‘ล่องนาวา’ ‘น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง’ : เปิดตำนานเพลงดังจากสมัยน้ำท่วม 2485

ณัฐพล ใจจริง
แผ่นเสียงเพลงน้ำท่วมของศรคีรี ศรีประจวบ เครดิตภาพ : Discogs และจอมพล ป. เจ้าของตำนานสำนวน

“ลอยล่องนาวาลอยมาในสาคร แสงจันทร์อ่อนๆ สะท้อนงามอร่ามตา ลมสะบัดโชยพัดนาวา…”
(เอิบ ประไพเพลงผสม และเอื้อ สุนทรสนาน, 2485)

“น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า…”
(ไพบูลย์ บุตรขัน, 2513)

 

ความพยายามช่วยเหลือประชาชนครั้งน้ำท่วมนั้น

จอมพล ป.พิบูลสงคราม เล่าถึงการทำงานของรัฐบาลว่า

“ฉันเห็นการประชุมคนะรัถมนตรี ย้ายมาประชุมที่ตึกไทยคู่ฟ้า…ส่วนมากของวาระประชุมก็เรื่องช่วยราสดรน้ำท่วม ท่านรัถมนตรีคลัง ควักเงินแจกพอไช้”

(สามัคคีไทย, 91)

เหล่านาวาลอยที่หน้าวัดพระแก้วครั้งน้ำท่วม 2485

วิทยุกรมโฆษณาการ
กระจายเสียงเพลง “ล่องนาวา”

ครั้งนั้น หากใครเปิดวิทยุกรมโฆษณาการฟังช่วงหัวค่ำจะมีรายการสนทนาการเมืองของนายมั่น รักชาติ-นายคง รักไทย มีการสนทนาโจมตีฝ่ายสัมพันธมิตร และมีเพลงจากวงกรมโฆษณาการให้ฟังว่า “ในยามที่น้ำท่วม มองไปทางไหนก็เวิ้งเจิ่งน้ำ ก็มีแต่วิทยุของกรมโฆษณาการนั่นแหละที่ส่งเสียงปลอบใจน้ำท่วม มีเพลงของกรมโฆษณาการกระจายเสียงเพลงกล่อมใจ” (ลาวัณย์, 2536)

จากความทรงจำของลาวัณย์ โชตามระ เพลงกล่อมใจครั้งน้ำท่วมที่กระจายเสียงจากสถานีวิทยุกรมโฆษณาการในครั้งนั้น คือเพลง “ล่องนาวา” (2485)

“ลอยล่องนาวาลอยมาในสาคร แสงจันทร์อ่อนๆ สะท้อนงามอร่ามตา ลมสะบัดโชยพัดนาวา ลอยลิ่วดูระลอกเป็นริ้ว พลิ้วแลกระเพื่อมเลื่อมมลาย แสงจันทร์เฉิดฉาย เห็นเป็นประกายสว่างจ้า งามระยับจับตา ดาราเลิศเพริดพราย

ลอยล่องนาวาลอยมาในวารี งามยามราตรี ห้วงนทีเป็นที่หย่อนใจ ดวงศศิธรแขไข แสงนวลชวนชื่น ดาราลอยดาษดื่น พื้นภาคนภามากมาย ดาวล้อมเดือนเกลื่อนกระจาย แสงพรายสว่างวาวกระจ่างตา ลอยล่องนาวา ลอยมาพาให้เพลิดเพลิน”

เพลง “ล่องนาวา” ผู้ประพันธ์คำร้อง คือ ครูเอิบ ประไพเพลงผสม (2445-2514) ส่วนครูเอื้อ สุนทรสนาน (2453-2524) ประพันธ์ทำนองเพลง

