นิสัยคนไทย ในสายตาแม่ทัพญี่ปุ่น “มาซาโนบุ ทสุจิ” | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

ช่วงเวลา 4 ปีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ.2484-2488 ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

การที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะและอนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไปทำศึกในพม่าส่งผลให้มีนายทหารระดับสูงเข้ามาปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทยด้วย

เมื่อต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยก็เป็นธรรมดาที่แม่ทัพเหล่านี้จะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับนิสัยใจคอของคนไทย

ถึงวันนี้เวลาได้ล่วงผ่านมา 80 กว่าปีแล้ว ลองมาดูกันว่านิสัยคนไทยในสายตาแม่ทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กับในปัจจุบันยังคงเป็นเหมือนเดิมหรือไม่

辻政信 (มาซาโนบุ ทสุจิ) wikipedia

“เจ้าแห่งยุทธการ” หรือ “The God of Operation” พ.อ.มาซาโนบุ ทสุจิ (Masanobu Tsuji) เป็นนายทหารระดับสูงของญี่ปุ่นผู้หนึ่งที่ได้แสดงทัศนะถึงนิสัยใจคอของคนไทยเอาไว้

ทสุจิคือเสนาธิการทหารประจำกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย ในเวลาต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพลตรี

เขาเป็นผู้มีชีวิตพิลึกพิลั่นและโด่งดังมาตั้งแต่สมรภูมิโนมงฮัง (Nomonhan Incident) ในสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับโซเวียตบริเวณพรมแดนระหว่างแมนจูเรียกับมองโกเลีย ปี พ.ศ.2482

ทสุจิมีส่วนสำคัญในการยุทธ์ของญี่ปุ่นมากมายหลายสมรภูมิ เช่น การบุกพิชิตอังกฤษในมาเลเซียและสิงคโปร์ภายใต้การบังคับบัญชาของ “เสือร้ายแห่งมลายา” โทโมยูกิ ยามาชิตะ

การยึดครองฟิลิปปินส์และ “การเดินมรณะแห่งบาตาน” (Bataan Death March) ภายใต้การนำของ “นายพลคนช่างฝัน” มาซาฮารุ ฮอมมะ

สมรภูมิที่นานกิง ประเทศจีน รวมทั้งยุทธการที่อิมฟาล (Battle of Imphal) ในอินเดียและพม่า

อย่างไรก็ตาม ทสุจิมีภาพลักษณ์ที่ปะปนกันไปทั้งดีและร้าย

ในแง่ดีเขาเลื่องชื่อด้านการคิดกลยุทธ์ การรุกรบอย่างห้าวหาญ และการอุทิศชีวิตทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

แต่ในด้านร้ายเขาถูกมองว่าเป็นผู้นิยมความรุนแรง มุทะลุ และดิบเถื่อน ถึงขั้นได้รับการขนานนามว่า “The Cannibal” หรือ “มนุษย์กินคน” เพราะร่ำลือกันว่าเขามักนำอวัยวะของทหารข้าศึกมาทำอาหารกินเพื่อเพิ่มพลังชีวิตให้กับตัวเอง

นอกจากนั้น ยังชอบตัดคอเชลยศึกด้วยดาบทื่อๆ เช่น ดาบพม่าที่ใช้เป็นของที่ระลึก ไม่ใช่ดาบซามูไรที่มีความคมสำหรับใช้ในการสงครามจริงๆ

 

แม้ทสุจิจะมีชื่อเสียงในเรื่องความโหดเหี้ยม แต่ในอีกมุมหนึ่งของชีวิตเขากลับมีอารมณ์อ่อนโยนและผูกพันกับชายไทยคนหนึ่งมากเป็นพิเศษ

คนผู้นั้นคือ “พ.ต.อาจ เจริญศิลป์” ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก

พ.ต.อาจเป็นอดีตนักเรียนนายร้อยทหารบกญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2477 โดยช่วงระหว่างที่เขากำลังศึกษาอยู่นั้น ทสุจิเป็นครูประจำชั้นของเขาพอดี ประกอบกับอุปนิสัยที่ขยันหมั่นเพียร เอาใจใส่ต่อการเรียนรู้อย่างมาก ทำให้ทสุจิประทับใจในตัวเขามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

