กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (27)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (27)

 

ผลงานแปลสี่เล่มสุดท้าย

ของกิติมา อมรทัต

ในตู้หนังสือของผม

 

1.จักรพรรดินีโหด

เรื่องจริงของจักรพรรดินีโหดที่ กิติมา อมรทัต แปลจากผลงานของหลินยู่ถัง ซึ่งผู้จัดพิมพ์โปรยที่หน้าปกไว้ว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ความล่มสลายของราชวงศ์ถัง ด้วยน้ำมือของผู้หญิงที่เหี้ยมโหดที่สุดในโลก

เป็นหนังสือชุดวรรณกรรมแปลของสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนกันยายน 2547 ราคา 210 บาท

ทั้งนี้ ในคำนำสำนักพิมพ์ได้กล่าวถึงเนื้อเรื่องของจักรพรรดินีโหดเอาไว้ว่า สงครามทำให้ผู้คนล้มตายไปมากมาย แต่คนที่ตายในสงครามยังมีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีมากกว่าต้องมาตายด้วยน้ำมือของผู้หญิงบ้าอำนาจเพียงคนเดียว

หวู่เจ๋อเทียน คือชื่อของผู้หญิงที่ทำให้ประวัติศาสตร์ราชบัลลังก์ของจีนนองไปด้วยเลือดและแปดเปื้อนคาวโลกีย์

นางพยายามทุกวิถีทางทำผิดให้เป็นชอบ บังคับให้สารภาพ และฆ่าได้แม้กระทั่งลูกและญาติของตัวเอง

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง ในราวปลายศตวรรษที่ 6 นับตั้งแต่วันแรกที่นางเข้ามาอยู่ในพระราชวังในฐานะนางห้ามของพระมหาจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนองค์หนึ่ง (โก้วสุง)

หล่อนมีความมักใหญ่ใฝ่สูง และแข็งกร้าวต่างจากหญิงทั่วไป และพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ แม้จะต้องอดทนรอนานเพียงใดก็ตาม

ความเก่ง ฉลาด และน่ากลัวของนางปรากฏให้เห็นตั้งแต่ยังสาวรุ่น ดังครั้งหนึ่งที่นางได้แสดงต่อองค์โก้วสุงในการปราบพยศม้าทรงตัวหนึ่งที่ไม่มีใครปราบได้

นางบอกว่า “ขอเพียงสิ่งของสามอย่างเท่านั้นคือแส้เหล็ก ค้อนเหล็ก และกริช”

นางจะเลือกอาวุธที่เหมาะสมในการจัดการความพยศนั้นให้อยู่หมัด

และในเวลาต่อมานางก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่านางได้ใช้อาวุธทั้งสามสิ่งนั้นจัดการกับคนที่ขวางทางการขึ้นสู่อำนาจอย่างไร

ใครดื้อดึงน้อยก็ใช้เพียงแส้เหล็ก และหากยังไม่ยินยอม นางก็จะใช้ค้อนเหล็กทุบให้แหลกลาญ และสุดท้ายนางก็จะใช้กริชประหัตประหารศัตรูทุกหน้าอย่างเฉียบขาด

ทั้งหมดนั้นก็เพื่อสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดินีแห่งสรวงสวรรค์ ผู้เป็นพระพุทธเจ้ากลับชาติมาเกิดเพียงหนึ่งเดียวของประวัติศาสตร์ชาติจีนและเป็นจักรพรรดินีที่ชาวจีนยกย่องให้เป็นผู้ที่เหี้ยมโหดและแพศยาที่สุด

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เล่มนี้ประพันธ์โดยหลินยู่ถัง และกิติมา อมรทัต แปลมาจากเล่มภาษาอังกฤษชื่อ “LADY WU”

หลินยู่ถังเขียนเรื่องนี้จากการศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ก่อนที่จะค่อยๆ ร่างภาพขึ้นมาเป็นเรื่องราวทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ นัยว่าเป็นพงศาวดารอีกเล่มหนึ่งเลยทีเดียว

