กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (26)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (26)

 

ปรัชญาอิสลาม (ต่อ)

ถ้าศาสนาหรือลัทธิใดปฏิเสธที่จะคล้อยตามความจำเป็นของกาลเวลา และไม่ยอมก้าวตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปก็ย่อมไม่ก้าวหน้าอย่างแน่นอน ในไม่ช้าอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ล้าหลังทางประวัติศาสตร์

หลักการของศาสนาต้องคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่รายละเอียดต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้

นักศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามรู้ดีว่า มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดแห่งชีวิตของมุสลิมมากมาย โดยเคาะลีฟะฮ์ (Caliph) ซึ่งเป็นผู้ปกครองสมัยต้นๆ และนี่เองทำให้เอาชนะต่อศัตรูทั้งภายนอกและภายในได้ จึงกลายเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือทั่วไปในโลก เหมาะสำหรับผู้ที่สูงส่งและต่ำต้อยเช่นเดียวกัน

ตามหลักคิดของอิสลาม สากลจักรวาลมิได้เป็นเรื่องบังเอิญ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบอุบัติเหตุหรือข้อเท็จจริงทื่อๆ แต่เป็นจักรวาลที่เต็มไปด้วยความมุ่งหมาย จักรวาลนี้ไม่อาจจะเป็นผลของการเคลื่อนไหวอย่างมืดบอดโดยไม่มีความมุ่งหมายอะไรได้

ในเวลาเดียวกันชาวมุสลิมก็มีคัมภีร์อัล-กุรอานเป็นทางนำให้แก่ชีวิต ทั้งชีวิตทางธรรมและทางโลก

นักปรัชญาอย่างเมาลานา อะซาด มิได้ถือว่าอัล-กุรอานเป็นตำราทางกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ ฟิสิกส์ หรือดาราศาสตร์เท่านั้น แต่อัล-กุรอานเป็นน้ำพุแห่งความจริงแท้ทางจิตวิญญาณและศีลธรรม

มุสลิมต้องใช้พลังแห่งความเข้าใจของเขาและเหตุผล ซึ่งเป็นของกำนัลของพระผู้เป็นเจ้ามากเช่นเดียวกับวะหฺยุหรือวิวรณ์ เพื่อหาความรู้ในเรื่องธรรมชาติและระเบียบสังคมด้วย

 

ในขณะที่นักปรัชญาอย่างอัล-ฆอซาลี กล่าวว่า การละหมาดจะมีคุณค่าอย่างเต็มที่ ถ้าหากว่ากระทำไปด้วยจิตใจและวิญญาณ ด้วยความเข้าใจในถ้อยคำที่ถูกใช้และด้วยการขัดเกลาให้บริสุทธิ์ภายใน การยกเว้นจากความคิดทุกอย่างนอกจากพระผู้เป็นเจ้าด้วยการเคารพสักการะยำเกรง และมีความหวัง

การถือศีลอดจะมีคุณค่าถ้าหากทำให้จิตวิญญาณเป็นอิสระที่จะหันกลับไปสู่พระผู้เป็นเจ้า

การให้ซะกาต (ทานบังคับ) ทำไปด้วยความปรารถนาที่จะเชื่อฟังพระเจ้า และด้วยการถือว่าสิ่งของต่างๆ ในโลกนี้มีค่าเพียงเล็กน้อย

การประกอบพิธีฮัจญ์จะทำขึ้นด้วยความตั้งใจอันบริสุทธิ์และด้วยความคิดถึงการสิ้นสุดของชีวิต นึกถึงความตายและการตัดสิน

ในทรรศนะของอัล-ฆอซาลี ธรรมชาติของมนุษย์ประกอบด้วยส่วนประกอบ 4 อย่าง ซึ่งทำให้เขามีลักษณะ 4 อย่าง คือ ความเป็นสัตว์ ความทารุณโหดร้าย ความเป็นมารร้าย และความเป็นมะลาอิกะฮ์ (อรูปวิญญาณเทียบเท่าทูตสวรรค์) ในตัวมนุษย์ มีอะไรบางอย่างของสุกร สุนัข ปีศาจ และผู้มีใจกุศล

สุกร ก็คือความหิวโหย ซึ่งมิได้กระตุ้นให้เกิดรูปแบบของมันแต่อย่างเดียว แต่กระตุ้นกิเลสและความโลภของมันด้วย

สุนัข คืออารมณ์รุนแรงซึ่งเห่ากระโชกและกัด ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น

