นาวิกโยธินมะกัน ‘ยกเครื่อง’ ยุทธการเผชิญหน้า ‘จีน’

เมื่อ 9 มกราคมที่ผ่านมา ปรากฏข้อเขียนที่น่าสนใจอย่างยิ่งชิ้นหนึ่งในไฟแนนเชียล ไทม์ส สื่อดังของอังกฤษ

ผู้เขียนคือ แคทริน ฮีลล์ เนื้อหามาจากให้สัมภาษณ์ของนายทหารอเมริกันคนสำคัญที่สุดในญี่ปุ่นคือ พล.ท.เจมส์ ไบเออร์แมน นย. ผู้บัญชาการกองกำลังนาวิกโยธินนอกประเทศกอง 3 (III MEF) ที่ประจำอยู่ในโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น

นายพลไบเออร์แมนไม่ได้เป็นเพียงผู้บัญชาการกองกำลังนาวิกโยธินหน่วยเดียวที่ตั้งอยู่นอกประเทศของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ยังดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการกองกำลังนาวิกโยธินแห่งญี่ปุ่น” อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

นายทหารระดับสูงเช่นนี้ ออกมาให้สัมภาษณ์อย่าง “ตรงไปตรงมา” ประสาทหารเป็นครั้งแรก จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ น่าใคร่ครวญอย่างยิ่ง

 

นายพลไบเออร์แมนบอกอย่างเปิดเผยว่า กองทัพสหรัฐอเมริกากับกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น กำลัง “ยกเครื่อง” โครงสร้างของระบบบัญชาการ ระบบปฏิบัติการใหม่หมด โดยมีเป้าหมายเพื่อการ “เตรียมความพร้อม” สำหรับการเผชิญหน้ากับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ในกรณี “ไต้หวัน”

ยกเครื่องโครงสร้างการบัญชาการอย่างเดียวไม่เพียงพอ ยัง “ขยายขอบเขต” การปฏิบัติการร่วมกับบรรดาพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียให้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้นพร้อมกันไปด้วย

ที่น่าคิดก็คือ ไบเออร์แมนบอกว่า การปฏิรูปหรือยกเครื่องครั้งนี้ มีพื้นฐานปฏิบัติการทางทหารเพื่อสนับสนุนยูเครนเป็นแบบอย่าง

ในทางหนึ่งนั่นหมายความว่า สหรัฐอเมริกาเป็นกังวลว่า จีนอาจใช้กำลังทหารบุกยึดครองไต้หวันแบบเดียวกับที่รัสเซียกรีธาทัพเข้ายึดครองยูเครน

แต่ในอีกทางหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า ปฏิบัติการของสหรัฐและพันธมิตรในกรณียูเครน ประสบความสำเร็จไม่ใช่น้อย

ไบเออร์แมนยืนยันว่า ความสำเร็จของฝ่ายตะวันตกในยูเครนไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นเพราะการเตรียมการ เป็นการเตรียมความพร้อมหลังจากรัสเซียแสดงท่าทีก้าวร้าวคุกคามออกมาตั้งแต่ปี 2014 และ 2015

“เราเทรนทหารยูเครนมานับตั้งแต่ตอนนั้น เรากำหนดตำแหน่งล่วงหน้าไว้ว่าสรรพาวุธและเสบียงจะอยู่ที่ไหน เราระบุตำแหน่งที่ตั้งอันเป็นจุดที่เราจะให้การสนับสนุน และรักษาการสนับสนุนไว้ได้ตลอดเวลา”

ภาษาทหารเรียกว่า “การออกแบบหรือกำหนดสมรภูมิ” ไบเออร์แมนบอก และย้ำว่า สหรัฐอเมริกากำลังทำแบบเดียวกันนี้ในญี่ปุ่น

 

ไบเออร์แมนชี้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนไม่เพียงเพิ่มจำนวนกองกำลังทหารที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ใกล้ไต้หวันมากขึ้นมากเท่านั้น ยังพัฒนาศักยภาพของกองกำลังดังกล่าวสูงขึ้นมากอีกด้วย

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม ในช่วงปีที่ผ่านมา ปฏิบัติการป้องกันร่วม ระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์กับกองทัพญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา จึงขยายขอบเขตและเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นตามไปด้วย

การประกาศเพิ่มงบประมาณทางด้านการทหารของนายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ หลังพบหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในวอชิงตัน พร้อมกับประกาศติดตั้งมิสไซล์ ที่มีขีดความสามารถโจมตีถึงดินแดนจีนได้ จึงไม่ใช่เหตุบังเอิญแต่อย่างใดทั้งสิ้น

