การแข่งขันในความอ่อนแอ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

การแข่งขันในความอ่อนแอ

 

หลังจากธุรกิจสีเทาของคนจีนแล้ว ข่าวก็เริ่มขยายไปสู่ธุรกิจจีนธรรมดาที่ไม่เทา (หรือยังไม่รู้ว่าสีอะไรแน่) โดยการไปสอบถามความเห็นของคนไทยที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน เช่น ไปถามร้านอาหารจีนแถวเยาวราชว่า ธุรกิจอาหารจีนกำลังมาลง จะมีความเห็นอย่างไร ถามคนไทยในธุรกิจโรงแรมว่า เมื่อจีนเที่ยวกว้านซื้อโรงแรมเพื่อทำธุรกิจเองเช่นนี้ จะมีปฏิกิริยาอย่างไร ถามคนไทยทั่วไปว่า คนจีนกำลังสนใจจะลงทุนในธุรกิจมหาวิทยาลัยของประเทศไทย จะมีความเห็นว่าอย่างไร

ก็ไม่น่าประหลาดอะไรใช่ไหมครับ ไปถามนักธุรกิจไม่ว่าจะชาติอะไรก็ตามว่า จะมีคู่แข่งที่มีกำลังมากเข้ามาแข่ง จะรู้สึกหรือมีท่าทีอย่างไร นักธุรกิจที่ไหนๆ ก็ไม่ชอบทั้งนั้น และหากเกิดพลังทางการเมืองและสังคมที่จะต่อต้านไม่ให้คู่แข่งเข้าตลาดได้ ก็ยิ่งดี ด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องตอบไปทางวิตกกังวลว่า จะเกิดผลเสียแก่ส่วนรวมอย่างไรบ้าง ถ้าเป็นสมัยก่อนคงพูดเรื่องความมั่นคง แต่ปัจจุบันประเด็นนี้จุดไม่ติดไปแล้ว จึงไปพูดเรื่องอื่นแทน

เช่น บางคนพูดว่า จีนเป็นกลุ่มใหญ่สุดของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย เขาย่อมหาทางเอาเงินของเขากลับประเทศด้วยการเข้าครอบครองสิ่งที่เรียกว่า “สายพานการผลิต” ทั้งหมด นับตั้งแต่ไกด์, โรงแรม, สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อน, ร้านอาหาร, รถทัวร์ ฯลฯ ดังนั้น นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมหึมาในไทยจึงทำเงินให้ประเทศนิดเดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่ถูกขนกลับประเทศจีนหมด (ที่จริงก็เป็นเรื่องซ้ำกับที่เคยบ่นเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เมื่อนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเข้ามาเที่ยวเมืองไทยจำนวนมาก)

แต่เรามีนโยบายเปิดประเทศแก่การลงทุนของต่างชาติมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กว่า 60 ปีที่แล้วมา ซ้ำร้ายนับจากนั้น เรายังเที่ยวไปทำสัญญากับชาติต่างๆ เพื่อเปิดการลงทุนระหว่างกันอย่างเสรี และบัดนี้มีทุนไทยไปเที่ยวลงเกือบทุกประเทศทั่วโลก (แม้แต่ในยูเครน) แล้วก็ขนกำไรบางส่วนกลับบ้าน ในเมืองจีน ทุนไทยเป็นทุนต่างชาติรายแรกๆ ประเทศหนึ่งที่นำไปลงทนที่นั่น แม้มีขนาดเล็กกว่าคนอื่นก็ตาม

ว่ากันว่า นโยบายเปิดเสรีด้านการลงทุนก่อให้เกิดผลดี อย่างน้อยก็ด้านจีดีพีแก่ประเทศที่เปิด จนโลกทั้งใบคือตลาดเดียวกัน จะเอาเส้นเขตแดนมากีดขวางไว้ไม่ได้นานแล้ว ตรงไหนมีทางได้กำไร ก็จะมีทุนมาลง ไม่ทุนไทยก็ทุนต่างชาติ แค่คนไทยทั้งชาติเริ่มสีฟันในวงกว้าง ก็ทำให้เกิดโอกาสทำกำไรกับยาสีฟันและแปรงสีฟันแล้ว ซึ่งผู้ได้เปรียบที่ครองตลาด (นำเข้า) อยู่แล้ว ย่อมรีบลงทุนสร้างโรงงานทันที สร้างโรงงานผลิตยาสีฟันนั้นลงทุนสูงกว่าสร้างโรงรถนิดเดียวเอง แทบไม่มีความเสี่ยงอะไร

