E-DUANG : ลักษณะ “รับ” ภายในกระบวน “รุก”

จังหวะก้าวเลือกตั้ง “ท้องถิ่น” อันปล่อยออกมาจาก “คสช.”อาจถูกมองและประเมินว่า

เหมือนกับเป็นการเช็ก”เรตติ้ง”

1 ตรวจสอบว่ากระบวนการของคสช.ก่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงในแต่ละ “ท้องถิ่น” หรือไม่

ผลการเลือกตั้งจะเป็น “คำตอบ”

ขณะเดียวกัน 1 ตรวจสอบว่า”อิทธิพล”ของพรรคการเมือง ดำรงอยู่ในทางเป็นจริงอย่างไร มากน้อยเพียงใด

ผลการเลือกตั้งจะเป็น “คำตอบ”

ประเด็นอยู่ที่ว่า คสช.จะตรวจสอบได้อย่างไร หากมิได้ส่งคนของตนหรือ”นอมินี”ของตนลงไป

ตรงนี้แหละละเอียดอ่อน

 

ที่หวังว่าการเลือกตั้งในระดับ “ท้องถิ่น” จะเป็นการตรวจสอบขุมกำลังของอีกฝ่ายก็ไม่แน่เหมือนกัน

เพราะนี่คือกระบวนการในทาง “การเมือง”

หากอยากรู้ “กำลัง” และความพร้อมของอีกฝ่ายก็จำเป็นต้องเปิดเผยตัวเอง

ไม่เปิดเผยโดยตรงก็ต้องมี “นอมินี”

พลันที่ส่งคนลงสมัคร ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการอย่างไรแต่ในท่ามกลางการต่อสู้ ตัวตนก็ต้องเผยออกมา

ในหมู่บ้านย่อมรู้ ในตำบลย่อมอ่านแจ้งแทงตลอด

ยิ่งกว่านั้น ยังต้องตามไปดูด้วยว่ากลไกของคสช.ในแต่ละ “ท้องถิ่น” วางตัวอย่างไร

วางตัวแบบ “ประชามติ” หรือไม่

 

ก็บอกแล้วว่าสังคมภายหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศและบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2560 เป็นต้นมา

ดำเนินไปอย่าง”ไม่เหมือนเดิม”อีกแล้ว

ที่คิดว่ากำลังเป็น “ฝ่ายรุก” อาจไม่ได้เป็นการรุกอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด

อย่างน้อยก็ไม่เหมือนหลังพฤษภาคม 2557

ปมเงื่อนอยู่ที่ว่าฝ่ายของนักการเมืองจะตั้งรับอย่างไรและจะแปรลักษณะรับของตนให้ยกระดับไปสู่”ขั้นยัน”อย่างเป็นระบบเป็นกระบวนการอย่างไร

นี่คือโจทย์ นี่คือการบ้านของ”พรรคการเมือง”