เหตุผลก็เพราะ III MEF เป็นกองพลนาวิกโยธินสำหรับการตอบโต้ในภาวะวิกฤตเพียงกองเดียวที่ประจำการ “อย่างถาวร” อยู่นอกประเทศ แต่อยู่ภายใต้รัศมีครอบคลุมของมิสไซล์พิสัยกลางและพิสัยไกลของกองทัพจีน ที่ใช้มันเพื่อ “จำกัด” เสรีภาพในการปฏิบัติการของฝ่ายอเมริกัน

ยุทธการที่ยกเครื่องใหม่นี้ แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงกับยุทธวิธีที่เหล่านาวิกโยธินอเมริกันใช้อยู่ในตะวันออกกลาง

ในญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออก และแปซิฟิกตะวันตก นาวิกโยธินจำเป็นต้องแยกตัวออกเป็นหน่วยเล็กๆ มีความชำนาญพิเศษในการปฏิบัติการแบบ “ลับและฉับไว” บนเกาะแก่งและช่องแคบต่างๆ เพื่อตอบโต้การยึดครองพื้นที่ของฝ่ายจีน

เพื่อให้ยุทธวิธีนี้ประสบผลสำเร็จ การรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว อยู่ภายใต้สายบังคับบัญชาเดียวกันเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทำให้ในการฝึกในช่วงที่ผ่านมา นาวิกโยธินของทั้งสองประเทศถึงต้องจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานยุทธวิธีภาคสนาม” ร่วมกันขึ้นเป็นครั้งแรก แทนที่จะเป็นเพียงแต่มีการแลกเปลี่ยน “นายทหารประสานงาน” ติดต่อซึ่งกันและกันเหมือนก่อนหน้านี้

ยิ่งไปกว่านั้น เหล่านาวิกโยธินญี่ปุ่นจะไม่แยกเป็นอิสระอีกต่อไป แต่ถูกกำหนดให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ III MEF ฝึกและปฏิบัติการร่วมกับหน่วยของกองทัพเรือและกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา

นายทหารญี่ปุ่นจะไม่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำงานร่วมกับนายทหารอเมริกันเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป

แต่จะรวมตัวเข้ากันเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ “เหล่าถาวรแห่งผลประโยชน์” โดยรับผิดชอบในแผนปฏิบัติการเหมือนๆ กัน

 

ไบเออร์แมนยืนยันว่า การใช้กำลังบุกไต้หวัน ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ และรวดเร็วจนไม่รู้เนื้อรู้ตัว อย่างที่หลายคนคิด

ตรงกันข้ามปฏิบัติการทางทหารทำนองดังกล่าวมีความซับซ้อน และมีขนาดจำเพาะของปฏิบัติการซึ่งต้องใหญ่โตเพียงพอ เมื่อบวกกับสภาพทางภูมิศาสตร์และเวลาที่ต้องใช้

สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณ คือการเตือนภัย ที่ช่วยให้ฝ่ายอเมริกันและญี่ปุ่นสามารถกำหนดท่าทีและเตรียมความพร้อมได้แทบทั้งหมด

นายพลอเมริกันเปิดเผยด้วยว่า ส่วนหนึ่งของการเตรียมการครั้งนี้ก็คือ แผนของฟิลิปปินส์ ที่เตรียมไว้พร้อมแล้ว ซึ่งจะช่วยให้กองกำลังสหรัฐอเมริกาสามารถจัดวางตำแหน่งอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงสำรองได้ในฐานทัพต่างๆ อีก 5 ฐานทัพ เพิ่มเติมจากเดิมที่สหรัฐอเมริกาได้สิทธิในการเข้าใช้ประโยชน์อยู่ก่อนแล้ว 5 ฐานทัพ

ฐานปฏิบัติการต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้สหรัฐอเมริกามีทางเลือกมากขึ้นอีกมากสำหรับการกำหนดแผนยุทธการ และสามารถช่วงชิงเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อนได้ เลือกสมรภูมิที่จะต้องบุกเข้ายึดครอง ระบุตำแหน่งที่ต้องเข้าเคลียร์ ป้องกันแล้วก็ใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว

แคทริน ฮีลล์ บอกว่า พล.ท.เจมส์ ไบเออร์แมน ให้สัมภาษณ์ครั้งนี้แบบตรงไปตรงมา เปิดเผยหลายต่อหลายอย่าง ชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

แต่สำหรับผู้อ่านอย่างเราๆ ท่านๆ ยิ่งฟังยิ่งได้กลิ่นอายสงครามจริงจังเข้มข้นมากขึ้นตามลำดับยังไงก็ไม่รู้!