นี่พ่อแม่นะ ไม่ใช่แก้วรอบรู้ | คำ ผกา

คำ ผกา

สัปดาห์วันเด็กที่ผ่านมาฉันได้อ่านข้อเขียนที่เขียนโดยผู้มีชื่อเสียงและค่อนข้างมีอิทธิพลต่อความคิดของคน “หัวสมัยใหม่” คนหนึ่งที่เผยแพร่อยู่ในเพจเฟซบุ๊ก (ภายหลังได้ลบไปแล้ว เมื่อถูกทักท้วง) ว่า

“เด็กป่วยซึมเศร้าเกิดแต่พ่อแม่ป่วย เด็กฉาบฉวยมักเกิดแต่พ่อแม่เฟกและพลาสติก เด็กขี้อวดมาจากพ่อแม่ที่ไม่ให้ความสำคัญ เด็กพูดมากเพ้อเจ้อมักมาจากพ่อแม่ที่ไม่เคยฟัง เด็กไม่เชื่อมั่นในความรักมักมาจากพ่อแม่ล้มเหลวในความสัมพันธ์ เด็กไม่รักเรียนเพราะพ่อแม่ไม่ใฝ่รู้ เด็กขี้ปดมักโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ยอมรับในความเป็นมนุษย์”

ฉันอ่านแล้วตกใจมากทัศนคติแบบนี้ และตัดสินใจแชร์ข้อความนี้พร้อมเขียนแสดงความเห็นว่าฉันไม่เห็นด้วย

ไม่เพียงแต่ไม่เห็นด้วย ฉันเห็นว่าทัศนคติเช่นนี้ไม่ส่งเสริม “ความเป็นมนุษย์” อย่างที่เจ้าของโพสต์มักอ้างอิงถึงมันอยู่เนืองๆ

 

สิ่งแรกที่สุดที่เราควรขมวดคิ้วอย่างแรงที่สุดคือ สังคมโลกในจินตนาการของเจ้าของโพสต์นี้เป็นอย่างไรหรือ?

สำหรับฉัน ในสังคมมนุษย์ย่อมมีผู้คนที่มีนิสัย รสนิยม พฤติกรรมที่หลากหลายมากๆ เช่น มีคนขี้อวด มีคนพูดเพ้อเจ้อ มีคนที่ไม่เชื่อมั่นในความรัก มีคนที่ไม่รักเรียน มีคนฉาบฉวย

ใช่ เราอาจไม่ชอบคนขี้อวด แต่อย่าลืมว่า การเป็นคนขี้อวดอาจจะแค่น่ารำคาญ แต่ไม่ใช่อาชญากรรม

และเราไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องกำราบคนทุกคนให้กลายเป็นคนถ่อมตัว พูดจาสุภาพ พูดจาดีมีสาระตลอดเวลา

และหากจะมีมนุษย์ฉาบฉวย เราก็ต้องสำรวจตัวเองว่า ที่เราไปตัดสินเขาว่าเป็นคน “ฉาบฉวย” นั้น เราแน่ใจในมาตรฐานของเราแล้วหรือ

และหากฉันจะพูดว่าเจ้าของข้อเขียนนี้ช่างฉาบฉวยและตื้นเขินล่ะ?

ดังนั้น การอยู่ท่ามกลางคนฉาบฉวย (ในมาตรฐานของตัวเรา) ก็ย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา เราวิพากษ์วิจารณ์ความฉาบฉวยของเพื่อนร่วมโลกได้ แต่เราไม่พึงข้ามขั้นไปพิพากษาเขาว่า “เธอมันฉาบฉวยเพราะพ่อแม่เธอเฟกและพลาสติก”

พ่อแม่ทั้งหลายจงเลิกเฟก เพราะยูกำลังผลิตมนุษย์ฉาบฉวยออกมาสู่โลก โลกนี้ไม่ควรมีมนุษย์ฉาบฉวย

และคำว่าพ่อแม่พลาสติกแปลว่าอะไรหรือ? ศัลยกรรมพลาสติกหรืออะไร?

 

แน่นอน เจ้าของโพสต์นี้อาจจะไม่ได้คิดลึก (แน่ล่ะ ถ้าคิดลึก คิดมากคงไม่เขียนอะไรมักง่ายเช่นนี้) แต่ฉันคิดว่าเขาพึงถูกวิจารณ์ เพื่อในครั้งต่อไปเขาจะคิดลึกและคิดมากกว่านี้

มากไปกว่านั้น เราในฐานะคนอ่านจะได้ไม่แห่แหนชื่นชมข้อเขียนที่อ่านง่าย ย่อยง่าย สอดคล้องกับสิ่งที่เราถูกฝังหัวมาตลอดชีวิตผ่านสุภาษิต คำพังเพย หรือโลกทัศน์แบบไทยๆ มาตลอด เช่น ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ หรือการตำหนิคนว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน”

นอกจากนี้ ข้อเขียนทำนองนี้ อันคล้ายๆ กับคีย์เวิร์ดที่ไลฟ์โค้ชทั้งหลายมักชอบเขียนมาหลอกล่อคนจิตอ่อนให้หลงเชื่อ เพราะมันมีคำคล้องจอง และมีคำคุณศัพท์คู่ตรงข้ามเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย จนหลงลืมเรื่องตรรกะง่ายๆ

เช่น ผู้เขียนมีสถิติมาแสดงให้เห็นหรือไม่ว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้าเกิดจากพ่อแม่ป่วย?

