ย้อนพินิจ ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง’ (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ย้อนพินิจ ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง’ (จบ)

 

(ปรับแต่งเรียบเรียงจากคำอภิปรายของผู้เขียนเกี่ยวกับหนังสือ ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย ของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2565)

4.เอกภพแห่งพันธะธรรมกับความรุนแรงตามคุณธรรม (Universe of Moral Obligation & Virtuous Violence) (ต่อ)

ประเด็นที่ผมเห็นต่างจากอาจารย์ประจักษ์คือการตีความคำว่า “เอกภพแห่งพันธะธรรม” (universe of moral obligation) โดยเฉพาะในความสัมพันธ์กับ “ความรุนแรงตามคุณธรรม” (virtuous violence)

ขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้อวดอ้างว่าตีความตามต้นฉบับตำราภาษาอังกฤษดั้งเดิม เพียงแค่อาศัยที่เข้าใจจากการตีความของอาจารย์ประจักษ์อีกที ดังนั้น ที่เห็นต่างนี้จึงเห็นต่างจากที่ผู้เขียนตีความ

อาจารย์ประจักษ์ตีความ “เอกภพแห่งพันธะธรรม” ในทำนองว่าผู้กระทำการนึกนับรวมใครบ้างอยู่ใน พื้นที่/เอกภพของตน ที่ตัวเองมีพันธะหน้าที่ทางศีลธรรมจะพึงปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นฉันเพื่อนมนุษย์ ดังนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่าชาว กปปส.นึกนับรวมมือปืนป๊อปคอร์นในอยู่เอกภพแห่งพันธะธรรมของตน ต้องห่วงใยช่วยเหลือยกย่องสนับสนุน

แต่ในทางกลับกัน พวกเขาไม่นึกนับรวมลุงอะแกว (ผู้ถูกยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตต่อมา) ว่าอยู่ในเอกภพนั้น ถือว่าอยู่นอกเอกภพ เป็นคนนอก พวกเขาจึงไม่มีพันธะธรรมที่จะต้องไปแคร์ห่วงใยดูแลช่วยเหลืออะไร (น.87, 95) และจะถูกเล่นงานด้วย “ความรุนแรงตามคุณธรรม” ก็ดีแล้ว

ผมอยากจะลองตีความต่างออกไปว่า “เอกภพแห่งพันธะธรรม” อาจจะหรือน่าจะนับรวมคนทั้งหมด (universe = everything that exists anywhere) กล่าวคือ ไม่เพียงนับเฉพาะ “พวกเรา” แต่รวม “พวกเขา” เอาไว้ด้วยหมด (น.93)

และดังนั้น พันธะธรรมที่บุคคลพึงมีจึงครอบคลุมคนทั้งหมด (พวกเรา+พวกเขา) เพียงแต่ พันธะธรรม ที่พึ่งมีต่อพวกเราด้วยกันเอง ย่อมต่างจาก พันธะธรรม ที่พึงมีต่อพวกเขาอยู่

กล่าวคือ ต่อพวกเราต้องห่วงใยช่วยเหลือเอื้อเฟื้อสนับสนุนฉันเพื่อนมนุษย์ แต่ต่อพวกมันต้องดูหมิ่นเหยียดหยามเคียดแค้นอาฆาตและต้องใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นปราบปรามเข่นฆ่ามัน การทำลายพวกมันเป็นพันธะและหน้าที่ที่พึงกระทำตามหลักศีลธรรม ถ้าไม่ทำไม่ฆ่าถือว่าบาป เข้าทำนอง “ไม่ฆ่าคอมมิวนิสต์เป็นบาป” (ซึ่งหนักข้อกว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ด้วยซ้ำ!) ชาวพุทธจึงพึงทำเหมือนฆ่าปลาต้มแกงเอามาตักบาตรถวายพระย่อมเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนและได้บุญนั่นแล (น.86, 93)

ในนัยที่ครอบคลุมคนทั้งหมด แต่แบ่งแยกจากกันเป็นพวกเรากับพวกเขา มิได้เป็นเนื้อเดียว (inclusive but divided) ของ “เอกภพแห่งพันธะธรรม” นี้ “ความรุนแรงตามคุณธรรม” ย่อมอยู่ข้างในและเป็นเนื้อในส่วนหนึ่งของ “เอกภพแห่งพันธะธรรม” นั่นเอง ไม่ใช่อยู่ข้างนอกหรือทำต่อคนนอก

ฉะนั้น การชังชาติจึงผิดและต้องถูกเล่นงานโดยผู้รักชาติ เพราะคนชังชาติเป็นคนไทยอยู่ร่วม “เอกภพแห่งพันธะธรรม” เดียวกับผู้รักชาตินั้นแล หากแม้นคนชังชาติ (ไทย) เป็นชาวอะบิสซีเนียหรือชาวปาปัวนิวกินี ต่างด้าวต่างแดนต่างเอกภพแห่งพันธะธรรม มันก็ย่อมเป็นเรื่อง “ช่างหัวมัน” ที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา เพราะพวกเขาเป็นคนนอก ไม่ใช่คนไทยร่วมชาติ ไม่ชวนให้ผู้รักชาติชาวไทยต้องโกรธขึ้งเคียดแค้นเล่นงานเอาด้วยกำลังรุนแรง

ภาพจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_1219009 , 9 พฤศจิกายน 2561

5.เรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จ (Totalizing Metanarrative)

ข้อวิเคราะห์วิจารณ์ทางการเมืองวัฒนธรรมต่อวาทกรรมคนดีของอาจารย์ประจักษ์ ทำให้ผมคิดถึงตอนหนึ่งในหนังสือ Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation (1994, กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ) ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งวิเคราะห์การเชื่อมโยงหลอมรวม ยืมพลังถ่ายทอดพลังระหว่างวาทกรรมภูมิกายากับวาทกรรมอื่นๆ เช่น วาทกรรมแผ่นดิน/ธรรมชาติ, วาทกรรมพระราชา/พระราชอาณาเขต, วาทกรรมประเทศชาติ และวาทกรรมประวัติศาสตร์ (ในบท 7 ตอน The Geo-Body Empowered และบท 8)

กล่าวคือ วาทกรรม “คนดี” ของ กปปส.นั้นดูเหมือนจะมีฐานะบทบาทหน้าที่และพลังเป็นเรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จ (Totalizing Metanarrative) เทียบเคียงได้กับวาทกรรมภูมิกายาในงานของอาจารย์ธงชัย ในความหมายต่างๆ ดังต่อไปนี้ :

1. วาทกรรม “คนดี” เป็นหลักการและ/หรือความหมายสำคัญสูงสุดยอด กลบทับหลักการและ/หรือความหมายอื่นลงให้เป็นแค่กลไกเครื่องมือของตน

2. มันแสดงบทบาทหน้าที่เป็น สัญบัญญัติ (semiotic legislator) อันทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยไร้เทียมทานและไร้ขอบเขตทางวัฒนธรรมและสัญศาสตร์ (culturally and semiotically sovereign and omnipotent) คอยกำหนดนิยามบัญญัติสิ่งที่เป็นปกติธรรมดาและอภิปกติธรรมดา (the normal and the metanormal) ด้วย (อิงแนวคิดของ Zygmunt Bauman ใน Legislators and Interpreters : On Modernity, Post-modernity and Intellectuals, 1989)

3. มันถือเป็น อภิปกติ หรือ อภิปทัสถาน (Metanorm) สิ่งที่เกิดขึ้นทำขึ้นตามมันจึงไม่ใช่สภาวะยกเว้น (the state of exception) แต่เป็นสิ่งอภิปกติธรรมดา (the metanormal) ต่างหาก

4. มันเป็นวาทกรรมหลักที่สามารถแทรกแซงกำกับเปลี่ยนแปลงความหมายนัยของวาทกรรมรองอื่นๆ ทั้งหมด อาทิ :

– เปลี่ยนวาทกรรมศีลธรรมปกติให้กลายเป็น -> ธรรมราชา

– เปลี่ยนวาทกรรมชาติ -> ราชาชาตินิยม/ความเป็นไทย

– เปลี่ยนวาทกรรมประชาธิปไตย -> ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

– เปลี่ยนวาทกรรมกฎหมาย -> ราชนิติธรรม (ธงชัย วินิจจะกูล), ราชธรรมนูญ (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ)

– เปลี่ยนวาทกรรมจิตเวช -> การปฏิบัติจัดการแตกต่างกันในกรณีคุณทิวากร วิถีตน (https://www.bbc.com/thai/thailand-53542627) กับคุณเค ร้อยล้าน หรือ คเณศพิศณุเทพ (https://www.prachachat.net/general/news-856319)

– วาทกรรมจริง/เท็จ -> กลายเป็นความรับเชื่อว่าข่าวภาพน่าเชื่อถือเพราะน่าจะจริงได้ แค่ยังไม่จริงเท่านั้นเอง (ดู “รัสเซีย : ศูนย์ต้านข่าวปลอมของฮ่องกงระบุปูตินไม่ได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ ร.9”, https://www.bbc.com/thai/60970015)

– วาทกรรมประวัติศาสตร์ -> ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนของไทย (ดู ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, เสียดินแดนมลายู : ประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist, 2562)

เมื่อพิจารณาดูการเคลื่อนไหวของ กปปส. และการใช้อำนาจของรัฐบาล คสช. หลังจากนั้น อาจสรุปได้ว่าผลบั้นปลายทางการเมืองวัฒนธรรมของ [การใช้การบังคับทางกฎหมายและกายภาพ + ความรุนแรงของรัฐและกลุ่มบุคคล] -> [อภิมหาโกลาหลและความล้มเหลวทางการสื่อความหมายในสังคม] นั่นเอง (Legal & physical coercion + state & non-state violence -> Semiotic chaos & failure)