ต่างประเทศ : โดนัลด์ ทรัมป์ เยือนเอเชีย บททดสอบสำคัญในระดับนานาชาติ

การเดินทางเยือนเอเชียในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกของ โดนัลด์ ทรัมป์ แน่นอนว่าประเด็นด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับผลประโยชน์ด้านการค้าของสหรัฐ จะเป็นประเด็นหลักในการหารือของฝั่งสหรัฐในครั้งนี้

ในช่วง 10 เดือนแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มีถ้อยแถลงที่ขัดแย้งกันเองจำนวนมากออกมาจากทรัมป์และบรรดาที่ปรึกษาของเขา ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่แน่ใจในหมู่ผู้นำของเอเชีย

การถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ครั้งหนึ่งเคยปรากฏขึ้นมาเป็นเสาหลักทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐในเอเชีย ได้ทิ้งให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายและผู้นำทางธุรกิจเป็นกังวลเกี่ยวกับอนาคตของการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

และยังคงไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญของผู้ดูแลนโยบายด้านเอเชียในกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ที่นับเป็นการส่งสัญญาณที่ผสมปนเปกันออกมาจากรัฐบาลวอชิงตัน

 

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้การเดินทางเยือน 5 ชาติเอเชีย อันประกอบไปด้วยญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน, เวียดนาม และฟิลิปปินส์เป็นระยะเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 3-14 พฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศที่ยาวนานที่สุดของทรัมป์ครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด 4 ประการใหญ่ๆ

ประการแรกคือ การเดินทางเยือนครั้งนี้ของทรัมป์จะเป็นการแสดงความชัดเจนว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐจะมุ่งหน้าไปทางไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมในเอเชีย

มีความรู้สึกเป็นกังวลค้างคามาโดยตลอดว่า วิสัยทัศน์ “อเมริกาเฟิร์สต์” หรืออเมริกาต้องมาก่อนของทรัมป์อาจส่งผลถึงการไม่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย

นอกจากทีพีพีแล้ว การถอนสมอจากเอเชียของสหรัฐที่เป็นกังวลกันยังไม่เกิดขึ้น ทรัมป์ไม่ได้เบี่ยงเบนจากนโยบาย “หันหาเอเชีย” ของฝ่ายบริหารในสมัยของประธานาธิบดี บารัค โอบามา มากนัก

ข่าวจากเว็บไซต์ของทำเนียบขาวที่ประกาศแจ้งถึงทริปการเดินทางครั้งนี้ของทรัมป์ระบุว่า การเยือนของทรัมป์จะแสดงให้เห็นถึง “พันธสัญญาต่อพันธมิตรและคู่ค้าของสหรัฐในภูมิภาคยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง”

 

ประการต่อมาคือ การเดินทางเยือนเอเชียของทรัมป์มีขึ้นในช่วงหลังจากการตอกย้ำสถานภาพความเป็นผู้นำในญี่ปุ่นและจีน

ชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา อาจทำให้เขามีอำนาจในการขยายบทบาทด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นในภูมิภาค

โดยอาเบะมีความรับผิดชอบในการผลักดันทีพีพี ที่มีสมาชิกเหลืออยู่อีก 11 ชาติไปข้างหน้าหลังจากสหรัฐถอนตัวไป

อันที่จริงแล้ว หลายประเทศในเอเชียมองว่า อาเบะเป็นผู้นำที่เป็นพี่ใหญ่ เมื่อพูดถึงการบริหารงานในระดับภูมิภาค

ขณะที่การประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติจีนครั้งที่ 19 เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้ตอกย้ำสถานะความเป็นผู้นำของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง และเผยให้เห็นถึงความต้องการก้าวขึ้นมามีบทบาทในภูมิภาคและในระดับโลกมากขึ้นของจีน

สีกล่าวถึง “สมดุลใหม่” ในเอเชียและประกาศวิสัยทัศน์ระยะยาวของจีนในการเป็นผู้นำโลกในแง่ของพลังอำนาจเบ็ดเสร็จในระดับประเทศและอำนาจอิทธิพลในระดับนานาชาติ

คำประกาศของสี แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จีนจะเสาะหาทุกโอกาสในการเติมเต็มสุญญากาศทางอำนาจ

 

คาดว่าทรัมป์จะพัฒนาความสัมพันธ์กับทั้งอาเบะและสีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงกับประธานาธิบดี มุน แจ อิน ของเกาหลีใต้

ซึ่งในการพบกับมุน สี อาเบะ และผู้นำกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนรายอื่นๆ นั้น ทรัมป์จะเสาะหาความร่วมมือจากพันธมิตรเพื่อ “สร้างฉันทามติที่แข็งแกร่งขึ้นในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามเกาหลีเหนือ” และเดินหน้าไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี

ทรัมป์ยอมรับว่าจีนสนับสนุนการคว่ำบาตรเกาหลีเหนืออย่างเข้มงวดมากขึ้น แต่ยังเชื่อว่ารัฐบาลปักกิ่งจะต้องทำมากกว่านี้เพื่อโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์

นอกจากนี้ เขายังจะผลักดันผู้นำเกาหลีใต้ให้สร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลเกาหลีเหนือมากกว่านี้ และมีความเป็นไปได้ว่าจะย้ำสารในเรื่องนี้ต่อบรรดาผู้นำอาเซียนด้วย

 

ประการสุดท้ายคือ การเดินทางเยือนเอเชียครั้งนี้เป็นโอกาสในการต่อรองด้านผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐ

ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เท่าเทียมทางการค้าที่สหรัฐเสียเปรียบมาอย่างต่อเนื่อง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาจะผลักดันเรื่องนี้อย่างหนักในการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ในเวียดนาม

ทำเนียบขาวหวังว่า การเดินทางเยือนเอเชียครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการเริ่มต้นใหม่หรือบรรเทาสถานการณ์อันยุ่งเหยิงวุ่นวายในการดำรงตำแหน่งปีแรกของทรัมป์ให้เบาบางลงได้บ้าง