และเขาจะอธิบายคนที่มีพ่อแม่ไม่ป่วยแต่ก็ยังเป็นโรคซึมเศร้าอย่างไร? และคำว่า “ป่วย” ในที่นี้ใช้เกณฑ์ของอะไรมาวัด?

เด็กพูดมากเพ้อเจ้อ มาจากพ่อแม่ไม่เคยฟัง นี่อ้างอิงจากข้อมูลที่ไหน ตัวฉันเองเคยเจอแม่ที่พาลูกไปพบจิตแพทย์เพราะลูกวัย 15 พูดน้อยมาก น้อยจนแม่เป็นห่วง ซึ่งจิตแพทย์บอกว่าลูกไม่ได้ป่วย แค่มีแม่ที่พูดเยอะ ลูกเลยขี้เกียจพูด แล้วก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่ลูกที่มีแม่พูดมากทุกคนจะขี้เกียจพูด

ฉันมีญาติที่ไม่ใช่คนใฝ่รู้รักเรียนอะไรเลย แต่ลูกสามคนของเขาก็เป็นเด็ก “ใฝ่เรียน” สุดๆ รักการเรียน ตั้งใจเรียนมาก ทั้งนี้ ก็ไม่สามารถเอาเคสนี้ไปอธิบายเด็กรักเรียนทุกคนได้อีก

ที่สำคัญ การ “ไม่รักเรียน” ไม่ใช่อาชญากรรม ดังที่ฉันเขียนไปข้างต้น

 

และเพื่อให้เข้าใจในระดับที่ลึกลงไปได้ง่ายขึ้น ฉันขอยกตัวอย่างเคสของเพื่อนของเพื่อน ซึ่งเป็นคนไทยแต่อยู่ที่อเมริกาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้ทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จบปริญญาเอก แต่งงาน มีครอบครัวที่สงบสุขดี แต่ว่าเป็นโรคซึมเศร้า รักษา กินยาโรคซึมเศร้าอยู่หลายปี

สุดท้าย หมอให้ไปรับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่? เพราะผู้ที่มีภาวะเป็นโรคสมาธิสั้น แล้วไม่ได้รับการวินิจฉัย ไม่ได้กินยา มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

สิ่งที่คนไม่เข้าใจเกี่ยวกับภาวะสมาธิสั้นคือ คนที่เป็นสมาธิสั้นบางคนจะไม่สามารถทำสิ่งที่เป็น easy task หรือเรื่องง่ายๆ ได้อย่างน่ามหัศจรรย์

เช่น เอาขยะไปทิ้งที่ถังขยะ แต่เอาไปซุกตามซอกมุมต่างๆ แทน (ที่ดูยากกว่าเอาไปทิ้งถังขยะ) ไม่แปรงฟัน สระผม หรือบางคนก็รู้สึกว่าการพาตัวเองไปยืนล้างจานให้เสร็จมันยากมาก ยากมากๆๆๆๆๆ มากเกินกว่าที่ใครจะเข้าใจ

ปัญหาเล็กๆ แบบนี้ที่สะสม เป็นความขัดแย้งกับคนรอบข้าง เป็นปัญหากับรูมเมต เป็นปัญหากับเพื่อน กับพ่อแม่ อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

และเคสของเพื่อนของเพื่อนคนนี้คือ พอเป็นคนเรียนเก่ง คนเลยไม่คิดว่าจะเป็นสมาธิสั้น

 

ทีนี้ลองจินตนาการถึงเด็กสมาธิสั้น ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย ไม่ได้กินยา (ยาสมาธิสั้นจะช่วยจูน เชื่อมระบบประสาท สมองให้ทำงานดีขึ้น – ลองนึกภาพแผงวงจรไฟฟ้าที่มีสายไฟบางสายหลุด ไม่เชื่อมต่อ – เพิ่มทักษะการฟัง การควบคุมตนเอง ฯลฯ)

