะทิ

ส่วนธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital, VC) ขนาดใหญ่ที่ทำงานแบบมืออาชีพก็เริ่มเข้ามามีบทบาทเร่งการเติบโตของเทคสตาร์ตอัพเหล่านี้

ที่นี่มีระบบนิเวศน์ที่ครบสมบูรณ์ทั้งเงินทุนและทั้งทรัพยากรมนุษย์ที่ฝันจะเปลี่ยนโลก (และรวยเละ) จากไอเดียสุดล้ำ [2]

ปี 1970 Robert Swanson วัยยี่สิบสามปี ดีกรี MBA จาก MIT ย้ายถิ่นฐานมา Silicon Valley เพื่อทำงานเป็นนักลงทุนในสังกัด Citibank ก่อนจะย้ายมาร่วมทีมกับ VC หน้าใหม่อย่าง Kleiner & Perkins [3]

ช่วงปี 1975 Swanson ได้รับมอบหมายให้ช่วยดูแล Cetus Corporation [4]

เครดิตภาพ : ดุสิตตา เดชแก้ว

สตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีการคัดแยกจุลินทรีย์ผลิตสารปฏิชีวนะที่ทาง Kleiner & Perkins เคยลงทุนเอาไว้เยอะแต่ดูจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ได้ตามที่แผน ระหว่างประชุมระดมสมองหาทางออกสมาชิกคนหนึ่งของ Cetus เสนอให้ลองปรับปรุงพันธุ์จุลินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีตัดต่อดีเอ็นเอลูกผสม (recombinant DNA) แบบที่ Cohen-Boyer ค้นพบเมื่อปีก่อน [5]

ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ของทั้ง Cetus และ Kleiner & Perkins มองว่ายังอีกนานกว่าเทคโนโลยีนี้จะเอาไปใช้ได้จริงเชิงอุตสาหกรรม

Swanson กลับตื่นเต้นกับมันมาก ยิ่งไปอ่านค้นคว้าเพิ่มเติมก็ยิ่งมองว่านี่แหละคือโอกาสทองของทั้ง Cetus และ Kleiner & Perkins

เขาถึงกับเสนอให้ Cetus ตั้งแผนกพิเศษมาวิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะและจะช่วยลงมานำทัพด้วยตัวเอง

ทีม Cetus ปฏิเสธแนวคิดนี้ แม้ว่าภายหลักจะได้เชิญ Cohen มาร่วมเป็นที่ปรึกษาบริษัท แต่ Cetus ยังก็ไม่กล้าลงเงินลงเวลาไปจริงจังเรื่องที่ใหม่เกินจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้

ส่วน Swanson หลังจากทำงานกับ Cetus ล้มเหลวก็พลอยหมดอนาคตใน Kleiner & Perkins ไปด้วย

ปลายปี 1975 Swanson ในวัยยี่สิบแปดกลายเป็นอดีตนักลงทุนดาวรุ่งที่ตอนนี้เตะฝุ่น อยู่กินถูกๆ ด้วยเบี้ยยังชีพจากรัฐกับเงินเก็บที่ร่อยหรอ

“ผมเดินสายสัมภาษณ์งานวันละสามบริษัทอยู่สัก 3-4 เดือนได้” Swanson เล่าถึงช่วงเวลานั้น

Paul Berg (คนขวาสุด) ถกประเด็น recombinant DNA กับเหล่านักวิจัยที่ Asilomar Conference
เครดิตภาพ https://www.science.org/doi/10.1126/science.ade5848

ตัดภาพมาที่ Cohen กับ Boyer ทั้งคู่กำลังโด่งดังในฐานะผู้คิดค้นเทคนิค recombinant DNA

แต่ความดังก็มาพร้อมกับเรื่องยุ่งๆ เมื่อภาคประชาชนเริ่มกังวลเรื่องปัญหาความปลอดภัยทางชีวภาพจากเทคโนโลยีนี้ recombinant DNA อาจจะทำให้มนุษย์เราสามารถตัดต่อยีนอะไรก็ได้ไปใส่สิ่งมีชีวิตอะไรก็ได้อย่างง่ายดาย

