“ทหาร” PARTY : ในประเทศ

พรรคทหาร ไม่ใช่เรื่องใหม่

มีการคาดหมายมาตั้งแต่แรกว่า หากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) จะบรรลุเป้าหมาย “อยู่นานๆ”

อาจจำเป็นต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา

ไม่ว่าจะตั้งขึ้นเอง หรือเป็นพรรคนอมินีก็ตาม

และที่ผ่านมา ก็เริ่มมีเค้าให้เห็น เช่นกรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประกาศตั้งพรรคการเมือง “ประชาชนปฏิรูป” ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ภายใต้เจตนารมณ์ 3 ประการ คือ

1. จะปฏิรูปพรรคการเมืองและนักการเมือง

2. จะปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้มีความบริสุทธิ์และดีงาม

และ 3. จะปฏิรูปโดยการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน จะมีการจัดตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ซึ่งแม้จะไม่มีการขานรับจาก คสช. หรือมีกลไกของฝ่ายกุมอำนาจออกมาตอบสนองมากนัก

แต่คาดว่าเมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง พรรคประชาชนปฏิรูป ก็อาจจะมีบทบาทมากขึ้น

กระแสพรรคทหารมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง เมื่อ นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก แฉว่ารัฐบาล คสช. กำลังทำทุกอย่างเพื่อต้องการรักษาอำนาจต่อไป

โดยตอนนี้กำลังวางยุทธศาสตร์อย่างเต็มที่เพื่อไปถึงเป้าหมาย

ภายใต้ 2 ยุทธศาสตร์

1. แผนชิงมวลชน ที่เห็นกันล่าสุด เช่น “บัตรผู้มีรายได้น้อย” ที่แจกจ่ายเงินให้กับประชาชนผ่านบัตร และก่อนหน้านี้รัฐบาลก็มีหลายโครงการเพื่อเอาใจประชาชน ที่เรียกชื่อใหม่ว่า “โครงการประชารัฐ”

2. แผนชิง ส.ส. มีการตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคพลังชาติไทย” ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวล่อดึงอดีต ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย

สอดคล้องกับ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า ขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้มีคนอ้างว่าเป็นพรรคทหารมาหาเสียง และเปิดตัวอย่างเปิดเผย ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักการเมืองท้องถิ่นเป็นหลัก และข้าราชการเกษียณอายุราชการ

และต่อมาชื่อ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ และภรรยา นางบุญญาพร นาตะธนภัทร ถูกระบุว่าคือกลุ่มบุคคลที่เดินทางเข้าพื้นที่ไปทำกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ

ในนามโครงการ “จิตอาสา พลังชาติไทย”

พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ปัจจุบันเป็นทหารนอกราชการ เกษียณอายุราชการปี 2559

อดีตเคยเป็นนายทหารเหล่าพระธรรมนูญ เป็นอดีตฝ่ายเสนาธิการประจำปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นอดีตนายทหารคนสนิทรองปลัดกระทรวงกลาโหม

และเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ผอ.กอ.รมน. ที่ร่วมเป็นคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ตามกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ซึ่งมีสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการ

พล.ต.ทรงกลด เคยเปิดตัวกับสื่อเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ว่าเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พลังชาติไทย”

ภาพประกอบจากyoutube DailyMirror Online

เป็นการรวมตัวของอดีตสมาชิกพรรคการเมืองกว่า 10 พรรค

มีสมาชิกพรรคกว่า 500 คนแล้ว

เป้าหมายในการตั้งพรรคคือ สนองความต้องการพื้นฐานของประชาชน เน้นการให้สวัสดิการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง มีร้านค้าตำบลเข้ามาแทนที่ระบบสหกรณ์ ลูกบ้านทุกคนเป็นสมาชิก มีการแบ่งปันผลกำไรทุกสิ้นปี

กรอบนโยบายหลักๆ ทางเศรษฐกิจ เช่น มีนโยบายขุดคอคอดกระเพื่อเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ทางทะเลแห่งใหม่ที่สำคัญ ช่วยลดระยะเวลาและลดต้นทุนการขนส่ง อีกทั้งยังจะทำให้เกิดการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่รายรอบโครงการ