อย่างไรก็ตาม ถ้าความทรงจำของลาวัณย์แม่นตรงนั้น มีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลและกรมโฆษณาการน่าจะมอบหมายครูเอิบ แห่งแผนกดุริยางค์สากล กองการสังคีต กรมศิลปากร และครูเอื้อ นายวงดนตรีกรมโฆษณาการ ทั้งคู่เคยร่วมงานกันในกรมมหรสพร่วมกันแต่งเพลงปลอบขวัญประชาชนชาวไทยให้คลายทุกข์โศกจากน้ำท่วมในครานั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีเพลงน้ำท่วมที่ติดหูคนมาจนถึงปัจจุบัน คือเพลง “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” (2513) ที่ไพบูลย์ บุตรขัน (2461-2515) ครูเพลงลูกทุ่งนามกระเดื่องเป็นผู้แต่ง คำร้องช่วงตอนต้นที่ติดหูคนทั่วบ้านทั่วเมืองว่า “น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง” นั้น ไพบูลย์นำมาจากเหตุการณ์จริงเมื่อน้ำท่วมพระนคร 2485

“ล่องนาวา” เพลงที่ถูกเปิดผ่านวิทยุการโฆษณาการ เอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนอง

จากความทรงจำของครูไพบูลย์

เกือบ 3 ทศวรรษจากความทรงจำของไพบูลย์ ถึงข้อความ “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” ของท่านผู้นำเมื่อครั้งน้ำท่วมกลายเป็นแรงดลใจให้เขานำข้อความดังกล่าวกลับมาใช้ผสมผสานกับประสบการณ์ของศรคีรี ศรีประจวบ นักร้องเพลงลูกทุ่งนามกระเดื่อง แต่งออกมาเป็นเพลงลูกทุ่งที่ติดหูติดปากผู้คนและเป็นเพลงประกอบสารคดีและข่าวเรื่องน้ำท่วมตลอดมา

ที่มาของข้อความ น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้งนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี จึงพูด “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง”

เหตุที่จอมพล ป.กล่าวนั้น คงต้องการให้กำลังใจประชาชน เจ้าหน้าที่ รวมทั้งตนเอง (silpa-mag.com/article_38197)

เอิบ ประไพเพลงผสม และเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ร่วมแต่งเพลง “ล่องนาวา”

เปิดที่มาของคำร้อง
“น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง”

สําหรับที่มาของคำร้องท่อนแรกของเพลงน้ำท่วมของครูไพบูลย์ที่ติดหูสังคมไทยมายาวนานนั้น จากหนังสือ “รวมเรื่องสามัคคีไทย” (2486) ซึ่งเป็นงานเขียนของจอมพล ป.นั้น เขาเล่าว่า เมื่อ 8 ตุลาคม 2485 เขาเขียนบทความเรื่อง “ไต้พระจันทไม่มีของใหม่” ระหว่างตรวจราชการน้ำท่วมที่หน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี

เขาเห็นว่า แม้นนาข้าวในแถบภาคกลาง เช่น นครสวรรค์ ลพบุร อยุธยา สิงห์บุรี ปทุมธานีเสียหายจากน้ำท่วม แต่ข้าวในพื้นที่อื่นกลับดีกว่าปีที่ผ่าน

เขาเห็นว่า น้ำท่วมปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอในภาคกลางของไทย การตีความเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นกับทัศนคติ บ้างก็ว่าดี บ้างก็ว่าไม่ดี

สำหรับตัวเขาแล้ว ไม่มองว่า น้ำท่วมดีหรือไม่ดี แต่เขาขอเป็นพวกที่สาม คือ ยึดถือประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญว่า

“ฉันคิดเอาพวกที่ 3 กล่าวคือ อะไรจะเป็นประโยชน์แก่การส้างตนเอง ส้างครอบครัวและส้างชาติตามคำแนะนำของรัถบาลท่านแล้ว ฉันว่าดีแล้ว ขอบคุณ และจะทำตามนั้นทุกวิถีทาง ดังนั้น น้ำท่วมคราวนี้ฉันไม่ชอบ ที่ท่วมมากเกินไป ไม่เปนประโยชน์แก่การส้างตนเอง ส้างชาติอะไรเลย ไนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาทำไห้ชาวบ้านเดือดร้อน…” (สามัคคีไทย, 56-58)