ซึ่งนั่นรวมไปถึงการสร้างเชื้อก่อโรคสายพันธุ์ใหม่ๆไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือด้วยความจงใจ

ไหนจะต้องคิดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ เมื่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้หลุดออกไป

กลางปี 1974 Paul Berg (นักวิจัยรางวัลโนเบลผู้คิดค้นเทคนิค recombinant DNA ในไวรัส) นำทีมคณะกรรมการเฉพาะกิจศึกษาประเด็นปัญหานี้ และส่งจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ชุมชนนักวิจัยหยุดการใช้เทคโนโลยีนี้กันชั่วคราว [6]

ต้นปี 1975 เหล่านักวิจัยแนวหน้าด้านชีวโมเลกุล นักกฎหมาย สื่อมวลชน และตัวแทนรัฐบาลรวมกว่าร้อยคนมาประชุมกันที่ Asilomar Conference เพื่อหารือเรื่องมาตรการความปลอดภัย และผลกระทบของเทคโนโลยีนี้ต่อสังคม ตลอดจนแง่มุมเชิงจริยธรรมต่างๆ

หลังจากถกเถียงกันดุเดือดก็ได้ข้อตกลงว่าเทคโนโลยีนี้มีประโยชน์มหาศาลควรอนุญาตให้นักวิจัยใช้กันได้ต่อไปและได้ช่วยกันออก guideline มากำกับว่าควรป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้างสำหรับงานตัดต่อดีเอ็นเอรูปแบบต่างๆ [7]

แม้ว่าผู้เข้าร่วมหลายคน (รวมทั้ง Cohen และ Boyer) ยังไม่เห็นด้วยกับ guideline อันนี้มากนัก

แต่ Asilomar Conference ครั้งนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ได้รับการยกย่องจนถึงปัจจุบันว่าเป็นต้นแบบการสร้างมาตรฐานอันดีที่นักวิจัยแสดงความรับผิดชอบต่อเทคโนโลยีของตัวเองและรีบจัดการกับความกังวลของภาคประชาชนก่อนที่จะลุกลามไปจนเกินควบคุม

Cohen – Boyer ยังคงเดินหน้าทำวิจัยพื้นฐานต่อไปไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับ patent ที่ Stanford และ University of California ได้ยื่นจดไว้

Cohen ได้เป็นที่ปรึกษาของ Cetus ส่วนทีมของ Boyer ก็กลายเป็นศูนย์กลางผลิตเอนไซม์ตัดจำเพาะให้แล็บที่สนใจงานพันธุวิศวกรรมทั่วโลกได้ลองใช้

Boyer เคยจะร่วมมือกับทีมจากเยอรมันเพื่อลองตัดต่อยีนฮอร์โมนมนุษย์ใส่แบคทีเรียเผื่อใช้ในอุตสาหกรรมยา

แต่ว่าทีมเยอรมันดันทิ้งงานไปเสียก่อนฝั่ง Boyer เลยค้างอยู่แค่นั้น

Herbert Boyer (ซ้าย) และ Robert Swanson (ขวา)
เครดิตภาพ Genentech

ปลายปี 1975 Swanson ยังคงเตะฝุ่นอยู่และยังคาใจกับแนวคิดสร้างธุรกิจจากการตัดต่อดีเอ็นเอ เขาไล่โทร.ปรึกษาเหล่าผู้เชี่ยวชาญจากรายชื่อผู้เข้าร่วม Asilomar Conference

แทบทุกคนบอกว่าเทคโนโลยีนี้ดูดีมีอนาคต…แต่อนาคตน่าจะอยู่อีกไกลหลายสิบปีกว่าจะเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจจริงได้

Swanson ไล่โทร.ติดต่อมาเรื่อยจนไปถึง Boyer โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนนี้แหละคือหนึ่งในผู้คนพบเทคโนโลยีตัดต่อดีเอ็นเอ [8]