นอกจากนี้ เขายังสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่วอีกด้วย

ทำให้ท้ายที่สุดชะตาชีวิตของครูกับศิษย์ทั้งสองก็ได้หวนกลับมาเจอกันอีกครั้งที่กรุงเทพฯ หลังจากที่ห่างหายไป 11 ปี เพื่อติดต่อประสานงานระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับกองทัพไทย

ในห้วงเวลาที่ทั้งสองกลับมาพบกันอีกนั้น สถานการณ์ของญี่ปุ่นย่ำแย่เต็มทีแล้ว เพราะอิตาลีกับเยอรมนีต่างก็ยอมแพ้ไปทั้งหมด ฝ่ายอักษะจึงเหลือญี่ปุ่นเป็นหลักอยู่เพียงประเทศเดียว

และก่อนหน้านี้ไม่นานทสุจิเองก็เพิ่งถอยร่นจากพม่าเข้ามาในไทยเพื่อสร้างแนวต้านทานการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตร

ซึ่งสภาพของทสุจิก็ยังสะบักสะบอมอยู่ไม่น้อย คือแขนข้างหนึ่งยังได้รับบาดเจ็บต้องผูกห้อยด้วยผ้าคล้องไว้กับคอตลอดเวลา

การที่ญี่ปุ่นกำลังตกที่นั่งลำบากแบบนี้ทำให้ทสุจิทราบดีว่าไทยกำลังตีตัวออกห่างอย่างแน่นอน และ พ.ต.อาจก็คงต้องการล้วงข้อมูลของกองทัพญี่ปุ่นจากเขาด้วย

ดังนั้น ทสุจิจึงเปิดใจกับ พ.ต.อาจตรงๆ ว่าเพื่อนที่ดีย่อมไม่หักหลังกัน แต่ทุกคนล้วนต้องซื่อสัตย์กับประเทศชาติของตัวเอง ฉะนั้นหากไทยกับญี่ปุ่นรบกันเมื่อใดเราก็คงเป็นศัตรูกันแน่

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงหวังว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น การสนทนาเปิดอกอย่างตรงไปตรงมาครั้งนี้ทำให้ทั้งคู่ต่างทนเก็บกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่ได้

 

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน สหรัฐอเมริกาก็ทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกลงที่ฮิโรชิมากับนางาซากิ ส่งผลให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในเวลาต่อมา

ฝ่ายแม่ทัพนายกองญี่ปุ่นในไทยก็พบกับชะตากรรมที่แตกต่างกันไป บ้างก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระทำฮาราคีรี บ้างก็ฆ่าตัวตายด้วยวิธีอื่น บ้างก็ตระเตรียมส่งผู้ใต้บังคับบัญชากลับมาตุภูมิและรอคอยเวลาที่อาจต้องขึ้นศาลอาชญากรสงคราม

แต่ทสุจิกลับเลือกทางเดินชีวิตที่ต่างไปจากนั้น

คือเลือกปฏิบัติการลับด้วยการบวชเป็นพระที่วัดเลียบ แล้วซ่อนตัวอยู่ในผ้าเหลืองรอคอยเวลาที่พลิกสถานการณ์ของประเทศญี่ปุ่นจากการทำงานใต้ดิน

ในช่วงที่ยังไม่ได้เข้าพิธีบวช พ.ต.อาจยังคงติดตามทสุจิอยู่เสมอทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทำให้ทสุจิเกิดความระแวงสงสัย จนต้องถามออกไปตรงๆ ว่ามีวัตถุประสงค์อะไรกันแน่

แต่แท้ที่จริงแล้ว พ.ต.อาจไม่ได้หวังร้ายต่อทสุจิ ตรงกันข้าม ก็คือเขาเฝ้าจับตามองทสุจิไม่ห่างเพราะเกรงว่าครูของตนจะฆ่าตัวตาย

