ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ใช้อำนาจแทนประชาชน 66 ล้าน ค้ำอำนาจคณะรัฐประหาร

มุกดา สุวรรณชาติ

ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ใช้อำนาจแทนประชาชน 66 ล้าน ส.ว.แต่งตั้ง… ใช้สร้างกฎหมาย ค้ำอำนาจคณะรัฐประหาร

 

ทําไมต้องมี ส.ว.แต่งตั้ง?… เพราะอยากมีสภาที่สั่งได้

แก้รัฐธรรมนูญ (รธน.) เพื่อให้นายกฯ อยู่ได้เกิน 8 ปี…เป็นไปได้?

หลังรัฐประหาร 2520 ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มี รธน. 2521 ให้มี ส.ว. 3 ใน 4 ของ ส.ส.

หลังรัฐประหาร 2534 ของ รสช. รธน. 2534 ให้มี ส.ว. 2 ใน 3 ของ ส.ส.

ช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน รธน. 2540 ให้มี ส.ว. 150 คน (มี ส.ส. 500) แต่มาจากการเลือกของประชาชนโดยตรง มีการเลือกจริงปี 2543 และ 2549

หลังรัฐประหาร 2549 ของ คมช. รธน. 2550 ให้มี ส.ว. 150 คน ครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง

หลังรัฐประหาร 2557 รธน. 2560 ได้ ส.ว. 250 คน จากบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ที่ให้ คสช.เป็นผู้สรรหาและแต่งตั้ง ไม่ให้ประชาชนเลือกเลย

ส.ว.ชุดปัจจุบันมาจากข้อเสนอของ คสช. ซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็จัดให้ตามประสงค์ ทั้งจำนวนคนและอำนาจหน้าที่

และเมื่อให้ ส.ว.แต่งตั้งมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี นั่นก็หมายถึงการเลือกฝ่ายบริหารประเทศจะไม่สามารถเป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน เพราะเสียงของ ส.ว.ที่มาโหวตเลือกนายกฯ 250 คน มากเท่ากับครึ่งหนึ่งของ ส.ส. 500คน ซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนจากทั่วประเทศ ส.ว.แต่งตั้งจึงกลายเป็นกลุ่มการเมืองตัวแทนของคณะรัฐประหาร ที่มีเสียงมากกว่าทุกพรรคการเมือง

ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการแปลงระบอบประชาธิปไตยเป็นอำมาตยาธิปไตย

 

การผ่านการเลือกตั้ง
เพื่อเป็น ส.ส.ตัวแทนประชาชน
เลือดตาแทบกระเด็น

จะเห็นว่าทุกพรรคการเมืองที่มาแข่งขันในการเลือกตั้ง แค่คัดตัวผู้สมัครก็สู้กันแทบเลือดตากระเด็น แล้วยังจะต้องให้ประชาชนมาเลือกอีก กว่าจะได้เป็น ส.ส. แต่ละคนต้องหาคะแนนเป็นหลายหมื่นหรือหลักแสน

คะแนนของ ส.ส.เขตที่มีจำนวน 400 เขตในแต่ละพื้นที่ผู้ชนะที่ 1 อาจจะได้ 4-5 หมื่นจึงจะได้เป็น ส.ส.ในเขตนั้นเพียงคนเดียว และยังมีคะแนนของผู้แพ้ซึ่งอยู่ในระดับ 2-3 หมื่น และที่คะแนนน้อยก็เป็นหลักพัน จำนวนผู้มาลงคะแนนในระดับทั่วประเทศน่าจะอยู่ที่ประมาณ 35-38 ล้านคน

คะแนนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งมีเพียง 100 คน ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของแต่ละพรรคเป็นผู้นำพรรคหรือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ที่จะมาผลักดันนโยบายต่างๆ

ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ถ้านำคะแนนรวมทั้งประเทศมาหารด้วยร้อยแสดงว่าคะแนนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แต่ละคนจะอยู่ที่ประมาณ 350,000-370,000 คะแนน พรรคที่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์สูงสุดสมมุติว่า 15 ล้านคะแนน ก็จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ประมาณ 40 คนเท่านั้น

ในขณะที่ ส.ว.ซึ่งเป็นตัวแทนของ คสช.ไม่ต้องออกแรงหาเสียงอะไร แค่คณะรัฐประหารแต่งตั้งก็เดินเข้ามาโหวตเลือกนายกฯ ในสภาได้ 250 ส.ว.เหล่านั้นถ้าไปลงสมัครรับเลือกตั้งจะมีคนมาลงคะแนนให้เขาสักกี่พันคน ถ้าจะดูผลงานที่ผ่านมานอกจากการสนับสนุนคณะรัฐประหารแล้วก็ไม่มีผลงานเด่นๆ อย่างอื่น

