A place called Earth : นี่แหละโลก ภาพวาดสีสันอ่อนหวานเปี่ยมจินตนาการของจิตรกรผู้มองเห็นต่างสี

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ด้วยความที่เราได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมาอีกแล้ว เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการศิลปะของศิลปินหนุ่มชาวไทยที่มีชื่อว่า

เนียม (สุรชัย) มะวรคนอง

แรกเริ่มเดิมที เนียมศึกษาศิลปะจากวิทยาลัยช่างศิลป และเข้าไปศึกษาต่อที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แต่ยังไม่ทันจะเรียนจบ เขาก็เปลี่ยนใจไปเข้าเรียนในภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน และจบปริญาตรีจากที่นั่นแทน

หลังจากเรียนจบ เขาก็เริ่มทำงานศิลปะทันที โดยในทีแรกเขาไม่ได้มีความตั้งใจจะเป็นศิลปินอาชีพ หากแต่ทำงานศิลปะเพื่อเป็นการบำบัดจิตใจจากความว้าวุ่นแปรปรวนมากกว่า

ด้วยเหตุที่ในช่วงที่เรียนอยู่ เขาบังเอิญได้รู้จักกับเทคนิค “การทดสอบทางจิตวิทยาด้วยการวาดรูป” จากเพื่อนที่เรียนด้านจิตวิทยา ซึ่งเป็นเทคนิคที่นักจิตบำบัดจะให้ผู้ป่วยทางจิตวาดรูปตามหัวข้อง่ายๆ อย่างฉับพลันโดยไม่คาดหวังหรือคิดอะไรล่วงหน้า รูปที่วาดจะเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกออกมา

เขาจึงสนใจในแนวคิดนี้และใช้เป็นฐานคิดในการทำงานศิลปะที่เต็มไปด้วยความอิสระ เพื่อเยียวยาความรู้สึกของตัวเองมานับตั้งแต่นั้น

แต่ก็นั่นแหละนะ เมื่อคนเราทำงานศิลปะมามากถึงจุดหนึ่ง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยากแสดงออกให้คนอื่นได้รับรู้

เนียมจึงนำผลงานไปเสนอในหอศิลป์

และก็ไปเตะตาภัณฑารักษ์จนทำให้เขาได้แสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกชื่อ I Wanna Lose Myself in a Jungle : ฉันอยากไปอยู่ป่าดงดิบ ที่หอศิลป์จามจุรี ในปี 2008

ตามมาด้วยนิทรรศการ Spirit, Air : ผีอากาศ (2010)

และ Lunar Animalia : ความตายมาเลียดวงจันทร์ (2013) ในหอศิลป์เดียวกัน

ในปี 2015 เขาแสดงนิทรรศการเดี่ยว แมวห่วย (Loser Cat) ที่หอศิลป์ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ และ Minimon : มินิม่อน ที่สกายล็อบบี้ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ในปีเดียวกัน

ส่วนนิทรรศการที่เราได้ไปชมในครั้งนี้เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาที่มีชื่อว่า

A place called Earth : นี่แหละโลก

ประกอบด้วยผลงานภาพวาดสีอะครีลิก ซึ่งเป็นเทคนิคที่เขาเชี่ยวชาญจำนวน 20 ชิ้นที่เปี่ยมสีอันอ่อนหวาน งดงาม เปี่ยมจินตนาการ ที่สะกดทั้งสายตาและความรู้สึกของผู้ชมอย่างเรา

โดยเป็นภาพวาดของสัตว์หลากสายพันธุ์ และหญิงสาว ที่อยู่ภายในทิวทัศน์ที่ดูคล้ายกับสถาปัตยกรรมรูปทางเรขาคณิต และท้องฟ้าอันเวิ้งว้างกว้างไกล โดยเนียมกล่าวถึงผลงานชุดนี้ว่า

