ตลาดอีวีเดือด BYD เขย่าอีกรอบ MG-เกรทวอลล์ฯ พลิกตำราตั้งรับ แบรนด์ญี่ปุ่นปรับตัวจ้าละหวั่น

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เมืองไทย “จุดติด” เรียบร้อยจากตัวเลขยอดจองปี 2565 ที่ผ่านมาทะลุ 25,000 คัน

แม้เทียบเป็นสัดส่วนกับตลาดรถยนต์ทั้งระบบจะดูไม่เยอะเพียงแค่ 1-2% เท่านั้น แต่ต้องถือเป็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

ลองย้อนกลับไปดูเมื่อ 10 ปีก่อน ปี 2555 กรมการขนส่งทางบกรายงานว่าประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแค่ 172 คัน แต่ละปีเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่มีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ ปี 2561 มียอดจดทะเบียนเพิ่มเป็น 325 คัน ปี 2562 ขยับเป็น 1,572 คัน

และมาพุ่งพรวดพราดทะลุ 2 หมื่นกว่าคันในปี 2565

 

อย่างแรกที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ บ้านเราเริ่มมีผู้เล่นมากราย แต่ละแบรนด์มีโปรดักต์เด่นๆ และแคมเปญเด็ดๆ กระตุ้นการขายกันอย่างคึกคัก

แต่ตัวเร่งที่แข็งแกร่งสุดๆ คือแรงสนับสนุนจากรัฐบาลที่กระโดดลงมาช่วยสร้าง “ดีมานด์” อย่างเต็มตัว โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งปีที่ผ่านมาคลังใช้งบประมาณอุดหนุนวงเงินเกือบ 3,000 ล้านบาท ให้รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้าน ผู้ซื้อได้รับเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท

ขณะที่จักรยานยนต์ไฟฟ้า รับเงินอุดหนุน 8 หมื่นบาท ซึ่งมาตรการสนับสนุนนี้ มีผู้ผลิตทั้งแบรนด์จีน ญี่ปุ่น และอื่นๆ รวมถึง 13 ราย อาทิ MG, เกรทวอลล์, โตโยต้า, โวลต์, ไมน์ โมบิลิตี, BYD, เนต้า, เดโก้ กรีน, เอช เซม มอเตอร์, ไทยฮอนด้า เมอร์เซเดส-เบนซ์ และล่าสุดฮอนด้า

แต่ตลาดก็ต้องมาสะดุดหลังจากที่มาตรการส่งเสริมรถอีวีออกฤทธิ์เร็วเกินไป ยอดจองที่วิ่งเข้าใส่ค่ายรถอย่างถล่มทลายทำให้หลายแบรนด์ต้องประกาศ “หยุด” รับจอง บางรายถึงกับแจ้งลูกค้าว่าไม่มีกำหนด

ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่คือ “ชอร์ตซัพพลาย” โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลให้ในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้วต่อเนื่องต้นปี 2566 ตลาดรถอีวีเงียบเหงาไปพักใหญ่เพราะไม่มีของขาย นี่ถ้าแต่ละแบรนด์สามารถผลิตและส่งมอบให้ลูกค้าได้ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าปี 2565 อาจจะได้เห็นตัวเลขก้าวไปแตะ 30,000 คัน

 

วันนี้ตลาดเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทันทีที่แบรนด์ BYD ประกาศเปิดรับจองรอบใหม่ โดย “ไฮโซพก” ประธานวงศ์ พรประภา ซีอีโอ บริษัท เรเว่ ออโตโมบิล จำกัด ตัวแทนจำหน่าย BYD ในประเทศไทยแจ้งข้อมูลผ่านสื่อระบุว่าในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทเตรียมเปิดรับจองรถยนต์ไฟฟ้า BYD ATTO 3 อีกครั้งทุกโชว์รูมทั่วประเทศ หลังจากที่บริษัทได้รับการจัดสรรโควต้ารถรุ่นดังกล่าวจากบริษัทแม่มาอีกล็อตใหญ่เป็นจำนวน 7,000 คัน และคาดว่าจะส่งมอบได้ราวช่วงก่อนวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนนี้อย่างแน่นอน

BYD ประกาศหยุดรับจองชั่วคราวไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมปีที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่าทำยอดจองรวมครบ 10,000 คันตามโควต้าที่ได้จากบริษัทแม่

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า แบรนด์รถจีนที่ปิดรับจอง นอกจากจะมีปัญหาด้านการผลิตแล้ว ยังมีเหตุผลเรื่องต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะแบตเตอรี่ ทำให้หลายคนคาดว่าการเปิดรับจองรอบใหม่นี้อาจจะมีการปรับราคาขาย

แต่ BYD ยืนยันว่า ATTO 3 ยังขายราคาเดิม ซึ่งมีด้วยกัน 2 รุ่น ได้แก่ BYD ATTO 3 Extend Range ราคา 1,199,900 บาท และ BYD ATTO 3 Standard Range ราคา 1,099,900 บาท

ขณะที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา บอร์ดบีโอไอยังไฟเขียวอนุมัติโครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าของบริษัท บีวายดี ออโต้ คอมโพเนนท์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 3,893 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว ทั้งการสร้างฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญอย่างแบตเตอรี่

โดยเฉพาะสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ BYD ในอนาคต

 

ขณะที่แบรนด์ MG ของกลุ่มซีพีก็พยายามสร้างความคึกคักในฐานะผู้นำปีนี้ยังได้เตรียมความพร้อมสำหรับรถอีวีทั้ง 3 รุ่น ทั้ง MG ZS (EV), MG EP และ MG4

