‘ยอมรับ’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2565

ปีนี้ก็เหมือนในปีที่ผ่านๆ มา ช่วงเวลานี้ เป็นเวลาแห่งฤดูแล้ง

แม้ว่าในปีที่ผ่านมาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ไม่มีช่วงเวลาแห่งไฟ สายฝนมาเร็วและตกต่อเนื่อง แต่ความแห้งแล้งก็มาเยือนตามปกติ

น้ำในลำห้วยสายเล็กๆ แห้ง มีเพียงแนวหินระเกะระกะ ส่วนลำห้วยสายหลัก ระดับน้ำลดลง หลายช่วงเหลือเพียงท่วมข้อเท้า บางช่วงอยู่ในระดับท้องหมูป่า

ต้นไม้ยังไม่ทิ้งใบ แต่เปลี่ยนสีใบแล้ว ต้นไม้จำเป็นต้องปรับตัวลดการใช้น้ำ เตรียมปลิดใบทิ้ง ความชื้นในอากาศเหลือไม่มาก ต้นไม้เตรียมตัวรับความแห้งแล้งตามปกติ

ป่าทั้งป่าดูเงียบเหงา แห้งแล้ง ราวกับไร้ชีวิต

 

เป็นเรื่องปกติอีกเช่นกันที่ในช่วงเวลานี้ บริเวณลำห้วยสายหลัก จะคล้ายเป็นที่ชุมนุม บนผืนทราย เต็มไปด้วยรอยตีนสัตว์ป่าย่ำไว้อย่างสับสน

เช้ามืด สายหมอกปกคลุมลำห้วยคดโค้งเห็นรางๆ เก้งเดินช้าๆ เดินๆ หยุดๆ หันมองรอบๆ เพราะมันรู้ดีว่า สัตว์ผู้ล่าอย่างพวกหมาไน จะวนเวียนอยู่ในที่สัตว์กินพืชมารวมตัว สำหรับเก้ง หากตกเป็นเป้าหมายของหมาไน โอกาสที่จะรอดพ้นมีไม่มาก

ในป่า มีผู้ล่า ผู้ถูกล่า ความตายเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูกาลใด

ผมยืนอยู่บนตลิ่งที่สูงจากลำห้วยร่วม 30 เมตร มองผ่านสายหมอกหนาทึบที่เห็นลำห้วยรางๆ เลยโค้งลำห้วยไปทางทิศเหนือสักสองกิโลเมตร บริเวณนั้น ทางด้านซ้ายของลำห้วยขนาบด้วยหน้าผาชัน

ส่วนด้านขวามือ คือแนวป่าไผ่ มีด่านซึ่งสัตว์ป่าใช้เป็นเส้นทางลงลำห้วยเพื่อข้ามมาอีกฝั่ง

ผมเคยใช้เวลาที่นั่นอยู่กว่าสองสัปดาห์ กับการเฝ้าซากควายป่า จากร่องรอยทำให้รู้ว่า ซากเป็นฝีมือของเสือโคร่ง

เวลากว่าสองสัปดาห์ ซึ่งได้ “เรียน” อย่างจริงจัง

เรียนเพื่อพบกับความจริงว่า เจ้าของซาก เหนือกว่าผมเพียงไร

เสือโคร่ง – หลายครั้งขณะพบกัน และคนเป็นฝ่ายอยู่ใต้ลม มันอาจเปิดโอกาสให้อยู่ใกล้ๆ ทำเพียงหันมอง แววตาสงสัย

โดยปกติ เสือจะเข้ามากินซากช่วงกลางคืน แต่ผมก็หวังว่ามันจะมาในช่วงกลางวันบ้าง เช้ามืด หรือพลบค่ำ ผมเดินไปเข้าซุ้มบังไพร ตั้งแต่ก่อนฟ้าสว่าง และออกมาเมื่อดวงอาทิตย์ลับสันเขา

ทุกวันผมเห็นรอยที่เสือเข้ามากิน เนื้อซากลดลงเรื่อยๆ แมลงวันวางไข่หนอนตัวโต กลางวัน อีกา เหี้ย ไม่ไปไหนไกล กลิ่นเน่าโชยเมื่อลมเปลี่ยนทิศพัดมาทางซุ้มบังไพร

ผมเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ ในแคมป์ไม่มีกองไฟ แรมสามค่ำ เวลาที่ต้นไม้ทยอยทิ้งใบแล้วเช่นนี้ บนเปลผมคล้ายนอนอยู่ใต้แสงจันทร์นวล

บางคืนผมสะดุ้งตื่นเพราะเสียงช้าง บางคืนเสียงเจ้าของซากคำรามก้อง บางคืนผมตื่นเพราะคล้ายมีไฟส่องที่หน้า ลืมตาก็พบกับดวงจันทร์กลมโต

บางครั้งผมนอนมองดวงจันทร์นั้นอยู่นาน ไม่อยากหลับตา

ความพยายามของคนมีมากกระทั่งขึ้นไปบนนั้นได้

ผมเคยคิดอยากขึ้นไปบนนั้น

อยากขึ้นไป แม้จะรู้ว่า จากบนนั้น สิ่งที่มองเห็นชัดเจนและสวยงามที่สุดคือ โลกของเราเอง

 

การอยู่ในซุ้มบังไพร ตั้งแต่เช้ามืดจนพลบค่ำ ในช่วงฤดูแล้ง ไม่ใช่สิ่งอันรื่นรมย์นัก โดยเฉพาะเมื่อซุ้มบังไพรจะถูกแสงแดดส่องจนถึงบ่ายสามโมง น้ำในกระติกน้ำร้อน เช่นเดียวกับขาตั้งกล้อง ไอแดดสะท้อนกับสายน้ำที่ไหลเอื่อยๆ กลางวันในซุ้ม อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคืน และในเช้ามืด ลดลงเหลือแค่ 10 กว่าองศา

เจ้าของซาก ไม่ได้จากไปไหน มันส่งเสียงคำรามช่วงหัวค่ำ และตอนย่ำรุ่ง แต่ไม่ออกมาในช่วงกลางวัน

คล้ายจะบอกว่า อดทนเฝ้ารอนั้นคือสิ่งที่มากับงานที่เราทำ

 

ช่วงเวลาแห่งฤดูแล้ง สำหรับสัตว์ป่า คงเรียกได้ว่า แม้จะลำบาก แต่นี่คือเวลาแห่งความหวัง

เมื่อความแห้งแล้งผ่านพ้น ป่าย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพ จากที่ดูคล้ายไร้ชีวิต หงอยเหงา ต้นไม้ที่ไร้ใบจะผลิใบไหม่ เขียวสดชื่น แมลง และผลไม้ออกผล เหล่าสมาชิกใหม่ของป่าจะมีอาหาร

เป็นเวลาแห่งการรอคอย ความอุดมสมบูรณ์ที่จะมาถึงในไม่ช้า

 

ผมขึ้นเปล เมื่อดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้า

อยู่ในป่า ดวงจันทร์สวยงามเสมอ มองผ่านกิ่งไม้ เป็นภาพงดงาม

ในแคมป์ที่ต้นไม้รายรอบ การจะเห็นดวงจันทร์ต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูก

อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง จึงจะเห็นภาพชัด

 

การเฝ้าซากในครั้งนั้น ผมไม่พบกับเจ้าของซาก พบเพียงบทเรียนเดิมๆ อดทน เฝ้ารอ พลบค่ำ กลับแคมป์ เช้ามืดเริ่มต้นใหม่

สำหรับนักล่าอย่างเสือ การมีเหยื่อให้ล่าสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือการล่าต้องสำเร็จ

และในการลงมือ 10 ครั้ง มันจะพบความสำเร็จเพียงหนึ่งครั้ง อดทน เฝ้ารอ พลาดก็เริ่มต้นใหม่ เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับงานของมัน

บางที อาจต้อง “ยอมรับ” เหล่านี้คือสิ่งที่มากับงาน และเป็นบทเรียนที่ดีกว่าการได้ภาพเสือ •

 

หลังเลนส์ในดงลึก |  ปริญญากร วรวรรณ