เอกชนท่องเที่ยว ส่งเสียงเตือนรัฐ แค่ ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ก็อย่าทำหก อาจเปลี่ยนสถานการณ์ท่องเที่ยวให้เสียรส

บทความเศรษฐกิจ

 

เอกชนท่องเที่ยว ส่งเสียงเตือนรัฐ

แค่ ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ก็อย่าทำหก

อาจเปลี่ยนสถานการณ์ท่องเที่ยวให้เสียรส

 

ความไม่ชัดเจนมักนำพาความสับสนมาสู่ผู้คนเสมอ

ครั้งนี้ก็เช่นกัน หลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศเปิดประเทศไปเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 5 มกราคม

ในครั้งนั้น ได้นำไปสู่การออกประกาศนักบิน (NOTAM) เรื่อง ข้อกำหนดในการเข้าประเทศไทยสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประกาศเมื่อวันที่ 7 มกราคม หรือก่อนวันที่จีนจะคลายล็อกการเข้า-ออกประเทศแค่วันเดียวเท่านั้น!

ประกาศดังกล่าวมีใจความสำคัญอยู่ที่ผู้โดยสารอายุมากกว่า 18 ปี ต้องแสดงข้อมูลการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือจดหมายจากแพทย์ที่รับรองว่าหายจากโรคโควิด-19 แล้วไม่เกิน 6 เดือน (180 วัน) ส่วนผู้โดยสารที่ไม่ได้รับวัคซีน ต้องมีจดหมายจากแพทย์พร้อมแสดงเหตุผล

และผู้โดยสารที่มาจากประเทศที่มีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดโควิด-19 เดินทางกลับเข้าประเทศ จะต้องมีประกันสุขภาพครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ตลอดช่วงระยะเวลาเดินทางในประเทศไทยและบวกเพิ่มอีก 7 วัน สำหรับผู้มาประกอบภารกิจรวมถึงลูกเรืออาจจะใช้หนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าภาพรับรองแทน

 

แต่เมื่อวันที่นักท่องเที่ยวจากจีนไฟลต์แรกมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ในวันที่ 9 มกราคม ช่วงเช้าวันเดียวกันรัฐบาลไทย นำโดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมร่วมกัน

โดยมีความเห็นร่วมกันว่าให้มีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดในการเข้าประเทศไทยแบบกะทันหันอีกครั้ง

ส่งผลให้นักท่องเที่ยว รวมถึงสายการบินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เกิดความสับสน จนเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินและที่พัก โดยเรื่องนี้ทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการนำเที่ยวในหลายประเทศ แสดงความกังวลอย่างสูงสุดต่อข้อกำหนดดังกล่าว

โดยบริษัทนำเที่ยวประเทศอังกฤษเห็นว่าการประกาศนี้ทำฉุกเฉินเกินไป ควรมีระยะเวลาแจ้งล่วงหน้า เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ออกเดินทางเพื่อไปขึ้นเครื่อง และอาจไม่ได้นำใบรับรองการฉีดวัคซีนมา จึงทำให้ถูกปฏิเสธการขึ้นเครื่องบินได้ นอกจากนี้ มีลูกค้าในประเทศแถบสแกนดิเนเวียไม่ได้ฉีดวัคซีนแต่ได้ซื้อแพ็กเกจทัวร์แล้ว

บริษัทนำเที่ยวต้องยกเลิกและคืนเงินให้ เกิดความเสียหายทางธุรกิจอย่างมาก

 

แต่หลังจากนั้น เพียงข้ามคืน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ข้อมูลว่า กพท.ได้ออกประกาศ NOTAM ฉบับปรับปรุงใหม่ จากฉบับเดิม A0055/23 ออกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 หลังจากกระทรวงสาธารณสุขปรับมาตรการในการเข้าประเทศไทย สำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ดังนี้

1. ยกเลิกข้อกำหนดการรับวัคซีนก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย

2. ผู้โดยสารที่มาจากประเทศที่กำหนดผลตรวจ RT-PCR TEST จะต้องมีประกันสุขภาพวงเงินไม่น้อยกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ ครอบคลุมการรักษาโควิดตลอดช่วงระยะเวลาเดินทางในประเทศไทย และบวกเพิ่มอีก 7 วัน