ล่าสุดกำลังจะคลอด MG EP ไมเนอร์เชนจ์เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า พร้อมประกาศว่าปีหน้า MG จะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากฐานการผลิตรถยนต์ในจังหวัดระยอง

โดยกำลังศึกษาแนวโน้มและความต้องการของลูกค้าชาวไทยว่ารุ่นใดเหมาะสม

MG เข้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเรามา 3 ปี ส่งมอบรถอีวีไปแล้วกว่า 7,000 คัน เป็นผู้นำในตลาดนี้ทั้งยอดขายและจำนวนสถานีชาร์จ

ปีนี้ยังมีแผนเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในศูนย์บริการ MG ทั่วประเทศแล้ว ยังเร่งขยายไปปั๊มบางจากอีก 40 กว่าแห่ง

และอนาคตตั้งเป้าว่าจะให้มีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของ MG อย่างน้อยๆ ทุก 150 กิโลเมตร แบรนด์ MG มุ่งต่อการทำตลาดรถอีวีเคยประกาศว่าในปี 2573 สัดส่วนการขายรถยนต์ไฟฟ้าของ MG จะขยัยไปอยู่ที่ 50% ของยอดขายทั้งหมด จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนราว 20%

ไม่ต่างจากแบรนด์เกรทวอลล์ฯ ปีที่แล้วขาย ORA Good Cat ได้มากถึง 4,326 คัน เฉพาะเดือนธันวาคมส่งมอบได้มากถึง 1,610 คัน สร้างสถิติยอดขายรายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา

ส่วนตลาดปี 2566 เกรทวอลล์ฯ ประกาศจะเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เหนือระดับยิ่งขึ้น สร้างสรรค์กิจกรรมที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ตลอดจนสานต่อพันธกิจที่จะนำรถยนต์อีก 4 รุ่นเข้ามาเปิดตัวเพื่อสร้างประสบการณ์การขับขี่ที่ปลอดภัย อัจฉริยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับตลาดเมืองไทย พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เร่งขยายเอาต์เลตและสถานีชาร์จเพิ่มเติม จากปี 2565 ที่สามารถขยายเครือข่าย GWM Store ทั้งแบบ direct store และ partner store ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั่วประเทศได้สูงถึง 62 แห่ง และกำลังก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 18 แห่ง

ขณะที่การขยายสถานีชาร์จ เกรทวอลล์ฯ ก็ได้เร่งดำเนินการแต่งตั้งผู้ดำเนินการสถานีชาร์จได้ครบ 55 แห่ง ตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงสถานีชาร์จแบบชาร์จเร็วที่มีกำลังไฟฟ้าสูงถึง 120 กิโลวัตต์ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงตลอดทั้ง 7 วัน และให้บริการแก่รถยนต์ไฟฟ้า 100% ทุกรุ่นทุกยี่ห้ออีกด้วย

 

นอกจากรถอีวีแบรนด์จีน ที่ขับเคี่ยวกันอย่างหนักหลังจากผู้บริโภคและตลาดเปิดรับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นซึ่งเคยยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์มายาวนาน ก็เริ่มปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด

โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” แม้ว่าปีที่แล้วจะมีข้อจำกัดมีโควต้ารถอีวี แบรนด์ “bZ” เพียง 80 คัน และถูกจับจองไปครบถ้วนด้วยเวลาที่รวดเร็ว ก็มีกระแสว่าโควต้าสำหรับปีนี้น่าจะเยอะกว่าปีที่แล้ว และโตโยต้ายังมีกระบะรีโว่ อีวี อีกหนึ่งรุ่นที่พร้อมจะทำตลาดในราวไตรมาส 3 ปีนี้

เช่นเดียวกับแบรนด์ฮอนด้า ที่เตรียมส่งรถยนต์ไฟฟ้า e:NS1 ELECTRIC ลงทำตลาดในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ โดยรถรุ่นนี้ฮอนด้าประกาศจะขึ้นไลน์ผลิตที่โรงงานประกอบรถยนต์ฮอนด้า สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี หลังจากบริษัทได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปก่อนหน้านี้

ซึ่งตามแผนงานฮอนด้าจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ออกสู่ตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

อีกทั้งรถอีวีตัวนี้ยังได้เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวี ซึ่งกรมสรรพสามิตให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อคันละ 150,000 บาท และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%

 

ตลาดรถอีวีที่กำลังจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากที่ปัญหาซัพพลายและเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายและค่ายรถเริ่มเปิดรับจองรอบใหม่ ทำให้หลายฝ่ายประเมินกันว่าในปี 2566 ตลาดอีวีจะโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหรือมีสัดส่วนยอดขายขึ้นไปแตะระดับ 5-6%

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า จากผลของราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐที่ออกมาได้ถูกจุด ทั้งการให้เงินอุดหนุนและการลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งจะไปสิ้นสุดปี 2568 น่าจะทำให้ผู้บริโภคมีการเร่งซื้อรถอีวีเพิ่มขึ้น

และมีผลทำให้จำนวนรถอีวีแบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้ในประเทศไทย มีโอกาสที่ยอดสะสมเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 300,000 คันในปี 2568

ด้วยสัดส่วนของรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ต่อรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ 100% ที่ 40 : 60 และยังประเมินว่าจำนวนช่องจอดรถสำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้าในที่สาธารณะทั่วประเทศในปี 2568 ที่เหมาะสมต้องมีสะสมไม่น้อยกว่า 19,000 ช่องจอด ถึงจะเพียงพอต่อปริมาณรถอีวีสะสม