ทีนี้ลองจินตนาการถึงเด็กสมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ไม่ได้กินยา ว่าเขาจะมีปัญหา อาจเป็นเรื่องการตื่นนอนไปโรงเรียน เหม่อลอย สอนอะไรไม่ฟัง ฟังหูซ้ายทะลุหูขวา เรียนไม่รู้เรื่อง ยุกยิก ไม่ทำการบ้าน ทำแต่ไม่เสร็จ กินแล้วไม่เก็บ เลอะเทอะ เด็กก็จะถูกด่า ลงโทษ

สิ่งที่ตามมาคือ การโกหก เอาตัวรอดด้วยวิธีแบบเด็กๆ ภาวะสูญเสียความมั่นใจ ความภูมิใจในตัวเอง เกิดภาวะ learning disorder หรือการเรียนรู้ อ่าน เขียนช้าตามมา

ตามมาด้วยการถูกเพื่อนล้อ เพื่อนล้อก็ไปทำร้ายเพื่อน ทำให้ถูกเกลียดชังในโรงเรียง กลายเป็นเด็กที่บูลลี่เพื่อน หรือถูกเพื่อนบูลลี่อย่างใดอย่างหนึ่ง

สุดท้าย อาจหันไปหาที่พึ่งที่อาจจะเป็นยาเสพติด เพื่อนที่มีสภาพคล้ายกัน หรืออาจกลายเป็นคนเก็บตัว แปลกแยก อะไรก็เกิดขึ้นได้

สุดท้าย มักไปจบที่โรคซึมเศร้า หรือกลายเป็นตัวปัญหาของสังคมไปจริงๆ

 

นี่คือปัญหาว่าด้วยพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กที่ไม่เกิดจากความห่วยแตกของพ่อแม่เพียงอย่างเดียว

แต่ถามว่าในเมืองไทยมีใครพูดเรื่องสมาธิสั้นอย่างรู้เรื่องจริงๆ กี่คน?

และมีคนร้อยละเท่าไหร่ที่เข้าถึงการรักษา การทำกิจกรรมบำบัดอย่างต่อเนื่อง

ไม่นับว่าคนที่เป็นพ่อและแม่ต้องอดทนมากในการสร้างพัฒนาการให้ลูก

ในต่างประเทศ มีหลักสูตรการเรียนที่ผ่านการ “ฟัง” หรือวิธีการเรียนหนังสือสำหรับเด็กที่เป็น – dyslexia เป็น learning disorder โดยเฉพาะ

ถามว่าในเมืองไทยเราเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน

และลองจินตนาการว่า หากมันเกิดขึ้นกับครอบครัว หาเช้ากินค่ำ ยากจน พ่อแม่ทำงานต่างจังหวัด เด็กอยู่กับย่า ยาย เขาจะเข้าถึงการรักษาที่สม่ำเสมออย่างไร?

ยาอาจอยู่ในบัญชียาหลักสามสิบบาทรักษาทุกโรค แต่การไปหาหมออย่างสม่ำเสมอ ต้องการค่ารถ ค่าเดินทาง ย่า ยายบางคนต้องพาเด็กนั่งรถไฟชั้นสามจากอยุธยามาหาหมอที่กรุงเทพฯ เพราะจิตแพทย์ประเทศนี้มีไม่ถึงหนึ่งพันคน

สุดท้ายเด็กในกลุ่มที่ปัจจุบันเรียกว่า neurodiversity อันหมายถึงภาวะการทำงานทางระบบสมองที่ “แตกต่างหลากหลาย” อันไม่ได้แปลว่า “ผิดปกติ” ทว่า ต้องการพื้นที่ กิจกรรม หลักสูตรการเรียนการสอนที่ “แตกต่าง” ออกไป สำหรับประเทศไทยแทบไม่มีใครจริงจังกับเรื่องนี้ นอกจากเรียกพวกเขาว่า เด็กเปรต เด็กนรก เด็กพ่อแม่ไม่สั่งสอน

จากนั้นก็ลงมือสร้างตราบาปซ้ำแล้วซ้ำเล่าใส่กันและกันอย่างเลือดเย็น พร้อมไปกับการชักว่าวทางศีลธรรมว่า ลูกกูเป็นคนดี เพราะกูเป็นแม่ที่ดี ลูกมึงป่วย เพราะมึงเป็นแม่ที่ห่วย

 

และต่อให้เด็กไม่เป็นสมาธิสั้น ไม่มีภาวะออทิสซึ่ม ไม่เป็นดิสเล็กเซีย ไม่เป็นอะไรเลย แต่ในประเทศที่ระบบการศึกษาถ่ายทอดวัฒนธรรมอำนาจนิยม สภาพเศรษฐกิจเสื่อมถอย ผู้คนยากจน ไม่มีการกระจายความเจริญ คนจน คนชนชั้นกรรมาชีพต้องออกจากบ้านไปทำงานไกลบ้าน ทิ้งลูกอยู่กับคนแก่ ไม่มีห้องสมุด ไม่มีนักจิตวิยาประจำชุมชน ไม่มีสนามกีฬา ไม่มีตัวช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ ไม่มีพื้นที่สาธารณะที่ยกระดับความคิดจิตใจ ไม่มีขนส่งมวลชน