Boyer ที่กำลังวุ่นกับงานแล็บกะจะรีบวางหูไปทำงานงานต่อ แต่ Swanson ก็ใช้ลูกตื้อคะยั้นคะยอจะขอเข้าพบให้ได้

สุดท้าย Boyer ก็ยอมนัดเจอกับ Swanson “มีเวลาแค่สิบนาที บ่ายวันศุกร์” Boyer ย้ำ

มกราคมปี 1976 Swanson วัยยี่สิบแปดในมาดนักธุรกิจปรากฏตัวขึ้นที่แล็บจุลชีววิทยาของที่ยุ่งเหยิงแบบนักวิจัยสไตล์ศิลปินของ Boyer

ทั้งคู่คุยกันถูกคอจนเวลาล่วงเลยจากสิบนาทีเป็นหลายชั่วโมง จากแล็บที่ UCSF ก็ไปดวดเบียร์กันต่ออีกหลายขวดที่ผับแถวนั้น

Swanson แสดงความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะสร้างเทคสตาร์ตอัพของตัวเอง แต่ก็ไม่อยากทำอะไรเกร่อๆ อย่างงานแนวคอมพิวเตอร์ที่คนส่วนใหญ่แถว Silicon Valley สนใจกัน

เขาอ่านเรื่อง recombinant DNA มาเยอะกว่านักธุรกิจคนไหนๆ และมองเห็นโอกาสยิ่งใหญ่ของมันตั้งแต่สมัยร่วมงานกับ Cetus

ส่วน Boyer มองว่าลองเป็นงานพาร์ตไทม์ไปก็ไม่เสียหายอะไรอย่างน้อยก็ได้เงินมาทำแล็บเพิ่มช่วงทุนวิจัยจากรัฐบาลขาดแคลน

“ผมไม่แน่ใจว่าเพราะผมคารมดี, เพราะ Boyer กำลังคึก หรือไม่ก็ฤทธิ์ของเบียร์ แต่เราก็ตกลงจะทำธุรกิจกันวันนั้นเลยที่ผับ” Swanson เคยให้สัมภาษณ์ภายหลัง ทั้งคู่ตกลงจะเริ่มธุรกิจผลิตฮอร์โมนมนุษย์ด้วยเทคนิค recombinant DNA

และช่วยกันลงทุนเบื้องต้นคนละห้าร้อยดอลลาร์เป็นค่าเอกสารกฎหมาย

Herbert Boyer (ขวา) และ Robert Swanson (ซ้าย) ตกลงธุรกิจกันระหว่างดื่มเบียร์ รูปปั้นนี้ตั้งอยู่ที่แคมปัสของบริษัท Genentech ในปัจจุบัน เครดิตภาพ Genentech

Swanson รับหน้าที่ไปวิเคราะห์ตลาด และให้ความเห็นว่าผลิตภัณฑ์ตัวแรกน่าจะเป็น “อินซูลิน (insulin)” ฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลที่ถูกใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานมาตั้งแต่ 1920s มูลค่าตลาดทั่วโลกของฮอร์โมนนี้สูงถึงกว่าร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐและยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อินซูลินที่ใช้กันตอนนั้นต้องสกัดมาจากหมูและวัวทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูงแถมยังมีปัญหาว่าผู้ป่วยหลายคนแพ้ฮอร์โมนจากแหล่งนี้ [9, 10]

ดังนั้น ถ้าสตาร์ตอัพของ Swanson-Boyer ผลิตอินซูลินที่เหมือนของมนุษย์เป๊ะจากการตัดต่อยีนอินซูลินมนุษย์ไปใส่ในแบคทีเรียที่เลี้ยงง่ายโตเร็วอย่าง E.coli ก็น่าจะแก้ pain point ตรงนี้และกินส่วนแบ่งมหาศาลของตลาดได้

