กลิ่นหอมของเวลาในโลกดิจิทัล

…ในหนังสือ The Scent of Time (กลิ่นหอมของเวลา) นักปรัชญาเยอรมันเชื้อสายเกาหลีอย่าง บย็อง-ชอล ฮัน (Byung-Chul Han) กล่าวถึงบทบาทของเวลาในสังคมสมัยใหม่และผลกระทบที่มีต่อชีวิตของเรา ฮันระบุว่าเวลากลายเป็นสินค้าอย่างหนึ่งในสังคมร่วมสมัย โดยผู้คนรู้สึกกดดันตลอดเวลาที่จะต้องใช้ประโยชน์จากมันให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้มีประสิทธิผลและประสบความสำเร็จ ฮันระบุว่าการมุ่งเน้นที่เวลาอย่างต่อเนื่องนี้ได้นำไปสู่สังคมที่มีลักษณะเฉพาะของความอ่อนล้าและความเหนื่อยหน่าย เขายังกล่าวถึงวิธีที่เทคโนโลยีเปลี่ยนความสัมพันธ์ของเรากับเวลา และวิธีที่เทคโนโลยีทำให้เกิดความรู้สึกขาดการเชื่อมต่อและความเหงา โดยรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นการสำรวจที่กระตุ้นความคิดเกี่ยวกับบทบาทของเวลาในสังคมสมัยใหม่และวิธีที่เวลากำหนดชีวิตของเรา…

ข้อความข้างต้นนี้ ผู้เขียนขอให้ AI ที่เปิดให้ทดลองใช้ฟรีอย่าง ChatGPT สรุปใจความสำคัญของหนังสือ The Scent of Time ของบย็อง-ชอล ฮัน นักปรัชญาเกาหลีที่ต่อมาเปลี่ยนสัญชาติเป็นเยอรมัน โดยระบุให้สรุปสั้นๆ เพียง 5-7 ประโยคภาษาอังกฤษ จากนั้นผู้เขียนลองคัดลอกข้อความไปให้ Google แปลภาษา ช่วยแปล และได้ปรับแก้เพียงเล็กน้อย

ผลที่ได้น่าทึ่งทีเดียว AI สามารถประมวลใจความสำคัญของหนังสือได้ โดยไม่ได้คลาดเคลื่อนมากนัก อาจมีเพียงเรื่องความเหงาที่ไม่ใช่ประเด็นหลัก

ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนรู้สึกถึงภัยคุกคามบางอย่างที่เพียงแค่คิดก็รู้สึกเหนื่อยใจขึ้นมาทันที

แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ผู้เขียนจะขออธิบายขยายความต่อจากข้อเขียนของ AI ที่แปลโดย Google แปลภาษาข้างต้นต่อ

โดยจะไม่แบ่งค่าเรื่องให้กับทั้งสองแต่อย่างใด

 

ดังที่ AI ได้สรุปให้เราคร่าวๆ แล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลที่จับมือกับทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่ ทำให้ประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป

กล่าวโดยย่อที่สุด ทุนนิยมทำให้เราประเมินทุกสิ่งเป็นสินค้าและทรัพยากร รวมทั้งเวลา

ส่วนเสรีนิยมใหม่เชื่อในประสิทธิภาพของตลาด และความเป็นปัจเจกบุคคล ปัจจุบันเป็นยุคของความเร่งเร็ว จนมีผู้กล่าวว่า แม้แต่สั่งอาหารแล้วนำมาเสิร์ฟทันทีก็ยังถือว่าช้า สิ่งที่ผู้คนเชิดชูคือประสิทธิภาพ

วิธีการขูดรีดที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่ทุนนิยมกระต่อมนุษย์คือ ทำให้มนุษย์ไม่รู้สึกว่าถูกขูดรีดด้วยการให้เสรีภาพในการขูดรีดตัวเองเพื่อความสำเร็จ จนกระทั่งเราหมดพลัง และมีอาการหมดไฟ

