“ฮะนะโอะกะ เซชู” แพทย์ผู้ผ่าตัดโดยใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายคนแรกของโลก

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง The Wife of Seishu Hanaoka

หลักฐานทางการแพทย์ระบุว่าผู้ที่ใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย (general anesthesia) ในการผ่าตัดเป็นผลสำเร็จครั้งแรกของโลกเป็นชาวญี่ปุ่น ชื่อ ฮะนะโอะกะ เซชู (Hanaoka Seishu)

ฮะนะโอะกะ เซชู เกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1760 ในยุคเอโดะ เขาเป็นบุตรของฮะนะโอะกะ นะโอะมิชิ แพทย์แห่งแคว้นคิชู ส่วนปู่ของเขาก็เป็นแพทย์เช่นกัน

เมื่ออายุได้ 23 ปี พ่อของเขาเดินทางไปศึกษาการแพทย์ที่โอซากา ส่วนตัวเซชูเดินทางไปเกียวโต เมืองเกียวโตในสมัยนั้นมีแพทย์ที่มีความสามารถหลายท่าน

เช่น อาจารย์ยะมะวะกิ โทะโยะ ซึ่งมีชื่อเสียงจากการจดบันทึกการผ่าศพซึ่งเป็นการแพทย์อย่างแรกของญี่ปุ่น

อาจารย์โยะชิมะซุ นังงะอิ ซึ่งเซชูฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อเรียนการแพทย์แผนโบราณของจีน

และอาจารย์ยะมะโตะ เค็นริว ซึ่งเซชูได้ศึกษาการแพทย์ฮอลันดาแผนใหม่กับท่านด้วย

ฮะนะโอะกะ เซชู

น่ารู้ด้วยว่าแม้ญี่ปุ่นในขณะนั้นจะมีนโยบาย “ปิดประเทศ” แต่ก็ยังติดต่อสัมพันธ์กับชาติอื่นบางชาติอยู่ เช่น จีน เกาหลี และฮอลันดา (คือ ฮอลแลนด์ หรือเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน)

ทั้งนี้ ฮอลันดาเป็นชาติตะวันตกเพียงชาติเดียวที่ญี่ปุ่นติดต่อสัมพันธ์ด้วยในช่วงเวลานั้น โดยจัดพื้นที่ให้ชาวดัตช์ (ฮอลันดา) อาศัยอยู่ในที่แห่งเดียวคือ เกาะเดจิมะ

เกาะเดจิมะเป็นเกาะเทียมขนาดเล็กที่สร้างขึ้นในอ่าวนางาซากิ เดิมใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พ่อค้าชาวโปรตุเกสและเพื่อขัดขวางการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของพวกเขา แต่เมื่อเกิดการจลาจลของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ขึ้น จึงมีการขับไล่ชาวโปรตุเกสออกไป จากนั้นชาวดัตช์ก็เข้ามาแทนที่

การที่ญี่ปุ่นยอมคบกับฮอลันดาก็เพราะเห็นว่าตนเองไม่เป็นฝ่ายเสียเปรียบ อีกทั้งฮอลันดาก็มุ่งเน้นการค้าขายเพียงอย่างเดียวโดยไม่คิดเผยแผ่ศาสนาคริสต์เข้าสู่ญี่ปุ่น

ซึ่งเรื่องการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นี่เองที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ญี่ปุ่นปิดประเทศ นอกเหนือไปจากความหวาดเกรงต่อภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกบางชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสเปน

นอกจากเป็นคู่ค้ากับญี่ปุ่นแล้ว ฮอลันดายังมีบทบาทสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะการเป็นผู้นำวิทยาการตะวันตกเข้าสู่ญี่ปุ่น โดยการศึกษาวิทยาการเหล่านี้จะใช้ภาษาดัตช์เป็นสื่อกลาง วิทยาการที่ชาวดัตช์นำมา เช่น การแพทย์ พฤกษศาสตร์ เภสัชตำรับ ตลอดจนถึงดาราศาสตร์ การทำปฏิทิน ภูมิศาสตร์ การสำรวจ และการทำแผนที่ เป็นต้น

ส่วนการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคนิคการแพทย์ เช่น การผ่าตัด ทำโดยแพทย์จากฮอลันดาที่มาประจำที่สถานีการค้าบนเกาะเดจิมะอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว

เกาะเดจิมะ (ใกล้ขอบล่างตรงกลางภาพ) และอ่าวนางาซากิ ในราวปี ค.ศ.1820
แสดงเรือของชาวดัตช์ 2 ลำ และเรือสำเภาจีนจำนวนมาก
ที่มาของภาพ > https://en.wikipedia.org/wiki/Dejima

ย้อนกลับไปที่ฮะนะโอะกะ เซชู อีกครั้ง เขาศึกษาการแพทย์ทั้งแผนจีนและแผนตะวันตกที่เกียวโตในช่วงที่มีอายุ 22-25 ปี เมื่อศึกษาจบเขาจึงกลับไปบ้านเกิดในปี ค.ศ.1785

ที่บ้านเกิดนี่เองที่เขาเริ่มค้นคว้าเรื่องยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย เซชูได้รับแรงบันดาลใจจากยาหมาเฝ้ยซ่านของหมอฮัวโต๋ (ในเรื่องสามก๊ก) ซึ่งเชื่อกันว่าหมอเทวดาผู้นี้เคยใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายในการผ่าตัด