สนับสนุนการสร้างกาสิโนเป็นบ่อนการพนันและสถานบันเทิงที่ถูกกฎหมาย

สนับสนุนให้ทำเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์

ทั้งนี้ หากเข้าไปสอบค้นข้อมูลในโลกโซเชียล จะพบความเคลื่อนไหวของ พล.ต.ทรงกลด อย่างคึกคัก

เช่น

18 ธันวาคม 2559 องค์กรแรงงานไทยร่วมกับพันธมิตรจัดสัมมนาโครงการคลองกระ-ไทย “ความฝันของคนไทยทั้งชาติ” ณ โรงแรมอเล็กซานเดอร์ ซอยรามคำแหง 83/3 โดยมีประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย

พล.ต.ทรงกลด อ้างเป็นตัวแทนคณะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและให้กำลังใจต่อสมาชิกองค์กรแรงงานในการผลักดันและขับเคลื่อนโครงการคลองไทย (คลองกระ)

22 กรกฎาคม 2560 เปิดตัวโครงการ “จิตอาสา พลังชาติไทย” ที่บ้านเลขที่ 28/8 ซอย 2 หมู่บ้านพฤกษ์ภิรมย์ ถ.กาญจนาภิเษก ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี

10 กันยายน 2560 เปิดศูนย์ประสานงาน “จิตอาสา พลังชาติไทย” ที่บ้านโนนตุ่น ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น

5 ตุลาคม 2560 เปิดศูนย์ประสานงาน “จิตอาสา พลังชาติไทย ภาคอีสาน” ที่บ้านนาพูนทรัพย์ หมู่ 14 ต.บ้านธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี

ขณะเดียวกันยังมีการแจ้งข่าวขยายการจัดตั้งศูนย์ประสานงานกลุ่ม “จิตอาสา พลังชาติไทย” ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ อีกด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของ พล.ต.ทรงกลด เกิดขึ้นขณะที่ คสช. ยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองกระทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ

แต่กิจกรรม “จิตอาสา พลังชาติไทย” ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับการเปิดสาขาพรรคการเมือง กระทำอย่างเอิกเกริก

โดยแต่ละแห่งมีมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก บางแห่งมากร่วมพันคน

ซึ่งแน่นอนว่า ฝ่ายข่าวของ คสช. และกองทัพ คงไม่ “ตกข่าว” อย่างแน่นอน

แต่การเคลื่อนไหวของ พล.ต.ทรงกลด กลับเป็นไปอย่างเสรี

ซึ่งนี่เอง ทำให้มีการมองว่า กลุ่มผู้เคลื่อนไหว “จิตอาสา พลังชาติไทย” ไม่ธรรมดา

แม้ว่า พล.ต.ทรงกลด จะออกมาปฏิเสธกระแสข่าวจัดตั้งพรรคสนับสนุน คสช.

“ผมไม่รู้เรื่อง และไม่ทราบกระแสข่าวดังกล่าว ผมไม่ได้ทำการเมือง และยังไม่ได้จดทะเบียนพรรคการเมืองกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง”

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ทรงกลด รับว่า เป็นเพียงจิตอาสาในนามของพลังชาติไทย และเคยอยู่ใน คสช. จริง คือคณะเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ คสช. แม้ว่าจะจบภารกิจในคณะกรรมการชุดนี้ไปแล้ว แต่ยังได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ของคนทั้งประเทศ จึงไปทำจิตอาสารับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชน จากนั้นก็ส่งไปให้ คสช.

“การตั้งพรรคการเมือง ผมยืนยันว่ายังไม่ได้ทำอะไรทั้งสิ้น เรื่องการเมืองผมไม่ถนัด ซึ่งข่าวดังกล่าวผมไม่ได้ปฏิเสธอะไร เพราะไม่รู้เรื่อง ขณะเดียวกันเรื่องที่เกิดขึ้น คิดว่าคงเห็นว่าผมรู้จักคนเยอะ เลยเอาไปผูกกับการเมือง” พล.ต.ทรงกลด ระบุ

เมื่อเรื่องนี้ถูกนำไปถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แม้จะมีคำปฏิเสธว่าไม่รู้จักหรือใช้ พล.ต.ทรงกลด

แต่เมื่อประสบเข้ากับคำถาม “ในอนาคตมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ที่ คสช. จะตั้งพรรคการเมือง”