ตลาดนักท่องเที่ยวจีนกำลังโตอย่างรวดเร็ว ทั้งผู้ครองตลาดอาจมีจุดอ่อนที่เข้าไม่ถึงวัฒนธรรมจีนมากพอ ก็เป็นธรรมดาไม่ใช่หรือครับที่นายทุนจีนซึ่งมองเห็นจุดอ่อนตรงนี้ จะเข้ามาลงทุนเพื่อขนกำไรกลับบ้าน (เท่าที่กฎหมายอนุญาต)

 

ส่วนการลงทุนกับมหาวิทยาลัย แม้ว่าโดยอุดมคติเราไม่ควรหากำไรทางธุรกิจกับการศึกษา แต่ความเป็นจริงก็คือธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษามวลชนในโลกปัจจุบันมานานแล้ว เฉพาะในเมืองไทยก็น่าจะเกินศตวรรษมาแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในประเทศไทยปัจจุบัน อุดมศึกษาทำกำไรได้สูง ในขณะที่มัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาไม่ทำกำไรมานานแล้ว เพราะอุปทานที่รัฐสร้างขึ้นทำให้อุปสงค์ในสถาบันเอกชนลดลง

ปัญหาของธุรกิจในวงการศึกษาคืออะไรกันแน่ ผู้ลงทุนไม่ว่าไทยหรือต่างชาติย่อมมุ่งหากำไรไม่ต่างจากกัน แต่การตรวจสอบคุณภาพของ “สินค้า” การศึกษาไม่ง่ายเหมือนสินค้าโทรศัพท์มือถือ จะวัดหรือประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยเอกชนกันอย่างไร จึงจะทำให้ตลาดเลือก “สินค้า” ได้ถูก (ราคาที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับคุณภาพ) หลังจากข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งวิชาการและผลประโยชน์ของอาจารย์มหาวิทยาลัยเผยแพร่ออกมา ผมคิดว่าเราคงยกหน้าที่ประเมินให้แก่รัฐไม่ได้ หรือให้แก่รัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ สถาบันวิชาการเอกชนหรือกึ่งรัฐอะไรที่จะเข้ามาทำการประเมินให้น่าเชื่อถือ ผมก็ยอมรับว่าคิดไม่ออก

แต่ถ้าเรามีมาตรฐานที่ใช้ได้ การประเมินที่ยืดหยุ่นอย่างฉลาด (รู้เท่าทันธุรกิจวิชาการทั้งของฝรั่งและไทย) โดยไม่เสียมาตรฐานของตนเอง มีหน่วยงานที่สามารถบังคับใช้กฎเกณฑ์เพื่อรักษามาตรฐานได้อย่างเป็นธรรม (และไม่โง่ด้วย) ผู้ลงทุนหลัก (49% แต่รายอื่นทั้งหมดน้อยกว่านั้น) เป็นคนต่างชาติ แล้วมันจะเป็นอะไรไปหรือครับ

ถ้าในเชิงธุรกิจ เขาทุ่มทุนเพื่อทำให้มหาวิทยาลัยของเขากลายเป็นระดับหนึ่งของประเทศ (อย่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ทำ) เพื่อเรียกเก็บค่าเล่าเรียนแพงๆ ก็จะบีบบังคับให้มหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษีอากรของคนไทยเลิก “กินบุญเก่า” แล้วหันมาแข่งขันปรับปรุงมหาวิทยาลัยไทยให้ดีอย่างเขาบ้าง ไม่ดีหรอกหรือครับ

 

ถ้าตลาดตัดสินทุกอย่างในชีวิตคนก็ (ขอประทานโทษ) “ฉิบหาย” แต่ถ้าตลาดไม่มีอำนาจและบทบาทในการตัดสินอะไรเลย ก็ “ฉิบหาย” พอๆ กันแหละครับ

ตลาดทำให้เกิดการแข่งขัน เป็นการแข่งขันที่ให้ผลดีแก่ส่วนรวมมากกว่าการแข่งขันในระบบเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งมักไม่ให้ผลดีอะไรแก่ส่วนรวมเลย ยิ่งเมื่อเปิดเสรีด้านการลงทุน ก็เท่ากับเปิดการแข่งขันให้เข้มข้นขึ้น เพราะมีผู้เล่นมากรายขึ้นกว่าเดิม

ผมจึงฟังและอ่านข่าวเรื่องนี้ด้วยความแปลกใจ เพราะไม่ได้ยินใครพูดถึงการแข่งขันเลยสักคน แม้แต่สมาคมพ่อค้าไทย-จีนซึ่งมองในแง่ดีว่า จะนำการลงทุนสู่ประเทศไทยนับเป็นแสนล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก ก็ไม่ได้พูดถึงการแข่งขันแต่อย่างไร

