แยกได้ไหม งานไหน AI เขียน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

แยกได้ไหม

งานไหน AI เขียน

 

สัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันเรื่องความสามารถในการสร้างงานเขียนของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งบางสำนักข่าวได้หยิบไปช่วยเขียนข่าวและบทความมาสักพักแล้วโดยที่ผู้อ่านไม่รู้สึกเอะใจเลยว่าบทความที่ตัวเองกำลังอ่านอยู่ไม่ได้เกิดจากสมองและสองมือของมนุษย์ด้วยกัน

แชตบ็อตอย่าง ChatGPT สามารถสร้างสรรค์งานเขียนได้แทบทุกรูปแบบ งานเขียนบางประเภทมันก็ทำได้แนบเนียนไร้ที่ติ ในขณะที่บางประเภทก็ทำได้แบบดาดๆ

แต่ความสามารถที่เหนือชั้นของมันก็คือนอกจากมันจะเขียนได้ทุกโจทย์ที่เราโยนให้แล้ว มันยังทำได้ภายในเวลาประมาณ 20 วินาทีเท่านั้น ซึ่งเป็นระดับความเร็วที่เกินความสามารถของมนุษย์ปุถุชน

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ ChatGPT จะถูกมองว่าจะมาปฏิรูปการเขียนให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

งานเขียนประเภทเรียงความที่เขียนขึ้นโดย ChatGPT ใช้ภาษาได้อย่างเป็นธรรมชาติชนิดที่ New York Times รายงานว่าแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเรียงความชิ้นไหน ChatGPT เขียน ชิ้นไหนมนุษย์เขียน

ผู้สื่อข่าวสี่คนได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาว่ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญจะสามารถระบุความแตกต่างระหว่างเรียงความที่ ChatGPT เขียนกับเรียงความที่เด็ก 9 และ 13 ขวบเขียนได้หรือไม่ ซึ่งก็เป็นไปตามคาดว่าแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังแยกไม่ออก

สำหรับคุณผู้อ่านที่อาจจะยังไม่เคยได้ทดลองพิมพ์ข้อความพูดคุยสั่งการกับ ChatGPT เราสามารถสั่งให้มันเขียนงานอะไรแทนเราก็ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นโจทย์กว้างๆ แต่เราสามารถโยนโจทย์แบบเฉพาะเจาะจงให้ได้เลย

ฉันลองสั่งให้ ChatGPT เขียนเรียงความในแบบที่เด็กวัยต่างๆ จะเขียน ตั้งแต่ประมาณห้าขวบ สิบขวบ ไปจนถึงเด็กมัธยม มหาวิทยาลัย และคนเรียนปริญญาเอก ChatGPT ก็สามารถปรับคำศัพท์ ภาษา และหัวข้อเรื่องที่เขียนให้เหมาะสมกับวัยที่ถูกกำหนดอยู่ในโจทย์ได้สบายๆ

ไม่ต้องเดาก็รู้แน่นอนว่านี่น่าจะเป็นหนึ่งในคำสั่งที่มันจะถูกใช้บ่อยมากเพราะเท่ากับเราสามารถโยนการบ้านประเภทเรียงความให้มันทำแทนได้เลย

และเพื่อทำให้จับผิดได้ยากขึ้น เรายังสามารถสั่งให้มันตั้งใจสะกดคำผิดในเรียงความเพื่อให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้นด้วย

ตัวฉันเองไม่สามารถแยกแยะได้เลยว่าเรียงความเรื่องไหนเด็กอายุ 9 ขวบเขียน หรือ ChatGPT เขียน แต่ New York Times ได้เปิดให้ผู้อ่านเข้ามาร่วมเล่นสนุกจับผิดบทความที่เขียนโดย ChatGPT ทำให้ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วก็พอจะมีลักษณะร่วมบางอย่างที่บอกใบ้ว่างานเขียนชิ้นนี้น่าจะสร้างขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์

ตัวอย่างเช่น เมื่อเปรียบเทียบงานเขียนของ ChatGPT กับงานเขียนของเด็กวัย 9 ขวบก็พบว่า ChatGPT มักจะใช้คำคุณศัพท์มาขยายคำนามทุกครั้ง อย่างเช่น ‘หนูชอบห่อแซนด์วิชแสนอร่อยและน้ำผลไม้กล่องเย็นๆ ไปกินเป็นอาหารเที่ยง และบางครั้งหนูก็จะใส่ผลไม้อร่อยๆ หรือมันฝรั่งทอดกรอบๆ เข้าไปสักถุงด้วย’

ในขณะที่เรียงความของเด็ก 9 ขวบที่เป็นมนุษย์มีแนวโน้มที่จะไม่ใช้คำคุณศัพท์เพื่อมาขยายคำนามเลย เช่น เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ ว่ากินแซนด์วิชก่อนแล้วค่อยเปิดน้ำมาดื่ม จากนั้นก็กินผลไม้และขนม อะไรแบบนี้