“แนวคิดจริงๆ ตอนแรก มันเริ่มมาจากรูปทรงเรขาคณิต คืองานในชุดก่อนหน้านี้ (นิทรรศการ มินิม่อน) เป็นช่วงที่ผมรู้สึกว่าเราวาดอย่างอื่นไม่ได้นอกจากรูปทรงเรขาคณิต เรารู้สึกว่าเรามีความสุขในการวาดเส้นตรง วงกลมมากกว่าการวาดแบบอิสระเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเราวิเคราะห์ว่ามันน่าจะเป็นเพราะว่าเราต้องการความมั่นคงอะไรบางอย่าง และการวาดเส้นตรงหรือรูปทรงเรขาคณิตที่มันมีกฎเกณฑ์มันช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัย แต่พอเราต้องทำนิทรรศการ มันก็ต้องมีอะไรบางอย่างที่สื่อสารได้ด้วย อีกอย่างรูปทรงเรขาคณิตมันให้ความรู้สึกที่เย็นเยือก เราก็เลยใส่ภาพของคนและสัตว์เข้าไปเพื่อให้ความรู้สึกที่อบอุ่นและเป็นเหมือนตัวแทนของเราอยู่ในนั้น งานชุดนี้มันจะผสมกันระหว่างความรู้สึกกับเรื่องราวที่เราต้องการสื่อสาร”

“ความรู้สึกอีกอย่างตอนที่เราทำงานชุดนี้ก็คือ เรารู้สึกว่าเราถูกควบคุมด้วยระบบอะไรบางอย่าง การทำงานศิลปะมันดูเหมือนเรามีอิสระ แต่ความจริงมันก็ไม่มีน่ะ ก่อนหน้านี้เราเคยวาดรูปตามใจตัวเอง แต่พอได้มาอยู่ในวงการศิลปะจริงๆ มันก็มีกฎเกณฑ์ของมันอยู่ เราอยู่ภายใต้รสนิยมของภัณฑารักษ์ อยู่ใต้ระบบของหอศิลป์ อยู่ใต้กระแสของโลกศิลปะ”

“อย่างในภาพที่ชื่อ “I was killed by the light (ข้าถูกสังหารด้วยแสงไฟ)” ผมใช้ภาพของไฟที่อยู่ในห้องผ่าตัดเป็นสัญลักษณ์ของระบบหรือระเบียบต่างๆ ที่มันสอดส่องเราอยู่ ซึ่งมันแสดงถึงความรู้สึกที่ว่า ท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องถูกจำกัดอยู่ใต้ระบบระเบียบอะไรบางอย่างอยู่ดี มันเหมือนเราพยายามเรียนรู้และยอมรับความเป็นจริงที่ว่านี้ จนออกมาเป็นงานชุดนี้”

ภาพของผู้หญิงที่อยู่ท่ามกลางทิวทัศน์ท้องฟ้าอันเวิ้งว้างในภาพวาดของเนียมทำให้เราอดรู้สึกไปถึงภาพวาดของจิตรกรเซอร์เรียลลิสม์ชาวเบลเยียมอย่าง เรอเน มากริตต์ อยู่ไม่หยอกเหมือนกัน เมื่อเราถามว่าเขาได้รับอิทธิพลจากศิลปินผู้นี้มาหรือไม่ เขาตอบว่า

“จริงๆ ผมก็ชอบงานเซอร์เรียลลิสม์นะ แต่ตอนวาดไม่ได้นึกถึงอะไรเป็นพิเศษ ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นท้องฟ้า ผมว่าผมรู้สึกกับความเป็นเส้นแนวนอนของเส้นขอบฟ้ามากกว่า มันทำให้ผมรู้สึกถึงความเยือกเย็นและความสงบบางอย่างได้ ส่วนคนและสัตว์ที่อยู่ในภาพที่ผมวาดส่วนใหญ่จะแทนความรู้สึกของตัวเอง และสิ่งที่เราเห็นจากคนรอบข้าง

อย่างงานที่ชื่อ Room for Feliformia (ห้องสำหรับสัตว์กินเนื้อ) เนี่ย ย้อนกลับไปถึงงานชุดแรกๆ ของผมที่ได้รับอิทธิพลมาจากงานของ อองรี รุสโซ* มากๆ แต่เหมือนกับเรากลับไปทำงานใสๆ แบบนั้นไม่ได้แล้ว ผมก็เลยวาดทิวทัศน์ในงานของรุสโซอยู่นอกหน้าต่าง ในขณะที่ตัวเราอยู่ข้างในแทน ส่วนภาพของเสือสองตัวในห้อง ผมต้องการแสดงออกถึงเรื่องทางเพศ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณสัตว์อย่างเดียวที่หลงเหลืออยู่ในมนุษย์