หลังจากนั้นทั้งคู่ก็เดินคล้องแขนกันไปบนถนนคอนแวนต์ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายในคืนมืดมิด ก่อนลาจากกันไปเป็นครั้งสุดท้าย

ความผูกผันของครูกับศิษย์คู่นี้แม้จะงดงามเพียงใด แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทสุจิมองเมืองไทยดีไปหมดทุกอย่าง คือในขณะที่เขามอง พ.ต.อาจว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตนั้น เขาไม่ได้มองว่าคนไทยคนอื่นเป็นแบบนั้นด้วย

เพราะในระหว่างที่ทสุจิบวชอยู่มีเหตุลักเล็กขโมยน้อยตลอดเวลาทั้งๆ ที่อยู่ในวัด

จนในที่สุดบรรดาพระต้องจัดเวรยามระแวดระวังภัยไม่ให้ใครเข้ามาชิงทรัพย์ได้

นิสัยขี้ขโมยเลยกลายเป็นภาพลักษณ์ที่แย่ที่สุดของไทยในสายตาทสุจิ

“นายพลลี้ภัย” โดยมีอุทัย ตัณฑลากุล เป็นผู้แปล

เรื่องราวนี้ปรากฏอยู่ในบันทึกของทสุจิเรื่อง “Underground Escape” ที่เขียนขึ้นหลังจากเดินทางกลับญี่ปุ่นแล้ว และกลายเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ในเวลานั้น ต่อมาได้แปลเป็นภาษาจีน แล้วจึงถูกแปลจากจีนเป็นไทยอีกทอดหนึ่งในปี พ.ศ.2497 ใช้ชื่อว่า “นายพลลี้ภัย” โดยมีอุทัย ตัณฑลากุล เป็นผู้แปล

แต่ด้วยความที่แปลจากภาษาจีนจึงสะกดคำแบบโบราณและถอดเสียงทสุจิออกมาว่า “จือยิ เซสิน” ซึ่งเขาระบุไว้ในหนังสือว่าปัญหานี้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในวัดเท่านั้น แต่ยังมีทั่วทุกหัวระแหง ถึงขนาดกล่าวว่า “ทุกหนทุกแห่งเต็มไปด้วยขโมย”

“ประเทศไทยเมืองแห่งพุทธ ซึ่งดูตามผิวเผินก็เป็นที่ที่สงบสุขดีอยู่ แต่ความจริงแล้วความไม่สงบสุขกลับแผ่ซ่าน และปกคลุมไปทั่วทุกหนทุกแห่ง สิ่งที่นำมาซึ่งความฉงนสนเท่ห์และน่าแปลกใจอย่างมากนั้นก็คือพระสงฆ์มาก ขโมยมาก หมายิ่งมากขึ้นไปอีก นี่คือความจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ การที่มีพระมากนั้นควรจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความสงบ การที่มีขโมยมากนั้นก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความยุ่งเหยิง แต่การที่มีหมามากนั้นมันนับเป็นสิ่งประดับในยามที่ประเทศตกอยู่ในห้วงแห่งความกลียุค สิ่งทั้งสามนี้มีสภาพที่ขัดแย้งกันอย่างชัดแจ้งอยู่ในตัวของมันแล้ว”

เมื่อทสุจิยังเป็นเสนาธิการกองทัพญี่ปุ่นอยู่ อำนาจของทหารเป็นปราการปกป้องไม่ให้หัวขโมยย่างกรายเข้ามาใกล้ได้ ดังนั้น เขาจึงไม่เคยพบกับสภาพเช่นนี้เลย

