ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ | ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง
‘พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร’ เลขาฯ ศอ.บต.
ประกาศใช้ ‘วิชาการ’ นำการเมือง
แก้ปัญหาชายแดนใต้
เป็นที่ทราบกันว่าปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของผู้ก่อความไม่สงบมีอยู่เป็นระยะๆ
หลายเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป จนเป็นเรื่องที่เราๆ ท่านๆ ได้ยินได้รับรู้กันมานานเกือบ 20 ปีแล้ว
ท่ามกลางการทำงานของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งคนทั่วไปก็ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะเกิดสันติภาพเมื่อใด
‘มติชนสุดสปัดาห์’ มีโอกาสสนทนากับ ‘พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร’ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ‘การขับเคลื่อน เสริมสร้าง และพัฒนาความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้’ ที่ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ยะลา โดยร่วมกันจัดกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งที่ผ่านมา วช.ได้จัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมภายใต้แผนงานดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 40 โครงการ เช่น โครงการการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้นำศาสนามีบทบาทและมีส่วนในการแก้ไขและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโครงการการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามหลักการอิสลาม เป็นต้น
พล.ร.ต.สมเกียรติพูดถึงปัญหาชายแดนใต้ว่า ในปี 2570 ความรุนแรงต้องยุติลง เหลือเวลา 4 ปีต่อจากนี้ ต้องเดินหน้าเต็มสูบ ตอนนี้ผู้เคลื่อนไหวบอกว่าเป็นตัวแทนของกลุ่ม BRN บ้าง พูโลบ้าง ซึ่งไม่ได้เป็นความลับอีกต่อไป เพราะต่างประกาศตัวว่าเป็นตัวแทน ฉะนั้น แกนหลักๆ คือ กระบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือ BRN อีกส่วนคือ กระบวนการพูโลในพื้นที่ เมื่อก่อนอาจบอกว่าเป็นองค์กรลับ แต่ตอนนี้เปิดตัวทุกคน สื่อสารประกาศในยูทูบทุกวัน
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีหน้าที่ในการพูดคุยก็คงเดินหน้าต่อ แต่ต้องปรับรูปแบบและกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จะแบบไหนอย่างไร และ พล.อ.วัลลภเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย ในนามระดับรัฐบาล
แต่หน้าที่ ศอ.บต.ที่ในพื้นที่ คือ การหยุดเงื่อนไขให้ได้มากที่สุด
พล.ร.ต.สมเกียรติอยู่ในตำแหน่ง ศอ.บต.มาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงบัดนี้ เจ้าตัวพูดถึงผลงานที่ผ่านมาว่า
“ผมพอใจในผลงานของ ศอ.บต. เพราะเราไม่ได้หยุดสักวัน ถามว่าก้าวหน้าไหม ก้าวหน้ามากในหลายๆ เรื่อง ถ้านับย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ ต่างกันลิบ ผมพอใจ เพราะเราไม่หยุดทำงาน เราในที่นี้คือทุกคน ไม่ใช่แค่ ศอ.บต. เพราะทำคนเดียวไม่ได้ ทุกกระทรวง ต้องขอขอบคุณกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด ขอบคุณทาง กอ.รมน. แต่เราเป็นแกนในการลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ แต่หลายเรื่องยังต้องเดินต่อ เพราะต้องใช้เวลานาน บางอย่างกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ มันอยู่ที่ส่วนกลาง ต้องใช้ความพยายามในการประสานเพื่อแก้ปัญหาให้เร็ว”