มีนาคม 1976 Swanson-Boyer นำเสนอแผนธุรกิจต่อ Kleiner & Perkins นักลงทุน VC เจ้านายเก่าของ Swanson

มันเป็นแผนธุรกิจสั้นๆ ยาวแค่หกหน้ากระดาษ ไอเดียก็น่าสนใจแต่โคตรจะเสี่ยง

ปกติแล้ว VC อย่าง Kleiner & Perkins จะลงทุนในสตาร์ตอัพที่มีสินค้าพร้อมออกตลาดหรืออย่างน้อยๆ ก็มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ใช้การได้จริงแล้ว แต่ Swanson-Boyer ไม่มีซักอย่าง แล็บบริษัทก็ยังไม่มี ทีมงานมีก็มีกันแค่สองคน (แถม Boyer ยังยืนกรานว่าจะทำงานแค่พาร์ตไทม์ ไม่ลาออกจากตำแหน่งอาจารย์แน่ๆ) ส่วนฝั่งเทคโนโลยีแม้ Boyer จะเป็นผู้บุกเบิก recombinant DNA แต่ก็ยังไม่เคยมีใครตัดต่อเอายีนจากมนุษย์ไปแสดงออกเป็นโปรตีนในแบคทีเรียสำเร็จ

อีกประเด็นที่ Kleiner & Perkins กังวลคือแนวคิดที่ Swanson เสนอว่าในระยะยาวจะผลิตโปรตีนยาเองขายเอง

นั่นแปลว่าพวกเขากำลังจะแข่งกับบริษัทยายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมที่แทบไม่มีบริษัทหน้าใหม่ไหนเจาะเข้าไปสำเร็จเลยในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

แม้จะเสี่ยงสูงแต่ด้วยมูลค่ามหาศาลของตลาดบวกกับชื่อเสียงของ Boyer และคารมของ Swanson ทำให้ Kleiner & Perkins ตัดสินใจลงทุนในสตาร์ตอัพนี้

วันที่ 7 เมษายน 1976 Herbert Boyer และ Bob Swanson จดทะเบียนบริษัทในชื่อ “Genentech” (ย่อมาจาก Genetic Engineering Technology) [7]

Kleiner & Perkins ลงทุนไป $100,000 แลกกับ 20,000 หุ้น ส่วน Boyer และ Swanson ถือไว้ 25,000 หุ้น

Genentech ถือกำเนิดขึ้นแล้ว มีเงินลงทุนแล้วแต่ยังเป็นแค่บริษัทในอากาศ มี Boyer เป็นนักวิจัยพาร์ตไทม์หนึ่งคนไม่มีสิทธิบัตร ไม่มีแล็บ ไม่มีผลิตภัณฑ์หรือต้นแบบอะไรทั้งสิ้น Genentech จะอยู่รอดจนกลายมาเป็นตำนานแห่งบริษัทไบโอเทคได้อย่างไร?

โปรดติดตามต่อตอนหน้า

การผลิตอินซูลินหนึ่งปอนด์ต้องใช้ตับอ่อนหมูถึงหนึ่งหมื่นปอนด์
เครดิตภาพ https://rethinkdisruption.com/the-disruption-of-insulin/

อ้างอิง

[1] https://www.scaruffi.com/svhistory/silicon.html

[2] https://openvc.app/blog/history-of-venture-capital

[3] https://www.kleinerperkins.com/our-history/

[4] https://ethw.org/First-Hand:Starting_Up_Cetus,_the_First_Biotechnology_Company_-_1973_to_1982

[5] บทความมติชนซีรีย์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 6

[6] https://www.nature.com/articles/455290a

[7] https://pubs.acs.org/doi/pdf/10.1021/cen-v053n010.p019

[8] https://www.amazon.com/Genentech-Beginnings-Sally-Smith-Hughes/dp/022604551X

[9] https://americanhistory.si.edu/blog/2013/11/two-tons-of-pig-parts-making-insulin-in-the-1920s.html

[10] https://www.diabetes.co.uk/insulin/animal-insulin.html