ศัลยา ประชาชาติ : ยาวิเศษ “ช้อปช่วยชาติ” มาแล้ว “บิ๊กตู่” ปั๊มเศรษฐกิจ ดึงคนจับจ่ายโค้งสุดท้าย

ในที่สุดมาตรการภาษี “ช้อปช่วยชาติ” ก็ถูกรัฐบาลงัดออกมาเป็น “ไม้เด็ด” เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีอีกครั้ง เหมือนกับที่เคยงัดมาใช้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

แต่ครั้งนี้รัฐบาลปรับแผนด้วยการทำแคมเปญตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม เรียกว่าเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อก่อนฤดูการจับจ่ายปลายปีเหมือนเดิม

เพราะเท่ากับว่ากระตุ้นกำลังซื้อแต่เนิ่นๆ แทนที่จะปล่อยให้ประชาชนผู้บริโภครอไปจับจ่ายช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเทศกาลที่มีการใช้จ่ายสูงอยู่แล้ว

 

มาตรการภาษี “ช้อปช่วยชาติ” เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2558 ซึ่งรัฐบาลได้จัดชิมลางเป็นเวลา 7 วัน (ตั้งแต่ 25-31 ธันวาคม) ซึ่งครั้งนั้นกระทรวงการคลังประเมินว่าจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 9,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐสูญเสียรายได้ภาษีราว 1,200 ล้านบาท และบทสรุปเศรษฐกิจไทยในปีนั้นคือ GDP ขยายตัวได้ 2.9% ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้าที่โตแค่ 0.8%

สำหรับปี 2559 รัฐบาลก็งัดมาตรการช้อปช่วยชาติมาใช้อีกครั้ง โดยเพิ่มระยะเวลามาตรการยาวขึ้นเป็น 18 วัน (ตั้งแต่ 14-31 ธันวาคม)

และตลอดทั้งปี 2559 รัฐบาลใช้มาตรการภาษีกระตุ้นการจับจ่ายอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการภาษี “กิน-ช้อป” ให้นำรายจ่ายจากการท่องเที่ยวและค่าอาหาร (วันที่ 9-17 เมษายน) มาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท มาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวและจัดสัมมนาภายในประเทศไม่เกิน 15,000 บาท (ตลอดทั้งปี)

รวมถึงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2559 ที่ให้นำรายจ่ายค่าบริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ มาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท (ช่วง 1-31 ธันวาคม)

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมซื้อสินค้าท้องถิ่นไทย (OTOP) สามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 15,000 บาท (ช่วง 1-31 สิงหาคม)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงเป็นแรงส่งสำคัญทำให้เศรษฐกิจในปี 2559 เติบโตได้ 3.2%

 

สําหรับปี 2560 นี้ หลังจากผ่านพ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 เดือนตุลาคม 2560 แล้ว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกปากมอบหมายให้กระทรวงการคลังทำมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” อีกครั้ง พร้อมให้พิจารณาขยายระยะเวลามาตรการให้ยาวขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เดิมที “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงปลายปีไว้หลายๆ แนวทาง แต่สุดท้ายเมื่อมีบัญชาจากนายกรัฐมนตรีลงมาในเรื่องช้อปช่วยชาติ กระทรวงการคลังจึงเร่งสนองนโยบายทันที

โดยเริ่มแรกมีการเตรียมเสนอเวลามาตรการไว้ที่ 19 วัน ระหว่าง 15 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2560 แต่สุดท้ายด้วยเพราะรัฐบาลต้องการขยายเวลาให้นานกว่าปีก่อนอย่างชัดเจน ประกอบกับคลังต้องการเริ่มมาตรการเร็วขึ้น รวมถึงการประชุม ครม. สัปดาห์หน้า นายกรัฐมนตรีจะติดภารกิจไปต่างประเทศ

ดังนั้น ทุกอย่างจึงนำมาสู่บทสรุปในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ที่มีมติเห็นชอบให้นำมาตรการภาษีช้อปช่วยชาติมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยกำหนดระยะเวลามาตรการเพิ่มเป็น 23 วัน เริ่มตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม

“อภิศักดิ์” อธิบายเหตุผลที่ต้องเร่งเข็นมาตรการออกมาว่า เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนคิดว่าทุกสิ้นปีจะต้องมีมาตรการภาษีช้อปช่วยชาติออกมา เพราะจะทำให้ทุกคนรอใช้จ่ายในช่วงสิ้นปี จึงได้เสนอ ครม. เห็นชอบให้เริ่มมาตรการตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม

โดยมาตรการครั้งนี้กระทรวงการคลังประเมินว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 2,000 ล้านบาท “อภิศักดิ์” กล่าวว่า ผลที่จะได้กลับมานอกจากประชาชนจะใช้จ่ายกันมากขึ้น ทำให้รัฐมีรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กลับมาแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี VAT มากขึ้นด้วย