ผู้อ่านจะเข้าใจเรื่องราวของหวู่เจ๋อเทียน จักรพรรดินีที่เหี้ยมโหดที่สุดในประวัติศาสตร์จีนได้อย่างดีขึ้นจากโปรยหลังปกของสำนักพิมพ์มติชนที่กล่าวถึงราชินีผู้โหดเหี้ยมผู้นี้ว่า

หากนับรายชื่อบุคคลที่เหี้ยมโหดและสังหารคนอย่างชอบธรรมมากที่สุดในโลก นับจากสตาลิน ฮิตเลอร์ เหมา เจ๋อตุง และเนโรแล้ว ยังต้องนับรวม “หวู่เจ๋อเทียน” จักรพรรดินีที่เหี้ยมโหดที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

ความทะเยอทะยานของอดีตนางบำเรอคนหนึ่งที่ใช้ทั้งเสน่ห์และเล่ห์กระเท่ห์ทุกวิถีทาง การฆ่าใครสักคนเพื่อกรุยทางสู่การเถลิงอำนาจเป็นเรื่องธรรมดาเหลือแสน แม้ลูกในไส้ของนางเองยังไม่เว้นจากความตาย

นิยายเล่มนี้เป็นชีวประวัติเชิงพงศาวดาร บอกเล่าเส้นทางแห่งความอยากที่ไม่มีวันสิ้นสุด ทั้งยศศักดิ์ อำนาจ และกามารมณ์ จนชาวเมืองต่างกระซิบกระซาบเรียกนางว่า “หญิงคนชั่วจอมแพศยา”

2.ยี่สิบสี่ดวงตา

กิติมา อมรทัต แปลจากผลงานของซาคาเอะ ทสุโบอิ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ในสมัยที่มีเสน่ห์ จามริก เป็นประธาน

คณะกรรมการบริหาร ซึ่งประกอบด้วย เพชรี สุมิตร รองประธาน และมีคณะกรรมการที่อยู่ในแวดวงอุดมศึกษาไทยอีกหลายคน

อย่างกุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นรนิติ เศรษฐบุตร รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ วิทยา สุจริตธนารักษ์ อมรา พงศาพิชญ์ อุทัย ดุลยเกษม เป็นกรรมการและเหรัญญิก

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นกรรมการและเลขานุการ

และทรงยศ แววหงษ์ เป็นกรรมการและผู้จัดการเป็นผู้จัดพิมพ์

ทั้งนี้ เสน่ห์ จามริก กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของมูลนิธิโครงการตำราฯ ไว้อย่างน่าสนใจว่า โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2509 ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันเองเป็นส่วนบุคคล ในหมู่ผู้มีความรักในภารกิจบริหารการศึกษาจากสถาบันต่างๆ

เมื่อเริ่มดำเนินงาน โครงการตำราฯ มีฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ก่อนมีฐานะเป็นมูลนิธิเมื่อต้นปี พ.ศ.2521 ทั้งนี้ โดยได้รับความร่วมมือด้านทุนทรัพย์จากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานขั้นต้น

เป้าหมายเบื้องแรกของมูลนิธิโครงการตำราฯ ก็คือส่งเสริมให้มีตำราภาษาไทยที่มีคุณภาพ เฉพาะในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ทั้งนี้ ต่างเห็นพ้องต้องกันในระยะนั้นว่าคุณภาพหนังสือตำราไทยระดับอุดมศึกษาแขนงวิชาดังกล่าวยังไม่สูงพอ ถ้าส่งเสริมให้มีหนังสือเช่นนี้เพิ่มขึ้น ย่อมมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาในขั้นมหาวิทยาลัยโดยปริยาย

อีกทั้งยังอาจช่วยการสร้างสรรค์ปัญญา ความคิดริเริ่ม และความเข้าใจอันถูกต้องในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองโดยส่วนรวม

 

พร้อมกันนี้มูลนิธิโครงการตำราฯ ก็มีเจตนาอันแน่วแน่ที่จะทำหน้าที่เป็นชุมนุมผลงานเขียนของนักวิชาการต่างๆ ทั้งในและนอกสถาบัน เพื่อให้ผลงานวิชาการที่มีคุณภาพได้เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ออกไปโดยทั่วถึงในหมู่ผู้สอน ผู้เรียน และผู้สนใจงานวิชาการ การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการตำราฯ มุ่งขยายความเข้าใจและความร่วมมือของบรรดานักวิชาการออกไปในวงกว้างยิ่งๆ ขึ้นด้วย

