E-DUANG : “การเมือง” เงาสะท้อนทาง”เศรษฐกิจ”

ประเด็นในทาง “เศรษฐกิจ”ที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้กำลังเป็นปัจจัยชี้แนวโน้มและทิศทางในทาง “การเมือง”

โดยพื้นฐาน คือ ราคาสินค้า “เกษตร”

เหมือนกับเรื่องเหล่านี้คนที่เดือดร้อนคือ ชาวไร่ ชาวนา ซึ่งไม่มีปาก ไม่มีเสียง

ไม่เหมือน “คนชั้นกลาง” ใน “เมือง”

แต่เมื่อเดือดร้อนหนักหนาสาหัสและดำเนินไปในลักษณะสะสม “เสียง” ของพวกเขาก็เริ่มดัง

ดังผ่าน “กำลังซื้อ” ที่เสื่อมทรุด ถดถอย

เมื่อประสบกับสภาวะ “น้ำท่วมขัง” เอ่อล้น ซ้ำซาก ต่อเนื่องโดยไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ เป็นโครงการ

ก็เข้าสู่ภาวะสุดที่จะทานทน

 

ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงการเมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2516 มีปัญหาในทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐาน

สัมผัสได้จากการเข้าคิวซื้อข้าว

ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงการเมืองกระทั่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต้องถูกบีบให้ลาออกเมื่อปี 2523

มาจากปัญหา”น้ำมัน”ตอนปลายปี 2522

เพราะว่าปัญหาในทาง “เศรษฐกิจ” สัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เมื่อเดือดร้อนหนักเข้าก็ค่อยพัฒนากลายเป็นปัญหาในทาง “การเมือง”

ไม่ว่าราคาข้าว ไม่ว่าราคายาง มันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติไม่จำเป็นต้องมีคนปลุกปั่น

“นักการเมือง” ที่มีความเฉลียวย่อม “สัมผัส” ได้

 

ที่ว่าเศรษฐกิจดำเนินไปในลักษณะเป็นโครงสร้าง”พื้นฐาน”ในทาง สังคมนั้นยังเป็นความจริงอยู่

ที่ว่า”การเมือง”เป็นภาพสะท้อนของ”เศรษฐกิจ”

กระบวนการในทางการเมืองย่อมได้รับการผลักรุนจากสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจจึงยังเป็นความเป็นจริง

ไม่ว่ารัฐบาลใดก็จำเป็นต้องให้ความสนใจ

รัฐบาลที่มาจาก”การเลือกตั้ง”ต้องสนใจอยู่แล้ว รัฐบาลที่ไม่ผ่านกระบวนการของ”การเลือกตั้ง”ยิ่งจำเป็นต้องให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ

มิเช่นนั้นก็ยากที่จะดำรงอยู่โดยมีประชาชนสนับสนุน

มิเช่นนั้นก็ยากที่จะได้รับความนิยมจากประชาชน