ฮันมุ่งวิพากษ์ ทั้งมิแชล ฟูโกต์ นักปรัชญาฝรั่งเศส และนักทฤษฎีสายมาร์กซิสม์

ในกรณีของฟูโกต์ ฮันเห็นว่าการวิเคราะห์สังคมแห่งวินัย ซึ่งผู้คนถูกกำกับด้วยวินัยบางอย่างนั้น เหมาะกับศตวรรษที่แล้ว

เช่น การวิเคราะห์เรื่องคุก โรงพยาบาลบ้า ซึ่งทำให้เกิดการจัดจำแนกคนที่เป็นอาชญากร และคนบ้า แต่ปัจจุบันเป็นสังคมที่อำนาจกับเสรีภาพเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ ผู้คนมีเสรีภาพที่จะขูดรีดตัวเอง

วิธีวิเคราะห์แบบฟูโกต์จึงล้าสมัยไปเสียแล้ว

ขณะที่วิธีวิเคราะห์แบบมาร์กซิสม์นั้น ฮันเห็นว่าใช้ไม่ได้กับสังคมที่คนขูดรีดตัวเอง

ยิ่งสังคมที่ถูกครอบด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจนกลายเป็นปัจเจกบุคคลที่ไม่เชื่อมโยงกันและเจ็บป่วยด้วยอาการซึมเศร้า ยิ่งไม่อาจจะสร้างมวลชนปฏิวัติขึ้นมาได้

 

ฮันเห็นว่า ในสังคมเช่นนี้ เราจะพบฝูงชนดิจิทัล (the swarm) ที่พ่นดราม่าใส่กันไม่เว้นแต่ละวัน โดยหาข้อสรุปไม่ได้

สิ่งที่หายไปคือพื้นที่สาธารณะที่จะช่วยกันสานสนทนาในประเด็นทางสังคมที่สลักสำคัญ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุป

ทุกคนสามารถผลิตเนื้อหาแล้วเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียโดยไม่ต้องรับผิดชอบ

แตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ยุคก่อนที่มีบรรณาธิการคอยกลั่นกรองและแสดงความรับผิดชอบต่อข้อเขียนในสื่อที่ตนดูแล

ยิ่งไปกว่านั้น นักการเมืองเองก็ไม่มีเวลาที่คิดและถกเถียงประเด็นสาธารณะที่จะนำไปสู่การวางนโยบายแล้วนำไปปฏิบัติ

ในสังคมเช่นนี้ เราจะได้ยินประกาศกยุคใหม่อย่างนักพูดให้กำลังใจที่บอกให้เรามีความสุขมากกว่าคำพูดเสียดแทงที่ชี้ให้เห็นปัญหาสังคมของนักปฏิวัติ

เราจะเห็นอาการของสังคมแห่งความสำเร็จได้จากโฆษณาสินค้าที่ว่า Just do it ซึ่งมีความหมายโดยว่า ลงมือทำเลย ทุกอย่างเป็นไปได้อยู่แล้ว

การพูดเช่นนี้ทำให้เกิดพวกขี้แพ้ (losers) และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ยิ่งในปัจจุบันโซเชียลมีเดียนำเสนอภาพชีวิตที่มีความสุขและประสบความสำเร็จของคนอื่น ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของตัวเอง ทั้งๆ ที่ภาพที่นำเสนอเหล่านั้นถูกดัด ตัด แต่งมาแล้ว

ที่น่าขื่นขำก็คือเรามักจะใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อดัดใบหน้าและรูปทรงของเรา (รวมผู้เขียนเองด้วย) ให้สวยงามดูดี จนกระทั่ง “โลกเบี้ยว” ในความหมายตามตัวอักษร

พูดอีกอย่างคือเราพยายามนำเสนอตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นจุดขาย แต่ข้างในกลวงเปล่า

อัตราการฆ่าตัวตายในสังคมที่แข่งขันกันสูงมากอย่างเกาหลีใต้ก็เป็นผลมาจากผู้คนที่มุ่งสู่ความสำเร็จแล้วกลายเป็นพวกขี้แพ้นี่เอง