เด็กอยู่ในภาวะจำยอมที่ต้องขี่รถเครื่องไปเรียนหนังสือ เมื่อมีรถเครื่อง เด็กวัยรุ่นก็เหมือนติดปีก ค่าแรงวันละ 600 ของพ่อแม่ กับภาระค่าใช้จ่ายที่รุมเร้า จะเอาเวลาที่ไหนพาลูกอ่านหนังสือ เล่นเกม คุยเรื่องหนัง เพลง หรือโลกร้อน ฯลฯ

ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ทิ่มหูทิ่มตาทุกวัน ถ้ายังดันทุรังบอกว่า ปัญหาเด็กเปรตเกิดจากพ่อแม่ป่วย (ซึ่งไม่ได้แปลว่า พ่อแม่ไม่มีส่วน ไม่มีบทบาท ไม่มีส่วนในการหล่อหลอมลูก) ทำให้เราวนกลับมาที่เดิมคือ ทุกปัญหาเกิดจากความบกพร่องของปัจเจกบุคคล และหากเป็นเช่นนั้นเราจะเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องสวัสดิการจากรัฐ บริการสาธารณะจากรัฐไปทำไม?

ปัญหาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็ก ปัญหาทางสุขภาพของจิตของเด็ก ไม่ใช่อาชญากรรมด้วยตัวของมันเอง

และหากเราตระหนักในคุณค่าของมนุษย์ เบื้องต้น เราต้องฝึกเปิดใจว่า โลกใบนี้เต็มไปด้วยมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลาย หลากรสนิยม ความฝัน พฤติกรรม และแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า ความรัก ครอบครัว สาระ หรือแม้กระทั่งความเพ้อเจ้อ ความใฝ่รู้ ใฝ่เรียนก็มีนิยาม มาตรฐาน คุณค่าแตกต่างกันไปของแต่ละสังคม

คำว่าครอบครัวอบอุ่น แม่ผู้เสียสละ อุทิศตน อาจจะไม่ใช่คุณค่าเดียวของความเป็นแม่บนโลกใบนี้

และหากใครสักคนมีชีวิตหรือมีรสนิยมในการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากเรา ไม่ได้แปลว่าเขาห่วยและต้องถูก “กล่อมเกลา” ใหม่

เพียงแต่เราต้องมีขันติต่อการมีอยู่ของเขาให้มากขึ้น

 

ในมิติของสังคม การเมือง คุณภาพชีวิต สิ่งที่เราพึงตระหนักคือ

รัฐบาลมีหน้าที่บริหารภาษีของเราที่ปรากฏตัวในรูปของงบประมาณแผ่นดิน นำงบประมาณนี้ไปใช้ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งหมายถึงการเข้าถึงบริการสาธารณะ สุขภาพ การศึกษา การแบ่งเบาภาระของคนที่เป็นพ่อแม่ ในการเลี้ยงดูเด็ก เยาวชน

พึงมีข้อสมมุติฐานว่า ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่สามารถอ่านนิทานให้ลูกฟัง

พึงตั้งข้อสมมุติฐานว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ล้วนต้องการ “ตัวช่วย” จากรัฐ ในการเลี้ยงดูลูก พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนจิตวิทยาเด็ก ครูต่างหากที่เรียน

พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้จิตวิทยา นักการศึกษา และนักจิตวิทยาต่างหากที่จะไปทำหน้าที่ตรงนี้ เสริมกำลังพ่อแม่

ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ศิลปะ กีฬา รัฐมีหน้าที่จัดหาบุคลากรและอุปกรณ์ไปเสริม ช่วยแบ่งเบาพ่อแม่ ไม่ใช่มาเรียกร้องให้พ่อแม่เป็นทั้งครู เชฟ นักจิตวิทยา นักโภชนาการ โค้ชกีฬา เทรนเนอร์ บรรณารักษ์ ติวเตอร์ ศิราณี เกมเมอร์ โปรแกมเมอร์ sex educater

อะไรที่รัฐช่วยได้ มันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องช่วย และเราต้องเรียกร้องให้มากด้วย

เพราะฉันเป็นแค่พ่อแม่นะ ไม่ใช่แก้วรอบรู้ แล้วเลิกพูดเสียที ไอ้คำว่า เป็นแม่เมื่อพร้อม เป็นพ่อเมื่อพร้อมน่ะ

เพราะทุกครั้งที่พูดควรถามตัวเองให้หนักว่าความ “ไม่พร้อม” นี้เป็นความผิดของใครบ้าง?