พล.ร.ต.สมเกียรติระบุว่า ตัวเลขสถิติความรุนแรงในปี 2564-2565 ตลอด 19 ปีที่ผ่านมา ดูจากกราฟลดลงทั้งหมด ตัวเลขความสูญเสีย จำนวนคนที่ผ่านการเยียวยา นับตั้งแต่ 19 ปีที่แล้วถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิต 5,800 คน บาดเจ็บ 12,000 คน แต่ละปีแต่ละเดือน ในช่วงปี 2547-2548 ตัวเลขสูงมาก และค่อยๆ ดิ่งลงมา จนเกือบจะสุดในหลัก 10 ราย
เห็นได้ว่ากราฟลดลงมา 19 ปี หวังว่าจะไปถึงจุดที่หยุดนิ่งให้ได้ นั่นคือความร่วมมือของทุกหน่วยงาน
สำหรับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ เลขาฯ ศอ.บต.อธิบายว่า จุดที่แก้ไขปัญหาได้เร็วที่สุดคือ การเร่งหยุดเงื่อนไข ซึ่งทำมาหลายอย่างแล้ว จะเห็นว่าสถานการณ์เบาลง เพราะเงื่อนไขส่วนหนึ่งถูกดึงออกมา เหมือนเชื้อเพลิงที่ใส่ถูกดึงออกมา เพราะเร่งในจุดที่เป็นเงื่อนไข
สิ่งที่ไม่หยุดเลย คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ต้องเร่งดำเนินการ ส่วนที่สองอัตลักษณ์ที่คนรู้สึกว่าถูกกดทับไปไหม กำลังเร่งเต็มที่ เรื่องการใช้ภาษาพูด เรื่องการแต่งกาย เรื่องวัดหยุดราชการ
“สิ่งเหล่านี้กำลังเร่งเพื่อจะนำสิ่งที่คาในหัวใจออกให้มากที่สุด ให้เร็วที่สุด และสิ่งสำคัญเมื่อสิ่งเหล่านี้ทำสำเร็จ ผู้เห็นต่างที่ใช้ความรุนแรงก็กำลังแสวงหาทางออก อาจจะกลับคืนสู่บ้านเกิดเพื่อร่วมเดินหน้าต่อไป เราพยายามแสวงหาทางอยู่ ไม่ได้พูดคุยเฉพาะผู้นำ มันก็มีกลุ่มหนึ่งที่ใช้ความรุนแรง ถ้าทำในสิ่งเหล่านี้ให้ ท่านพร้อมเดินต่อไปด้วยกันไหม เราคิดว่าเราเริ่มมองเห็นทาง”
“ผมเชื่อว่าคนมาเลเซียเองก็เห็นด้วย เพราะเขาเองก็อยากมาลงทุนในพื้นที่ เพราะถ้าเขาไม่เห็นด้วยแล้วเขามาลงทุน ก็เกิดความเสียหาย และคนมาเลเซียก็มาเยอะมาก ไม่ได้แค่มาเที่ยว แต่พร้อมที่จะมาลงทุนการค้า การท่องเที่ยวและอะไรต่าง ๆ นั่นเพราะเขาเชื่อมั่น ว่าต่อไปที่นี่ต้องสงบ”
สิ่งที่ ศอ.บต.ภายใต้การนำของ พล.ร.ต.สมเกียรติดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และจะใช้เป็นจุดเน้น เป็นไปอย่างที่เจ้าตัวประกาศว่า
“แน่นอนภาพใหญ่ทั้งหมด ใช้หลักเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา แต่ในการเดินทางของทุกภาคส่วน ที่ผ่านมาเราบอกการเมืองนำการทหาร ต่อไปนี้จะใช้วิชาการนำการเมือง ใช้งานวิจัยไปค้นมาว่าฐานรากควรทำอย่างไร ปลูกพืชชนิดไหน ปศุสัตว์ทำอย่างไร จะแปรรูปอย่างไร ตลาดจะทำยังไง งานวิจัยคือตัวคิดค้นหารูปแบบที่ดีที่สุด เพื่อนำทาง จะได้ไม่ต้องมีปัญหาภายหลังว่าคิดเองทำเอง แล้วประชาชนไม่มีส่วนร่วม เพราะงานวิจัยต้องผ่านจากการสำรวจจากประชาชน งานวิชาการต้องนำการเมืองการทหาร ศอ.บต.จะเป็นศูนย์กลางเพื่อเชื่อมไปยัง วช. และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)”
พล.ร.ต.สมเกียรติบอกว่า ของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชนชายแดนใต้ของ ศอ.บต.ที่แจ้งไปยังรัฐบาล เรื่องเด่นจริงๆ คือ การเร่งแก้ไขปัญหาความยากจน 52,000 ครัวเรือน จะใช้ 1 โครงการที่นำร่องมาเป็นปีที่ 2 คือ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน ศอ.บต.จัดเจ้าหน้าที่ 1 คน ประจำครัวเรือนยากจน ปีที่แล้วนำร่องไป 400 ครัวเรือน ปีนี้ขยับไป 1,200 ครัวเรือน
นี่คือโครงการเด่นเลย คนหนึ่งคนเฝ้าประจำบ้าน ดูแลการแก้ปัญหาความยากจนร่วมกับจังหวัด ถ้าติดขัดต้องดำเนินการ เพราะต้องการความยั่งยืน
สิ่งที่จะเป็นเรื่องใหม่ คือ Kick off เศรษฐกิจฐานราก สิ่งใหม่เกิดในต้นปีนี้ เรื่องของงานด้านปศุสัตว์ เรื่องซอฟต์เพาเวอร์(Soft Power) เศรษฐกิจ จะหยิบ Soft Power ดึงดูดผู้คน
ตอนช่วงประชุมเอเปค คงรู้จักปลากุเลา ตอนนี้ก็เดินหน้าต่อกับทางผู้เกี่ยวข้อง ทาง ‘เชฟชุมพล’ เข้ามาช่วยกัน ในการนำสินค้าอัตลักษณ์ไม่ใช่แค่ปลากุเลา ยังมีส้มโชกุน ไก่เบตง น้ำบูดู ไปสู่ตลาดโลก