เขาใช้คำว่า น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง ในความหมายขึ้นอยู่กับว่า เรื่องน้ำท่วมนั้นจะพิจารณาจากแง่มุมไหน เช่น ผู้พูดอาศัยอยู่ที่จังหวัดใด เพราะแม้นข้าวจะเสียหายมากในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ข้าวในที่จังหวัดอื่นๆ กลับดีกว่าปีที่ผ่านมามาก

ดังนั้น “ดูจะจิงหย่างที่พูดกันทั่วไป หรือจะไหลตามน้ำมาก็ได้ว่า น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” (สามัคคีไทย, 61)

ไพบูลย์ บุตรขัน และศรีคีรี ศรีประจวบ

สําหรับศรคีรี ศรีประจวบ นักร้องลูกทุ่ง ผู้ร้องเพลง “น้ำท่วม” ของครูไพบูลย์นั้น พื้นเพครอบครัวเป็นคนบางคนที สมุทรสงคราม ต่อมา เขาย้ายไปปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ทำไร่สับปะรด ก่อนเข้าวงการเมื่อประมาณปี 2511-2512 เมื่อเขาฝากตัวเป็นศิษย์ครูไพบูลย์ ได้เล่าประสบการณ์ของตนเองที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมไร่สับปะรดที่ประจวบคีรีขันธ์เสียหายให้ครูไพบูลย์ฟัง

จากนั้น ครูไพบูลย์ก็แต่งเป็นเพลง “น้ำท่วม” ที่ขึ้นต้นด้วยคำพูดของท่านผู้นำครั้งนั้นกับประสบการณ์ร่วมสมัยของนักร้องไว้ในเพลงเดียวกัน จนทำให้ชื่อของศรคีรีและเพลงนี้ดังเป็นพลุแตกจนถึงทุกวันนี้ (silpa-mag.com/article_38197)

ดังเนื้อร้องในเพลงว่า “น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า น้ำท่วมปีนี้ทุกบ้านล้วนมีแต่คราบน้ำตา พี่หนีน้ำขึ้นบนหลังคา น้ำตาไหลคลอสายชล น้ำท่วม ไต้ฝุ่นกระหน่ำซ้ำสอง เสียงพายุก้อง เหมือนเสียงของมัจจุราชบ่น น้ำท่วมที่ไหน ก็ต้องเสียใจด้วยกันทุกคน เพราะต้องพบกับความยากจน เหมือนคนหมดเนื้อสิ้นตัว

บ้านพี่ก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน ที่ประจวบคีรีขันธ์ เหมือนกันไปทุกครอบครัว ผืนนาก็ล่ม ไร่แตงก็จมเสียหายไปทั่ว พี่จึงเหมือนคนหมดตัว หมดตัวแล้วนะแก้วตา น้ำท่วม พี่ต้องผิดหวังชอกช้ำ พี่คิดเช้าค่ำ ปล่อยให้น้ำท่วมตายดีกว่า น้องอยู่บ้านดอน ช่างไม่อาทรถึงพี่สักครา ไม่มาช่วยพี่ซับน้ำตา ไม่มามองพี่บ้างเลย”

กล่าวโดยสรุป ตำนานเพลงน้ำท่วมของไทยมี 2 เพลงที่เกี่ยวข้องเหตุการณ์น้ำท่วม 2485 กล่าวคือ เพลง “ล่องนาวา” (2485) อันเป็นผลงานร่วมระหว่างครูเอิบและครูเอื้อถูกเปิดขับกล่อมคนไทยในช่วงน้ำท่วมนั้น และเหตุการณ์นั้นยังได้เป็นแรงดลใจให้เกิดเพลงน้ำท่วมอีกเพลง คือ “น้ำท่วม” (2513) ของครูไพบูลย์นั่นเอง