 

นอกจากนี้ ประสบการณ์หลายอย่างของมนุษย์ที่ยึดโยงกับเวลาก็ได้รับผลกระทบ

เช่น การพักผ่อนกลายเป็นการเตรียมตัวเพื่อที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพ

แม้แต่เวลานอนซึ่งเป็นสิ่งที่หมายถึงจุดสิ้นสุดของวันก็กลายเป็นประสบการณ์อันแสนทุกข์ทรมานจากอาการนอนไม่หลับ แทนที่จะเป็นเวลาที่อุ่นสบาย เรากลับได้ยินเสียงนาฬิกาดังติ๊กต็อก

เวลาที่ถูกทุบแตกเป็นเสี่ยงๆ นี้ ส่งผลกระทบให้ตัวตนของเรากลายเป็นเสี้ยวส่วนที่ขาดความต่อเนื่องไปด้วย

เมื่อเวลาแตกเป็นเสี่ยงๆ ประสบการณ์เกี่ยวกับช่วงเวลา (duration) หรือกลิ่นหอมของเวลาก็เสื่อมสลายคลายมนตร์ขลังไปด้วยเช่นกัน

วรรณกรรมน่าจะให้ความกระจ่างแก่เราได้มาก ตัวอย่างของฮันคือ วรรณกรรมเรื่อง In Search of Lost Time ของมาร์แซล พรูสต์ นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส ที่พรรณนาประสบการณ์ในวัยเยาว์ว่า “เมื่อนานมาแล้ว ข้าพเจ้าเข้านอนแต่หัวค่ำ” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวันเวลาอันแสนสุข โดยเฉพาะการมีประสบการณ์เกี่ยวกับช่วงเวลา

หรือในฉากที่พรรณนาถึงกลิ่นรสของชาและมาเดอแลน ซึ่งได้เรียกความทรงจำวัยเยาว์กลับคืนมา

วรรณกรรมเรื่องนี้มุ่งทัดทานความเร่งเร็วของยุคอุตสาหกรรม และชี้ทางไปสู่การกอบเก็บตัวตน (self-gathering) ของเราขึ้นมาอีกครั้งผ่านประสบการณ์ที่เรามีต่อช่วงเวลา

ฮันเห็นว่าทางออกต่อปัญหาดังกล่าวไม่ใช่การใช้ชีวิตให้ช้าลงเหมือนที่ขบวนการเคลื่อนไหวให้ใช้ชีวิตแบบช้าเชือน (slow living movement) เรียกร้อง

เพราะการใช้ชีวิตให้ช้าลงเป็นแต่เพียงสิ่งที่ตอกย้ำถึงอาการของโรคเท่านั้น อีกทั้งไม่ใช่การหวนหาวันชื่นคืนสุขแบบเดิม

ทว่า ทางออกก็คือ การค้นหากลิ่นหอมของเวลาของยุคปัจจุบัน หรือก็คือสร้างสมดุลระหว่างการใคร่ครวญ (contemplation) และการกระทำ (action) ซึ่งกินความถึงชีวิตการทำงานด้วย

ทั้งนี้เพราะการใคร่ครวญต้องอาศัยเวลาที่จะอยู่กับตัวเอง จึงช่วยดึงเอาประสบการณ์เกี่ยวกับช่วงเวลากลับมาได้

นอกจากนี้ ประสบการณ์ทางศิลปะก็ช่วยให้เรากลับมามีความสัมพันธ์กับช่วงเวลาได้ เนื่องจากการชมงานศิลปะต้องอาศัยเวลาในการใคร่ครวญ

อีกทั้งศิลปะยังทัดทานการบริโภคแบบรีบเร่งและมักง่าย

 