“ผลจากที่ทำมา 2 ปีก่อนหน้า ปรากฏว่ามีร้านค้าต่างๆ ที่อยู่นอกระบบ VAT ยอมเข้าสู่ระบบเยอะขึ้น ซึ่งเป็นผลทางอ้อมจากการกระตุ้นตรงนี้ ซึ่งปกติแล้วเป็นเรื่องยาก แต่มาตรการนี้เหมือนกับเป็นแรงจูงใจให้เข้าระบบ” รมว.คลังกล่าว

ขุนคลังได้ชี้ถึงข้อดีข้อเสียของมาตรการนี้ว่า ข้อดีก็คือ ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย หลังผู้คนในประเทศผ่านช่วงเวลาที่เศร้าโศกกันมา โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยควรเติบโตที่ระดับศักยภาพ 4-5% แต่คาดการณ์ล่าสุดเศรษฐกิจปี 2560 จะเติบโตราว 3.8-3.9% ดังนั้น หากสามารถกระตุ้นให้โตได้ 4% ขึ้นไป ก็จะทำให้สบายใจได้มากขึ้น

“ข้อเสียคือจะกลายเป็นว่าทำทุกปี ทำให้คนที่จะซื้อของก็จะไปรอช่วงปลายปี นี่คือสิ่งที่เรากังวล ไม่อยากให้เป็นแพตเทิร์น” รมว.คลังกล่าว

 

ด้านกรมสรรพากรในฐานะผู้จัดเก็บรายได้ “แพตริเซีย มงคลวนิช” รองอธิบดี และโฆษกกรมสรรพากร คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีช้อปช่วยชาติในปีนี้คิดเป็นมูลค่าราว 22,500 ล้านบาท และจะส่งผลให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ภาษีราว 2,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีผู้ใช้สิทธิลดหย่อนเป็นมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท สูญเสียรายได้ภาษีราว 1,800 ล้านบาท

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผลจากการออกมาตรการภาษีช้อปช่วยชาติในปีนี้ จะช่วยสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคให้เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ ซึ่งถือเป็นโอกาสของบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกที่จะใช้มาตรการดังกล่าวมาทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อแย่งชิงกำลังซื้อของผู้บริโภค อีกทั้งยังส่งผลต่อธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ผู้ผลิตสินค้า เกษตรกร รวมถึงการจ้างงาน

แน่นอนว่าภาคธุรกิจต่างขานรับมาตรการอย่างเต็มที่

เริ่มจาก “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” กล่าวว่า ช้อปช่วยชาติจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้มาก เพราะ 10 เดือนที่ผ่านมากำลังซื้อในประเทศค่อนข้างชะลอตัว และคนไทยส่วนหนึ่งเดินทางและไปช้อปต่างประเทศ

โดย “ชำนาญ เมธปรีชากุล” รองประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป เสริมว่า การขยายเวลามาตรการที่มากขึ้นกว่าเดิม จะกระตุ้นยอดขายให้เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนได้ไม่ต่ำกว่า 5-10%

ฟาก “กิจธวัช ฤทธิราวี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) ชี้ว่า มาตรการช้อปช่วยชาติจะทำให้ผู้ประกอบการหลายๆ ธุรกิจได้รับอานิสงส์ ทั้งค้าปลีก สินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงธุรกิจขายตรงด้วย ซึ่งทางบริษัทพร้อมจะออกแคมเปญสนับสนุนทันที โดยในช่วง 2 ปีที่มีมาตรการ แอมเวย์มีแคมเปญสนับสนุนมาตรการออกมาตลอด

“ปีก่อนเฉพาะเดือนธันวาคม ยอดของแอมเวย์เติบโตกว่าช่วงเวลาปกติถึง 15-20%” นายกิจธวัชกล่าว

ส่วน “สลิลลา สีหพันธุ์” รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบริษัท “เทสโก้ โลตัส” ก็มองว่า การออกมาตรการช้อปช่วยชาติในช่วงปลายปีเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เรียกว่าส่งผลดีกับทุกภาคส่วน

 

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่ารัฐจะขยับช่วงเวลาดำเนินมาตรการอย่างไร คนไทยขาช้อปก็รอคอยการมาของมาตรการภาษี “ช้อปช่วยชาติ” อย่างใจจดจ่อทุกปี

โดยที่รัฐบาลยอมสูญเสียรายได้จากภาษีไม่กี่พันล้านบาท แต่สามารถปลุกกำลังซื้อในประเทศให้คึกคัก ที่ช่วยให้เกิดพลังขับเคลื่อนต่อเนื่องไปในหลายภาคส่วน จนทำให้มาตรการนี้เปรียบเสมือน “ยาวิเศษ” ที่ช่วย “โด๊ป” เศรษฐกิจให้เติบโตสู่เป้าหมายได้

แน่นอนว่าผู้ที่ออกแบบโมเดลการตลาดนี้เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ที่ริเริ่มมาตรการนี้เมื่อตอนปลายปี 2558 หลังจากเข้ามานั่งเก้าอี้แม่ทัพเศรษฐกิจใน ครม. “บิ๊กตู่” ไม่นาน