ปีศาจ คือลักษณะซึ่งสนับสนุนลักษณะอีกสองอย่าง คือ

สุกร แห่งความละโมบทำให้เขาปราศจากความอาย มีกิเลส ปากร้าย และอื่นๆ

ส่วนสุนัขแห่งตัณหา ก็ทำให้เกิดความเย่อหยิ่ง ไร้สาระ ความโมโห โกรธ และความกดขี่

สองลักษณะนี้เมื่อถูกควบคุมโดยพลังของปีศาจ ก็ย่อมเกิดความหลอกลวง ทรยศ ความหายนะ ไม่มีความหมาย ฯลฯ แต่ถ้าความเป็นมะลาอิกะฮ์ในตัวมนุษย์มีอยู่สูงกว่า ก็จะมีคุณสมบัติแห่งความรู้ ความฉลาด ความศรัทธา ความจริงแท้ ฯลฯ

ความรู้ หมายถึงพลังของการวางหลักการหรือลงความเห็นทั่วๆ ไป เป็นความคิด ความเข้าใจในเรื่องความคิดที่เป็นนามธรรมและการเป็นเจ้าของความจริงทางสติปัญญา สำหรับเจตนารมณ์นั้น หมายถึงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะได้มาซึ่งสิ่งของ ซึ่งหลังจากพิจารณาถึงความสำคัญของมันแล้วก็ได้ประกาศเหตุผลและความเป็นสิ่งที่ดี

มันแตกต่างจากความปรารถนาแบบสัตว์เดรัจฉานอย่างตรงข้ามกันเลยทีเดียว

 

ในบรรดานักปรัชญามุสลิมนั้น อิบนุ ค็อลดูน เป็นผู้มีความสามารถและสติปัญญาอย่างยิ่ง

ท่านเป็นผู้ให้ความหมายใหม่ของปรัชญาว่าเป็นวิทยาการที่อธิบายถึงสิ่งที่มีอยู่

ยิ่งกว่านั้นท่านยังเป็นผู้อธิบายปรัชญาแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกทางสังคมวิทยาปัจจุบันและเป็นพื้นฐานของกระบวนการสมัยใหม่หลายอย่าง

ท่านได้อธิบายถึงทฤษฎีของท่านไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไปเล่มหนึ่งของท่าน ประวัติศาสตร์ตอนนั้นมีชื่อว่ามุก็อดดิมะฮ์ หรือคำนำ

ในขณะที่อะบูร็อยฮาน เบรูนี ผู้อยู่สมัยเดียวกับอิบนุสินา เป็นผู้มีความรู้ดีในเรื่องปรัชญาและลัทธิศาสนาของกรีก เปอร์เซีย และอินเดีย

หนังสือที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกของท่านคืออัล-อะซารุลบากิยะฮ์ และกิตาบุลฮินด์ เป็นประจักษ์พยานได้ถึงความรอบรู้แตกฉานของผู้แต่ง

ส่วนมัสอูดีก็มีความรู้ละเอียดในเรื่องสำนักคิดต่างๆ ที่มีอยู่ในกรีซ หนังสือของท่านชื่อมุรูญุล ซะฮับ ได้สรุปถึงทรรศนะและทฤษฎีของนักปรัชญาต่างๆ ของกรีกเอาไว้

ในคำสอนด้านปรัชญาว่าด้วยการอยู่ร่วมสังคมนั้น อิสลามสอนว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงโปรดผู้ที่ให้เงินเพื่อให้คนอื่นแลเห็น เพราะคนเช่นนั้นไม่มีความศรัทธาในพระเจ้าและวันสุดท้าย การโอ้อวดเช่นนั้นย่อมลบล้างจิตกุศลของพวกเขาเสีย ซึ่งเมื่อฝนตกหนักจะไม่ทิ้งอะไรไว้บนหินเปล่าๆ เลย

จึงอาจกล่าวได้ว่าอิสลามมิได้มีเพียงความคิดเรื่องอุมมะฮ์ (ประชาชาติหรือชุมชนมุสลิม) สำหรับทำให้ส่วนบุคคลเข้าไปอยู่ในทัศนวิสัยที่กว้างขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีเนื้อหาที่อุดมสมบูรณ์สำหรับคนที่เปล่าเปลี่ยวและถูกทอดทิ้งด้วย

ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งซึ่งทำให้อิสลามได้รับความสำเร็จก็คือ ทฤษฎีสังคมของมนุษย์ ซึ่งปลดปล่อยมนุษย์ออกจากช่องแคบทางภูมิศาสตร์ และทำให้เขาเป็นสมาชิกของชุมชน (อุมมะฮ์) ของอิสลาม ความจงรักภักดีต่อชาติและการสังกัดหน่วยการเมืองนั้นเป็นรองผลประโยชน์ของชุมชนมุสลิมทั้งหมด

 

