มงกุฎสายพันธุ์ ‘รำดวล-องกอร์’ และ ‘ข้าวหอม-มะลิ’

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

มงกุฎสายพันธุ์ ‘รำดวล-องกอร์’

และ ‘ข้าวหอม-มะลิ’

 

เสริมส่งต้นปี สถิติที่ไม่เคยพูดถึงอย่างจริงจังคือการมาถึงของ “ผการำดวล” ข้าวหอมสายพันธุ์เขมร ที่มาแบบเงียบๆ แต่ฟาดเรียบในการคว้าแชมป์โลก

ส่วนมงกุฎนางงามนั้น ปล่อยให้ไทย-เวียดนามเขาฟาดกัน

พร้อมกันนี้ก็จดจำด้วยว่า ข้าวหอมมะลิ/105 ของไทยที่เคยครองแชมป์และติดอยู่ในความทรงจำเป็นอิมเมจมายาวนานได้พ่ายแพ่แก่ผการำดวลในระยะหลังๆ มานี้ เกือบทุกปีเสียแล้ว มิใช่ครั้งแรกสักหน่อย

อธิบายความว่า “ผการำดวล” ยังเป็นชื่อดอกไม้ประจำชาติเขมร, ผกา = ดอกไม้, ส่วนรำดวลคือดอกไม้สายพันธุ์เดียวกับ “ลำดวล” ของไทย

ชุดข้าวอินโดจีน

จุดที่ทำให้ข้าวพันธุ์รำดวลเขมรเฉือนชนะไทยได้ คือมีกลิ่นอวลหอมฉุยกว่ามะลิไทยนานกว่าเล็กน้อย ซ้ำการประกวดแชมป์โลกครั้งนี้ ยังมีขึ้นที่ประเทศไทยอีกด้วย และนั่นก็ทำให้ข้าวหอมเขมรขึ้นแท่นชนะ 5 ครั้ง ขณะที่แชมป์เก่าไทยที่ 7 ครั้งนั้น เกิดขึ้นในสมัยที่เขมรยังอยู่ในระยะฟื้นฟูประเทศ

แต่ฉันยืนยันได้เลยว่า : ยุทธศาสตร์ประชันขันแข่งระหว่างข้าวไทยกับเขมรนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว

เล่าโดยย่อว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่เดินสายส่งข้าวเขมรเข้าประกวดเพื่อสร้างมูลค่าข้าวเขมรนั้นมิใช่ใครแต่เป็น รมว.กระทรวงพาณิชย์ นายซุน จันทล คนที่เดินตามรอยวิถีความสำเร็จข้าวหอมมะลิไทยอย่างเต็มสูบเพราะแม้แต่ชื่อข้าวหอมที่ส่งประกวดครั้งนั้นก็ยังมีชื่อว่า “ผกามะลิ”

ซุน จันทล จ้างเชฟที่มีชื่อเสียงทั่วโลกมาให้เครดิตข้าวเขมรและเริ่มประสบความสำเร็จในชื่อเสียงครั้งแรกที่ฮ่องกง

กัมพูชายังใช้ชื่อข้าวหอมผกามะลิอยู่หลายปี ก่อนที่กัมพูชาจะมีผการำดวลเป็นดอกไม้ประจำชาติ

จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อเป็นผการำดวลและเหมือนจะถูกโฉลกเมื่อชนะหลายเวทีการประกวด

แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ มันมีเรื่องให้พูดและเป็นความจริงว่าหลักสูตร “จำลองก่อนแล้ววาง” หรือ Copy&Paste นั้นมีอยู่จริงในโลกของการสร้างความสำเร็จแม้นัยทีแล้ว ซุน จันทล ย้ายไปดูกระทรวงคมนาคมก็ตาม แต่นโยบายไล่ล่าความฝันข้าวหอมเขมรบนเวทีโลก ยังคงตามมา

และจุดที่ทำให้ข้าวเขมร “อัพเลเวล” ได้เร็วขนาดนี้ มาจากที่ยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทยใช้นโยบายประกันราคาข้าว และมันทำให้พ่อค้าหัวใสของไทย ลักลอบนำเข้าข้าวเขมรเกรดต่ำเพื่อ “สวมสิทธิ์” ในการให้รัฐเข้ามาประกันราคาแทน

ขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยกลับทะลักไหลเข้าไปในเขมรเพื่อ “สวมสิทธิ์” กัมพูชาที่สามารถส่งออกในตลาดยุโรปโดยไร้กำแพงภาษีที่เรียกว่า EBA (everything But Arms) เพราะเป็นประเทศยากจน

ภายใต้ผลประโยชน์มหาศาลที่เกิดจากระบอบคอร์รัปชั่น ช่างเกิดเป็นทฤษฎีสมคบคิด ระหว่างพ่อค้า-นายทุน-ขุนศึกและผู้รับผลประโยชน์ เช่น นักการเมือง ทั้งไทย-กัมพูชา

ผลก็คือ เจ้าสัวข้าวรายใหญ่แห่งพระตะบองที่มีนายไทยเป็นพี่เลี้ยงและสถาปนา “ดีเอ็นเอ” ข้าวไทยไปเป็นแบบทดลองของที่ที่ราบตอนล่างทะเลสาบใหญ่ จนเกิด “ผการำดวล” ในปัจจุบันหรือไม่?

ส่วนหอมมะลิไทย ก็ตีกรรเชียงบนผืนนาของตัวเองไปหลักกิโลเมตร “105” ของ ณ วันนี้

สมัยอยู่เขมร ฉันมักอาศัยกินข้าวที่หุงต้มด้วยไฟฟืนในตลาดสดซึ่งจะหุงด้วยหม้อเหล็กใบใหญ่ๆ และน้ำ (ที่อาจทำให้รู้สึกกังวลใจบ้าง) เม็ดข้าวพวกนั้นก็หักดำไม่สวยงามอะไร จนทุกวันนี้ฉันยังติดกินข้าวหักท่อน ที่บ้างเรียกกันว่าข้าวหมู ซึ่งมีรสชาติโดยเฉพาะเมื่อเจือด้วยกลิ่นฟืน

ฉันเคยถามไถ่พ่อค้าข้าวสารในตลาดสดถึงชนิดข้าวดีที่ชาวเขมรนิยม ในราวปลายทศวรรษ 1990/1998 มีแต่ข้าวพระตะบองเท่านั้นที่เป็นเบอร์หนึ่ง!

ย้อนไปเมื่อหนึ่งร้อยห้าสิบปีก่อนราวปี ค.ศ.1874 ความพยายามบุกเบิกตลาดข้าวเขมรนั้นเกิดขึ้นแล้วโดยบารังฝรั่งเศสอินโดจีนที่บุกเบิกเกษตรกรรมยางพาราในเขตกัมพูชาใต้ไปจนผลผลิตอื่นๆ และแน่นอน องกอร์/ข้าวเขมร!

ซึ่งมีความสำคัญมาแต่ยุคกลาง แลเมื่อยุคอินโดจีน/1863 การขับเคลื่อนนี้จึงถูกกุมไว้โดยรัฐบารังกับพ่อค้าจีนอันนัม ทั้งโรงสี โกดังและท่าเรือทั้งหมด

และนี่คือบันทึกที่เกิดขึ้นจากการประชุมผู้ส่งออกพ่อค้าข้าวชาวไซ่ง่อน วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2417/1874 ซึ่งกล่าวว่า อันเป็นไปเพื่อ “หามาตรฐานการผลิตที่ดี” นั่นคือ การขัดสีข้าวเปลือกด้วยเครื่องจักรกลในการสร้างคุณภาพข้าวอินโดจีนเพื่อสู้กับข้าวสยามและพม่าซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

หรือตีความนัยว่า นี่คือสงครามข้าวระหว่างเจ้าพระยา/อิระวดีกับลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างที่ครอบคลุมภูมิภาคกัมพูชา โดยการขับเคลื่อนของการเติบโตนี้เป็นไปโดยความเห็นของพี่น้องตระกูลเดนิส ในระหว่างปี ค.ศ.1920-1930

และต่อมา มีการเปิดสำนักงานค้าข้าวที่แคว้นเขมร-กรุงพนมเปญ โดยมีอัลฟองส์ (1849-1904) ผู้วางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในราวปี 1920

ซึ่งมันก็ผ่านไป 102 ปีแล้ว สำหรับสิ่งที่มาพร้อมกับงานวิจัยนั้น คือทำให้รู้จุดแข็งจุดอ่อนข้าวพันธุ์ของตน ทั้งนี้ เพื่อแข่งขันกับสยามและพม่าซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศราชของอังกฤษ โดยลงความเห็นว่า กระบวนการขัดสีและผลิตเม็ดข้าวของ “ข้าวพม่าและสยามเป็นที่นิยมและครองตลาดมากกว่า” อีกด้วย