เมื่อลองให้ ChatGPT แกล้งเขียนคำผิดบ้างก็พบว่าคำผิดที่มันเลือกใช้ไม่ได้เป็นไปในรูปแบบเดียวกับคำผิดที่นักเรียนเขียนกันจริงๆ อย่างการใส่เครื่องหมายจุลภาคหรือลูกน้ำเข้าไปในทุกๆ ประโยค หรือจงใจไม่ใส่ในทุกๆ จุดที่ควรจะใส่ ผิดจากผู้เขียนที่เป็นมนุษย์ที่จะไม่ผิดซ้ำๆ เป็นรูปแบบที่ชัดเจนแบบนี้ ความผิดพลาดส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ไม่ใช่ผิดทั้งหมด หรือไม่ผิดทั้งหมด

นอกจากนี้ก็ยังมีการเลือกใช้คำที่อาจจะยากเกินไปสำหรับวัยนั้นๆ หรือรูปประโยคที่ซับซ้อนเกินไป อย่างเช่น การเลือกใช้คำว่า ‘ในกรณีที่’ แทนคำว่า ‘ถ้า’

จุดนี้ฉันคิดว่าน่าจะสะดุดตาคนที่เป็นคุณครูที่คลุกคลีอยู่กับเด็กในวัยต่างๆ มากกว่าคนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้มีข้อมูลว่าเด็กในแต่ละวัยจะมีคลังคำศัพท์มากน้อยประมาณไหน

 

บทความของ Psychology Today ซึ่งเขียนโดยอาจารย์ที่มีประสบการณ์สอนนักศึกษามานานกว่า 25 ปีพูดถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการมีอยู่ของปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยมนุษย์เขียนงานได้ทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน ซึ่งประกอบไปด้วย

1. ในอนาคตเราจะไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่าใครลอกงานมาบ้าง

2. งานเขียนที่จะให้การศึกษาแก่คนจะลดฮวบ

และ 3. ความสามารถในการสื่อสารและการคิดของเราจะลดลง

อาจารย์ท่านนี้คิดนโยบายใหม่เพื่อรับมือกับการมาถึงของ ChatGPT เพื่อใช้ไปก่อนในตอนนี้ก็คือเขาเลือกที่จะให้ความสำคัญกับหลักการ 2 อย่าง

อย่างแรก คือเขาจะพูดคุยทำความเข้าใจกับนักศึกษาว่าการพัฒนาทักษะการเขียนในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยมีความสำคัญยิ่งยวดขนาดไหน

และอย่างที่สอง คือเขาจะบอกนักศึกษาว่าเขาเชื่อมั่นในเกียรติและศักดิ์ศรีของทุกคนว่างานเขียนที่ส่งให้เขานั้นจะเป็นชิ้นงานที่นักศึกษาเขียนขึ้นมาด้วยตัวเองจริงๆ

ฉันคิดว่าแนวทางรับมือทั้งสองข้อนี้น่าสนใจเพราะแตกต่างจากแนวทางที่หน่วยงานและสถาบันบางแห่งเลือกใช้กันแล้วในตอนนี้ บางโรงเรียนเลือกที่จะบล็อกและแบนการใช้งาน ChatGPT ภายในรั้วโรงเรียนแม้จะรู้ดีว่าในยุคที่ทุกคนมีดีไวซ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วยตัวเองและอาจจะมีกันคนละหลายๆ เครื่องวิธีนี้คงใช้ไม่ได้ผล

แต่แนวทางรับมือแบบนี้จะทำให้เด็กเข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวพวกเขาเองในอนาคต

 

เครื่องมืออย่าง ChatGPT มีประโยชน์มากเกินกว่าจะถูกปิดกั้นการใช้งานเพียงเพราะเรากลัวในสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม ในขณะเดียวกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรละเลยที่จะทำงานร่วมกันในการมองไปข้างหน้าและคาดประเมินว่าเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ดีที่สุด อย่างเช่นในกรณีนี้ควรมีการหารือกันว่าถ้ามีเทคโนโลยีทรงพลังอย่าง ChatGPT มาช่วยเขียนแล้ว เราจะทำอย่างไรให้มั่นใจว่าเด็กในอนาคตจะยังคงทักษะการสื่อสารเบื้องต้นของตัวเองเอาไว้ได้อย่างเข้มแข็ง แล้วใช้เทคโนโลยีมาช่วยผลักขอบเขตความเป็นไปได้ออกไปให้ไกลขึ้น

ท้ายที่สุดนี้ฉันก็อยากฝากอะไรสนุกๆ ไว้ให้คุณผู้อ่านขบคิดกันเล่นๆ

ว่าทั้งหมดที่อ่านมานี้ ฉันเขียนเอง หรือ ChatGPT เขียน