ในงานที่ชื่อ Undinge (2021) ฮันเสนอว่า นอกจากประสบการณ์เกี่ยวกับเวลาแล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลยังส่งผลกระทบต่อประสบการณ์เกี่ยวกับพื้นที่ และสิ่งต่างๆ รอบตัว วัตถุสิ่งของเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์และการที่มนุษย์ให้ความหมายกับชีวิตหรือการดำรงอยู่ของตนอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะหรือเก้าอี้ ความหมายของเครื่องใช้ไม้สอยหรืออุปกรณ์เหล่านี้ย้อนโยงกลับมาหาความเข้าใจตนเอง ซึ่งเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับคนอื่นและชุมชนรอบตัว เช่น โต๊ะของผู้เขียนใช้สำหรับทำงานวิชาการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตัวเอง

ฮันเห็นว่า วัตถุหรือสิ่งของ (Ding) เป็นสิ่งที่สร้างเสถียรภาพหรือพื้นที่สงบให้แก่ชีวิตมนุษย์

แต่เทคโนโลยีดิจิทัลได้สลายวัตถุไปเป็นข้อมูล โดยทำให้สิ่งต่างๆ เป็นสิ่งทีไม่ใช่วัตถุ (Undinge)

มนุษย์ไม่ได้อิงอาศัยแผ่นดินและผืนฟ้าอีกต่อไป หากแต่อาศัย Google Earth กับ Cloud

 

ผู้เขียนเห็นว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้คือไลฟ์สไตล์แบบมินิมัลลิสต์ที่เป็นกระแสตั้งแต่ทศวรรษก่อน

เราจะเห็นภาพของกูรูด้านชีวิตเรียบง่ายแบบมินิมัล โดยมีฉากคือห้องขาวๆ ที่มีเฟอร์นิเจอร์ขาวๆ ไม่กี่ชิ้น ดูเหมือนอาการรังเกียจสิ่งของนี้จะเป็นอาการของทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่ในปัจจุบัน

แต่ถ้าคิดดูอีกทีจะพบว่า การขนเอาข้าวของออกไปทิ้งตามคำแนะนำของนักจัดบ้าน ไม่ว่าจะแบบมินิลัลลิสต์ หรือแบบ มาริเอะ คอนโดะ โดยเหลือไว้แต่ของที่สร้างความสุข (spark joy) ก็สะท้อนถึงสภาวะที่มนุษย์ที่ไม่ได้มีอำนาจจัดการชีวิตของตนได้นอกเหนือจากข้าวของเครื่องใช้ของตัวเอง

ที่อยู่อาศัยที่เป็นเหมือนจักรวาลหนึ่งของเรากลายเป็นพื้นที่ว่างๆ ขาวๆ สะอาดสอ้าน ไม่ต่างอะไรจากนครคนตาย (necropolis) หรือสุสานในสมัยกรีก

และการที่เราจะทำเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อเรามั่นใจว่ามีเงินไว้ซื้อข้าวของที่จะใช้ได้ทันทีในร้านสะดวกซื้อ

จริงอยู่ การเรียกร้องให้เราค้นหากลิ่นหอมของเวลาที่เหมาะกับยุคสมัยด้วยการดึงเอาการใคร่ครวญกลับมานั้น ฟังดูประหลาด เพราะอยู่ๆ เราไม่อาจจะทิ้งแอกงานไปเฉยๆ ได้ การที่จะได้เวลากลับมา เราอาจจะต้องต่อสู้ เหมือนที่ภาพยนตร์เรื่อง In Time (2011) ของผู้กำกับฯ Nadrew Niccol ทำให้เห็นอย่างชัดเจน แต่กระนั้น ข้อวิพากษ์ของฮันเรื่องสังคมแห่งความสำเร็จก็น่ารับฟังไม่น้อย

ที่สำคัญที่สุด เราต้องคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับอิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ AI ที่ส่งผลกระทบต่อประเด็นทางจริยศาสตร์ สังคม และการเมือง คำถามง่ายๆ อาจจะเริ่มจากประเด็นที่ว่า ใครเป็นคนเขียนย่อหน้าแรกของบทความชิ้นนี้…