‘สามเส้า’ ของการทำงาน ‘สาธารณะ’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

การสนทนาในวงกินข้าวที่หมุนเวียนผ่านเข้ามาในชีวิตของผม มีทั้งเรื่องการทบทวนความหลังครั้งเก่ากับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน

การรับฟังความคิดเห็นของลูกหลานที่เขามีมุมมองเห็นโลกแตกต่างไปจากสิ่งที่เราคุ้นเคย

การแลกเปลี่ยนทัศนะกับเพื่อนฝูงวัยเดียวกันหรือต่างวัยที่มีความสนใจร่วมกันในบางเรื่อง

หรือเรื่อยไปจนถึงเรื่องการรับฟังความรู้ใหม่ที่เราไม่เคยอ่านพบหรือเคยรู้มาก่อน

วงกินข้าวสำหรับผมจึงมีประโยชน์หลายสถาน ทั้งอร่อยกับอาหารปากและอาหารสมอง

เรียกว่ากระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว หรือมากกว่าสองตัวเสียด้วยซ้ำ

 

ตัวอย่างล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้ ในวงสนทนามื้อค่ำซึ่งมีสมาชิกเพียงสี่คน

แน่นอนว่าผมต้องมีอายุสูงสุดเพราะจะอายุครบ 68 ปีในเดือนมิถุนายนนี้แล้ว

คนที่อายุรองลงไปอายุ 51 ปี สมาชิกคนที่สามอายุ 45 ปี จากนั้นอายุก็ลดลงไปจนถึงสมาชิกคนสุดท้ายซึ่งอายุเพียงแค่ 29 ปี

หัวข้อสนทนามีตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระเรื่อยไปจนถึงเรื่องที่เป็นแก่นสารบางอย่างและเป็นความสนใจร่วมกันของคนทั้งสี่

วันนั้นเราพูดกันถึงเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างเรื่องที่ต้องคิดคำนวณในเวลาทำงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม โดยสมาชิกคนหนึ่งบอกว่าได้ไปอ่านหนังสือที่ฝรั่งเขียนมา

แหะ แหะ วันนั้นเขาขานชื่อฝรั่งคนที่ว่านั้นด้วยครับ แต่ผมจำไม่ได้เสียแล้ว

เอาเถิด! คุณฝรั่งคนที่ผมจำชื่อไม่ได้คนนั้นเขาบอกว่า ในเวลาที่มนุษย์เราทำงานสาธารณะ หรืองานอะไรก็ตามมักจะต้องนึกถึงเรื่องสามอย่างเป็นสามเส้าประกอบกันอยู่เสมอ คือความโปร่งใส ความรวดเร็วว่องไว และเสถียรภาพ

ความโปร่งใสในที่นี้ หมายถึงกระบวนการที่อธิบายได้ มีขั้นตอน เป็นที่เปิดเผยรับรู้ได้ทั่วไป ไม่มีอะไรต้องงุบงิบ ใครถามอะไรก็ตอบคำถามได้ด้วยความมั่นใจเพราะไม่มีอะไรต้องปิดบัง รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นประกอบการทำงานด้วย

ส่วนความรวดเร็วว่องไวนั้น หมายถึงการทำงานที่เร่งรัดเวลา ไม่ปล่อยให้เอื่อยเฉื่อยล่าช้า ไม่มัวเสียเวลากับเรื่องกระจุกกระจิกจนเสียการใหญ่ ลดละขั้นตอนที่ไม่จำเป็นเสียบ้างก็ได้

ข้อสุดท้ายคือเสถียรภาพ หมายถึงการงานที่ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้วมีความยั่งยืนถาวร สามารถดำรงสภาพนั้นไปได้อีกนานพอสมควร ไม่ต้องรื้อเลิกเพิกถอนหลังจากทำงานเสร็จไปแล้วเพียงไม่เท่าไหร่

เรื่องราวทั้งสามหัวข้อนี้ ถ้าการงานเรื่องใดสามารถทำได้ครบถ้วนก็เยี่ยมยอดไปเลย เพราะมีทั้งความโปร่งใส ความรวดเร็วว่องไว รวมทั้งมีเสถียรภาพอยู่ยั้งยืนยงด้วย

แต่คุณฝรั่งใจร้ายคนนั้นบอกว่า ในชีวิตการทำงานที่เป็นจริง เรามักจะทำได้เพียงแค่สองข้อ และสอบตกอีกข้อหนึ่งอยู่เนืองๆ

นั่นแปลว่า ถ้าจะให้การงานสำเร็จรวดเร็วว่องไวและมีเสถียรภาพ ก็ต้องหย่อนในเรื่องของความโปร่งใส หรือถ้าจะให้โปร่งใส และมีเสถียรภาพด้วย ก็ไม่สามารถรวดเร็วว่องไวได้ อะไรทำนองนี้

 

ผมขอเติมความเห็นส่วนตัวของผมในที่นี้ว่า บางทีเราอาจจะทำได้เพียงข้อเดียวแล้วสอบตกอีกสองข้อก็เป็นได้

เป็นต้นว่าถ้าเน้นความโปร่งใส ซึ่งอาจจะหมายถึงการมีส่วนร่วม และการตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากหลายฝ่าย แน่นอนว่าในกระบวนการโปร่งใสเหล่านี้ย่อมไม่ทำอะไรให้รวดเร็วว่องไวได้ และจะหาเสถียรภาพก็ไม่ได้เหมือนกัน

