‘พรรคเล็กไร้ค่า’ ใครทำ?

หลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จากเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว คือประชาชนกาใบเดียว มีผลทั้งเลือกพรรค และเลือกตัวผู้สมัคร มาเป็นบัตร 2 ใบ คือแยกการเลือกพรรคและตัวผู้สมัครคนละใบ พร้อมกับลด ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่คำนวณจากคะแนนที่พรรคได้จาก 150 คนมาเหลือ 100 คน เกิดเสียงโวยวายตัดพ้อต่อว่าให้ขรมว่าเท่ากับ “ทำลายพรรคเล็ก” เพราะทำให้หมดโอกาสที่จะได้ ส.ส.

ฟูมฟายกันถึงขนาดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าเป็นการแก้ไขที่ขัดรัฐธรรมนูญ ด้วยฝืนกับเจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างในข้อที่ว่า “ไม่ให้คะแนนตกน้ำ” อันหมายถึงเมื่อประชาชนเลือกแล้วไม่มีคะแนนใดที่สูญเปล่า

ฟังๆ แล้วดูจะมีเหตุมีผล และน่าเห็นใจว่าพรรคเล็กไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

แต่หากมองจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

เหตุที่มี ส.ส.จากพรรคเล็กซึ่งได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนนแค่พรรคละประมาณสามสี่หมื่นคะแนน เนื่องจากปฏิบัติการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ว่าด้วย “คะแนนไม่สูญเปล่า” นี่แหละ เปิดโอกาสให้พรรคเล็กพรรคน้อยได้เกิด โดยแลกกับบางพรรคที่จำนวน ส.ส.ต้องลดลงทั้งที่สัดส่วนคะแนนเข้าเกณฑ์ ส.ส.พึงมีมากกว่า

ก่อข้อครหาว่าเป็นเกมลดจำนวน ส.ส.คู่แข่ง เพื่อปิดทางตั้งรัฐบาล เป็นการช่วยล็อกเป้าว่า ให้ “สืบทอดอำนาจ” สะดวก

แต่ข้อครหานี้ไม่มีน้ำหนักให้มากพอที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

“คะแนนต้องไม่ตกน้ำ” ต้องปัดเศษบางพรรคเล็กมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ คือ “ความชอบธรรมที่ปฏิเสธไม่ได้” ด้วยการโฆษณาถึงความจำเป็นว่า “พรรคการเมืองควรจะต้องมีอุดมการณ์อันหลากหลาย”

อุดมการณ์ของพรรคเล็กไม่ควรจะถูกทอดทิ้งด้วยเหตุผลแค่ได้ไม่ถึง “คะแนน ส.ส.พึงมี” ซึ่งดูน่ารับฟังอยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ “ส.ส.พรรคเล็ก” จำนวนหนึ่งเข้ามาทำงานในสภา

ความเป็นไปที่เกิดขึ้นคือ มองไม่เห็น “การทำงานเพื่ออุดมการณ์” อะไรเลย

“โหวตด้วยกล้วย” คือข่าวของพฤติกรรมหลักอันซ้ำซาก การทำงานได้ยินแค่เรื่องราวของการต่อรองผลประโยชน์ กระทั่งหากจะบอกว่า “ส.ส.จำพวกไหนเป็นรอยด่างที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ฝากไว้ให้เห็น” แล้วผู้คนจะตอบคือ “พรรคปัดเศษ” ก็คงไม่ผิด

ดังนั้น เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการโวยวายว่าตัดโอกาสพรรคเล็ก ในแวดวงของผู้ติดตามการเมืองใกล้ชิดจึงมีแต่เสียงหัวร่อว่า “ที่ถูกตัดนั้นเป็นโอกาสอะไร” โอกาสแบบนี้ยังควรมีอยู่หรือไม่

 

“นิด้าโพล” ล่าสุดสำรวจเรื่อง “พรรคการเมืองขนาดเล็กและการควบรวม”

ในข้อสรุปความเห็นของประชาชนต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองขนาดเล็กในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ภายใต้กติกาบัตร 2 ใบ ร้อยละ 46.26 เห็นว่าควรเดินหน้าต่อไปโดยไปควบรวมกับพรรคอื่น, ร้อยละ 37.56 ควรเดินหน้าต่อไปในนามพรรคการเมืองเดิม, ร้อยละ 15.34 เห็นว่าควรยุติบทบาททางการเมือง, ร้อยละ 0.84 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

จะว่าไปเป็นคำตอบที่ไม่ให้ราคาอะไรกับพรรคเล็กนักนั้น คนส่วนใหญ่มองไม่เป็นความจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ และหากจะอยู่ก็อยู่ไปในกติกาที่ไม่เอื้อเช่นนี้

ที่เป็นเช่นนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าถึงที่สุดแล้ว ส.ส.ที่มาจากพรรคเล็ก ทำงานการเมืองโดยไม่รู้ว่า “คุณค่าของตัวเองอยู่ตรงไหน”

พรรคเล็กที่ควรชู “อุดมการณ์ที่แตกต่าง” เข้าทำหน้าที่ “เพื่อสิทธิของประชาชนกลุ่มเล็กๆ ที่พรรคใหญ่มองข้าม” หรือ “เพื่อภารกิจบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง”

แต่ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่เลย

ส.ส.พรรคเล็กที่มาด้วยการ “ปัดเศษไม่ให้คะแนนตกน้ำ” กลับมีพฤติกรรมอย่างที่เห็นๆ กัน”

จึงไม่แปลกที่ประชาชนจะเห็นไปในทาง “ไม่รู้ว่าจะมีพรรคเล็กไปเพื่ออะไร”