จากนั้น สถานีค้าข้าวอินโดจีนบารังจึงเคลื่อนมาจากศูนย์กลางเมืองบริวารของไซ่ง่อน มายังพนมเปญ ซึ่งมีฐานการผลิตจากที่ราบพระตะบอง โดยบ่งบอกว่า การค้าข้าวสมัยนั้นยังขยายตัวออกไป

และน่าสนใจว่า นี่เป็น 50 ปีแรกแห่งการปกครองอินโดจีน ทว่า กระนั้นบารังกลับลงมือวิจัยเพื่อเสริมสร้างการค้าต่อกรกับคู่แข่งเช่น สยามและพม่าอย่างจริงจังทันใด

และสิ่งแรกๆ ที่พวกเขาลงมือทำ คือการปรับปรุง “คุณภาพข้าว” สายพันธุ์ของตนเพื่อเพิ่มมูลค่าในตลาดแข่งขัน หมายความว่า คุณภาพข้าวของภูมิภาคนี้ซึ่งปรากฏนัยทีว่าข้าวแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาเมื่อ 150 ปีก่อนยังคงข่มกัมพูชาไว้ได้ตามบันทึกดังกล่าว

และเป็นครั้งแรกที่ราบลุ่มเจ้าพระยา-อิระวดี-แม่โขงของอาณาจักรทั้ง 3 ซึ่งเคยแต่ทำสงครามรบรา ได้เปลี่ยนโฉมหน้ามาเป็นสงครามการค้าข้าว โดยมีถึง 2 ภูมิภาค “อิระวดี-แม่โขง” ที่ตะวันตกยึดครองไว้

ฉันเองไม่เคยฉุกใจใดๆ ในการปกครองอินโดจีน/บารังถึงความสนใจในเรื่องเกษตรกรรมและการค้าข้าว

โดยให้สังเกตว่า การส่งออกยางพาราของอินโดจีนในตลาดโลกรุดหน้าและบารังก็ยังส่งเสริมพริกไทยกำโปดของเมืองเขมรที่อังกฤษเคยพิชิตตลาดนี้ที่อินเดียมาก่อน

แต่กระนั้น โดยหลังจากที่สิ้นยุคอาณานิคมไปแล้ว แต่ความก้าวหน้าด้านการส่งออกข้าวที่เคยพิชิตชัย ในแต่ละแอ่งเกษตรกรรมทั้ง 3 และการหันมาแข่งขันไม่กี่สายพันธุ์ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับการส่งเสริมด้านงานวิจัย ความสำเร็จแบบก้าวกระโดดที่เกิดขึ้นในกัมพูชาเมื่อเทียบกับการสูญเสียสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่นมากมายที่หายไปในห้วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

และเราได้แต่เฝ้ารอว่า จะมีงานวิจัยในด้านพันธุ์ข้าวในเขตแอ่งอารยธรรมข้าวทั้ง 3 ที่กำลังถูกพรากไปไม่ว่าจะด้วยปัญหาภัยคุกคามใดๆ เช่น ภาวะโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญในศตวรรษนี้และอื่นๆ นั้น

ตั้งแต่ยุคกลางมาแล้ว ที่ข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ในลุ่มเจ้าพระยา-อิระวดีและแม่โขง/กัมพูชา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตสายพันธุ์ข้าวเจ้ามาแต่ยุคกลางและก่อนนั้น การสูญหาย/บัดบ่งในพันธุ์ข้าวท้องถิ่นหลายพันหลายร้อยสายพันธุ์ในหลายศตวรรษที่ผ่านมา

และเป็นเหมือนทุ่งสังหารของภูมิภาคนี้

ตัวอย่างที่ฉันได้เห็นในวิทยานิพนธ์เรื่อง “เพลงนา” ของภุชงค์ จันทร์เพ็ญ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ไม่แต่การธำรงวิถีพันธุ์ข้าวและการปลูกเท่านั้น แต่ยังมีบทกวีพื้นบ้านที่เกิดจากฤดูกาลแห่งการทำนา และสิ่งที่บัดบ่ง/สูญพันธุ์ไปกับการเวลานอกจากชาวนาเจเนอเรชั่นก่อนหน้านี้

ยังมีสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่กลายเป็นเพียงฟอสซิลของกาลเวลา