หนังสือปรัชญาอิสลาม จึงเป็นงานที่ผู้เขียนและผู้เรียบเรียงทุกคนภูมิใจนำเสนอ อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของอาจารย์ ดร.กิติมา อมรทัต ที่ยังอยู่ในความทรงจำของทุกคน นอกเหนือไปจากงานแปลและงานเขียนที่มีอยู่จำนวนมาก

การจัดทำหนังสือปรัชญาอิสลาม คงไม่อาจลุล่วงไปด้วยดี ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือและแรงกระตุ้นอย่างต่อเนื่องจากคุณอรุณ วิทยานนท์ ผู้จัดรายการรอมฎอนไนท์ และคุณซัลมา วิทยานนท์ ผู้ประสานงานคนสำคัญของ Islamic Academy

ผมตรวจต้นฉบับ “ปรัชญาอิสลาม” หลายครั้ง โดยเฉพาะขณะที่อยู่ในต่างประเทศและในประเทศ ปรัชญาอิสลามเล่มนี้จึงเดินทางไปในหลายมุมของโลก

ตามปกตินั้นดวงใจจะถูกปิดกั้นให้มืดมนไปด้วยบาป เปรอะเปื้อนไปด้วยความรู้สึกของกิเลสตัณหาและไหวไปมาระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ มันเป็นสมรภูมิที่กองทัพของพระผู้เป็นเจ้ากับของมารร้ายมาต่อสู้ชิงชัยกัน

อาจกล่าวได้ว่าปรัชญาอิสลามเหมาะแก่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ผู้ต้องการศึกษาโลกมุสลิม อิสลามศึกษาและโลกร่วมสมัย เพื่อที่จะทำความเข้าใจวิถีของโลกมุสลิมได้แจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งขึ้น และแลเห็นโลกมุสลิมผ่านแว่นของนักคิดมุสลิมเอง และนักคิดตะวันตกที่มองโลกมุสลิมและวิธีคิดของชาวมุสลิม

สำหรับผู้ที่แสวงหาความจริงนั้น ไม่มีอะไรสูงส่งไปกว่าความจริงเอง

เขาผู้รู้จักพระเจ้าย่อมนิ่งเงียบเสมือนเป็นใบ้

ด้วยจิตคารวะ

ดร.จรัญ มะลูลีม

 

ไทยกับโลกมุสลิม

กิติมา อมรทัต จรัญ มะลูลีม และพรพิมล ตรีโชติ เขียน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์ในปี 2539 จำนวน 1,000 เล่ม เป็นสิ่งพิมพ์ลำดับที่ 59 ของสถาบันเอเชียศึกษา ความยาว 271 หน้า

รศ.ดร.วิทยา สุจริตธนารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาในเวลานั้น กล่าวถึงงานวิจัยเล่มนี้ว่า

ไทยกับโลกมุสลิม : ศึกษาเฉพาะกรณีชาวไทยมุสลิมเล่มนี้นับเป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องมุสลิมและไทยเป็นเล่มที่สามจากสถาบันเอเชียศึกษา เป็นความต้องการของสถาบันเอเชียศึกษาที่จะผลิตผลงานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักดีว่าคนไทยและแม้แต่คนไทยมุสลิมเองก็ยังไม่มีโอกาสรับรู้เกี่ยวกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ในโลกกว้างขวางมากพอ ความขาดแคลนบุคลากรทำให้ผลงานแต่ละชุดต้องทิ้งระยะเวลานาน แต่สถาบันเอเชียศึกษาเองพอใจที่งานเขียนด้านประเทศมุสลิม และประเทศไทยที่ผ่านมาได้รับความสนใจมากพอสมควร ทำให้มีกำลังใจทำงานด้านนี้ต่อไป ผู้เขียนทั้งสามคนพยายามใช้ความรู้และความเข้าใจอธิบายเรื่องสำคัญๆ หลายเรื่อง มิใช่เฉพาะแต่เรื่องศาสนา หากได้ครอบคลุมประเด็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย ประเด็นเรื่องความสนใจและความสัมพันธ์ของคนไทยมุสลิมกับชุมชนมุสลิมในประเทศอื่น ในรูปแบบและระดับต่างๆ เป็นเรื่องที่ควรแก่การรับรู้และการวิเคราะห์ แม้ในประเด็นเรื่องชาวไทยมุสลิมที่มีเขียนกันค่อนข้างมากในระยะหลังๆ นี้ ผู้เขียนก็ได้ให้ความสนใจศึกษาให้ครอบคลุมในหลายๆ ด้าน ทำให้มองเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆ ได้ดี สถาบันเอเชียศึกษาจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานชิ้นนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับคนไทยมุสลิม และบทบาทของคนกลุ่มนี้ในสังคมชาติไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา สุจริตธนารักษ์

ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา

สถาบันเอเชียศึกษา

ตุลาคม 2538