หนังสือประวัติการแพทย์จีน เขียนโดยวิทิต วัฒนาวิบูล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ หมอชาวบ้าน จำกัด เล่าเกี่ยวกับยาของหมอฮัวโต๋ไว้ (โดยเรียกว่า “หมาฝู่ซ่าน”) สรุปได้ว่าเป็นยาที่ฮัวโต๋คิดขึ้นเมื่อเขารักษาโรคด้วยวิธีฝังเข็มและให้ยาสมุนไพรแล้วไม่ได้ผล ฮัวโต๋จะให้คนไข้กินยาดังกล่าวผสมเหล้า หลังจากคนไข้เกิดอาการชา เขาก็จะลงมือผ่าตัด หลังจากเย็บแผลเสร็จก็จะปิดแผลด้วยยาสมานแผล หลังปิดไว้ 4-5 วัน แผลก็จะหายเป็นปกติ หนึ่งเดือนให้หลังโรคก็จะหาย แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีใครรู้ว่ายาของหมอฮัวโต๋นั้นมีส่วนผสมที่แท้จริงอะไรบ้าง

ฮะนะโอะกะ เซชู ทดลองปรุงยาโดยใช้ส่วนต่างๆ ของพืชที่คัดเลือกมาแล้ว เช่น นำดอก ต้น หรือใบของลำโพงขาวมาบดแล้วชงดื่ม ซึ่งจะทำให้คนไข้หลับลึก ร่างกายจะชาและไม่รู้สึกเจ็บปวด (แต่ถ้าดื่มมากเกินไปอาจเสียชีวิตได้) ทีนี้ลำโพงขาวตัวเดียวออกฤทธิ์เบาไป เขาจึงลองผสมรากของต้นอะโคไนต์ลงไป รากของอะโคไนต์มีพิษรุนแรง ใช้เป็นยาพิษอาบหัวธนูเพื่อฆ่าคนหรือสัตว์ป่าได้ ส่วนผสมของยาที่เซชูคิดค้นขึ้นมีมากกว่านี้ อาจดูได้ในสารานุกรม Wikipedia หัวข้อ Hanaoka Seishu

เขาทดลองยาที่ปรุงขึ้นกับสัตว์ เช่น สุนัขและแมว ปรากฏว่าได้ผล

แต่กับมนุษย์ล่ะ?

 

ปรากฏว่า คะเอะ ภรรยาของเซชูยอมเป็น “หนูทดลอง” สำหรับยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายที่เขาคิดค้นขึ้น ดังนั้น การทดลองครั้งประวัติศาสตร์จึงเกิดขึ้นเพราะความร่วมมือจากภรรยาของเขานั่นเอง

การทดลองครั้งนั้นนับว่าเป็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ เพราะแม้ว่าจะได้ผล แต่คะเอะกลับตาบอดเนื่องจากผลข้างเคียงของยา (มีภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตคะเอะด้วย สร้างในปี ค.ศ.1967 ชื่อเรื่อง The Wife of Seishu Hanaoka ความยาว 1 ชั่วโมง 40 นาที)

เดือนกันยายน ค.ศ.1804 ชายคนหนึ่งนำภรรยาอายุราว 60 ปีของเขาซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมมาให้เซชูรักษา ในสมัยนั้น มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าปล่อยไว้ มะเร็งจะลามไปทั่วร่างกายและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

วิธีเดียวคือ ต้องตัดเต้านมที่เป็นมะเร็งทิ้ง ดังนั้น จึงถึงเวลาที่จะใช้ยา “มะฟุสึซัง” ที่เขาคิดค้นขึ้นและเคยทดลองกับคะเอะมาแล้ว

วันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.1804 การผ่าตัดครั้งประวัติศาสตร์ก็เริ่มต้นขึ้น นี่คือการผ่าตัดโดยวางยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายครั้งแรกของโลก และประสบผลสำเร็จ

ข่าวความสำเร็จของเซชูแพร่สะพัดไปทั่วญี่ปุ่น มีคนหลายร้อยคนจากทั่วประเทศเดินทางมาหาเข้าที่หมู่บ้านฮิระยะมะเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ เขากระตือรือร้นในการสอนและถ่ายทอดความรู้และเทคนิคต่างๆ ให้แก่ศิษย์

อย่างไรก็ดี ผลงานการใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายของเขาไม่แพร่หลายออกสู่โลกเนื่องจากญี่ปุ่นปิดประเทศ

 

การผ่าตัดโดยวางยาระงับความรู้สึกครั้งแรกในโลกตะวันตกเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ.1842 โดย ครอว์ฟอร์ด วิลเลียมสัน ลอง (Crawford Williamson Long) ช้ากว่าการผ่าตัดของเซชูราว 38 ปี

แต่ครอว์ฟอร์ด ลอง ได้รับเครดิตน้อยกว่าที่ควรเนื่องจากเขาตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในอีก 7 ปีต่อมาคือ ค.ศ.1849 ทว่า ใน ค.ศ.1846 วิลเลียม มอร์ตัน (William Morton) ผ่าตัดโดยใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายและประกาศความสำเร็จให้เป็นที่รับทราบโดยทั่วไป

เซชูยังประดิษฐ์และดัดแปลงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดด้วย เขายังเขียนหนังสือหลายเล่มบันทึกความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ด้วยลายมือของตนเอง บางเล่มมีภาพประกอบด้วย บันทึกระบุว่าตลอดชั่วชีวิต เขาได้ผ่าตัดมะเร็งทรวงอกทั้งสิ้นกว่า 150 ครั้ง นี่ยังไม่นับการผ่าตัดอื่นๆ อีก เช่น ผ่าตัดเนื้องอก ผ่าตัดนำนิ่วออก และการตัดแขนขาออก เป็นต้น

ฮะนะโอะกะ เซชู ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นแพทย์ประจำแคว้น และจากโลกไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1835 ในวัย 85 ปี