กระทั่งแฝงตัวเข้ามาบวชพระ เขาจึงได้เห็นภาพเมืองไทยในอีกแบบหนึ่ง

เขาบรรยายไว้ว่า

“ความจริงพระสงฆ์องค์เจ้าเป็นผู้ที่ปราศจากทรัพย์สินใดๆ ทั้งสิ้น แต่พวกขโมยก็ยังไม่ละเลยที่จะเข้าทำการหยิบฉวยเอาของท่านไปดื้อๆ ครั้งแรกเราถูกขโมยเก็บเอามุ้ง ผ้าผวย หมอน และผ้าปูที่นอนไป ต่อมาครั้งที่สองก็เก็บกวาดเอานาฬิกาแขวน จีวร และรองเท้า แม้แต่มีดโกนที่เราเตรียมไว้ปลงผมหรือโกนหนวดนั้นยังไม่วายถูกขนไปหมด เพื่อนของข้าพเจ้า (นายฟูกู ตากู) โกรธจนตัวสั่น โดยกล่าวว่า หากกางเกงก็ถูกเก็บกวาดไปด้วยละก็ เรามิต้องปล่อยตัวให้ล่อนจ้อนหรอกหรือ”

สถานะของการทำงานลับใต้ดินทำให้พระเหล่านี้แจ้งความไม่ได้และต้องหามาตรการปกป้องตัวเอง

แต่ถึงแม้จะผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าเวรยามตลอดเวลาก็ยังเอาไม่อยู่ เพราะโจรขโมยก็ยังมิวายฉกเอาเงินพม่าหกพันเหรียญที่สมภารอุตส่าห์เก็บออมมาเป็นเวลามากกว่าสิบปีไปจนได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเสื้อผ้า ทำให้สมภารถึงขั้นต้องหลั่งน้ำตาออกมา

และคนร้ายพวกนี้ไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด บางคนก็เป็นเด็กยากจนที่แอบลักเล็กขโมยน้อยกับเขาด้วย

ซึ่งพอจับตัวได้ทสุจิก็โกรธจนเกือบตบหน้า แต่เนื่องจากเห็นเป็นเพียงเด็กน้อยและของที่เอาไปก็เป็นเพียงแค่บุหรี่ซองเดียว จึงเกิดความสงสาร แทนที่จะลงโทษก็เลยปล่อยตัวไป

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าทสุจิจะรู้สึกผิดและเห็นใจสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยอยู่ไม่น้อย ดังที่เขียนว่า

“กล่าวตามสภาพที่เป็นจริงแล้ว อันประเทศที่เต็มไปด้วยพระสงฆ์เช่นนี้ ควรจะมีขโมยน้อยกว่านี้จึงจะถูก แต่ในเมืองนี้กลับตรงกันข้าม ความจริงเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ไม่ควรไปติเขา เพราะว่าสงครามทำให้คนเราเป็นบ้าก็ได้ ลบล้างประวัติศาสตร์ก็ได้ ในเวลาเดียวกันก็สามารถทำลายจิตใจและธรรมะของมนุษย์ให้ย่อยยับไปด้วย ผลร้ายอันนี้ใครเป็นผู้ก่อขึ้น? เมื่อใคร่ครวญดูแล้ว ก็หาคำตอบไม่ได้เลย”

 

ทุกวันนี้เมืองไทยห่างภัยสงครามมานานแปดสิบกว่าปีแล้ว สถานการณ์ก็คงดีขึ้นกว่าตอนนั้นเยอะ

แต่ปลอดภัยจากหัวขโมยอย่างเต็มที่หรือไม่ ทุกท่านก็คงวินิจฉัยกันเองได้

ส่วนตัวผมเมื่อลงไปสำรวจบริเวณวัดเลียบซึ่งทสุจิเคยอาศัยอยู่ ก็ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมพระปรางค์ประจำวัด ในระหว่างนั้นคุณป้าผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมก็เชื้อเชิญให้ชมพระปรางค์ด้านบนและร้องบอกว่าใส่รองเท้าขึ้นไปได้

ครั้นพอจะเดินขึ้นไป แกก็ตะโกนกำชับตามมาอีกว่าขึ้นไปได้เลยไม่ต้องถอดรองเท้า ใจเราก็คิดว่าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

ที่ไหนได้ แกกลับบอกว่า “ถอดทิ้งไว้ เดี๋ยวกลับมาจะไม่มีใส่นะ อย่าถอดเด็ดขาด”

ปัดโธ่ ให้มันได้อย่างนี้สิ