พลิกล็อก!! จีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาด ‘ท่องเที่ยว’ แบกความคาดหวัง ‘หลังแอ่น’

บทความเศรษฐกิจ

 

พลิกล็อก!!

จีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาด

‘ท่องเที่ยว’ แบกความคาดหวัง ‘หลังแอ่น’

 

เมื่อจีนปลดล็อกให้พลเมืองสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ โดยเฉพาะการอนุญาตให้ทำทัวร์ชาวจีนไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้ โดยกำหนดใน 20 ประเทศก่อน ซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 1 จากทั้ง 20 ประเทศ

ต้องยอมรับว่าถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของการท่องเที่ยวไทย เพราะเมื่อชาวจีนสามารถออกท่องเที่ยวต่างประเทศได้ ประเทศไทย นับเป็นอันดับแรกของกลุ่มประเทศในอาเซียน ที่ชาวจีนต้องตีตั๋วมาเที่ยว หลังอั้นมานาน 2 ปีเต็ม

ยืนยันโดย ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า

“เดิมคาดการณ์ว่าทั้งไตรมาส 1/2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเที่ยวไทยประมาณ 3 แสนคน เมื่อรัฐบาลคลายล็อกเร็วกว่าที่เดิมๆ กลายเป็นแรงส่งปัจจัยบวกมากขึ้น เชื่อมั่นว่าไตรมาส 1 นี้ได้ตามที่คาดการณ์ไว้แน่นอน แต่จะมากกว่าคาดการณ์ไว้แค่ไหน ต้องรอดูปัจจัยแวดล้อมอีกครั้ง”

“หากมองตัวเลขจีนเที่ยวไทยทั้งปี 2566 จะดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยแตะ 30 ล้านคนหรือไม่นั้น ต้องบอกว่ามีความมั่นใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อาจเร็วเกินไปที่จะพูดว่าได้หรือไม่ จึงอยากขอให้ผ่านไตรมาส 1 ไปก่อน เพื่อให้เวลา ททท.ได้ทำงาน เชื่อว่าหากได้ตัวเลขปิดไตรมาส 1 ออกมาแล้ว จะสามารถพูดได้ชัดเจนขึ้นว่า ทั้งปี 2566 จะมีต่างชาติเที่ยวไทยที่จำนวนเท่าใด”

การย้ำตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีนี้ ที่อาจมีโอกาสแตะ 30 ล้านคนได้ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิม 20 ล้านคน เมื่อรวมกับชาวจีนน่าจะเข้ามาอีก 5 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 25 ล้านคน

แต่หากจำนวนเที่ยวบินและสายการบินสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว การเข้ามาเที่ยวไทยของชาวจีน ทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด อาจดันจนแตะ 30 ล้านคนได้ เทียบกับปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยแตะ 40 ล้านคน

 

ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ เมื่อเครื่องยนต์กลับมาติดอีกครั้ง ความคาดหวังในการฟื้นเศรษฐกิจก็ตามมา โดยเฉพาะในแง่รายได้ ที่เมื่อท่องเที่ยวดีขึ้น คนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกลับมามีงานทำ มีรายได้ ก็หมายถึงคุณภาพชีวิตที่กำลังจะกลับไปเป็นปกติ และดีขึ้นกว่าเดิม

เมื่อพูดถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม หนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตมนุษย์คงหนีไม่พ้นคำว่าเงิน

แต่ไม่ได้หมายถึงเงินที่นำมาใช้ชีวิตในปัจจุบันแบบวันต่อวัน หรือเดือนต่อเดือน แต่เป็นเงินออม หรือเงินทุนไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือบั้นปลายของชีวิต

หากพิจารณาความเป็นจริงในสังคมตอนนี้ กลับพบว่า คนไทยกำลังประสบปัญหากับการออมเงิน และการเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณอายุ

สะท้อนได้จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้จัดทำดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ (NRRI) เพื่อหาเครื่องมือวัดระดับความพร้อมหรือไม่พร้อมของคนไทยหลังเกษียณ

โดยพบว่าตัวเลขความพร้อมด้านการเงินค่าเฉลี่ยของประเทศมีความพร้อมต่ำกว่า 40%

ขณะที่ความพร้อมด้านสุขภาพมีความพร้อมในระดับที่สูงกว่ามิติด้านการเงิน จากการสำรวจการใช้จ่ายของคนสูงวัย พบว่าจำนวนเงินที่จะเพียงพอที่จะอยู่รอดได้หลังเกษียณคือ 3 ล้านบาทต่อคน และต้องทยอยนำเงินมาใช้จ่ายต่อเดือนในระดับ 6,000-7,000 บาท แต่ปัจจุบันมีการใช้จ่ายกันที่ระดับ 10,000 บาทต่อเดือน