ร้ายยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่ในกระทรวงพาณิชย์ออกมาแสดงความเห็นในทำนองปลอบใจว่า จะลงไปดูรายละเอียดว่ามันมีอะไรที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งๆ ที่ไม่ได้พูดกันเรื่องธุรกิจสีเทา ก็กลายเป็นเรื่องของการควบคุม

การควบคุมให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายนั้นสำคัญแน่ครับ แต่หน้าที่สำคัญกว่าของกระทรวงพาณิชย์ไม่ใช่การควบคุมราคาสินค้า แต่คือควบคุมให้การแข่งขันมีความเป็นธรรมที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

ดูเหมือนประชาชนก็จะพอใจท่าทีของกระทรวงพาณิชย์ แต่ราคาที่เป็นธรรมของสินค้าเกิดจากการแข่งขันต่างหาก ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จากอำนาจรัฐ ซึ่งนอกจากรู้ไม่เท่าทันแล้ว ยังมัก “ซื้อ” ได้อีกด้วย ค่าแรงที่เป็นธรรมก็เหมือนกัน แรงงานที่มีทักษะย่อมผลิตได้มากกว่าและมีคุณภาพกว่า จึงลดต้นทุนและเสริมการขายไปพร้อมกัน นายจ้างย่อมยินดีจ่ายค่าแรงสูงเพื่อดึงแรงงานประเภทนี้ไว้กับตนให้มาก อันเป็นสิ่งที่นายจ้างไม่ต้องทำถ้าไม่มีการแข่งขัน และนี่คือแรงจูงใจที่มีพลังที่สุดในการทำให้ทั้งแรงงานและนายจ้างต่างกระตือรือร้นจะเพิ่มทักษะแก่การผลิตของตน เพราะมีผลตอบแทนให้เห็นทันที

 

การแข่งขันทางธุรกิจนั้น แม้จะเกิดความเสียหายบ้าง แต่มีด้านที่เป็นคุณประโยชน์แก่สังคมจนคุ้มแก่การยอมรับความเสียหาย เพราะคุณประโยชน์ที่ได้มาย่อมเยียวยาความเสียหายได้ในระยะยาว การแข่งขันทำให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ใช่ด้านเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิตเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงเทคโนโลยีใหม่ด้านการตลาด, แรงงาน, การโฆษณา, การระดมทุน (ที่ถูกกฎหมาย, มีประสิทธิภาพ และต้นทุนต่ำ) ฯลฯ ได้เรียนรู้จากคู่แข่ง และเรียนรู้จากการปรับตัวของตนเอง นอกจากความรู้แล้วยังเกิดแรงจูงใจที่จะรู้ ข้อนี้อาจสำคัญยิ่งกว่าความรู้เสียอีก

การยกระดับการผลิตไปสู่ฐานความรู้ที่สูงขึ้นย่อมเกิดขึ้นได้ในตลาดที่มีการแข่งขันเท่านั้น ตลาดที่ทั้งผู้ผลิตและรัฐต่างหวาดระแวงต่อการแข่งขัน ไม่มีทางเกิดการผลิตแบบนั้นได้

การควบคุมราคาของรัฐก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนจริง มีคนไทยจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบะหมี่สำเร็จรูป, ค่ารถเมล์, เนื้อสัตว์, ไข่ไก่ ฯลฯ เท่าที่จำเป็นแก่ชีวิต การควบคุมของรัฐจึงไม่ได้ดีวิเศษไปกว่าการทำงานของตลาด ซึ่งก็อาจเกิดข้อบกพร่องได้ในหลายกรณี แต่เราป้องกันได้หรืออย่างน้อยก็บรรเทาได้

รัฐ (และคนไทยโดยรวม) จึงควรให้ความสำคัญแก่การแข่งขัน แทนการควบคุมราคาเพียงด้านเดียว หน้าที่ของรัฐในตลาดเสรี คือทำให้ตลาดนั้นเสรีจริงและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายเท่าที่จะเป็นได้ เช่น คนไม่รวยสามารถเข้าถึงทุนได้ในราคาที่ต่างจากคนรวยไม่มากนัก ระวังอย่าให้เกิดการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดเพียงเจ้าเดียว ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ขจัดการโฆษณาเกินจริง เพิ่มอำนาจของผู้บริโภคในการป้องกันตนเองตามเหตุอันควร เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่จะทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทันผู้ขาย ฯลฯ

 