“ไม่ทราบ…ยกเว้นแต่มีความจำเป็นต้องตั้ง หากไม่จำเป็นก็ไม่ตั้ง ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น”

การไม่ปฏิเสธ แถมยังบอกว่า อาจจะตั้งพรรค “หากจำเป็น”

ดูจะไปในทางเดียวกับคำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ คือปฏิเสธไม่รู้จักทั้ง พล.ต.ทรงกลด และไม่รู้จัก “พลังชาติไทย” โดยสั่งให้มีการติดตามที่มาที่ไปแล้ว

แต่เมื่อถามถึงกระแสข่าว คสช. จะตั้งพรรคการเมือง เพื่อต้องการลดขนาดพรรคเพื่อไทย ว่า

“ผมจะไปลดขนาดใครได้ เป็นเรื่องที่ประชาชนจะเลือก จะตั้งพรรคหรือไม่ตั้ง ประชาชนเป็นคนเลือก จะเลือกใครก็แล้วแต่ วันนี้ต้องมีทางเลือกให้ประชาชนหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อไป ถ้าไม่มีทางเลือก เขาก็ไม่รู้จะเลือกใคร แล้วจะอย่างไรก็ไปคิดกันมาแล้วกัน ช่วยแนะนำทางออกให้ผมหน่อยว่าควรทำตัวอย่างไร”

ต้องขีดเส้นใต้คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ว่า “วันนี้ต้องมีทางเลือกให้ประชาชนหรือเปล่า”

เพราะดูเหมือนเป็นการส่งสัญญาณนัยๆ ว่า จำเป็นต้องมีพรรคใหม่ให้ประชาชนเลือกหรือไม่

นี่คือท่าทีอันสอดคล้องกันของ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นคือ ไม่ได้ปฏิเสธถึงการมีพรรคใหม่

หาก “มีความจำเป็น” และ “เป็นทางเลือกให้ประชาชน” ก็อาจต้องมีพรรคใหม่ ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่าจะมีจุดยืนหนุนฝ่ายใด

เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า พร้อมๆ กับการไม่ปฏิเสธการมีพรรคการเมืองใหม่

ก็มีคำถามว่า พรรคที่เริ่มตั้งไข่เหล่านี้ จะได้สิทธิพิเศษเหมือน “พลังชาติไทย” ของ พล.ต.ทรงกลด คือสามารถเคลื่อนไหวทำกิจกกรรมได้อย่างเสรีหรือไม่

ส่วนพรรคการเมืองที่มีอยู่ตอนนี้ ก็ชัดเจนแล้ว ตามคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ คือยังไม่ปลดล็อกให้

โดยอ้างเหตุผลว่า ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย ไม่ควรมีความขัดแย้งทางการเมืองหรือทางอื่นใดเกิดขึ้น

นอกจากนี้ กฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งยังไม่เรียบร้อย ต้องรอไปอีกระยะ

ทั้งนี้ คสช. ขอให้คำยืนยันว่า

1. ทุกอย่างยังเดินต่อไปตามโรดแม็ป คือ จัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับจากเมื่อกฎหมายเลือกตั้งซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ 1 ใน 4 ฉบับที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ

2. ส่วนที่เกรงว่าพรรคการเมืองจะทำไม่ทันภายใน 90 วันหรือ 180 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดและจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งนั้น คสช. ทราบเรื่องนี้ดีเพราะได้หารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด จึงคำนึงถึงอยู่แล้ว ขออย่าได้กังวล ระยะเวลาดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดขึ้น ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจึงอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมได้ ในกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 141 นายทะเบียนพรรคการเมืองเพียงคนเดียวก็สามารถอนุญาตให้ขยายเวลาดังกล่าวได้เป็นกรณีๆ ไป คสช. จึงจะไม่ทำให้เสียหายหรือกระทบต่อพรรคการเมืองใดๆ ไม่ว่าพรรคเก่าหรือพรรคตั้งใหม่เป็นอันขาด

โซ่จึงล่ามพรรคการเมืองต่อไป

ตรงข้ามกับว่าที่พรรคการเมืองใหม่อย่าง “พลังชาติไทย” หรืออื่นๆ ที่อาจกำลังฟอร์มตัวขึ้นมาเรื่อยๆ ภายใต้เจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนให้ “คสช.” สืบทอดอำนาจต่อไป