ผู้ที่มีส่วนด้านการออมที่สำคัญที่สุด อันดับแรก คือ ประชาชนทุกคนต้องมีความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการออม

รองลงมาคือภาครัฐต้องมีบทบาทในการสนับสนุนทักษะทางการเงินของประชาชน ต้องมีนโยบายส่งเสริมให้คนมีทักษะและความรู้ทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ว่าต้องออม และจะนำไปสู่ความรู้ว่าจะออมอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ถูกหลอกทางการเงิน รวมทั้งส่งเสริมให้มีเครื่องมือการลงทุน ระบบการออมภาคบังคับ

รวมถึงฝั่งนายจ้าง ที่ควรมองว่าการดูแลพนักงานไม่ใช่ดูแลเฉพาะเวลาที่ทำงานกับองค์กร แต่มองไปถึงว่าหลังเลิกทำงานกับนายจ้างแล้วควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน ประเมินในกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ที่มีรายได้เฉลี่ยในฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อเดือน หากเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ที่ขนาดมาม่ายังขึ้นราคานั้น การเก็บออมเงินคงไม่สามารถทำได้ง่ายนัก โดยเฉพาะกลุ่มคนฐานราก หรือคนผู้มีรายได้น้อยนั้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ของประชากรไทย และชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า มีรายได้น้อย การเก็บออมเงินคงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

เพราะการหาเงินใช้ให้ผ่านพ้นวันต่อวัน อาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนกลุ่มนี้มากแล้วก็ได้

 

แต่ความหวังก็ยังไม่ได้หมดไปซะทีเดียว หลังจากไทยเปิดประเทศท่องเที่ยว จีนปลดล็อกให้พลเมืองเที่ยวต่างประเทศได้ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทย อยู่ระหว่างการฟื้นตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย ก็จะฟื้นตัวตามไปด้วย

เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น คนมีรายได้เพิ่มขึ้น หมายถึงความสามารถในการใช้จ่ายและเก็บออมที่มีมากขึ้นด้วย

สอดคล้องกับ สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ประเมินภาพปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มจะมาเยือนไทยมากกว่าคาดการณ์ไว้ จากความต้องการท่องเที่ยวไทยที่ยังมีอยู่มาก

บวกกับอานิสงส์จากการยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีนที่เร็วกว่าคาด ทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคนในปี 2566 ส่งผลดีต่อธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์รถเช่า สปาและเวลเนส การแพทย์

รวมถึงเอื้อให้การโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติขยายตัวมากขึ้น โดยการท่องเที่ยวในประเทศสามารถเติบโตดีกลับไปใกล้ระดับก่อนเกิดโควิด ทำให้การบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง

ขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มไม่สดใสนักตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น และอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าใหม่ของประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ยุโรป และอินเดีย ซึ่งจะเริ่มมีผลบางส่วนตั้งแต่ปีนี้ เพราะคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวเพียง 1.2% เท่านั้น

ช่องทางการหารายได้ในปัจจุบัน มีค่อนข้างมากกว่าอดีต อาทิ การทำงานประจำ ค้าขาย หรือการลงทุน ซึ่งการลงทุนก็มีหลายสินทรัพย์ หลายประเภท และหลายช่องทางด้วย

แต่ก็ต้องยอมรับว่าช่องทางต่างๆ เหล่านั้น ไม่ได้เหมาะสมกับทุกคน และก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถสร้างรายได้ หรือสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้

เหมือนภาพในปี 2565 ที่ถือเป็นปีแห่งบทเรียนของการลงทุน ที่ตั้งหวังเห็นความงอกเงยของการลงทุน แต่บางสินทรัพย์ บางช่องทางการลงทุน นอกจากไม่เห็นการงอกเงยแล้ว เงินทุนที่ลงไปยังระเหยหายไปอีกด้วย

ดังนั้น ความหวังฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วที่ผูกไว้กับภาคท่องเที่ยว อาจพลิกล็อกได้เหมือนการที่จีนปลดล็อกห้ามเดินทางออกนอกประเทศเร็วกว่าที่คาดกันไว้เกือบ 2 เดือน!!