สำหรับผู้มาประกอบภารกิจ รวมถึงลูกเรือ นักเรียน อาจจะใช้หนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าภาพ หรือเอกสารแสดงถึงการมีประกันรูปแบบอื่นรับรองแทน ผู้โดยสารที่ไม่มีประกันสุขภาพจะไม่เป็นเหตุของการถูกปฏิเสธการขึ้นเครื่อง เจ้าหน้าที่ด่านกักกันจะสุ่มตรวจเอกสารรับรองประกันสุขภาพของผู้โดยสารจากประเทศดังกล่าว หากพบว่าไม่มีประกันสุขภาพ ผู้โดยสารนั้นจะต้องซื้อประกันสุขภาพก่อนเข้าเมือง และหากมีระเบียบหรือข้อกำหนดอื่นใดจากกระทรวงสาธารณสุข ให้สายการบินดำเนินการตามระเบียบข้อกำหนดนั้น

3. ผู้โดยสารที่ถือหนังสือเดินทางไทย และผู้โดยสารที่เปลี่ยนเครื่องหรือต่อเครื่องได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบเอกสารประกันสุขภาพ

4. สายการบินต้องยึดตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามคู่มือแนวทางตามความเหมาะสม

5. ผู้โดยสารที่มีอาการของโควิด-19 ระหว่างการเดินทาง จะได้รับการแนะนำให้ทำการตรวจการติดเชื้อเมื่อเดินทางมาถึงจุดหมาย

6. หากมีคำถามข้อสงสัย ติดต่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ข้อกำหนดใหม่ทั้ง 6 ข้อดังกล่าว ถือเป็นข้อปฏิบัติปัจจุบัน ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 เวลา 08.00 น. ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 23.59 น.

 

หลังจากเกิดประเด็นดังข่าวขึ้น ภาคเอกชนอย่างสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ให้ความเห็นว่า จากประกาศล่าสุดของ กพท. ที่กำหนดเงื่อนไขรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวไทย โดยได้ยกเลิกข้อกำหนดการต้องแสดงผลรับวัคซีน 2 เข็มก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย

แต่คงเงื่อนไขการทำประกันที่ครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ

เบื้องต้นกฎเกณฑ์ที่กำหนดมาถือว่าค่อนข้างมีความผ่อนคลาย และชัดเจนมากขึ้นแล้ว แต่อยากให้เวลาที่ภาครัฐจะออกเงื่อนไขอะไรใหม่ๆ ออกมา โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับการเข้าประเทศนั้น อยากให้ใช้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบ และหากเป็นไปได้อยากให้มีการหารือร่วมกับเอกชนก่อน เป็นการหารือให้เข้าใจตรงกันในประกาศที่จะออกมาบังคับ เพื่อลดความสับสนของทั้งนักท่องเที่ยว และผู้ต้องนำไปปฏิบัติจริง

จากการสะท้อนของภาคเอกชนทำให้เห็นว่า การทำอะไรที่เร็วเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะสุดท้ายแล้วหากสื่อสารไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันที่สุดแล้วก็จะทำให้เกิดปัญหา แต่ในรอบนี้ยังดีที่ยังแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน และยังไม่เกิดผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวเป็นวงกว้าง

แต่หากปล่อยเวลาล่วงเลยไปมากกว่านี้ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในประเทศได้ เพราะต้องยอมรับว่าจากช่วงโควิด ทำให้ภาคส่งออกต้องกลายมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

แต่เมื่อเกิดปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมัน เป็นผลให้ภาคการส่งออกก็เริ่มเข็นไม่ขึ้นแล้ว

เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น ความหวังจึงกลับมาอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวและบริการเช่นเดิม ดังนั้น ภาครัฐจึงไม่ควรให้เกิดปัญหาเหล่านี้ซ้ำเดิมอีก เพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวเบนเข็มหนีไปเที่ยวประเทศอื่นที่มีความพร้อมกว่าอีกด้วย

เรื่องนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญของรัฐบาล ไม่ควรให้ “น้ำผึ้งหยดเดียว” มาทำให้รสชาติที่กลมกล่อมพร้อมเสิร์ฟ ต้องกลับไปปรุงใหม่ซ้ำสอง ซ้ำสาม จนไม่น่ากินต่อไป