สิ่งที่เป็น Soft Power ต่างๆ จะถูกหยิบขึ้นมา และเตรียมฝึกอบรมเชฟช้างเผือกในพื้นที่ 50 คน ใช้เวลา 1 ปี ร่วมกับสถาบันอาหารแห่งประเทศไทย เป็นของขวัญปีใหม่ 50 คนจาก 50 อำเภอ ไม่ได้หมายความว่าคนแค่ 50 คน แต่หมายถึง 50 ครัวเรือนจาก 50 หมู่บ้าน 50 อำเภอ หวังว่าประสบการณ์ที่พวกเขาได้จากเชฟระดับชาติ จะทำให้พวกเขามองกลับมาที่บ้านเกิด
และนำสิ่งดีๆ ออกไปสู่ตลาดโลกภายนอก
เลขาฯ ศอ.บต.ผู้นี้บอกด้วยว่า งานที่ ศอ.บต.ได้ทำไปแล้ว แยกเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความกินดีอยู่ดี
ส่วนที่ 2 การสร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
และส่วนที่ 3 แสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง โดยสันติวิธี
สามอย่างนี้จะพาไปสู่ที่หมายเดียวกัน คือ ความสงบสุขร่มเย็น สิ่งที่ ศอ.บต.ทำเป็นแกนหลักเรื่องคุณภาพชีวิต ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความลำบากยากจนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันเด็กรุ่นใหม่หันหลังให้กับบ้านเมือง
ส่วนที่ 2 สังคมพหุวัฒนธรรมที่ทำให้คนมีความรู้แปลกยาก ได้พยายามทำทุกอย่างเพื่อลดช่องว่าง สร้างจิตสำนึกให้คนอยู่ร่วมกันในอัตลักษณ์ที่แตกต่าง และส่งเสริมการดำเนินชีวิตโดยไม่เลือกปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าเป็นสิ่งช่วยลดจำนวนคนที่มีความเห็นต่างเพิ่มขึ้นได้
ส่วนที่ 3 ก็มีหน่วยรับผิดชอบโดยตรง คณะที่รัฐบาลตั้งขึ้นก็ไปพูดคุย แต่ ศอ.บต.มีหน้าที่หยุดเงื่อนไข ทุกอย่างส่งเสริมกันหมด ไม่ใช้แค่การพูดคุยอย่างเดียวแล้วจบ การพูดคุยต้องพูดเรื่องสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ มีการทำคู่ขนานกันไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้จะนำไปสู่การสร้างความสงบและสันติสุข ขั้นตอนการพูดคุยต้องทำกันต่อ แต่เมื่อคนนั่งโต๊ะคุยกัน จะรู้ว่าเสียงที่เรียกร้อง ภาครัฐกำลังทำอะไรให้อยู่ บางเรื่องอาจจะไม่เกิดทันที เพราะความเห็นที่ไม่ตรงกัน ความเห็นที่ต่างกันนำไปสู่ความขัดแย้ง เกิดมาแล้วร้อยกว่าปี แต่ความรุนแรงเพิ่งประทุขึ้นมา 19 ปีนี้เอง
ดังนั้น ถึงแม้เหตุการณ์ยังดำรงอยู่ แต่สิ่งที่เป็นเงื่อนไขต่างๆ ได้รับคลี่คลาย และจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้ในวันข้างหน้า
พล.ร.ต.สมเกียรติยังแจกแจงเรื่องการแก้ไขปัญหาทรัพยากรมนุษย์ว่า มีปัญหาหลายเรื่องสะสมมา อย่างเรื่องเด็ก แต่ก่อนให้ความสำคัญไม่มาก ภาวะทุพโภชนาการ เด็กจังหวัดชายแดนใต้ 4 จังหวัดกับ 4 อำเภอ ยกเว้นสงขลาตอนบน มีเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ 3 แสนกว่าคน มีความเสี่ยงอยู่ในภาวะทุพโภชนาการจำนวน 46,000 คน แบ่งเป็นเด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบ 20,000 คน และเด็กอายุ 3-6 ขวบ 20,000 กว่าคน
เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตจะไม่มีคุณภาพ การเรียนต่อไปจะลำบาก ทั้งสติปัญญาความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ
นี่คือกระดุมเม็ดแรก ตอนนี้ให้ความสำคัญมาก สองปีที่ผ่านมาก็มุ่งเน้นไปบูรณาการ หลังจากนั้นจะเริ่มเคลื่อนตัวตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป นี่คือกระดุมที่ติดให้กับเด็กในการพัฒนาคน
หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สิ่งที่ ศอ.บต.พยายามหยุดเงื่อนไขต่างๆ นั้น ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
และสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดได้จริงหรือไม่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022