ไทย-เป้าหมายของ ‘คนจีนทิ้งแผ่นดิน’

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

ผมไม่ได้พูดเกินเลยนะครับ คนจีนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะบรรดา “ชนชั้นกลาง” ที่กลายเป็น “เศรษฐีใหม่” ในสังคมจีน กำลังทิ้ง “แผ่นดินใหญ่” ของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างน้อยที่สุดก็ตามรายงานของคิมเบอร์ลี ลิม กับ โจเซฟ สีลาปัน ที่เผยแพร่ในเซาธ์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ (เอสซีเอ็มพี) เมื่อ 14 มกราคมที่ผ่านมา

เหตุผลที่ทำให้ชาวจีนผู้มั่งคั่ง แสวงหา “บ้านใหม่” หรือ “บ้านหลังที่สอง” ในประเทศอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย นั้นมีมากมายหลายอย่างด้วยกัน

แรกสุดนี่คือแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะ “หนีจากการควบคุม” ของทางการจีน ซึ่งนับวันยิ่งเข้มงวดและลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับเศรษฐีและมหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ

เมื่อบวกกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนที่ยิ่งนานยิ่งไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น การแสวงหา “โอกาส” และ “ความเป็นเสรี” ในต่างแดนย่อมมีคุณค่าและความหอมหวานมากยิ่งขึ้นไปอีก

เหตุผลที่ประกอบกันเข้าเป็นปัจจัยสุดท้าย กลับเป็นเรื่องที่หลายคนคิดว่าน่าจะเป็นเหตุผลแรกๆ นั่นคือการที่ราคาบ้าน, หลักประกันสุขภาพและการศึกษาเล่าเรียนของลูกหลาน ในบรรดาประเทศที่เป็นเป้าหมายเหล่านี้ “ราคาถูกกว่า” ในเมืองจีนมาก

แต่เหตุผลที่ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ 3 ประเทศที่เชื่อมต่อโดยตรงกับจีนแผ่นดินใหญ่ได้ ถูกเลือกเป็นเป้าหมายลำดับแรกๆ น่าจะเป็นเรื่องของ “ความเชื่อมโยงเชิงวัฒนธรรม” ระหว่างคนจีนแผ่นดินใหญ่กับบรรดาชาวจีนโพ้นทะเลที่มาปักหลักตั้งรกรากอยู่ใน 3 ประเทศแถบนี้มานานมากแล้วนั่นเอง

นานเสียจนอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนแทรกซึมเข้าไปอยู่ในโยงใยของสังคมในประเทศเหล่านี้อย่างแนบแน่น ลึกซึ้ง ความคิดอ่าน ความเชื่อ ทัศนคติ ที่คนในท้องถิ่นมี กับที่คนจีนในเวลานี้มีจึงแทบไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด

 

เอสซีเอ็มพีระบุว่า “เทรนด์” ทิ้งแผ่นดินของชาวจีนผู้มั่งคั่งเหล่านี้มีมานานแล้ว นานถึงขนาดที่ได้รับการเรียกขานเป็นการเฉพาะกันว่า “รัน คัลเจอร์” หรือ “วัฒนธรรมการหนี” ที่ปรากฏชัดอย่างน้อยก็ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ด้วยซ้ำไป

เกือบ 3 ปีของการล็อกดาวน์ทำให้เทรนด์ที่ว่านี้เหมือนถูก “อัดอั้น” แล้วก็แตกระเบิดออกมาในทันทีที่ “ซีโร่โควิด” สิ้นสุดลง จำนวนผู้ที่สอบถามรายละเอียดและค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายตั้งถิ่นฐานใหม่เพิ่มขึ้นพรวดพราด

วิธีการแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของแต่ละประเทศ

ในสิงคโปร์มีบริษัทให้บริการด้านนี้เป็นการเฉพาะอยู่ อย่างเช่นบริษัท ทรานฟอร์มส์ บอร์เดอรส์ ที่ประมาณว่าหลังจากจีนเปิดประเทศเป็นต้นมา ยอดสอบถามกรณีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดเป็น “เศรษฐีชาวจีน” ที่ต้องการโยกย้าย “ครอบครัว” มาปักหลักอยู่ที่นี่

วิธีหนึ่งที่นิยมกันมากก็คือ การมาลงทุนเพื่อจัดตั้ง “แฟมิลี่ ออฟฟิศ” ขึ้นที่นี่ ก่อนโยกย้ายลูกหลานมาเล่าเรียนหนังสือหนังหาที่นี่กันต่อไป

จุดเด่นของสิงคโปร์คือความแน่นอนทางการเมือง สภาวะแวดล้อมทางการเมืองนิ่ง กฎหมายเข้มงวด ทำให้สิงคโปร์มีความปลอดภัยสูง มีการควบคุมอยู่บ้าง แต่ไม่เข้มข้นถึงขนาดทนไม่ได้เหมือนที่เจอมาในจีน

ในมาเลเซีย วิธีการก็คือเข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการเข้าไปจับจองตามโครงการของรัฐบาลมาเลเซีย 2 โครงการคือ “มาเลเซีย เซคันด์ โฮม” และ “ซิลเวอร์ แฮร์ โปรแกรม” ที่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยเป็นการถาวรได้ในมูลค่าอย่างต่ำ 1 ล้านริงกิต

เอสซีเอ็มพีระบุว่า เมื่อปี 2018 คนจีนเข้าไปซื้อที่อยู่อาศัยในมาเลเซียมากถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ และนับจนถึงสิงหาคมปีที่ผ่านมา มีคนจีนเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในมาเลเซียแล้วถึง 53,000 คนแล้ว

 

ในไทย จุดเด่นนั้นอยู่ตรงที่แหล่งท่องเที่ยวซึ่งชาวจีนติดอกติดใจอย่างมาก

เมื่อบวกกับโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจที่เปิดกว้าง ก็ทำให้คนจีนที่หวังทิ้งแผ่นดินใหญ่ แห่กันสอบถามเข้ามาเกี่ยวกับโรงเรียนนานาชาติ, บ้านพักผู้เกษียณอายุ ฯลฯ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

เอสซีเอ็มพีระบุว่า ไทยวางตำแหน่งตัวเองไว้ว่า เป็นฐานในการทำธุรกิจระดับภูมิภาค เพื่อดึงดูดนักธุรกิจชาวจีนมาลงหลักปักฐานและลงทุนที่นี่เพิ่มมากขึ้น

ถึงขนาดมีการเตรียมการจัดเวทีสัมมนาทางธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นในกรุงเทพฯ ในราวเดือนมิถุนายน เพื่อตอกย้ำสถานะของประเทศ

ข้อมูลของนักกฎหมายรายหนึ่งที่บอกกับเอสซีเอ็มพีก็คือ ตอนนี้โครงการคอนโดมิเนียมที่พัฒนาขึ้นมาในไทย ถูกชาวจีนกว้านซื้อไปแล้วถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของโครงการทั้งหมด

แต่ตอนนี้ทุกอย่าง “ชะงักงัน” ไปชั่วคราว เพราะเรื่องอื้อฉาวที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการค้ายาเสพติด, การฟอกเงิน และการคอร์รัปชั่น ของ “ตู้ห่าว” ที่เป็น “แก๊งมาเฟีย” จีนกับเจ้าหน้าที่ทางการไทย

คดี “ตู้ห่าว” จึงมีผลสูงยิ่งต่อการตัดสินใจของเศรษฐีจีนที่จะเลือกไทยเป็นเป้าหมายในการลงหลักปักฐานในอนาคต