จากประสบการณ์การทำงานชีวิตจริงของผม เราอาจจะรักษาส่วนผสมทั้งสามอย่างไว่ได้พร้อมกัน แต่ต้องไม่หวังว่าทุกอย่างจะต้องเต็มร้อยนะครับ

คนทำงานต้องเลือกผสมส่วนทั้งสามให้พอเหมาะพอดี

และเคล็ดลับคือ ไม่มีสูตรสำเร็จว่าต้องใช้สัดส่วนเท่าไหร่เป็นการถาวร หากแต่ต้องปรับลดหรือเพิ่มให้เหมาะกับเรื่องราวและเหตุการณ์

รวมทั้งต้องคิดถึงตัวแปรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบเนื่องถึงกันด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ในการพิจารณาร่างกฎหมายที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนสักฉบับหนึ่ง ไม่เป็นการดีเลยถ้าเราจะปิดบังไม่ให้ผู้คนทั้งหลายรู้เรื่องว่ากฎหมายนั้นอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว และมีสาระสำคัญพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วความโปร่งใสก็ต้องมีเป็นธรรมดา

ขณะเดียวกันถ้าเรามีข้อจำกัดเรื่องเวลา เช่นถ้าล่าช้าไปมาก ชะดีชะร้ายร่างกฎหมายนั้นอาจจะไม่มีโอกาสได้ผ่านมาเป็นกฎหมายจริงได้เลย

เพราะยุบสภาเสียก่อน ฮา!

การผสมส่วนระหว่างสองเรื่องนี้จึงต้องทำให้ลงตัวพอเหมาะ คือขณะที่ต้องโปร่งใสและรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะเพื่อประกอบการทำงาน ผมก็ต้องกำหนดขั้นตอนการทำงานให้กระชับพอสมควร ไม่ยืดยาดเป็นหนังสติ๊ก โดยการลดขั้นตอนนี้อาจจะหมายถึงการที่ฝ่ายเลขานุการรวมทั้งกรรมการต้องทำงานนอกเวลาราชการปกติเพื่อเร่งรัดขั้นตอนภายในของเราเองให้ทันต่อเวลา พร้อมกับที่ปล่อยให้ “ความโปร่งใส” สามารถทำงานได้เต็มที่

ถ้าทำอย่างนี้ได้ลงตัวแล้ว เมื่อกฎหมายเสร็จมาเป็นผลงานสุดท้าย ผมก็เชื่อว่ากฎหมายนั้นจะมีเสถียรภาพพอสมควร จะสามารถบังคับใช้ได้อีกเป็นเวลานานกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในวันข้างหน้า

ยกตัวอย่างอีกสักเรื่องหนึ่งก็ได้ครับ

สมมุติว่ามีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุร้ายแรงสะเทือนใจ มีคนตายจำนวนมาก และมีคนสงสัยว่าเหตุที่เกิดขึ้นอาจจะเนื่องมาจากความบกพร่องของอุปกรณ์ที่อยู่ในความดูแลของทางราชการหน่วยใดหน่วยหนึ่งที่เป็นเจ้าของเรื่องโดยตรง

เพื่อให้สังคมคลายความกังวลสงสัย เป็นธรรมดาที่หน่วยงานนั้นจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไรกันแน่

ถ้ากรรมการที่ตั้งขึ้นมีแต่บุคคลภายในของหน่วยราชการนั้นเอง โดยไม่มีคนนอกเข้าไปร่วมอยู่ด้วยเลย โดยข้ออ้างว่า “คนนอกจะไปรู้อะไร” การให้คะแนนความโปร่งใสก็สอบไม่ผ่านแล้วครับ

กรรมการแบบนี้อาจจะทำงานได้สำเร็จรวดเร็วเพราะไม่ต้องฟังเสียงนกเสียงกา แต่นึกเหรอครับว่าผลงานจะมีเสถียรภาพ

พูดกันตรงไปตรงมาคือใครเขาจะเชื่อ

ขอให้นึกถึงเรื่องการซื้อเครื่องจีที 200 เมื่อหลายปีก่อนเป็นตัวอย่างสิครับ

การตรวจสอบโดยบุคคลภายในหน่วยกันเองยังเหม็นขี้ฟันมาจนถึงทุกวันนี้

หลักเรื่องการสร้างความสมดุลระหว่างองค์ประกอบทั้งสาม คือเรื่องความโปร่งใส ความรวดเร็วว่องไว และเสถียรภาพนี้ น่าคิดน่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

 

ขอขอบคุณคุณฝรั่งที่เป็นเจ้าของความคิด น้องร่วมวงกินข้าวที่นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง ในฐานะที่เป็นครูพักลักจำของผม

และหวังว่าท่านอธิบดี ท่านปลัดกระทรวง ท่านรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งท่านนายพลทั้งหลาย ถ้าได้อ่านข้อความนี้ผ่านตาบ้าง ท่านจะลักจำไปใช้บ้าง ผมก็ไม่ขัดข้องแต่อย่างใด

เผื่อว่าเราจะได้เหม็นขี้ฟันน้อยลงบ้างไงครับ