ไม่ว่าจะเป็นด้านการกำหนดนโยบายสร้างตำรา การเขียน การแปล และการใช้ตำรานั้นๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์อันพึงปรารถนา ตลอดจนความเข้าใจอันดีต่อกันในวงวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

นโยบายพื้นฐานของมูลนิธิโครงการตำราฯ คือ ส่งเสริมและเร่งรัดให้มีการจัดพิมพ์หนังสือตำราทุกประเภท ทั้งที่เป็นงานแปลโดยตรง งานแปลเรียบเรียง งานถอดความ งานรวบรวม งานแต่ง และงานวิจัย ในช่วงแรกๆ เน้นส่งเสริมงานแปลเป็นหลัก

ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการจัดพิมพ์ตำราประเภทอื่นๆ ด้วย นับแต่ได้ก่อตั้งโครงการตำราฯ มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยความร่วมมืออย่างดียิ่งของนักวิชาการหลายสถาบันสามารถส่งเสริม กลั่นกรอง ตรวจสอบ และจัดพิมพ์หนังสือตำราภาษาระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพตามเป้าหมาย เจตนารมณ์ และนโยบายได้ตรงทุกประเภท

และมีเนื้อหาครอบคลุมสาขาวิชาการต่างๆ ถึง 8 สาขา ดังต่อไปนี้

(1) สาขาวิชาภูมิศาสตร์ (2) สาขาวิชาประวัติศาสตร์ (3) สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ (4) สาขาวิชารัฐศาสตร์ (5) สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (6) สาขาวิชาปรัชญา (7) สาขาวิชาจิตวิทยา (8) สาขาวิชาภาษาและวรรณคดี

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการผลิตตำราสาขาวิชาอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่น สาขาวิชาศิลปะ ซึ่งอยู่ในขั้นดำเนินงาน และยังได้ขยายงานให้มีการแต่งตำราเป็น “ชุด” ซึ่งมีเนื้อความคาบเกี่ยวระหว่างหลายสาขาวิชา เช่น “ชุดชีวิตและงาน” ของบุคคลที่น่าสนใจ ดังได้จัดพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วบางเล่ม

ปัจจุบันมูลนิธิโครงการตำราฯ มีเจตนาอันแน่วแน่ที่จะขยายงานของเราต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แม้จะประสบอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะอุปสรรคด้านทุนรอน เพราะกิจการของเราไม่ใช่กิจการแสวงหากำไร หากมุ่งประสงค์ให้นักศึกษาและประชาชนมีโอกาสซื้อหาหนังสือตำราในราคาย่อมเยาพอสมควร

คณะกรรมการทุกสาขาวิชาของมูลนิธิโครงการตำราฯ ยินดีน้อมรับคำแนะนำและคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อ่านทุกท่าน และปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ท่านผู้อ่านทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมในมูลนิธิโครงการตำราฯ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนแนะนำอยู่ห่างๆ ช่วยแต่ง แปล เรียบเรียง หรือรวบรวมตำราสาขาวิชาต่างๆ ให้เรา หรือเข้ามาร่วมบริหารงานร่วมกับเรา

หนังสือยี่สิบสี่ดวงตาได้รับการแนะนำจากสำนักพิมพ์ประดู่ลาย ผู้จัดพิมพ์จัดจำหน่ายเอาไว้ว่า นวนิยายเรื่องนี้ เป็นเสมือนข้อพิสูจน์อันทรงพลัง ที่ชี้ให้เห็นถึงความวิปลาสและไร้มนุษยธรรมของสงคราม

เป็นนวนิยายที่ทุ่มเทหัวใจแก่สันติภาพ เป็นเรื่องราวที่ติดตามการเจริญเติบโตของเด็กๆ ผู้บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา จำนวนสิบสองคน ตั้งแต่เด็กเหล่านั้นยังอยู่ในวัยอนุบาล ไปจนกระทั่งเติบใหญ่ขึ้น ในช่วงเวลาอันเต็มไปด้วยบรรยากาศของความอหังการทางการเมืองและค่านิยมอันเลวทราม