ตะวัน-แบม เยาวชนนักสู้ ยอมเข้าคุก…อดอาหาร ดีกว่าการ…จับปืนยิงกัน? (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ ‘แบม’ อรวรรณ ภู่พงษ์ นักกิจกรรมหญิง 2 ราย ยื่นถอนประกันตัวเองเมื่อ 16 มกราคม 2566 ยอมกลับเข้าคุก เพื่อประท้วงระบบยุติธรรม เรียกร้องต่อศาลให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

1) ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

2) ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง

3) เรียกร้องทุกพรรคการเมือง เสนอยกเลิกมาตรา 112 และข้อหายุยงปลุกปั่นมาตรา 116

ตอนที่เห็นคลิป เลือดแลกเลือด หลายคนก็ตกใจ ต่อมาพบว่าพวกเขายกระดับด้วยการอดอาหารและน้ำในคุก ตะวันบอกว่า “เราพร้อมที่จะแลกชีวิตกับการต่อสู้ครั้งนี้”

(การประท้วงระบบยุติธรรม ที่แรงสุด คือการยิงตัวตายของผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ที่ยิงตัวเองเสียชีวิตเมื่อเดือนตุลาคม 2563)

วิธี…อดอาหารประท้วงในคุก… ยุคใหม่นี้ถูกใช้เมื่อปี 2559 โดย “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน ซึ่งถูกจับกุมในคดีแจกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จึงได้อดอาหารประท้วงเป็นเวลา 12 วัน เพื่อประท้วงต่อกระบวนการทำประชามติที่ไม่เสรีและการจับกุมที่ไม่ยุติธรรม

 

การต่อสู้ที่ยาวนานของเยาวชนยุคใหม่

การต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านระบบรัฐสภาของไทย ไม่เป็นแบบประชาธิปไตย เพราะใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างมาเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร

คนรุ่นใหม่รู้ดีว่าถ้าไม่เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ ประเทศไปไม่รอด

แต่ในขณะที่เขาหาวิธีเคลื่อนไหวไปสู่เป้าหมาย ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด โดยการร่างกฎหมาย และบังคับใช้ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายการชุมนุม กฎหมายมาตรา 112 มาตรา 116 แม้แต่เรื่องจราจร ฯลฯ ใช้วิธีจับแกนนำขังคุก กดดันม็อบเยาวชนไม่ให้เคลื่อนไหว

10 สิงหาคม 2563 นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ก็มีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อีกครั้ง กลุ่มแกนนำของ “ราษฎร” ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากการชุมนุม 4 คน จากการชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ที่สนามหลวง ถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหาหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คนที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดี

จากข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ปี 2564 มีแกนนำและนักกิจกรรม รวม 8 คน ที่อดอาหารประท้วง

เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ อดอาหาร 58 วัน

รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อดอาหาร 37 วัน

ฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารี อดอาหาร 43 วัน จาก 3 ครั้ง

ปี 2565 มีนักกิจกรรม 6 คนที่อดอาหารประท้วง เช่น

ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อดอาหาร 37 วัน (20 เมษายน- 26 พฤษภาคม)

บุ้งและใบปอ อดอาหาร 48 วัน (1 มิถุนายน-18 กรกฎาคม)

เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง อดอาหาร 20 วัน (5-24 พฤษภาคม)

 

เพราะเหลืออด
จึงอดอาหารประท้วง

สภาพบ้านเมืองวันนี้ อยู่ในขั้นวิกฤตเป็นแบบที่เรียกว่า…เมืองใดไร้ธรรมอําไพ เมืองนั้นบรรลัย แน่เอย เราจึงเห็นทุนจีนสีเทา ที่โผล่ขึ้นมาประจานการคอร์รัปชั่นที่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง

ในสังคมดัดจริตของเรา เด็กๆ เติบโตมาจากการสั่งสอนว่าจะต้องอยู่ฝ่ายธรรมะ โตไปไม่โกง ต้องมีความยุติธรรม ต้องเสียสละและต้องต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เด็กทุกคนอยากเล่นบทผู้พิทักษ์ความยุติธรรม

แต่เมื่อทำอย่างนั้นเข้าจริงๆ ผู้ใหญ่กลับรับไม่ได้ ก็พยายามอ้างว่าเด็กถูกชักจูง

ความจริงแล้วผู้ใหญ่ต่างหากที่หลงลาภ ยศ จนไร้ศีลธรรม ยิ่งโต มีอำนาจยิ่งโกง ใหญ่มากโกงมาก ปัญญาชน สื่อมวลชน และคนที่มีฐานะนำ ไม่กล้าชน คนในสังคมส่วนใหญ่เป็นไทยเฉย หรือมีบางคนไปหาประโยชน์ร่วมกับผู้มีอำนาจ

ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการยุติธรรมมีมากมาย ตั้งแต่อาจารย์ นักศึกษา กฎหมาย และการเมือง ข้าราชการ ไปถึงผู้มีหน้าที่ เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ทนาย จะหาคนที่จะคัดค้าน และต่อสู้ เพื่อหลักกฎหมายที่ถูกต้อง หรือให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปอย่างเที่ยงตรง มีน้อยเต็มที อยุติธรรมจึงเกิดซ้ำซาก

แถมยังมีจำนวนมากไปร่วมทำผิด ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไปร่วมสนับสนุนเผด็จการ ไปร่วมโกง

วันนี้เยาวชนที่ก้าวหน้าไม่อดทนต่ออยุติธรรม จึงเคลื่อนไหวเป็นแนวหน้า กล้าเสี่ยงชีวิตและคุกตะรางเพราะเห็นความอยุติธรรมครองเมือง พวกเขามั่นใจว่าเขาชนะ เพราะเวลาจะชี้ขาด จึงพูดว่า ให้มันจบที่รุ่นเรา

 

เยาวชนนักสู้เพื่อเสรี
สืบทอดการต่อสู้รุ่นต่อรุ่น
แต่วิธีการต่างกัน

การต่อสู้เพื่อเสรีและยุติธรรมมีมาหลายรุ่น และถูกกวาดจับมาโดยตลอด ทั้งในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปัญญาชนแบบจิตร ภูมิศักดิ์ และอีกหลายๆ คน ก็ต้องติดคุก สุดท้ายก็ต้องเข้าป่า จับปืนสู้ ข้อหาคอมมิวนิสต์ กลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายเผด็จการ ที่ใช้กดหัวประชาชน ต่อเนื่องมาถึง 20 ปี

ในที่สุดถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร-ประภาส จารุเสถียร การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน จึงสามารถโค่นล้มเผด็จการลงได้ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่หลังจากนั้นเพียง 3 ปี ก็มีการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เยาวชนก้าวหน้าทั้งหลายถูกกวาดล้าง เข่นฆ่า จับกุมด้วยข้อหาเดิม คือข้อหาคอมมิวนิสต์ คนที่รอดตายจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ต้องหนีเข้าป่า จับปืนสู้กับรัฐบาลเผด็จการ

คนหนุ่มคนสาวยุค 14 ตุลา และ 6 ตุลา ไม่มีช่วงเวลาหาประสบการณ์การต่อสู้ที่ยาวนานพอที่จะสร้างผลงาน แต่ก็สร้างความตื่นตัวทางการเมืองได้ทั่วประเทศ เด็กหนุ่มสาวบางคนเพิ่งเข้าสู่สนามการต่อสู้ทางการเมืองได้ไม่ถึงปี คนที่อยู่มาก่อนๆ ก็มีประสบการณ์เพียง 2-3 ปี อายุเฉลี่ย 17-24 ปี เช่นเดียวกับยุคนี้

การต่อสู้ยุคนั้นไม่เปิดโอกาสให้อดอาหารประท้วง เพราะถูกกดดันด้วยกำลังอาวุธ สุดท้ายก็ใช้อาวุธโต้ตอบก็กลายเป็น…ปืนต่อปืน มันยิงมาเรายิงไป ตายกันไปหลายพันคน

แต่เยาวชนยุคใหม่ ติดอาวุธตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น เป็นโทรศัพท์มือถือ พวกเขามีคนละเครื่อง แม้ไม่ใช่ปืน แต่มีกระสุน คือข้อมูลข่าวสารบทวิจารณ์ ความคิดความเห็น ภาพจากสถานที่จริง สามารถดึงข้อมูลและภาพอดีตและปัจจุบันมาเปรียบเทียบกันได้

การโกหกหลอกลวงและควบคุมสื่อการบิดเบือนข้อมูล ของผู้มีอำนาจ มีเงิน ทำไม่ได้ง่ายเหมือนเก่าแล้ว และจะถูกเปิดโปงทันทีถ้าเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง ผู้คนจึงตาสว่างกันมากขึ้น

นักต่อสู้ในยุคนี้ แม้เห็นว่าเป็นเด็ก แต่มีข้อมูลเพียบ มีทุกเพศ กล้าพูดกล้าวิจารณ์ กล้าเสนอ

พวกเขาเห็นว่าการยืนสองเท้าและยืดตัวตรง เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่ในสังคมนี้มีกะลาครอบอยู่