การใช้สิทธิและอำนาจของ ส.ว.เหล่านั้นจึงเป็นการแย่งใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนในหลายด้าน

 

อำนาจของ 250 ส.ว.
ที่ใช้แทนประชาชน

อํานาจหน้าที่ตามปกติ คือการกลั่นกรองและตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง แต่ที่ล้นเกิน ทั้งๆ ที่ประชาชนไม่ได้เลือก เช่น

1. เลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้… ส.ว.มีหลายคนที่ถูกสรรหาเข้าไป แต่ไม่ผ่าน ส.ว.ก็ต้องสรรหาใหม่

2. เลือกกรรมการองค์กรอิสระได้ทั้งหมด คือ กกต. 7 คน ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน ป.ป.ช. 9 คน กสม. 7 คน คตง. 7 คน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ใครจะเป็นกรรมการองค์กรอิสระ แม้ผ่านการสรรหามาแล้ว ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของ ส.ว. ถ้า ส.ว.ไม่เอา ก็คือสอบตก

และยังมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบการดำรงตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆ อีก เช่น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรรมการ กสทช., เลขาธิการ ป.ป.ท. ฯลฯ

3. กล่าวหาถอดถอน ป.ป.ช.ได้ แบบนี้ ป.ป.ช.ก็ต้องกลัว ส.ว.

4. ตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยตั้งกระทู้ถาม และเปิดอภิปรายได้

5. ควบคุมนโยบาย และการทำงานของรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี

สรุปว่า ส.ส.ที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกมา ไม่มีอำนาจเท่ากับ ส.ว.แต่งตั้ง

คนที่ประชาชนไม่ได้เลือกเลย กลับมีอำนาจที่สามารถหักล้างมติของประชาชนทั้งประเทศได้

สามารถการตรวจสอบ ควบคุม คัดเลือกและถอดถอนฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กรรมการองค์กรต่างๆ ได้ จึงมีผลต่อระบบยุติธรรม

 

ส.ว.แต่งตั้ง
เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยได้

ตอนนี้จึงได้ยินข่าวว่า ส.ว.บางคนคิดแก้ รธน. เพื่อให้นายกฯ อยู่ได้เกิน 8 ปี…

อำนาจของ ส.ว.ที่ คสช.ได้วางไว้ ที่สำคัญคือ เป็นผู้คุมเสียงคัดเลือกฝ่ายบริหาร โดยให้อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ในที่สุดก็ เลือก พล.อ.ประยุทธ์ (249 จาก 250 คน)

และในการเลือกตั้ง 2566 แม้พรรคฝ่าย คสช.จะได้รับเลือกตั้งเป็นลำดับท้ายๆ ก็ยังอยากเป็นนายกฯ และตั้งรัฐบาล แต่ตามที่ดีไซน์ไว้ ปี 2566 ส.ว.ชุดนี้ก็ยังสามารถ เลือกนายกฯ ได้อีกครั้ง เพราะเขากำหนดวาระ ส.ว.ยาวถึง 5 ปี ยาวกว่า ส.ส. 1 ปี

มาตรา 256 กำหนดว่า หากมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา ในวาระที่หนึ่ง และวาระที่สาม ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 คน หรือหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ลองคิดดูกันเองว่า ส.ว.เขาจะยอมแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจตนเองหรือไม่

และจะใช้กลไกทุกอย่างจัดการผู้ที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชน แต่ถ้า ส.ว.อยากแก้รัฐธรรมนูญตามที่นายต้องการ ก็ทำได้

ตามสภาพของโครงสร้างอำนาจและการใช้อำนาจจริง หลังรัฐประหาร 2557 ถึงปัจจุบัน ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ถูกดัดแปลงให้รับใช้ระบอบอำมาตยาธิปไตย เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น คนฉีกรัฐธรรมนูญ และใช้กำลังทำรัฐประหาร จึงไม่ผิดในข้อหาล้มล้างระบอบ

แต่คนต่อต้านคณะรัฐประหารผิด ผู้ปกครองทำอะไรไม่ผิด ใครต่อต้านผิด

เวลานี้พวกเยาวชนที่ต่อต้านระบอบอำมาตยาธิปไตย จึงถูกจับดำเนินคดีหลายร้อยคน หลายพันคดี การต่อสู้ยกระดับ จากสู้เพื่อให้ได้ประกัน ไปถึงขั้นถอนประกันตัวเอง ยอมติดคุก