แต่สังเกตเห็นได้นะครับว่า รัฐไทยไม่เคยพยายามจะเป็นกรรมการกลางของตลาดเลย ทั้งรัฐและประชาชนพอใจจะให้รัฐเป็นผู้อุปถัมภ์มากกว่า คือเป็นผู้ใหญ่ที่คอยดูว่าเด็กๆ ในปกครองมีน้ำกินตามสถานะทางสังคมของตนหรือไม่ มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มตามควรแก่สถานะหรือไม่ ฯลฯ นักการเมืองและรัฐมักพูดถึงกลไกตลาด ประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีใครไปควบคุมดูแลให้มันทำงานอย่างเป็นธรรม และเมื่อไรที่เราพูดถึง “ธรรม” ก็หมายความว่าต้องมีมนุษย์ให้ความหมายแก่มันเสมอ เพราะ “ธรรม” (ถ้ามันมีอยู่จริง) ก็พูดเองไม่ได้ ต้องมีใครพูดแทนมันเสมอ

ดังนั้น กลไกตลาดจะเป็น “ธรรม” หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับว่า รัฐมองเห็นความหมายของ “ธรรม” ว่าอย่างไร เช่น ถ้ารัฐคิดว่าสถานภาพทางสังคมเป็นตัวกำหนดสิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการ รัฐก็ได้แต่ควบคุมราคาสินค้าให้ผู้คนเข้าถึงได้ แม้อย่างยากลำบากบ้างก็ตามเท่านั้น แต่รัฐไทยไม่ค่อยคิดว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน หรือความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน ต้องไม่เกิดขึ้นจากปัจจัยที่บุคคลกำหนดไม่ได้ เช่น กำเนิด, เพศ, มรดก, เส้นสาย ฯลฯ หรือพยายามลดให้ปัจจัยเหล่านี้เป็นเงื่อนไขตัดสินน้อยลง

 

ทำไมรัฐไทยจึงไม่ไว้ใจตลาด?

ถ้าเป็นช่วงสมัยที่รัฐบาลคณะราษฎรมีนโยบายสงวนการประกอบการขนาดใหญ่ไว้เป็นของรัฐ หรือช่วงที่รัฐอ้างว่าถูกต่างชาติคุกคาม คำอธิบายก็ง่ายมากว่า รัฐต้องการรักษาอำนาจการควบคุมไว้ในมือของตนเอง เพื่อทำให้รัฐสร้างความเป็นธรรมทางสังคมหรือเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ จึงไม่อาจปล่อยให้ตลาดทำงานอย่างปราศจากการควบคุมดูแลได้ แต่นโยบายแบบคณะราษฎรก็ถูกรัฐบาลปฏิวัติของสฤษฎิ์ยกเลิกไปนานแล้ว (ตั้งแต่ 2500) และภัยความมั่นคงจากต่างชาติก็แทบไม่เหลืออะไรให้อ้างได้อีกแล้ว (อย่างน้อยก็ตั้งแต่ทศวรรษ 2520) เหตุใดรัฐไทยจึงยังระแวงและไม่วางใจให้ตลาดทำงานภายใต้การตรวจสอบควบคุมของผู้บริโภคแทนรัฐ

ผมคิดว่า เหตุผลสำคัญอยู่ที่ว่า การคุมตลาดไม่ใช่เป็นการคุมนายทุนเพียงอย่างเดียว แต่คุมตลาดหมายถึงคุมประชาชนทั้งหมดด้วย เพราะประชาชนย่อมเลือกจะมีความสัมพันธ์กับรัฐอย่างผู้ใต้อุปถัมภ์ตลอดไป ค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แก้ได้เมื่อ “ผู้ใหญ่” ลงมาแบ่งทรัพย์ให้ทั่วถึงมากขึ้น เช่นชะลอการขึ้นราคาของฝ่ายนายทุน ด้วยการร้องขอให้ชะลอการขึ้นราคาไปอีกสักเดือนหนึ่งหรือสองเดือน หรือบางกรณีอาจควักเอางบประมาณมาอุดหนุนสินค้าบางรายการ (เช่น น้ำมันดีเซล) สัก 5-6 เดือน นายทุนก็ได้ ผู้บริโภคก็ไม่เสีย

แต่บทบาทเช่นนี้ไม่มีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมในระยะยาว นอกจากนี้ เมื่อตลาดโลกถูกรวมเป็นหนึ่งมากขึ้นไปกว่านี้ ก็เป็นนโยบายที่ดำเนินต่อไปไม่ได้ แล้วเราจะอยู่รอดอย่างไร