หรือภาพที่มีผู้หญิงเปลือยเนี่ย ผมนึกภาพในใจว่า ถ้าวาดคน ผมไม่อยากวาดให้เขาใส่เสื้อผ้า เพราะเราต้องมัวพะวงว่า เสื้อผ้ามันต้องมียี่ห้อโน้นยี่ห้อนี้ ต้องมีแฟชั่นแบบไหน แค่นึกถึงก็วาดยากแล้ว แต่พอไม่มีเสื้อผ้าปุ๊บ เรารู้สึกว่าเขาเป็นมนุษย์จริงๆ มากกว่า เพราะมันไม่มีเสื้อผ้ามาดึงความสนใจ

ส่วนในภาพที่ผู้หญิงอุ้มไข่อยู่ ตอนวาดผมรู้สึกว่าเราต้องรักษาสิ่งสำคัญเอาไว้ เราก็นึกว่าไข่มันเป็นอะไรที่แตกง่าย เราก็เลยรู้สึกว่าไข่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรักษา แล้วช่วงที่วาดรูปนี้ก็ได้รู้ว่ามีคนใกล้ตัวกำลังท้องพอดี เราก็เลยนึกถึงรูปผู้หญิงอุ้มไข่ขึ้นมา มันเชื่อมโยงกับเรื่องที่เรารู้สึกอยู่พอดี”

สิ่งที่น่าทึ่งในการทำงานศิลปะของเนียมก็คือ ถึงแม้ภาพวาดของเขาจะมีสีสันสวยงามอ่อนหวาน แต่ความเป็นจริงแล้ว เนียมกลับเป็นศิลปินที่มีการมองเห็นสีที่ผิดปกติจากคนทั่วไป หรือที่เรารู้จักกันในชื่ออาการ “ตาบอดสี” มาตั้งแต่เกิด ซึ่งอันที่จริงผู้มีข้อจำกัดเช่นนี้บางคนทำงานศิลปะไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสเรียนศิลปะด้วยซ้ำไป

แต่เนียมกลับพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส ด้วยการใช้ข้อจำกัดนี้เป็นเครื่องมือในการหาทางออกใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะ และแก้ปัญหาด้วยการใช้ทฤษฎีทางศิลปะเข้าช่วย

“ผมพยายามไม่เลือกใช้สีที่ตัวเองมองไม่เห็น อย่างเช่นสีเขียวจะใช้น้อยมาก เราเลือกใช้คู่สีที่เรามั่นใจ โดยเลือกใช้สีแบบคุมโทน ไม่ค่อยใช้สีสดๆ และเลือกยืนพื้นด้วยสีน้ำเงิน สีฟ้าที่เรามองเห็น ซึ่งบางคนก็บอกว่าการใช้สีของเรามีเอกลักษณ์พิเศษบางอย่าง การตาบอดสีมันทำให้เรามองเห็นโลกในแบบของเรา ที่ไม่เหมือนกับที่คนตาปกติมองเห็น

ปกติผมเป็นคนที่อยู่คนเดียวไม่ค่อยได้เจอใคร ไม่ค่อยได้เข้าสังคมเท่าไหร่ การวาดรูป ในแง่หนึ่งมันก็เหมือนเราได้คุย ได้แสดงออก ได้สื่อสารกับคนอื่น และในอีกแง่หนึ่งมันก็ทำให้เราได้รู้จักตัวเองด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นประโยชน์มากสำหรับผม ตอนแรกๆ ผมวาดโดยที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่พอย้อนกลับไปดูภาพวาด มันทำให้เรารู้ปมในใจบางอย่างของตัวเอง ว่าเราทำแบบนั้นไปทำไม การทำงานศิลปะสำหรับผมก็เลยมีสองด้าน คือด้านที่แสดงออก และด้านที่เรียนรู้ตนเอง” เนียมกล่าวทิ้งท้ายถึงความรู้สึกที่มีต่อการทำงานศิลปะของเขา

นิทรรศการ A place called Earth : นี่แหละโลก จัดแสดงที่หอศิลป์ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ Subhashok The Arts Centre (S.A.C.) ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2560

*อองรี รุสโซ (Henri Rousseau) เป็นศิลปินชาวฝรั่งเศสที่ทำงานศิลปะในแนวทางที่เรียกว่า Naive art ซึ่งเป็นแนวทางศิลปะที่แสดงออกถึงความซื่อใส บริสุทธิ์ไร้เดียงสา ที่ทำโดยศิลปินที่ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะหรือผ่านสถาบันทางศิลปะมาโดยสิ้นเชิง